Stock Commentary : หุ้นอื่นๆ (1)

มานั่งดูว่าตลาดหุ้นไทยยังมีหุ้นกลุ่มไหนอีกที่ผมยังไม่เคยพูดถึงเลยบ้าง ส่วนใหญ่อาจเป็นเพราะเป็นธุรกิจที่ผมไม่สนใจลงทุนเลย หรือหุ้นบางตัวก็อาจมีบางจุดที่ทำให้ไม่กล้าลงทุน จึงขอกล่าวถึงแบบสั้นๆ ย่อๆ เท่านั้น

หุ้นกลุ่มแรกที่จำได้ว่าบ้านเราก็มีอยู่หลายตัว แต่ผมยังแทบไม่เคยกล่าวถึงเลยคือ กลุ่ม 

สินเชื่อส่วนบุคคลทั้งหลาย ทั้งบัตรเครดิต รถยนต์ มอเตอร์ไซต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น KTC, AEONTS, SINGER, MIDA เป็นต้น หุ้นพวกนี้จะดูดีมากๆ เวลาเศรษฐกิจในประเทศดีสุดๆ แต่สุดท้ายกลับจบลงด้วย NPL เพิ่มขึ้น กลายเป็นว่าที่ดูดีเป็นแค่ภาพลวงตา แล้วหุ้นก็จะชะงักไปพักใหญ่ จนกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเฟื่องฟูอีก ตัวไหน ฐานะการเงิน ไม่แน่นพอ ก็อาจต้องเจอการเพิ่มทุนรอบใหญ่ หรืออาจกลายเป็นบริษัทซอมบี้ถาวร เพราะเพิ่มทุนไม่สำเร็จ ธุรกิจนี้มีการแข่งขันสูง มีหน้าใหม่ที่พร้อมจะเข้ามาปล่อยสินเชื่อแบบไร้เหตุผลเพียงเพื่อแย่งลูกค้าอยู่ตลอดเวลา ทำให้ทุกรายจำเป็นต้องทำตามเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด รัฐเคยสนับสนุนวงการนี้แต่ปัจจุบันเหมือนจะคอยมาควบคุมมากกว่า เพราะมองว่าเป็นตัวปัญหาที่ทำให้เศรษฐกิจมีฟองสบู่ อาจจะมี SINGER ที่ดูแตกต่างหน่อยที่มีความสามารถเฉพาะตัวในการมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ อยู่เสมอ แต่โดยภาพรวมแล้ว ธุรกิจนี้ไม่น่าสนใจเท่าไร ดูเป็นกับดักการลงทุน

หุ้นกลุ่มสหพัฒน์ – กลุ่มนี้ดูเหมือนเป็นหุ้นพื้นฐาน เพราะปันผลสูงและดูเป็นกหุ้นที่อนุรักษ์นิยม แต่โดยส่วนตัว ไม่ค่อยชอบกลุ่มนี้เท่าไร เพราะสไตล์ขององค์กร ดูยังเป็นโลกธุรกิจยุคเก่าอยู่ ปรับตัวเพื่อชิงเค้กใหม่ๆ ทางธุรกิจในโลกยุคปัจจุบันไม่ค่อยได้ ในขณะที่กลุ่มทุนใหม่ๆ เติบโตแซงไปไกลแล้ว แต่กลุ่มนี้ก็ยังดูเหมือนอยู่กับที่ ตัวที่จะดูดีหน่อยก็น่าจะเป็น TF หรือ PB ที่ดูเป็นบริษัทที่คิดอะไรใหม่ๆ อยู่บ้าง

หุ้นกลุ่มสามารถ  – ธุรกิจหลักของกลุ่มนี้ คือ 1. ทำโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ i-mobile ขาย (OEM products) เน้นราคาต่ำ เจาะตลาดล่าง 2. ทำคอลเซ็นเตอร์ เอสเอ็มเอส เว็บไซต์บันเทิงต่างๆ เช่น ดูดวง, หาร้านอาหาร, บริการเลขาส่วนตัว (BUG) เป็นต้น 3. ขายบริการ 3G ของทีโอที 4. รับจ้างทำระบบ ICT ให้หน่วยงานราชการต่างๆ (โดย ธุรกิจ 1-3 ทำโดย SIM ส่วน 4 ทำโดย SAMTEL แล้วมี SAMART เป็นตัว holding companyอีกที) โดยส่วนตัวยังไม่ชอบกลุ่มนี้ เพราะดูไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ทำสะเปะสะปะ และธุรกิจหลายตัวที่ทำอยู่ ก็ไม่ใช้ผู้เล่นที่โดดเด่นในตลาด

หุ้นกลุ่มห้องเย็น – อุตสาหกรรมนี้เหมือนผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ในยุคที่ไทยบูมเรื่องส่งออกอาหารแช่แข็ง ปัจจุบันจึงดูเป็นธุรกิจที่ทรงๆ ถ้าไม่ได้แย่ลง ก็อยู่กับที่ โอกาสที่จะกลับมารุ่งเรืองอีก เพราะมีโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ น่าจะมีน้อยมากๆ

TTA – แต่เดิมทำแต่ธุรกิจเรือขนส่งเป็นหลัก เมื่อค่าระวางเรือถึงจุดสูงสุดแล้วฟองสบู่แตกครั้งยิ่งใหญ่ เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากวิกฤตซับไพร์ม แต่เรือต่อใหม่จำนวนมากเริ่มออกสู่ตลาดพอดี ก็ทำให้ค่าระวางเรือร่วงอย่างรุนแรง บริษัทก็เลยกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ถ่านหิน (UMS) ขุดเจาะก๊าซนอกชายฝั่ง ปุ๋ย โกดังให้เช่า เป็นต้น เพื่อลดผลขาดทุนจากธุรกิจเรือ แต่ธุรกิจใหม่ก็ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนมาชดเชยได้ทันที ทำให้ผลประกอบการไม่ดีขึ้น กลายเป็นแรงกดดันทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ ตอนนี้น่าจะเริ่มนิ่งแล้ว โดยมีกลุ่มมหากิจศิริได้เข้ามาควบคุมบริษัทแทนกลุ่มเดิมในที่สุด

MFC หุ้นกองทุนรวมตัวเดียวในตลาดหุ้นไทย ธุรกิจกองทุนรวมน่าจะดีในระยะยาว เพราะชนชั้นกลางน่าจะมีการออมมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต อย่างไรก็ตาม MFC เป็นกองทุนรวมที่สูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับ บลจ.ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารไปมากพอสมควร เพราะลูกของธนาคารดูมีข้อได้เปรียบเรื่องช่องทางเข้าถึงลูกค้ามากกว่า เลยกลายเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ แต่ตัวเลือกที่มีอยู่ในตลาดหุ้น มีแต่ตัวที่เสียเปรียบคู่แข่ง

M เอ็มเคสุกี้เคยเป็นธุรกิจที่ดีมากๆ เนื่องจากประสบความสำเร็จในการทำการตลาด แต่ปัจจุบันถือว่า drop ลงไปพอสมควร เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกเพิ่มขึ้นเยอะมากๆ และราคาของคู่แข่งขันก็ competitive มากกว่า เอ็มเคจึงไม่ใช่ตัวเลือกที่โดดเด่นของร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าอีกต่อไป นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นตัวนี้ไม่ควรติดภาพความสำเร็จในอดีตของมากจนเกินไป ต้องการการปรับตัวมิฉะนั้นความสามารถในการแข่งขันจะเสื่อมลงเรื่อยๆ และคงต้องมองหาธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มเติมจึงจะโตต่อไปได้

ยังมีอีก ไว้มาต่อกันคราวหน้าครับ

11 Replies to “Stock Commentary : หุ้นอื่นๆ (1)”

  1. ท่านแม่ทัพ
    ผมสงสัยเรื่องราคาหุ้น ทำไมดูจากยอดขาย หรือกำไรหุ้นบางตัว เค้าวัดกันที่อะไรครับ เช่น
    Jas homepro กำไรหลายพันล้านราคาหุ้นไม่เกิน 10 บาท
    S and P หรือ pb ฟาร์มเฮ้า กำไรไม่กี่ร้อยล้าน แต่ราคาปาเข้าไป 140 บาท

    เค้าวัดจากอะไรครับ หรือเพราะเจ้าของถือเอง ไม่ยอมขายราคาเลยถีบตัวสุงขึ้นครับ

    1. ราคาต่อหุ้นสูงหรือแพงไม่มีความหมายใดๆ เลยครับ ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทว่าอยากจะแบ่งหุ้นทั้งหมดออกเป็นกี่หุ้น

  2. อ่อครับผม พอดีผมกำลังเริ่มศึกษา
    อย่างพวก scblife ที่ราคาหุ้น เป็น 1,000 เพราะเค้า แบ่งขายในปริมานที่น้อยด้วยหริอเปล่าครับ

  3. ในส่วนของ M การที่เค้าผลิตใน scale ที่ใหญ่กว่าคู่แข่งมากเนื่องจากมีสาขามาก(รวมทุก brand ร้านอาหารของ M) พี่โจ๊กมองว่านี่เป็น DCA ของ M ที่ทำให้ M เกิด EOS และได้เปรียบคู่แข่งในระยะยาวมั้ยครับ

    1. เรื่องข้อได้เปรียบเรื่องต้นทุนน่าจะมีอยู่ครับ แต่คิดว่าตลาดมันโตไปทางของแปลกใหม่มากกว่า ถ้า M ไม่มีอะไรใหม่ ก็คงอยู่กับที่

  4. เพิ่มเติมกลุ่ม samart ครับ ภายในเดือนนี้จะมีบริษัทลูกของ samert เข้ามาเทรดในตลาดชื่อ oto ทำธุรกิจเกี่ยวกับ call center

  5. ผมมองว่าหุ้น M เป็นหุ้นที่ดี ถ้าจัดป็นหุ้นกลุ่มเน้นปันผลแต่ถ้ามองเป็นหุ้น Growth ยังไม่เห็นว่าอะไรจะเป็น Driver ได้
    1. สาขา MK เรียกว่าขยายไปเกือบทั่วประเทศแล้ว
    2. ร้านอาหารอื่นๆสัดส่วนเทียบกับ MK ผมยังคิดว่ายังพึ่งพิงอะไรไม่ได้ที่จะเป็น Growth Driver บริษัท

    ที่พอจะน่าพึ่งพาได้คือการขยาย Model MK ไปต่างประเทศ กับการขึ้นราคา เรื่องขึ้นราคาคงไปได้อีกสักระดับหนึ่ง แต่ต่างประเทศนี่ผมว่าคงต้องดูทรง MK อีกสัก 2-3 ปีถึงสรุปได้ครับ ไม่ทราบว่าท่านแม่ทัพคิดเห็นอย่างไหรครับ

  6. ที่น่าสนสำหรับ M คงมีเรื่อง M&A เท่านั้นครับ ที่จะผลักดัน M ให้ Growth ได้ ผบห. ให้ข่าวว่าเจรจาอยู่หลายรายแต่ก็ยังไม่คืบ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *