9 Checklist ของการคัดเลือกหุ้น

เรื่องที่นักลงทุนมักผิดพลาดได้ง่าย ก็การที่กิจการหนึ่งๆ มีเรื่องที่ให้ต้องมอง ต้องตรวจสอบ เยอะมาก การที่เราละเลยไม่ได้มองมิติใดมิติหนึ่งของหุ้นไป สามารถทำให้เราผิดพลาดจากการลงทุนหุ้นตัวนั้นอย่างมากเลยก็ได้ ต่อไปนี้คือ Checklist ที่จะช่วยให้นักลงทุนดูให้รอบคอบอีกทีว่าเรามองหุ้นที่จะลงทุนนั้นอย่างรอบด้านแล้วหรือยัง

  1. อุตสาหกรรมหรือตลาดที่หุ้นตัวนั้นอยู่ กำลังมีอัตราการเติบโตปีละกี่เปอร์เซนต์ แม้ว่าบ่อยครั้งตัวเลขนี้อาจหายาก แต่ถ้าเราสามารถหาตัวเลขนี้มาได้ เราจะรู้ว่าเรากำลังคาดหวังอะไรเกินจริงอยู่รึเปล่า ถ้าหากเราตั้งสมมติฐานไว้ว่าบริษัทจะโตได้ปีละ 20% แต่ตลาดกำลังโตปีละ 5% ก็ต้องสงสัยว่า จะเป็นไปได้สักแค่ไหน หรือถ้าเป็นไปได้ แสดงว่าบริษัทต้องมีการกินส่วนแบ่งตลาดของคู่แข่ง ซึ่งอาจหมายถึงสงครามราคาหรือไม่? กำไรจึงอาจไม่โตเท่ากับรายได้ก็ได้
  2. บอกได้หรือไม่ว่าข้อได้เปรียบของบริษัทคืออะไร คำถามนี้ถ้าตอบไม่ได้ทันที หรือสรุปง่ายๆ ไม่ให้เกินสองบรรทัดไม่ได้ แสดงว่า เราอาจจะ “มะโน” อยู่ว่าบริษัทนี้ดี โดยที่ไม่ได้มีเหตุผลที่เป็นรูปธรรมใดๆ รองรับอยู่
  3. ลูกค้าของบริษัทเป็นใคร เหมือนกับคำถามเชิงการตลาดที่ต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนเสมอ เป็นชายหรือหญิง อายุช่วงไหน มีปัญหาในชีวิตอะไร เอกชนหรือภาครัฐ บุคคลหรือบริษัท บริษัทที่มีนวัตกรรมสุดไฮเทค แต่ตอบไม่ได้ว่าใครจะมาเป็นลูกค้า ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะต่อให้มีของดียังไง ถ้าไม่มีลูกค้าก็ไม่ใช่ธุรกิจ และอย่าตอบว่าทุกคน เพราะสินค้า 99% ในโลกนี้มีกลุ่มเป้าหมายที่เล็กกว่าคำว่าทุกคนเสมอ
  4. สภาพเศรษฐกิจในช่วงที่จะลงทุนมีแนวโน้มอย่างไร คำถามนี้อาจเป็นคำถามที่ค่อนข้างกว้าง และอาจไม่ส่งผลโดยตรงกับธุรกิจหรือตลาดของบริษัทเสมอไป แต่ในกรณีที่สุดโต่งก็อาจส่งผลได้ หรือบางครั้งก็ส่งผลต่อจิตวิทยาของลูกค้า สภาพเศรษฐกิจที่แย่ก็พลอยทำให้คนรัดเข็มขัดไปหมดทุกเรื่อง หลักๆ ควรดูว่า GDP เติบโตประมาณเท่าไร เงินเฟ้อจะปกติหรือไม่ ประเทศขาดดุลบัญชีเดินสะพัดรึเปล่า ประเทศมีหนี้ต่างประเทศหรือหนี้ครัวเรือนสูงเกินไปหรือไม่ ถ้าตัวเลขเหล่านี้ไม่ดูดีพอ ก็ไม่ควรตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับบริษัทที่เลิศหรูจนเกินไป
  5. บริษัทจะเพิ่มกำไรด้วยวิธีการอะไร คำถามนี้อยากรู้สาเหตุของการเติบโต ไม่ใช่อัตราการเติบโต  อยู่ดีๆ บริษัทจะมีกำไรเพิ่มขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีโครงการมารองรับ เช่น ขยายกำลังการผลิตของเครื่องจักร เปิดโรงงานเพิ่ม เพิ่มสาขา ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เพิ่มช่องทางขาย ต้องมีเหตุผลที่เป็นรูปธรรมเหล่านี้มาสนับสนุนตัวเลขการเติบโต ไม่ใช่อ้างขึ้นมาลอยๆ
  6. บริษัทจะหาเงินจากไหนมาลงทุนเพิ่ม การเติบโตต้องอาศัยการลงทุน และการลงทุนต้องใช้เงิน บริษัทจะหาเงินมาจากไหน มีเงินสดเหลือในงบดุลมาก หรือว่ามีกำไรที่เป็นเงินสดสูงมากทุกปี หรือยังกู้ธนาคารได้อีกเยอะเพราะหนี้ยังไม่สูง ลดเงินปันผล หรือว่าต้องเพิ่มทุนอย่างเดียว (ข่าวร้ายของนักลงทุน) การเพิ่มทุนมักทำให้มูลค่าหุ้น dilute แล้วเราคิดถึงผลตรงนี้หรือยัง
  7. บริษัทมีประวัติศาสตร์ในตลาดทุนที่น่าเชือถือแค่ไหน เคยหักหลังนักลงทุนหรือไม่ มีประวัติไม่ดีเรื่องธรรมภิบาลรึเปล่า หรือว่าเป็นหุ้นใหม่ที่ไม่มีประวัติให้ตรวจสอบนานพอที่จะเชื่อถือได้เลย ผู้ถือหุ้นหลักเป็นใคร เขามีกิจการอื่นอีกหรือไม่ จะทำให้เกิดการไซฟ่อนเงินระหว่างกิจการหรือได้ง่ายหรือไม่ คิดว่า Wealth หลักของผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ที่บริษัทไหน โครงสร้างการถือหุ้นดูซับซ้อนซ่อนเงื่อนเหมือนบริษัทที่ชอบเล่นกลโกงทางการเงินรึเปล่า เคยออกวอแรนต์หรือเพิ่มทุนที่มีราคาใช้สิทธิที่ต่ำมากๆ เพื่อบีบคอให้รายย่อยต้องใช้สิทธิ์เพิ่มทุนรึเปล่า
  8. ราคาหุ้นแพงไปหรือยัง ข้อนี้อาศัยการวัดมูลค่าหุ้น
  9. งบการเงินน่าเชื่อถือหรือไม่ ความเห็นของผู้สอบบัญชีเป็นอย่างไร หรือผู้สอบเลือกที่จะไม่แสดงความเห็น หรือมีข้อกังขาในบางส่วนของงบการเงิน บริษัทมีหนี้สูงเกินไปรึเปล่า กระแสเงินสดสอดคล้องกับกำไรทางบัญชีหรือไม่ หมายเหตุประกอบงบการเงินมีข้อความที่ผิดปกติหรือไม่ มีคดีความหรือหนี้ที่ไม่อยู่ในงบดุลอะไรบ้าง

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *