ถนนสาย Passive Investing

ช่วงหลังๆ นี้ ผมเริ่มนิยมแนวคิด Passive Investment มากขึ้นเรื่อยๆ และอยากเป็นผู้ที่เป็นนักปฏิบัติแนวทางนี้ได้ดี

ผมพบว่า สิ่งที่ยากที่สุดของการเป็น Passive Investor คือการเปลี่ยนวิธีคิดให้สอดคล้องกับแนวการลงทุนแนวนี้ ไม่ใช่เรื่องความรู้หรืออะไรเลย

ถ้าคุณคิดจะลงทุนแนวนี้ โดยที่ไม่ได้เปลี่ยนวิธีคิดตามไปด้วย สุดท้ายแล้ว สัญชาตญาณและความเชื่อแบบเดิมๆ ของคุณจะผลักให้คุณหันเหออกจากวิถีทางการลงทุน และเป็นนักปฏิบัติที่ล้มเหลวไปในที่สุด

แนวการลงทุนนี้มาจากฐานข้อเท็จจริงโดยสถิติที่ว่า คนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นไม่สามารถเอาชนะดัชนีตลาดหุ้นในระยะยาวได้ ดังนั้น วิธีลงทุนให้ได้ผลตอบแทนดี ที่ทำได้ง่ายที่สุด ก็คือ การลงทุนให้คล้ายกับดัชนีให้มากที่สุด เพราะจะทำให้ได้ผลตอบแทนที่เหนือกว่าคนส่วนใหญ่ในตลาดได้แล้ว โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้สูง มีไอคิวมากๆ มีข้อมูลเด็ดๆ หรือต้องการบ้านหนักๆ อะไรเลย นี่เป็นเรื่องของความเป็นเหตุเป็นผลธรรมดา

อุปสรรคของแนวทางเช่นนี้คือ คนเรามีปัญหาใหญ่อยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่รู้กันมานานแล้ว ในวงการเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมก็คือ ภาวะมั่นใจมากเกินจริง (over confidence) มีคนแค่ 20% เท่านั้นที่ชนะตลาดในระยะยาวได้ แต่ถ้าถามนักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่ 80% จะเชื่อว่า ตัวเองคือหนึ่งใน 20% นั้น ทำให้การยอมรับว่าตัวเองอาจจะเอาชนะตลาดไม่ได้ (ซึ่งมีโอกาสเป็นความจริงมากถึง 80%) และควรหันมาลงทุนแบบ Passive ดีกว่า เป็นเรื่องที่คนเราทำใจรับให้ยอมรับได้ยากมาก

ยิ่งเดี๋ยวนี้เราอยู่ในยุคคิดบวก คิดใหญ่ ฝันให้ถึงดวงจันทร์ เพราะถ้าไม่ได้อย่างน้อยก็ยังถึงดวงดาว อันเป็นค่านิยมที่ไม่สอดคล้องกับแนวคิดแบบยอมรับความเป็นจริง หรือตัวเลขทางสถิติ ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้ตรรก เราต้องเป็นที่ 1 ให้ได้ แทนที่จะหวังแค่ได้ A ธรรมดา เช่นนี้เป็นต้น แนว Passive จึงเป็นแนวที่ฟังแล้วไม่โดน

ยิ่งไปกว่านั้น ในด้านอื่นๆ ของชีวิต คนเราเคยชินกับคำว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั้น ซึ่งใช้ได้กับหลายๆ เรื่องในชีวิต แต่ไม่ใช่เรื่องตลาดทุน พอเราต้องมาสมาทานความคิดที่ว่า การอยู่เฉยๆ ในตลาดทุน บางครั้งทำให้เราได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า เนื่องจากยิ่งตัดสินใจเยอะ ยิ่งผิดพลาดเยอะ การอยู่เฉยๆ จึงให้ผลตอบแทนสูงขึ้น เพราะการผิดพลาดลดลง กลายเป็นแนวคิดที่ฝืนสัญชาตญาณที่เราใช้กับทุกเรื่องในชีวิต

นอกจากการอยู่เฉยๆ แล้ว แนว Passive ยังเป็นแนวที่พึ่งพาการกระจายหุ้นในระดับสูง เพราะโดยพื้นฐานแล้ว มันคือการลงทุนให้คล้ายดัชนี แต่คนที่ลงทุนแนว Passive จำนวนมากจะอดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่า ทำไมเราไม่ตัดขาดหุ้นในพอร์ตที่ขาดทุน แล้วเอาเงินตรงนี้มาใส่เพิ่มกับหุ้นในพอร์ตตัวที่ทำกำไรให้เรา ซึ่งฟังดูก็เหมือนจะเป็นวิธีหุ้นที่เซียนแนะนำ แต่ว่านั้นคือวิธีการที่เหมาะกับนักเทรดหุ้น หรือแม้แต่นักลงทุนแนว Active เท่านั้น ถ้าหากเราทำอย่างนั้นกับพอร์ตที่ Passive ในที่สุดแล้ว หุ้นในพอร์ตจะเหลือน้อยลงเรื่อยๆ จนไม่ใช่พอร์ตที่มีการกระจายอีกต่อไป ซึ่งผิดหลักการของแนวนี้เลย เมื่อหลายปีก่อนมีคนถามผมว่า ทำไมผมถึงไม่ขายหุ้นพลังงานในพอร์ตซึ่งขาดทุน แล้วเอามาเพิ่มนำ้หนักหุ้นโรงพยาบาลเพราะขึ้นทุกปี โชคดีที่ผมไม่ได้ทำตาม เพราะถ้าผมทำแบบนั้น เงินจำนวนนั้นก็จะขาดทุนมากขึ้น เพราะหลังจากที่หุ้นโรงพยาบาลขึ้นอย่างเดียวมาติดต่อกันหลายปี ก็มาลงเอาพอดีเมื่อเร็วๆ นี้ เห็นได้ว่า การรักษาการกระจายหุ้นเอาไว้ตลอด ทั้งที่บางตัวขาดทุนต่อเนื่อง เป็นหลักการที่ดีกว่า เพราะเราไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นแบบไหน และอนาคตก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนอดีต ต่อให้อดีตเกิดขึ้นซ้ำๆ กันติดต่อเป็นระยะเวลาหลายปีก็ตาม จะเห็นได้ว่า คนเราพยายามเอาแนวคิดที่ใช้ได้ผลกับพอร์ตเทรดดิ้ง หรือพอรต์ Active มาใช้กับพอร์ตที่ Passive ด้วย ทั้งที่จริงแล้ว มันไปด้วยกันไม่ได้ ความเชื่อเดิมๆ ยังค้างอยู่ในสมอง

หรือบางคนก็คอยมาถามว่าปีนี้ผมจะปรับพอร์ต Passive ของผมยังไง เพราะเขาจะได้ซื้อตามเฉพาะตัวนั้นกับพอร์ต Active ของเขาเอง ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่อันตราย เพราะคนที่เลือกหุ้นเข้าพอร์ตที่ Passive กับ Active นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นหุ้นตัวเดียวกันเสมอไป หุ้น Active อาจคาดหวังกำไรเติบโตในอีก 12 เดือนข้างหน้า จึงคาดหวังผลตอบแทนระยะสั้น แต่หุ้น Passive อาจจะเลือกเข้ามาเพื่อให้พอร์ตกระจายอุตสาหกรรมให้มากขึ้น โดยดูจากหุ้นตัวอื่นๆที่ยังอยู่ในพอร์ต มากกว่าที่จะสนใจการเติบโตของกำไรในอีก 12 เดือนข้างหน้า การเอามาปนกันแบบนี้ น่าจะนำไปสู่ความผิดหวังได้ง่ายๆ

ยังมีอะไรข้างหน้ารออยู่อีกเยอะที่ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการหัดเดินเส้นทางนี้ของผม

6 Replies to “ถนนสาย Passive Investing”

  1. ขอบพระคุณมากค่ะ เป็นบทความที่เตือนสติให้กลับไปทบทวนตัวเองและแนวทางการลงทุนของตัวเองได้ดีเลยค่ะ

  2. ขอบคุณมากครับ ติดตามงานเขียนของ คุณนรินทร์ ตลอดๆ ครับผม

  3. ความกระตือรือล้นอาจสร้างความสำเร็จที่ดีเยี่ยมในด้านอื่น ๆ
    หากพฤติกรรมนี้กลับใช้ได้ไม่ดีนักกับการลงทุน
    คนที่ลงทุนจนได้ผลตอบแทนสูงมาก ๆ ในระยะยาว
    ล้วนแล้วแต่ปล่อยให้เวลาและผลตอบแทนทำงานไปเรื่อย ๆ ทั้งนั้น
    แต่ก็นั่นหละครับ น้อยคนนักที่จะมีความมั่นคงในอารมณ์สูงมากได้
    ไม่ว่า เบนจามิน เกรแฮม วอร์เรน บัฟเฟต์ หรือ ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ต่างแนะนำเป็นเสียงเดียวกันว่า
    จงลงทุนใน index fund แล้วไปมันส์อย่างอื่นกับชีวิตเสีย
    ในระยะยาว (15 ปีขึ้นไป) ผลตอบแทนทบต้นที่ได้รับค่อนข้างดี โดยไม่ต้องมาเหนื่อยไล่หาหุ้นเด้ง ที่สุดท้ายมักจะดับ
    กว่าจะเข้าใจและยอมรับความจริงได้
    ก็ต้องจ่ายค่าเรียนไปหลายอัฐ

  4. สงบสยบคลื่อนไหวนี่คือสุดยอดกลยุทธ์ของจอมยุทธที่ยิ่งใหญ่ในยุทธจักร ผมจำไม่ได้ว่าประโยคนี้เป็นของท่านใดแต่มันช่างโดนใจเหลือเกิน สุดยอดครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *