0223: the first five years

2860127362_5d83182fce

ถึงตอนนี้ผมก็ลงทุนในตลาดหุ้นไทยมาได้เกินห้าปีแล้วครับ…

ข่วงที่ผมเริ่มลงทุน ผมกำหนดเป้าหมายว่า ในห้าปีแรก เป้าหมายของผมยังไม่ใช่ Wealth แต่คือการสะสมประสบการณ์และความรู้ ผมเพียงแต่สัญญากับตัวเองว่า ถ้าหากมีวิกฤตในห้าปีนี้ ผมจะต้องเป็นคนหนึ่งที่รอด

ผมมองว่า ตลาดหุ้นนั้นคล้ายภูเขาน้ำแข็ง ที่มีคนจำนวนน้อยมากๆ ที่เข้ามาในตลาดหุ้นแล้วสามารถอยู่ได้ถึงปีที่ 5 คนส่วนใหญ่หายไประหว่างทาง เพราะเจ๊ง เนื่องจากบังคับตัวเองไม่ให้ take excessive risk ไม่ได้ ดังนั้น คนที่อยู่ในตลาดได้ถึง 5 ปี ต่อให้เท่าทุน ก็ถือได้ว่า เป็นคนอันดับต้นๆ แล้วล่ะครับ

ผมเคยไปฟังอบรมเทคนิคอยู่ครั้งหนึ่ง วิทยากรบอกว่า ห้าปึแรกในตลาดหุ้น ทุกคนจะต้อง “จ่ายค่าเทอม”ก่อน เมื่อผ่านห้าปีแรกไปได้แล้ว ถึงจะเริ่มคาดหวังผลตอบแทนได้ (แต่ถ้าจะให้ดีต้องสิบปี) เพราะคนที่เคยเห็น “รอบใหญ่” ของตลาดหุ้นทั้งรอบแล้วเท่านั้น ที่จะรู้จักตลาดหุ้นอย่างแท้จริง ผมว่านี่เป็นวรรคทองเลยทีเดียว (แต่วรรคนี้ก็ทำเอานักเรียนในห้องหลายคนหน้าบูดไปเลย “อะไร จ่ายค่าทงค่าเทอมอะไรกัน พูดจาอัปมงคล”)

ในช่วงห้าปีนี้ ผมได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างมากเกี่ยวกับตลาดหุ้น ได้ศึกษาหาความรู้มากมาย ได้รู้จักบริษัทในตลาดมากขึ้น ได้เห็นเล่ห์เหลี่ยมหลายครั้งในตลาดหุ้น ได้รู้จักนิสัยของคน ได้รู้ว่าสังคมคนเล่นหุ้นมีด้านมืดซ่อนอยู่เยอะมาก ได้เห็นความอนิจจัง และที่สำคัญได้รู้จักตัวเอง คือได้รู้ว่า ผมมีจุดอ่อนตรงไหนบ้าง มันเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่าครับ

ตลอดห้าปีที่ผ่านมา ผมพยายามเปิดใจกว้างเพื่อรับแนวคิดที่แตกต่าง จึงไม่พยายามเรียกตัวเองว่าเป็นนักลงทุนแนวอะไรทั้งสิ้น เพราะผมไม่เชื่อว่า เราจะโชคดีมากถึงขนาดเจอหลักการลงทุนที่ดีจริงได้ตั้งแต่ห้าปีแรกที่เริ่มต้นลงทุน ดังนั้นเราจึงควรเปิดใจไว้ก่อน รอให้ประสบการณ์ที่ค่อยๆ มีเพิ่มขึ้นของเราช่วยแยกแยะผิดถูกในปีหลังๆ จะเลือกแนวทางได้ดีกว่า ถ้าเราเป็นคนไม่ยืดหยุ่นตั้งแต่ต้น แล้วซวยดันไปเชื่อในแนวที่ผิด เส้นทางการลงทุนตลอดชีวิตของเราจะไม่ต่างจากการเดินทางไกลเพื่อไปสู่ปากเหว

เมื่อปีที่แล้วผมได้ล้างพอร์ตไป ดังนั้นในปีนี้จึงเป็นปีเริ่มต้นของเส้นทางการลงทุนในเฟสที่ 2 ของผม ผมจึงรู้สึกเหมือนว่า ผมกำลังเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด แต่หนนี้ ผมมีทุนตั้งต้นมากกว่าครั้งก่อน และแนวการลงทุนของผมจะมี scope ที่ชัดเจนมากขึ้น โดยอาศัยสิ่งที่ผมได้จากเฟสแรกเป็นวัดถุดิบในการกำหนดสไตล์การลงทุนที่เหมาะกับตัวผมเองให้มากที่สุดครับ

until the next five years.

0063: กฎทองของ Tao Zhu Gong

ขออนุญาตเอาข้อความที่ผมเคยโพสต์ไว้ในเวบ TVI เรื่องกฎทองของ Tao Zhu Gong มา archive ไว้ในนี้นะครับ
==========================================

พอดีเพิ่งได้อ่านหนังสือการ์ตูนจีนเรื่อง กฏทองของ Tao Zhugong คิดว่าน่าจะเอามาใช้กับหุ้นได้เลยเอามาฝาก

Tao Zhugong นี่เป็นข้าราชการของแคว้น Yue ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของแคว้น Wu สมัยยุคก่อนจิ๋นซี Tao Zhu gong ช่วยเจ้าแคว้น Yue วางแผนจนได้เอกราชคืนจาก Wu แถมยังไปตี Wu จนได้ชัยชนะอีกด้วย

แต่พอ Yue เป็นเอกราชแล้ว TaoZhugong ก็รีบหนีออกจากราชสำนัก เพราะรู้ตัวว่าหมดประโยชน์แล้ว “เสร็จนา ฆ่าโคทึก” บรรดาเพื่อนข้าราชการของ TaoZhugong ที่ยังอยู่ต่อเพราะหวังจะได้บูนบำเน็ญ ก็ถูกเจ้าแคว้น Yue ผู้มีใจคับแคบประหารในเวลาต่อมา

TaoZhugong หนีไปอยู่แคว้น Qi เปลี่ยนชื่อแซ่เสียใหม่แล้วเริ่มยึดอาชีพเป็นพ่อค้า ความที่เป็นคนมีปัญญาทำให้ร่ำรวยอย่างรวดเร็ว เจ้าแคว้น Qi ได้ยินเกียรติศัพท์ เลยมาเชิญไปเป็นกุนซือ TaoZhugong ก็เลยหนีไปอยู่เมือง Dingtao เริ่มต้นชีวิตใหม่ ภายในเวลาไม่นาน TaoZhugong ก็กลายเป็นเศรษฐี (อีกแล้ว)

กฏข้อนึ่งบอกว่า don’t work against business cycle เวลาสินค้าตัวไหนถึงจุดสูงสุดของวัฏจักรแล้วกำลังจะเริ่มลง เขาบอกว่าให้รีบขายทิ้งออกไปให้เร็วที่สุดโดยไม่ต้องสนใจว่ากำไรหรือขาดทุนเท่าไร อย่าเสียดาย ผมว่าเป็นข้อดีที่เอามาใช้กับการเล่นหุ้นวัฏจักรได้

กฏอีกข้อนึ่งบอกว่า don’t give in to herd instinct คือให้ห้ามใจตัวเองไม่ให้กระโดดเข้าไปในธุรกิจที่ทุกคนกำลังแห่กันเข้าไปทำ (กฏข้อนี้ไม่ได้แย้งกับข้อข้างบนนะ ข้อข้างบนบอกว่าอย่าฝืน consumer demand แต่ข้อนี้บอกว่า อย่าแห่ตาม supply)

กฏอีกข้อบอกว่า don’t overbuy on credit เพราะฐานะการเงินที่ไม่แข็งแกร่งเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่เรามองไม่เห็น

อีกข้อบอกว่า don’t under save อีกนี้บอกว่าควรมีเงินสดส่วนหนึ่งไว้เสมอ เพราะเมื่อใดที่โอกาสมาถึง เราจะได้สามารถคว้าโอกาสนั้นได้

ไม่เลวครับ

0001: เราควรวัดผลงานการลงทุนของเราอย่างไร

ปี 2546 เป็นปีทองของนักเล่นหุ้น เพราะดัชนี SET index วิ่งติดต่อกันนานถึง 11 เดือนโดยไม่พักเหนื่อยเลย บางท่านได้กำไรมากถึง 50% ภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี และเริ่มมีความคิดที่จะลาออกจากงานเพื่อมาเล่นหุ้นอย่างเดียว เพราะได้มากกว่าการทำงานกินเงินเดือนเป็นอย่างมาก

แต่เรื่องของเรื่องก็คือว่า ปี 2546 ดัชนี SET index ปรับตัวขึ้นไปมากถึง 100% ที่จริงแล้วการที่พอร์ตของคุณวิ่งแค่ 50% นั่นแสดงว่าคุณทำผลงานได้น้อยกว่าค่าเฉลี่ย

ประเด็นของเรื่องนี้อยู่ที่ว่าเราควรวัดผลงานการลงทุนของเราอย่างไร ควรวัดว่าเราได้กำไรกี่เปอร์เซนต์ (Absolute Return) หรือว่าเราชนะตลาดที่เปอร์เซนต์ (Relative Return)

ที่จริงแล้วเราควรวัดผลงานของเราจาก Relative Return มากกว่า เพราะถ้าเราทำผลงานเป็นบวกได้แต่ได้น้อยกว่าตลาด เราก็ไม่ควรเล่นหุ้นด้วยตัวเอง ควรหันไปซื้อ Index Fund ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนเหมือนดัชนีแทนจะดีกว่า เพราะวิธีนี้ไม่ต้องใช้สมองเลยแต่ทำผลงานได้เท่าตลาดทุกปี

ดังนั้นคนที่เล่นหุ้นด้วยตัวเองทุกคนจึงควรวัดผลงานของพอร์ตโดยเทียบกับตลาด แม้ว่าจะหมายถึงการที่คุณต้องรู้สึกอะไรแบบผิดธรรมชาติไปบ้างตัวอย่างเช่น ในปีที่พอร์ตของคุณขาดทุน 20% แต่ ตลาดปรับตัวลง 40% เป็นปีที่คุณควรจะดีใจจนลิงโลด ในขณะที่ถ้าปีไหนพอร์ตของคุณได้กำไร 50% แต่ตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น 100% คุณก็ควรจะเสียใจ

นอกเหนือจากการวัดผลงานโดยเทียบกับตลาดแล้ว คุณควรตัดสินผลงานของคุณโดยเทียบกับตลาดในช่วงเวลาที่ค่อนข้างยาวอีกด้วย อย่างน้อยก็ควรจะไม่ต่ำกว่าหนึ่งปี อย่าพยายามเอาชนะตลาดให้ได้ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน หรือแม้แต่ทุกไตรมาส เพราะมันจะบีบบังคับให้คุณมองระยะสั้นมากเกินไป อันจะส่งผลเสียต่อผลงานของคุณในระยะยาวได้ จากการวิจัยพบว่า การเลือกซื้อกองทุนโดยดูจากผลงานเมื่อปีที่แล้ว จะไม่ทำให้นักลงทุนประสบความสำเร็จ เพราะกองทุนที่ทำผลงานได้ดีติดอันดับเมื่อปีที่แล้วจะมีชื่อปรากฏอยู่ในอันดับในปีต่อไปน้อยมาก จำไว้ว่าไม่มีหุ้นตัวใดในโลกที่บวกทุกวัน หุ้นที่วิ่งทุกตัวจะบวกบ้างลบบ้าง แต่รวมๆ กันแล้วในระยะยาวบวกมากกว่าลบ ก็เลยทำให้มีราคาสูงขึ้นได้ 

สำหรับผม ผมวัดผลงานของพอร์ตในช่วง 1, 3, 5 ปีที่ผ่านมา ถ้าผลงาน 1 ปี ไม่ดีผมจะเชื่อแค่ 50% ว่าผมไม่ได้เรื่อง ถ้าผลงาน 3 ปีของไม่ดี ผมจะเชื่อว่าผมลงทุนไม่ได้เรื่อง 70% แต่ ถ้าผลงาน 5 ปีของผมแพ้ตลาด ผมจะมั่นใจ 100% ว่าผมลงทุนไม่ได้เรื่อง ส่วนผลงานรายวัน รายเดือน และรายไตรมาส ผมไม่เคยใส่ใจเลยครับ