สิ่งที่ยากที่สุดของการลงทุน

เรามักคิดว่า สิ่งที่ยากที่สุดของการลงทุน คือการเลือกหุ้นให้ถูกตัว ทำให้เรากลายเป็นแมงเม่าที่คอยวิ่งตามผู้วิเศษที่จะบอกหุ้นให้เราได้ แต่ที่จริงแล้ว สิ่งที่ยากที่สุดของการลงทุนคือ การอยู่เฉยๆ เพื่อปล่อยให้เงินได้มีเวลาทำงานให้เรามากพอที่จะแสดงศักยภาพที่แท้จริงของมันออกมา

เราอาจคิดว่าเราเป็นคนที่ตัดสินหุ้นจากปัจจัยพื้นฐานมากกว่าราคา แต่เมื่อไรก็ตามที่เราได้ซื้อหุ้นนั้นไปแล้ว และได้เห็นราคาหุ้นของมันขึ้นๆ ลงๆ ความผันผวนของราคาจะเริ่มกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เราสงสัยเกี่ยวกับพื้นฐาน หุ้นที่เราเคยคิดว่าพื้นฐานดี ถ้าซื้อไปแล้ว ราคาลงทันที 5% เราก็อาจจะยังไม่ได้คิดอะไร แต่ถ้ามันลงต่อไปอีก กลายเป็น 10% และกลายเป็น 20% ตอนนี้เราจะเริ่มสงสัยแล้วว่า พื้นฐานมันไม่ดีรึเปล่า ไม่ช้าไม่นาน ถ้าทุกอย่างยังไม่ดีขึ้น เราจะเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับพื้นฐานหุ้นตัวนั้นไปเลย เป็นเรื่องแปลกแต่จริง ที่เวลานี้เราจะหาเหตุผลเชิงพื้นฐานมาสนับสนุนความเชื่อของเราว่าหุ้นไม่ดี และคิดไปเองว่า เรามองพื้นฐาน แต่ที่จริงต้นตอของความคิดทั้งหมดมาจากราคาหุ้นที่ร่วงลง

ในทางตรงกันข้ามก็เช่นกัน หุ้นที่ราคาวิ่งขึ้นทุกวัน เราจะค่อยๆ เชื่อไปเองว่าหุ้นนั้นพื้นฐานดี สีเขียวทำให้เรามีความสุข ใครมาทำให้เรามีความสุข เราย่อมมองเขาในแง่ดี ที่หุ้นฟองสบู่ได้ก็เพราะแบบนี้ บางทีหุ้นไม่ได้ขึ้นเพื่อเหตุผลด้านพื้นฐานอะไรมากกว่าไปการที่ราคาของมันขึ้นทุกวัน ทุกคนย่อมอยากรู้สึกดี เลยวิ่งเข้าไปหาหุ้นสีเขียว แล้วก็ทำให้มันยิ่งเขียวขึ้นไปอีก กลายเป็นการป้อนกลับแบบบวก

สมัยก่อนผมเคยคิดว่า ถ้าเรามีความรู้เรื่องจิตวิทยาการลงทุน เราก็จะไม่เผลอตัว จิตใจของเราก็จะมีความมั่นคง หรือถ้าเราเป็นคนมีเหตุมีผล เราก็จะป้องกันตัวเองจากความโลภและความกลัวได้ แต่ยิ่งนานวัน ผมกลับพบว่ามันไม่จริง สมองของคนเราถูกออกแบบมาให้ลำเอียง มันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของความเป็นมนุษย์ อารมณ์เป็นใหญ่ ส่วนเหตุผลเป็นแค่สิ่งที่เราเลือกหยิบขึ้นมาทีหลัง เพื่อสนับสนุนอารมณ์ของเรา ทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเองว่าเป็นคนมีเหตุผล เป็นแค่การหลอกตัวเอง

เดี๋ยวนี้ผมเชื่อว่าคนเราไม่สามารถขจัดความลำเอียงในใจได้จริง วิธีที่ดีที่สุดไม่ใช่การพยายามเป็นคนมีเหตุผล แต่คือการไม่อยู่ใกล้ๆ สิ่งเร้าที่จะกระตุ้นให้สมองส่วนอารมณ์ของเราทำงานขึ้นมา บ่อยครั้งการปิดหน้าจอเทรด หยุดอ่านข่าวหุ้นรายวัน หรือแม้แต่หนีไปพักร้อน เป็นมาตรการที่จำเป็นที่จะป้องกันตัวเองจากการใช้อารมณ์กับหุ้น

การรอคอยมากพอที่จะเข้าซื้อหุ้นในราคาที่เหมาะสม และการกระจายพอร์ตที่ดีพอสมควร เป็นสิ่งที่จะสร้างความปลอดภัยให้กับพอร์ตการลงทุนของเรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนที่เราจะเริ่มต้นซื้อหุ้นสักตัว ส่วนการพยายามทำผลตอบแทนด้วยการซื้อขายหุ้น เพื่อหลบความผันผวนของราคา เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และมักไม่ได้ผล เพราะเรามักทำแบบนั้นท่ามกลางความผันผวนของตลาดที่กระตุ้นให้เราใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงไม่ดีอย่างที่คิด

ดังนั้นถ้าหากก่อนซื้อเราได้คิดรอบคอบแล้ว และพอร์ตของเราก็มีการกระจายที่พอสมควรอยู่แล้ว วิธีที่ดีที่สุดคือการอยู่เฉยๆ หลังจากนั้น อย่าเอาการขึ้นๆ ลงๆ ของราคาหุ้นในช่วงสั้น มาตัดสินการลงทุนของเรา อย่าเฝ้าหน้าจอทุกวัน อยากอ่านข่าวตลาดหุ้นรายวัน อ่านข่าวการตลาด หาความรู้ด้านการเงิน รวมทั้งเอาเวลาไปใช้ชีวิต เพื่อรอเวลาให้เงินทำงาน กลับมารีวิวพอร์ตแค่นานๆ ครั้ง เช่น ทุก 6 เดือน ก็พอ

หลายสิ่งในชีวิต ยิ่งพยายามมากๆ ทำมากๆ ยิ่งได้ผลลัพธ์ที่ดี เช่น การขยันอ่านหนังสือสอบ เป็นต้น และเราก็ถูกโปรแกรมมาให้ทำแบบนี้กับทุกเรื่องในชีวิต แต่โชคไม่ดีที่วิธีอาจใช้ไม่ได้กับการเงิน บางช่วงเวลา การอยู่เฉยๆ กลับทำให้เราขาดทุนน้อยลง แต่เรากลับทำไม่ได้ เพราะเราเคยชินให้ต้องทำอะไรสักอย่างอยู่ตลอดเวลา และนั่นก็คือเหตุผลหนึ่งที่การลงทุนของเรายังไม่ประสบความสำเร็จ โดยที่เราเองนั้นกลับไม่เคยเฉลียวใจเลย

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *