0312: Recency Bias

สมองของมนุษย์มีจุดอ่อนอยู่อย่างหนึ่ง (ที่จริง มีหลายอย่าง) คือ เรามีแนวโน้มจะให้น้ำหนักกับเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นหมาดๆ มากกว่าเรื่องอื่นๆ (Recency Bias)

ตัวอย่างเช่น สมมติว่าเพิ่งมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นใจกลางกรุงเทพฯ หมาดๆ มีตึกถล่ม มีคนเสียชีวิตมากมาย หลังจากนั้น ยอดผู้ซื้อประกันภัยอาคารจากแผ่นดินไหวมักจะสูงขึ้นอย่างมาก พอผ่านไปสัก 2 เดือนก็จะค่อยๆ ลดลงจนเท่ากับระดับปกติ ทั้งที่ Probability ที่จะเกิดแผ่นดินไหวของเมืองหนึ่งๆ มีค่าเท่าเดิมเสมอไม่ว่าจะเป็นช่วงหลังเกิดแ่ผ่นดินไหวใหม่ๆ หรือในช่วงเวลาปกติ (ไม่นับพวก Aftershock ซึ่งถือเป็นครั้งเดียวกัน) เรามักกลัวแผ่นดินไหวมากกว่าปกติในช่วงที่แผ่นดินไหวเพิ่งจะเกิดไปหมาดๆ

เวลามีข่าวเครื่องบินตกใหม่ๆ การเดินทางด้วยเครื่องบินมักจะลดลงอย่างมาก แต่หลังจากข่าวเริ่มเงียบหายไป ก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม เวลามีข่าวผับไฟไหม้มีคนตายเพียบ คนเที่ยวผับก็จะน้อยลงไปสองอาทิตย์ จากนั้นก็กลับไปเหมือนเดิมอีก

พวกนักการเมืองรู้จัก Recency Bias เป็นอย่างดี เวลาใกล้จะเลือกตั้งใหม่ พวกเขาก็จะทำตัวขยันเป็นพิเศษ เพราะรู้ดีว่า ประชาชนจะจำแต่สิ่งที่พวกเขาทำในช่วงใกล้โค้งสุดท้ายมากที่สุด ถ้านักการเมืองคนไหนพลาดท่าเสียที มีข่าวฉาวเพียงหนเดียว ในช่วงใกล้เลือกตั้ง ความดีทั้งหมดที่มีมากกว่าที่เคยทำมาอดีตจะแทบไม่มีผลอะไรเลย เพราะโดนข่าวล่าสุด กลบผลของมันไปจนหมด

นักลงทุนในตลาดหุ้นก็มีลักษณะเช่นนี้ด้วยเหมือนกัน ในช่วงหลังจากเกิดวิกฤตตลาดหุ้นใหม่ๆ นักลงทุนมักจะกลัววิกฤตมากเป็นพิเศษ ตลาดหุ้นจะเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับพวกเขา ไม่ว่าหุ้นจะถูกแค่ไหนหรือเศรษฐกิจจะดีขึ้นอย่างไร นักลงทุนจะยังไม่กล้าซื้อหุ้นอยู่ดี ต่อเมื่อเวลาผ่านไปอีกนานๆ ความกลัวเหล่านั้นก็จะเริ่มจางหายไปเอง ทั้งที่จริงๆ แล้ว เราควรทำตรงข้าม กล่าวคือ หลังตลาดหุ้นเกิดวิกฤตใหม่ๆ เราไม่ควรจะกลัวที่จะซื้อหุ้นแต่เป็นเวลาที่เราควรจะกล้าซื้อหุ้นมากกว่า 

เวลาหุ้นพื้นฐานดีๆ บางตัวมีข่าวร้ายมากระทบ ความรู้สึกของเราเกี่ยวกับพื้นฐานโดยรวมของหุ้นตัวมักแย่ลงไปด้วย เราจะเริ่มไม่ค่อยแน่ใจกับปัจจัยพื้นฐานของหุ้นตัวนั้นที่เราเคยเชื่อว่าดีจนทำให้เราตัดสินใจลงทุน ทั้งที่เราก็รู้ดีว่าข่าวร้ายเหล่านั้นจะไม่ได้ติดตัวหุ้นนั้นไปแบบถาวร แต่เีราอดไม่ได้ที่จะให้น้ำหนักข่าวร้ายนั้น มากกว่าสิ่งดีๆ ทั้งหมดของหุ้นตัวนั้นที่เคยเป็นมาตลอดและยังไม่ได้เปลี่ยนไปเพราะข่าวร้ายนั้นเลยแม้แต่น้อย

ความยากของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ เรามักไม่รู้ตัวว่าเรากำลังลำเอียงอยู่ เพราะเวลาที่เราลำเอียง เรามักใช้อารมณ์ของเราฟันธงไปก่อน แล้วสมองของเราจึงค่อยหาเหตุผลมาสนับสนุนการตัดสินใจของเรานั้น เราจึงมักรู้สึกว่าเรากำลังใช้เหตุผลอยู่ เวลาที่เราลำเอียง ที่จริงแล้ว เหตุผลเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นเหตุผลที่สมองของเราคัดเลือกมาเพื่อสนับสนุนอารมณ์ของเราเท่านั้นโดยคัดกรองเหตุผลอื่นๆ ที่ขัดแย้งออกไป เราจึงไม่รู้ตัวว่าเราลำเอียง ใครก็ตามที่มีสติรู้ทันจิตใจของตัวเองได้ดีกว่าคนอื่น คนนั้นจะสามารถเล่นหุ้นได้ดีกว่าคนอื่น ทั้งที่ไม่ได้มีความรู้อะไรมากมายเลย

Recency Bias เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักลงทุนมักขายหุ้นในเวลาที่ไม่ควรขายที่สุด และไม่ยอมซื้อหุ้นในเวลาที่ควรซื้อหุ้นมากที่สุดด้วย

One Reply to “0312: Recency Bias”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *