0310: กลยุทธ์ของเฮดจ์ฟันด์

ทุกวันนี้ถ้าไม่นับ กองทุนบริหารความมั่งคั่งแห่งรัฐฯ และกองทุนบำเหน็จบำนาญต่างๆ แล้ว “ขาใหญ่” ของตลาดทุนโลกอันดับถัดมาคงหนีไม่พ้น พวกเฮดจ์ฟันด์ ต่างๆ

เฮดจ์ฟันด์ ตามความหมายดั่งเดิม คือ กองทุนที่ลงทุนด้วยการเสาะหาช่องว่างในการทำกำไรที่ปราศจากความเสี่ยง (Riskless) ถ้าจะยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คงหนีไม่พ้น วิธีของกองทุน Long-term Capital Managment ที่อื้อฉาวในอดีต

ในทางทฤษฏี พันธบัตรรัฐบาลสองตัวที่มีอายุเท่ากันจ่ายดอกเบี้ยเท่ากันจะต้องมีราคาเท่ากันด้วย แต่ในความเป็นจริงอาจมีราคาต่างกันเพราะสภาพคล่องของตลาดในช่วงสั้นที่ไม่สมบูรณ์แบบ LTCM ใช้วิธียืมพันธบัตรรัฐบาลจากกองทุนอื่นที่มีราคาตลาดสูงกว่ามาขาย แล้วเอาเงินที่ได้มาซื้อพันธบัตรตัวที่ถูกกว่ามาถือไว้แทน การถือไว้ทั้ง short และ long position ในราคาที่ต่างกันเล็กน้อยเช่นนี้ จะทำให้เกิดกำไรเป็นจำนวนเท่ากับส่วนต่างของราคา เมื่อใดก็ตามที่ส่วนต่างของราคาในตลาดบีบเข้าหากัน ก็จะเกิด net gain ขนาดเล็กๆ ขึ้น เป็นโอกาสให้ LTCM ล้างสถานะทั้งหมดเพื่อทำกำไรได้

การลงทุนด้วยวิธีนี้มีความเสี่ยงต่ำมาก เนื่องจากโอกาสที่ราคาพันธบัตรทั้งสองจะหนีออกจากกันมากๆ (เกิด net loss) มีน้อยมาก ต่อให้เกิดขึ้นจริง ก็ไม่น่ากลัว เพราะสามารถถือต่อไปแล้วรอให้พันธบัตรทั้งสองตัวหมดอายุก็ได้ ราคาจะกลับมาเท่ากันเอง และพันธบัตรก็เป็นสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงยิ่ง การลงทุนด้วยวิธีนี้จึงมีลักษณะคล้ายกับ “โอกาสที่ไม่มีความเสี่ยง” 

แม้ว่า net gain ที่มีโอกาสเกิดขึ้นจะมีขนาดเล็กมากๆ เพราะผลต่างของราคาพันธบัตรสองตัวที่เหมือนกันคงต่างกันไม่ได้มากนัก แต่ LTCM ก็ทำกำไรด้วยวิธีการนี้ได้อย่างมหาศาล เพราะไม่ได้ใช้เงินของตัวเอง LTCM เพียงแต่ขอยืมพันธบัตรของคนอื่นมาขาย แล้วเอาเงินก้อนนั้นแหละมาซื้อพันธบัตรอีกตัวหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง LTCM จะต้องถือเงินส่วนตัวไว้จำนวนหนึ่งด้วย เพื่อให้เจ้าของพันธบัตรเชื่อเครดิต เงินจำนวนนี้จึงเป็นส่วนทุนที่แท้จริงของ LTCM ซึ่งก็น้อยมากเมื่อเทียบกับขนาดพันธบัตรที่ยืมมาหลายสิบเท่าตัว ฉะนั้น แม้ net gain จะแคบมาก แต่ LTCM ก็ได้กำไรหลายสิบเท่าตัวเมื่อเทียบกับทุนที่ใช้ ตลาดพันธบัตรเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มหึมาและมีสภาพคล่องสูง LTCM จึงสามารถเพิ่ม position ได้โดยไม่จำกัด

แต่สุดท้ายแล้ว LTCM ก็ยังเจ๊งได้ยังไงนั้น ทุกท่านสามารถหาหนังสืออ่านได้ทั่วไป แต่ประเด็นที่ผมอยากจะเขียนถึงในบทความนี้คือ กลยุทธ์ในการลดความเสี่ยงของพวกเฮดจ์ฟันด์ต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีการที่น่าเรียนรู้

กลยุทธ์ลดความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งของพวกเฮดจ์ฟันด์ ที่จะขอยกมาเขียนถึงเป็นตัวอย่างเรียกว่า market neutral strategy กลยุทธ์นี้มีแนวคิดว่า บ่อยครั้งที่เราค้นพบหุ้นตัวหนึ่ง ที่มีสตอรี่ที่ดีมาก ทำให้ราคาหุ้นมีโอกาสที่จะขยับขึ้นได้ในอนาคต แต่พอเราลงทุนไป ปรากฏว่า ภาวะตลาดเกิดเลวร้ายลง ทำให้แม้หุ้นที่เราลงทุนจะมีสตอรี่ที่ดี แต่ก็ฝืนภาวะตลาดไม่ไหว ทำให้ต้องขาดทุนอยู่ดี ภาวะตลาดจึงเป็นความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ที่สำคัญสำหรับการลงทุนแบบ bottom up

เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะตลาด (Market Risk) ลง แทนที่จะซื้อหุ้นตัวนั้นเฉยๆ ก็ให้ short index ไปพร้อมกันด้วย ถ้าหากเกิดโชคร้ายตลาดลงแรง แต่ถ้าเราคิดได้ถูกต้องเกี่ยวกับสตอรี่ของหุ้นตัวนั้น แม้หุ้นจะลงด้วยตามภาวะตลาด แต่เนื่องจากมันลงน้อยกว่าตลาด เพราะมีสตอรี่ที่ดีของตัวเองช่วยเอาไว้ เมื่อ net กับ short index position แล้ว เราจึงยังคงได้กำไรอยู่ แม้ตลาดจะลง วิธีจึงช่วยให้เราลงทุนแบบ bottom up ได้โดยไม่ว่าภาวะตลาดจะเป็นอย่างไร เพราะตราบได้ที่หุ้นของเรา outperform ตลาด เราจะยังได้กำไรเสมอ

อย่างไรก็ตาม market neutral strategy ไม่ถือว่าเป็น riskless opportunity อย่างแท้จริง เพราะหลักทรัพย์ที่ long กับที่ short นั้นไม่ได้เหมือนกันทุกประการเหมือนอย่างในกรณีของ LTCM วิธีนี้จึงช่วยลดความเสี่ยงลงได้ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด บางกองทุนจึงเพียงแต่ short index ไว้แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เช่น เท่ากับ 30% ของหุ้นที่ซื้อ แทนที่จะ short เต็มทั้งจำนวน เพราะการลดความเสี่ยงของตลาดลงส่วนหนึ่ง แต่ไม่ถึงกับเต็มอัตรา

อีกกลยุทธ์หนึ่งที่น่าสนใจของพวกเฮดจ์ฟันด์มีชื่อว่า 130/30 กลยุทธ์นี้มาจากแนวคิดที่ว่า บางครั้งตลาดอยู่ในภาวะฟองสบู่ หุ้นส่วนใหญ๋ในตลาดแพงหมด ถ้าเรามีนโยบายลงทุน 100% ของพอร์ตตลอดเวลา ก็เท่ากับเป็นการบังคับให้เราต้องถือหุ้นบางตัว ทั้งที่เราคิดว่ามันแพงมากแล้ว ดังนั้น แทนที่เราจะซื้อหุ้นอย่างเดียว 100% ของพอร์ต เราเปลี่ยนมาเป็นการซื้อหุ้นในตลาดที่เราคิดว่าถูก 130% ของพอร์ต (ยืมมาร์จิ้นมา) และ short หุ้นในตลาดที่เราคิดว่าแพงอีก 30% แบบนี้ net position ของเราก็ยังคงเท่ากับ 100% อยู่ เช่นเดิม แต่แทนที่เราจะต้องฝืนใจถือหุ้นแพงเข้าพอร์ตทั้งหมด เราหาผลตอบแทนด้วยการ short หุ้นที่แพงไปได้ด้วยอีกส่วนหนึ่ง ในระยะยาวน่าจะทำผลตอบแทนได้สูงกว่า การซื้ออย่างเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ตลาดหุ้นแพงเรื้อรัง

ที่ยกตัวอย่างมาเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ของพวกเฮดจ์ฟันด์ที่มีอยู่อย่างมากมายในปัจจุบัน แต่ละกลยุทธ์ก็แสนพิสดารสุดที่จะคิดกันขึ้นมาได้ สมัยนี้เฮดจ์ฟันด์หลายกองก็ไม่ได้มีกลยุทธ์มุ่งลดความเสี่ยงตามนิยามที่ดั่งเดิมอีกต่อไปแล้วด้วย (วิธีอะไรก็ได้ที่คิดว่าจะดึงดูดเม็ดเงินของนักลงทุนได้เป็นใช้ได้)

การเรียนรู้วิธีการใหม่ๆ ของพวกเฮดจ์ฟันด์นั้น ช่วยทำให้เห็นว่าโลกนี้ยังมีวิธีการลงทุนแบบอื่นๆ อยู่อีกมากมาย อย่างไรก็ตาม ผมคงไม่แนะนำให้นักลงทุนหน้าใหม่เลียนแบบวิธีการของเฮดจ์ฟันด์ แม้ว่าบางหลายวิธีจะดูมีเหตุผลดีทีเดียว แต่การทำธุรกรรม short นั้นต้องการวินัยอย่างสูง บางครั้งวิธีการดี แต่จิตใจยังไม่หนักแน่นพอ ก็พลาดได้ง่ายๆ  

ผมเชื่อว่า ทุกวันนี้การที่ตลาดทุนโลกเต็มไปด้วยเฮดจ์ฟันด์ ทำให้ราคาหุ้นขึ้นอยู่กับนโยบายการเงินของรัฐฯ มากกว่าปัจจัยพื้นฐานของตัวหุ้นเข้าไปทุกที เพราะกลยุทธ์ส่วนใหญ่ของเฮดจ์ฟันทำกำไรจาก noise จึงสามารถทำกำไรได้เสมอโดยไม่ต้องสนใจว่าหุ้นที่ซื้อจะแพงหรือไม่เมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐาน ดังนั้นเวลาที่เฟดใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เฮดจ์ฟันด์ก็จะหาทุนได้มากขึ้น ก็จะนำมาสร้าง position ในตลาดหุ้นมากขึ้นทันที โดยไม่เกี่ยวกับ outlook ของหุ้น และเมื่อเฟดใช้นโยบายการเงินตึงตัวก็จะให้ผลตรงกันข้าม เงินที่ไหลเข้าออกจากตลาดหุ้นจึงเป็นไปตามภาวะตลาดเงินมากกว่าจะเป็นไปตามตามความคิดของนักลงทุนเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานของตัวหุ้นในขณะนั้น

6 Replies to “0310: กลยุทธ์ของเฮดจ์ฟันด์”

  1. พี่โจ๊กมีหนังสือเกี่ยวกับ hedge fund แนะนำไหมครับ

    1. เห็นหนังสือเกี่ยวกับเห็ดฟันด์บ้างเหมือนกัน แต่ยังไม่เคยอ่านเลยครับ

  2. คุณสุมาอี้ครับ ขอถามนอกประเด็นหน่อยครับว่า หนังสือของคุณเล่มใหม่จะออกมาอีกประมาณเดือนไหนครับ เกี่ยวกับด้านใดครับ

  3. ตอนนี้ทุกอย่างยังไม่นิ่งครับ ยังไม่อยากบอกไปก่อน กำลัง finalize อยู่ครับ อาจจะออกสักช่วงกลางปี

  4. ในประเทศไทยมีเฮดจ์ฟันด์มั้ยคะ ใช่กองทุนส่วนบุคคลรึป่าวคะ

    1. Hedge Fund ส่วนใหญ่เป็น Private Equity นะครับ โดยมากจะรับเฉพาะลูกค้าที่เป็นเศรษฐีแค่ไม่กี่รายเท่านั้น จำนวนเงินขั้นต่ำสูงๆ ทั่วโลกเป็นแบบนั้น

      กองทุนส่วนบุคคล (Private Funds) บ้านเราส่วนใหญ่เป็น Mutual Fund ธรรมดา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *