NIM และ NPL

ธุรกิจธนาคารมีรายได้หลักสองทาง ทางแรกคือการปล่อยสินเชื่อ อีกทางคือการเก็บค่าธรรมเนียมบริการต่างๆ

รายได้จากการปล่อยสินเชื่อเกิดจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับที่ได้จากการปล่อยกู้ กับดอกเบี้ยจ่ายที่ต้องจ่ายตอบแทนผู้ฝากเงิน บางทีเราเรียกส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยสองตัวนี้ว่า NIM เช่น ระดมเงินฝากมาให้ดอกเบี้ย 2% แล้วเอามาปล่อยกู้คิดดอกเบี้ย 6% ส่วนต่าง 4% ก็คือ รายได้ของธนาคาร ซึ่งต้องนำมาหักค่าโสหุ้ยในการดำเนินงานอีกที เหลือเป็นกำไร

ในความเป็นจริง NIM มีความซับซ้อนกว่านั้นมาก เพราะธนาคารมีเงินฝากหลายรูปแบบ อัตราดอกเบี้ยของแต่ละแบบไม่เท่ากัน เงินฝากบัญชีกระแสรายวันแทบไม่มีต้นทุนทางการเงินของธนาคารเลย ในขณะที่ เงินฝากบัญชีฝากประจำมีต้นทุนการเงินสูงสำหรับธนาคาร ธนาคารขนาดใหญ่จึงมักมีข้อได้เปรียบเรื่องต้นทุนแหล่งเงิน เพราะคนนิยมเบิกบัญชีกระแสรายวันและออมทรัพย์กับธนาคารใหญ่มากกว่า เพราะมีคนใช้เยอะ สาขาก็ทั่วถึงฝากถอนง่าย และมีบริการที่ครบมากกว่า แต่บัญชีสองประเภทนี้มีเงินเข้าออกทุกวัน ไม่นิ่ง ทำให้ธนาคารจำเป็นต้องสำรองเงินสดไว้ให้บริการลูกค้ากลุ่มนี้เยอะกว่า กลายเป็นต้นทุนอีกแบบหนึ่ง แต่ยังไงๆ ก็ต้องมีเงินจำนวนหนึ่งที่ไม่เคลื่อนไหว ทำให้ธนาคารสามารถเอาเงินจำนวนนี้ไปปล่อยกู้ยาวๆ กินดอกเบี้ยสูงได้ ได้กำไรส่วนต่างมหาศาลได้เลย ดังนั้นธนาคารที่มีบัญชีกระแสรายวันและออมทรัพย์เยอะๆ ยังไงก็ได้เปรียบธนาคารอื่น

บริการสินเชื่อของธนาคารก็มีหลายแบบอีกเช่นกัน ลูกค้าของธนาคารแต่ละรายมีเครดิตไม่เท่ากัน ทำให้อัตราดอกเบี้ยต้องไม่เท่ากัน (MLR+ X) ลูกค้ารายใหญ่ต้องเอาใจกันหน่อย คิดดอกแพงกว่าคู่แข่งไม่ได้ เป็นต้น หลักทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกันแต่ละรายก็มีความมั่นคงไม่เท่ากัน หรือแม้แต่ลูกค้าคนเดียวกัน กู้ระยะยาว กู้โปรเจ็คไฟแนนซ์ หรือกู้ O/D ก็มีระยะเวลาเรียกคืนหนี้ไม่เท่ากัน อัตราดอกเบี้ยก็ไม่ควรจะเท่ากัน เพราะต้องสะท้อนความเสี่ยงที่ไม่เท่ากัน สุดท้ายแล้ว ค่า NIM จึงเกิดจากการเอาเงินฝากและเงินกู้ทุกประเภทมาหาค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยที่คิดแบบเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักแล้วหาผลต่างออกมา

ธนาคารที่มี NIM สูงกว่าไม่ได้แปลว่าเก่งกว่าเสมอไป เพราะ NIM อาจจะสูงเพราะธนาคารนั้นเน้นปล่อยสินเชื่อความเสี่ยงสูง เช่น สินเชื่อบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ได้ดอกเบี้ยสูงกว่า แต่ว่าความเสี่ยงก็สูงกว่าด้วย ดังนั้น ในการเปรียบเทียบ NIM จะต้องดู NPL ควบคู่ไปด้วย ถ้าธนาคารไหนมี NIM สูง แต่ว่า NPL ก็สูง ก็ไม่ได้แปลว่าดีกว่าธนาคารที่ NIM ต่ำกว่า แต่ NPL ต่ำกว่ามาก

NPL เป็นตัวเลขที่สำคัญมากของธุรกิจธนาคาร เพราะธนาคารปล่อยสินเชื่อแบบ Fractional หมายความว่า ตัวธนาคารเองอาจจะมีทุนแค่ 1 ส่วน แต่ไปกู้คนฝากเงินมา 9 ส่วน เพื่อมาปล่อยสินเชื่อ 10 ส่วน สมมติว่า สินเชื่อของธนาคารเน่าไป 5% ก็เท่ากับว่า ทุนของธนาคารเองหายไปแล้ว 50% เพราะธนาคารต้องชดใช้ส่วนที่เสียหายนี้ด้วยทุนของตัวเอง เนื่องจากธนาคารมีหน้าที่ต้องคืนเงินผู้ฝากเงินเต็มจำนวนเสมอไม่ว่าจะปล่อยกู้แล้วกำไรหรือว่าขาดทุนก็ตาม ซึ่งธนาคารมักจะแก้ปัญหา NPL ด้วยการชะลอการปล่อยกู้เพิ่มชั่วคราว รอให้กำไรสะสมเพิ่มขึ้น จนส่วนทุนกลับมาเท่าเดิมหรือครอบคลุม NPL หรือที่เรียกว่า การกันสำรองหนี้เสียนั่นเอง

แต่ NPL บางทีก็เชื่อถือยาก ธนาคารอาจบอกว่าตัวเองใช้เกณฑ์จัดชั้น NPL ที่เข้มงวดมาก แต่บางทีธนาคารเห็นลูกค้าสินเชื่อรายหนึ่งอาการร่อแร่ แต่ไม่อยากจัดชั้นเป็น NPL เพราะไม่อยากให้ NPL ของตัวเองเพิ่มขึ้น ก็อาจจะหลับหูหลับตา Roll-over หนี้ก้อนเดิมให้ลูกค้ารายนั้น เพื่อมิให้มีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ควรจะปล่อยแล้ว ตรงนี้การจัดชั้น NPL อย่างเข้มงวดจะไม่ช่วยอะไรเลย เป็นต้น การจัดชั้น NPL จึงเป็นเรื่องที่มี conflict of interest อยู่ เป็นมุมมืดของการลงทุนในธุรกิจนี้

ในภาวะเศรษฐกิจปกติ เรานิยมดูว่าธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นหรือไม่ yoy ยิ่งสินเชื่อขยายตัวก็ยิ่งดี เพราะโอกาสทำกำไรย่อมมีเยอะขึ้น กำไรในอนาคตจะสูงขึ้น แต่เมื่อไรก็ตามที่เศรษฐกิจเริ่มแย่ลง สิ่งที่นักลงทุนจะหันมาสนใจมากกว่าคือ NPL เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ย่ิงปล่อยสินเชื่อเพิ่ม ยิ่งน่ากลัว ขอดูดีกว่ากว่า NPL จะปูดขึ้นมาหรือไม่ เพราะในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ลูกค้าที่เคยเป็นลูกค้าชั้นดีส่วนใหญ่จะเริ่มกลายเป็นลูกค้าชั้นแย่ ต้องดูว่าธนาคารจะบริหารจัดการลูกค้าที่ประสบภัยได้มากแค่ไหน ก่อนที่ธนาคารจะกลายเป็นผู้ประสบภัยเอง          

6 Replies to “NIM และ NPL”

  1. ช่วงนี้เว็บโดนสแปมเล่นงานซะอ่วมเลย เพิ่งไล่ลบเสร็จ

    ช่วงนี้ผมหันไปโพสต์บนเฟสบุ้กซะเยอะ เพราะเริ่มจะติดนิสัยอ่านอะไรยาวๆ ไม่ได้แบบชาวโซเซียลแล้วเหมือนกัน เลยต้องขออภัยด้วยที่ไม่ได้เขียนอะไรยาวๆ ในอ่านบ่อยเท่าเดิม

    ถ้าใครยังไม่เคยสับตะไคร้ก็เชิญได้ที่ facebook.com/dekisugibooks เชื่อว่าทุกวันนี้ไม่น่าจะมีใครที่ไม่ได้ใช้เฟสบุ้กแล้ว

  2. อยากให้คุณนรินทร์ มี market commentary บ่อยๆ ครับผม ขอบคุณครับ

  3. คุณนรินรครับ ผมมีคำถามแต่ต้องขอโทษก่อนนะครับอาจจะไม่เกี่ยวกับ npl และ nimเลย ผมถามเกี่ยวกับ ต้นทุนของเจ้าหนี้ครับ ถ้า บ.ไม่กู้เงินเลยบ.จะมีต้นทุนเจ้าหนี้เท่าไรครับ? ผมซื้อหนังสือวัดมูลค่าหุ้นพยามอ่านแต่ไม่เข้าใจครับ

  4. ถ้าบริษัทไม่กู้เงินทำธุรกิจเลยก็ยังต้องใช้codในการคำนวนหาค่าwaccด้วยหรือครับ?
    ใช้เป็น 0 ได้ไหมครับ?

  5. มีบริษัทแห่งหนึ่ง listed in s.e.tแต่ไม่มีหนี้เลยถ้าผมจะคำนวนหา cost of debt ผมก็ยังต้องใช้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และถ้าบริษัทไม่เคยกู้เงินเลยหละครับจะยังต้องใช้risk free อีกใช่ไหมครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *