on Active Investing #3

การคัดเลือกหุ้น วัดมูลค่า และกระจายความเสี่ยง ไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจหรือปฏิบัติยาก เวลาลงทุนแบบ Active แต่เรื่องที่เข้าใจยาก จับหลักได้ยาก ปฏิบัติยาก เวลาลงทุนแบบ Active ก็คือ การบริหารพอร์ตหลังจากที่เราซื้อหุ้นไปแล้ว

 

ถ้าเป็นพอร์ต Passive จะง่ายและชัดเจนมากกว่ามาก เช่น ถ้าซื้อ Index Fund ก็กำหนดสัดส่วนเงินสดกับหุ้นที่ต้องการขึ้นมา แล้วปรับพอร์ตปีละหน ไปเรื่อยๆ หรือถ้าเป็นการซื้อแบบ DCA ก็ไม่ต้องบริหารพอร์ตอะไรเลย แค่ซื้อให้ติดต่อกันได้เป็นช่วงเวลาที่ยาวนานที่สุดเท่าที่จะยาวนานได้ ถ้าจะเปลี่ยนตัวหุ้นระหว่างทางก็อาจขายออกมาเฉยๆ หรือเอาเงินที่ได้มาแบ่งซื้อตัวที่เหลือกลับเข้าไปใหม่ เป็นต้น ไม่มีอะไรที่ซับซ้อนมากนัก

แต่พอเป็นพอร์ต Active อิสรภาพมันมีมากเกินไป เราจะทำอะไรกับพอร์ตของเราเมื่อไรก็ได้ อย่างมากก็มีแค่กรอบที่กว้างมากๆ มาคุมๆ ไว้อีกที ทำให้จับหลักอะไรไม่ได้ เล่นไปสักพักกลายเป็นเล่นมั่วเอาซะได้

มิหนำซ้ำ เรามักพบเป้าหมายที่ขัดแย้งกันเองอีก เช่น เราอาจพบว่าหุ้นแพงเต็มตลาดไปหมด แต่เราต้องมีหุ้นให้ได้อย่างน้อย X% เพราะว่าเราอายุเท่านั้นๆ เท่านี้ เป็นต้น โอกาสที่เกิดขึ้นในตลาดมักไม่ได้เอื้อกับสถานะเงินสดของเราอยู่ตลอดเวลา

หลักของ VI บอกว่า ให้ซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าของกิจการ บ่อยครั้งที่เราซื้อหุ้นเหล่านั้นมาเข้าพอร์ต พอราคามันปรับตัวขึ้นมามากจนเลยพื้นฐาน (ในมาตรฐานของเราแล้ว) เราก็ขายทำกำไรออกไป เพราะเห็นว่าราคาหุ้นเกินพื้นฐานแล้ว เรามักพบว่า สุดท้ายแล้ว เราจะถือเงินสดไว้มากเกินไป เพราะหุ้นอาจปรับตัวขึ้นต่อไปอีก และไม่ยอมลงมาเป็นปีๆ พอมีเงินสดมากๆ ก็ร้อนใจ แต่จะแหกกฎก็ไม่ได้อีก เพราะว่าหุ้นแพง ซื้อไม่ได้ เช่นนี้เป็นต้น ถ้าใครเจอภาวะแบบนี้ ก็จะนึกออกว่า ทำไมบัฟเฟตถึงซื้อหุ้นแล้วไม่ยอมขาย ต่อให้มันแพงขึ้นแค่ไหนก็ถือต่อไป การทำเช่นนี้มีข้อดีตรงนี้นี่เอง เพราะเราจะไม่ต้องเจอภาวะถือแต่เงินสด แต่ไม่มีหุ้นให้ซื้อเพราะว่าหุ้นแพง แน่นอนว่า เวลาซื้อบัฟเฟตต้องซื้อแต่ธุรกิจที่ยั่งยืนมากๆ และมีอนาคตไปได้เรื่อยๆ ด้วย การที่หุ้นเหล่านี้แพงแล้วแต่ก็ยังถือต่อไปไม่ได้เสียหายอะไร เพราะว่าต้นทุนของเราต่ำ และธุรกิจก็ยังคงสร้างผลตอบแทนอยู่

แต่สำหรับคนทั่วไปคงทำแบบนั้นได้ยาก เพราะเรามักอยู่เฉยๆ ขนาดนั้นได้ยาก มีน้อยคนมากๆ ที่ไม่ซื้อหุ้นอะไรเลย 6-7 ปี ก็ยังทนได้ ดังนั้น ในชีวิตจริง ผมแนะนำให้เปลี่ยนวิธีการมองมูลค่าหุ้นใหม่ แทนที่จะกำหนดจุดซื้อเป็นจุดๆ เดียว เช่น ถ้าไม่ต่ำกว่า Y บาท ฉันจะไม่ซื้อหุ้นตัวนี้เด็ดขาด เพราะว่าฉันประเมินมูลค่าได้ Y บาท ซึ่งบ่อยครั้ง หุ้นตัวนั้นก็ไม่ยอมลงมาถึง Y บาทสักที บางทีก็ลงมาเกือบแตะแล้ว แต่ก็เด้งไปก่อนอีก ทำให้รอเก้อเลย ดังนั้น ถ้าเราคำนวณได้ Y บาท เราก็ไม่จำเป็นต้องซื้อต่ำกว่า Y เสมอไปก็ได้ ถ้าตลาดปรับฐาน มันย่อลงมามาก แต่ยังสูงกว่า Y บาทอยู่ เราก็อาจจะแบ่งซื้อไปก่อน เช่น ซื้อแค่ 50% ของเงินที่เราตั้งใจจะซื้อหุ้นตัวนั้นแทนก็ได้ ถ้าหากมันลงไปต่ำกว่า Y อีกมากๆ ก็ค่อยซื้อที่เหลืออีกครั้งเพื่อให้เฉลี่ยออกมาเท่ากับ Y พอดี แต่ถ้ามันไม่ลงไปต่ำกว่า Y อีกเลย ก็ถือแค่ 50% แบบเดิมไปก็พอ ถือว่าลงทุนกับตัวนี้น้อยหน่อย เพราะโอกาสไม่อำนวยก็ได้ เอางบประมาณที่เหลือไปลงทุนกับตัวอื่นที่ราคาน่าสนใจกว่าแทน เป็นต้น ข้อดีของวิธีนี้ก็คือ คุณยังได้ลงทุนอยู่บ้างเสมอ ไม่ว่าภาวะตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร และการที่คุณคำนวณมูลค่าหุ้นได้ Y บาท ก็ไม่ได้แปลว่า มันต้องเป็น Y บาท ความคลาดเคลื่อนมีได้อยู่แล้ว

เช่นนี้จำนวนหุ้นในพอร์ตของคุณจะกำหนดเป็นเป้าหมายที่ตายตัวไม่ได้เสมอ ถ้าคุณคิดว่าอยากมีหุ้นตัวละ 20% ของพอร์ต ก็คือ 5 ตัว แต่ต้องเจอกรณีที่ต้องแบ่งซื้อบ่อยๆ เพราะราคาหุ้นไม่อำนวย คุณก็อาจมีหุ้น 5-10 ตัว ในที่สุด ซึ่งก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร

เวลาที่เราซื้อหุ้นไปเต็มพอร์ตแล้วและถือไว้เพื่อรอเวลาให้ธุรกิจเหล่านั้นแสดงศักยภาพที่แท้จริงออกมา บ่อยครั้งระหว่างทางตลาดมักผันผวนรุนแรงมากๆ ความฟุ้งซ่านต่างๆ จะเข้ามาตลอดเวลา เช่น ตลาดขึ้นมาเยอะแล้ว ขายทิ้งก่อนดีมั้ย หรือว่าจะเกิดวิกฤตแล้ว หนีก่อนดีกว่ามั้ย ล็อกกำไรไว้ก่อน เกี่ยวกับเรื่องนี้ ตำราอาจจะบอกว่าให้คุณใจแข็งไม่หวั่นไหวหรือขยับพอร์ตใดๆ ทั้งสิ้นเลย แต่ในทางปฏิบัติ ผมยอมรับว่ามนุษย์ปุถุชนธรรมดาก็ทำเช่นนั้นได้ยากมากเหมือนกัน ผมแนะนำว่า ถ้าคุณอยู่เฉยๆ ไม่ไหวจริงๆ อยากขายหุ้นมากๆ ก็ให้ทำได้ แต่ให้ทำให้น้อยเข้าไว้ เช่น ถ้าตอนนั้นคุณมีหุ้นในพอร์ต 80% แล้ว ตลาดหุ้นขึ้นมาแรงมาก อยากทำกำไรบ้าง แทบที่จะล้างทิ้งทั้งพอร์ตไปเลย ก็อาจจะลดพอร์ตลงมาเหลือสัก 70% การได้ทำกำไรบ้าง ช่วยระงับกิเลสไปได้บ้าง แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ไม่ได้ทำให้เราเสียวินัยการลงทุนไปทั้งหมด เพราะว่าเราก็ยังมีหุ้นส่วนใหญ่เหลืออยู่ และดีกว่าการขายทำกำไรจนหมดพอร์ต เพราะว่าถ้าคุณคิดผิด หุ้นขึ้นต่อ คุณก็จะติดกับดักเงินสดอีก

ลองกำหนดเป็นกรอบไว้ว่า ข้าพเจ้าจะมีหุ้น 50-100% ของพอร์ตตลอดไป ถ้าเริ่มต้นลงทุนตอนนี้หุ้นแพงมาก แทนที่จะไม่ซื้ออะไรเลย ทนถือเงินสดอยู่แบบนั้น ก็ใช้วิธีแบ่งซื้อ คือ ซื้อหุ้นเหมือนกัน แต่ถือแค่ 50% ของพอร์ตก็พอ เหลืออีก 50% ไว้เป็นกระสุน หรือถ้าหุ้นไม่ยอมลงก็จะไม่ลงทุนเพิ่มเลย เจอโอกาสเมื่อไรก็ค่อยสะสมหุ้นเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

ระหว่างทาง ถ้าหากตลาดหุ้นผันผวนมาก อยากทำกำไรบ้าง ก็ให้ทำได้ เช่น ลดพอร์ตลง 10% หรือ เพิ่มพอร์ตขึ้น 10% อยากทำก็ทำไป ตราบใดที่เรายังมีหุ้นไม่ต่ำกว่า 50% ก็ผ่อนปรบกับตัวเองไปก่อน แต่ถ้าเมื่อไรหุ้นลดลงเหลือ 50% แล้ว เราจะไม่ขายหุ้นเพิ่ม ไม่ว่าภาวะตลาดจะเป็นอย่างไร เพราะนั้นคือติดกฎเหล็กที่ควบคุมวินัยการลงทุนของเราแล้ว

ทำได้แบบนี้ เราก็เริ่มลงทุนเมื่อไรก็ได้ ในทุกสภาวะตลาด ทำกำไรระหว่างทางก็ได้ และในเวลาเดียวกันก็ไม่เสียวินัยการลงทุน เพราะเรายังเหลือหุ้นอย่างน้อย 50% อยู่เสมอ

น่าจะเป็นวิธีบริหารพอร์ต Active ที่ปฏิบัตินิยมมากกว่าครับ

CategoriesDG

21 Replies to “on Active Investing #3”

  1. ผมไม่สามารถอ่านบทความได้ครับ ช่วยด้วยครับ นานแล้วครับ loginมาได้ครับ

    1. username pituckj หมดอายุไปตั้งแต่วันที่ 7 มิย ครับ สามารถต่ออายุได้โดยล็อกอินเข้าไปใหม่ แล้วไปที่หน้า สมัครสมาชิก จะมีตัวเลือกให้ต่ออายุได้ หรือถ้าไม่มี จะใช้วิธีโอนเงินเข้าบัญชีแล้วแจ้งมาทางอีเมลก็ได้ครับ

  2. ACTIVE INVESTING มีทั้งหมดกี่ตอนครับ

    เป็นบทความที่ดีมากเลยครับ

    สอบถามนิดนึง เวลาพี่โจ๊ก เขียนบทความนี่ เขียนคนเดียวทั้งหมด หรือ มีทีมงานครับ
    เห็นว่าจะActive กับ http://www.dekisugi.net น้อยลง หรือว่ามีโปรเจ็ค ใหม่ทีกำลังสนใจครับ พอดีเป็นแฟนคลับ ตามบทความต่างๆของพี่โจ๊กเป็นประจำ ทั้งทางอีกเวปนึง เรื่องทั่วไป สวิตเตอร์นี่ตามทุกวัน แหะๆ ชอบมากครับ

    1. ทำคนเดียวทุกอย่างครั้ง รวมทั้งการ admin หน้าเพจ แก้ไข coding ด้วย แฮ็กๆๆๆ

      เขียนเรื่องการลงทุนมาหลายปีแล้ว ก็เริ่มจะรู้สึกเป็น routine เลยอยากแบ่งเวลามาลองแสวงหาอะไรใหม่ๆ ทำดูบ้างครับ

  3. ขอบคุณครับ

    ถ้าเราพยายาทำความความเข้าใจ รู้จักต่อบริษัทที่เราลงทุนให้มากที่สุด

    ก็น่าจะทำให้เราลดความหวั่นไหว ต่อราคาหุ้น ที่เคลือนไหวขึ้น ลง ได้

    มากเลยมั้ยครับ

  4. โดยส่วนตัวแล้ว คุณนรินทร์ ดูราคาหุ้นที่ถืออยู่ หรือแม้แต่มูลค่าของพอร์ตบ่อยแค่ไหนครับ และคิดว่า อาจมีผลต่อพฤติกรรมต่อนักลงทุน
    มากน้อยเพียงใดครับ

                                          ขอบคุณครับ
    
    1. ดูน้อยมากครับ รู้สึกว่ามันคืออุปสรรคของการลงทุนมากกว่า ดังนั้น ยิ่งดูน้อยได้เท่าไร ก็ยิ่งดีเท่านั้นครับ

  5. สุดยอดนักลงทุนจริงๆครับชอบมากๆครับเขียนให้อ่านเยอะๆนะครับ

  6. ชอบบทความนี้มากๆครับ ตรงใจจริงๆ เวลาคิดว่าอีกสักพักตลาดน่าจะลงแล้วเราควรขายหุ้นออกไปก่อนดีมั้ย แต่อีกใจนึงก็กลัวว่าตัวที่เราถืออาจจะไม่ลง เราก็เสียหุ้นไปต้องไล่ซื้อคืนในราคาที่แพงขึ้น ถ้าเราไม่ขายสรุปหุ้นที่เราถือต่อกลับลงเหมือนที่คิด เราก็นั่งคิดเสียดายว่าเรามองถูกแต่กลับไม่ทำ สรุปมันเป็นอะไรที่ยากมากๆ ทางแก้ก็เหมือนที่คุณนรินทร์บอกคืออย่าไปดูราคาบ่อย ก็อาจจะไม่ต้องมาเสียดาย ถ้าหุ้นที่เราถือดีจริง ระยะสั้นอาจผันผวนไปตามตลาดแต่ระยะยาวก็ขึ้นตามผลประกอบการครับ

    1. ถ้าหลุดจากภาวะสองจิตสองใจคิดกลับไปกลับมาได้เมื่อไร เราก็เป็นนักลงทุนที่บรรลุก้าวที่ยิ่งใหญ่ได้แล้ว

  7. อยากถามคุณโจ๊กครับว่าในการลงทุนแบบpassive ซึ่งเราซื้อแบบdca ทางเดียวโดยเราไม่timing marketแต่ถ้าเราคาดว่าตลาดจะตกหนักๆเหมือนเช่นวิกฤตต้มยำกุ้ง เราควรจะซื้อต่อไป หรือซื้อน้อยลง หรือหยุดซื้อ หรือขายไปบางส่วนดีครับ หรืออีกอย่างถ้าsetให้peสูงเช่นมากกว่า30 เราควรทำอย่างไรครับ

  8. ถ้าเราเลือกซื้อแบบ DCA เราย่อมเป็นผู้ที่เห็นแล้วว่า ทิศทางราคาตลาดเป็นเรื่องที่คาดเดายาก ดังนั้นการมาคาดเดา แล้วชิงขายหนีวิกฤต อะไรทำนองนี้ จึงขัดแย้งกับทัศนะแรกของเราที่เลือกใช้ DCA ตั้งแต่แรก

  9. ถ้าหากว่าหุ้นขึ้นมา 15% แล้วแบ่งขายทำกำไรบ้างซัก 30% ซึ่งกำไรที่ได้มานั้น นำกลับมาหักลบกับต้นทุนตอนที่ซื้อมา จะถือว่าเป็นการลดต้นทุนของหุ้นตัวที่เราถือได้มั้ยครับ จะทำให้เรามีต้นทุนที่ต่ำมากๆ ได้

    1. กลยุทธ์ทำนองนี้ทำได้ครับ เป็นกลยุทธ์ลดความเสี่ยง และช่วยเรื่องความรู้สึกได้ด้วย แต่ก็มีต้นทุนด้วยเหมือนกัน คือเราก็ยอมแลกกับกรณีที่หุ้นบางตัวไปต่ออย่างเดียวไม่ลงมาอีกเลย

  10. ผมเล่นหุ้น ลงทุนระยะยาวมา 10 ปี ขัดเกลาไปเรื่อยๆ พอมาอ่านบทความนี้ เหมือนเราเลยแฮะ
    เวลาหุ้นขึ้นเยอะ เร็ว แรง ก็จะรุ้สึกอึดอัด ก็ขายไปนิด ให้หายอึดอัดพอ เวลาจะเก็บหุ้นตัวนั้นน ก็เก็บนิดๆ รอราคาลงมาอยู่ในช่วงราคาถูกก็ซื้อเพิ่ม ไม่ลงช่างทัน มีตัวอื่นให้มอง แถมมีหุ้นนิดหน่อยต่อให้ขึ้นเยอะ ก็มีกำไรเยอะ
    เวลาเพื่อนถามเกี่ยวกะจังหวัดในการซื้อขาย ไม่รุ้จะอธิบายไง พออ่านบทความนี้ 555 อธิบายให้เพื่อนฟังรุ้เรื่องซะที

  11. ขอบคุณมากๆครับ
    คำแนะนำของพี่เข้าใจง่าย และ้ได้จริงเสมอจริงๆครับ

  12. คุณสุมาอี้คิดยังไงบ้างครับกับการแบ่งเงินลงทุนบางส่วนออกไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นในช่วงที่หุ้นแพงแล้ว ส่วนตัวผมเองคิดว่าสินทรัพย์แต่ละประเภทจะมีรอบของมันซึ่งอาจถูกแพงไม่เท่ากัน เลยอยากจะศึกษาสินทรัพย์ประเภทอื่นดูบ้างครับ

  13. พี่โจ๊กคะ
    ขอโทดด้วยจิงๆค่ะ จะกด thump up แต่นิ้วใหญ่เลยไปโดน อีกอัน กดแก้ไขก้อไม่ได้ ขอโทดอีกครั้งนะคะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *