มีหุ้นในพอร์ตระยะยาวกี่ตัวดี

ถือหุ้นน้อยตัวเกินไปก็เสี่ยง ถือหุ้นมากตัวเกินไปก็ตามข้อมูลได้ไม่ลึก รวมทั้งยังเป็นเบี้ยหัวแตก ไม่คุ้มค่าและเวลาที่ใช้ศึกษาข้อมูลรายตัว สุดท้ายแล้วก็ต้องตรงกลางว่าจะมีหุ้นกี่ตัวถึงจะเหมาะ

เวลาจะซื้อหุ้นสักตัว ต้องทำใจว่าเราอาจจะขาดทุนได้มากถึง 50% เพราะหุ้นเป็นหลักทรัพย์ที่เสี่ยงมาก ดังนั้นถ้าเรามีหุ้นห้าตัวในพอร์ต (ตัวละ 20%ของพอร์ต) แล้วเราเจ๊งกับหุ้นตัวหนึ่งไป 50% เท่ากับว่าพอร์ตของเราจะขาดทุนจากหุ้นตัวเดียวไป 10%

แต่ถ้าพอร์ตเรามีหุ้นสิบตัว (ตัวละ 10% ของพอร์ต) แล้วเราเจ๊งกับหุ้นหนึ่งตัวไป 50% เท่ากับว่าพอร์ตเราจะลดลงจากหุ้นตัวนั้นเท่ากับ 5%

ทุกคนก็ต้องชั่งใจเอาเองว่า เราสามารถเสียหายไปกับหุ้นหนึ่งตัวได้มากที่สุดแค่ไหน ถ้าคิดว่าไม่เกิน 5% ของพอร์ต ก็ควรมีหุ้น 10 ตัว แต่ถ้า 10% ก็ควรมีหุ้น 5 ตัว ต้องถามใจตัวเองดู

สำหรับพอร์ตระยะยาวซื้อสะสม ยังมีอีกประเด็นที่ต้องคิด คือ หุ้นที่ถือยาวได้มักมีอยู่น้อยในตลาดหุ้น ข้อจำกัดตรงนี้มักทำให้พอร์ตระยะยาวไม่ควรมีหุ้นหลายตัวเกินไปโดยปริยาย ถ้าคุณคิดว่าจะซื้อแต่หุ้นพื้นฐานดีมาก แต่คุณถือไว้ตั้ง 20 ตัว ก็น่าสงสัยว่า เกณฑ์ในการคัดเลือกหุ้นของคุณอ่อนไปรึเปล่า ยิ่งถือยาวเท่าไร การโฟกัสก็ควรจะมีมากเท่านั้น

โดยส่วนตัวมองว่ามีหุ้น 5-10 ตัว ในพอร์ตน่าจะกำลังดี นั่นก็หมายความว่า ทุกครั้งที่เจอหุ้นที่อยากลงทุน ก็ควรซื้อด้วยเงินประมาณ 10-20% ของเงินทั้งหมดที่จะใช้ลงทุนในหุ้น

ปัญหาที่มักจะตามมาก็คือว่า ถือหุ้นไปนานๆ หุ้นบ้างตัวขึ้น บางตัวลง บางตัวอาจจะกลายเป็น 25% ของพอร์ต เป็นต้น แบบนี้เราต้องปรับพอร์ตใหม่ให้เหลือไม่เกินตัวละ 20% รึเปล่า เรื่องนี้ไม่ได้มีคำตอบที่แน่ชัด แต่ส่วนตัวมองว่าไม่ต้องปรับ ให้มองความเสี่ยงจากเงินต้นเริ่มแรกของเราเป็นหลัก ทำไมน่ะหรือ ก็เพราะว่า ถ้าเราต้องคอยปรับอยู่เรื่อยๆ ผมมองว่า จะทำให้การบริหารพอร์ตระยะยาวของเราซับซ้อนเกินไป การพยายามทำให้การลงทุนเรียบง่ายเข้าไว้เป็นเรื่องที่ดีกว่า

หมายเหตุ ตั้งแต่โพสต์นี้เป็นต้นไป จะยกเลิก rss feed และ email noti แจ้งเตือนบทความใหม่ๆ นะครับ ไม่อยากรบกวนอินบ็อกซ์ของทุกคน เพราะบางคนอาจสมัครไว้นานแล้ว ตอนนี้อาจจะไม่อยากรับแจ้งเตือนแล้วก็ได้

การตีแตกหุ้นสำคัญแค่ไหน

ผมเคยเป็นนักลงทุนที่ให้ความสำคัญกับการเข้าใจหุ้นสักตัวหนึ่งในทะลุปรุโปร่งถึงแก่นแท้ แล้วลงทุนด้วยเงินมากๆ เพื่อให้สามารถทำกำไรได้ครั้งละเยอะๆ ในช่วง 3-4 ปีแรกที่ผมเริ่มต้นลงทุน และมองว่า การเลือกหุ้นให้ถูกตัวคือเรื่องสำคัญที่สุดของการลงทุนให้ประสบความสำเร็จ

แต่หลังจากนั้นความคิดของผมก็เริ่มเปลี่ยนไป เอาเข้าจริงๆ หุ้นเป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรแน่นอน ต่อให้คิดมาดีแค่ไหน ก็ยังเจอปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้อีกเยอะมาก สุดท้ายแล้ว วิธีการลงทุนอะไรก็ตามที่ต้องพึ่งความสามารถในการเลือกหุ้นให้ถูกตัวมากๆ กลายเป็นวิธีการที่ไม่ดีอย่างที่คิด

นอกจากนี้ เวลาเราเห็นกูรูหุ้นคนไหนเก่งมาก เพราะว่าเลือกหุ้นถูกตัวตลอด แล้วเราอยากเดินตามแนวทางของกูรูคนนั้น เพื่อจะได้ประสบความสำเร็จบ้าง แต่การเลือกหุ้นให้ถูกตัวตลอดเวลาไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ถ้าเราไม่ได้เป็นอัจฉริยะหรือมีวิสัยทัศน์ขนาดกูรูคนนั้น มันจะกลายเป็นทางสู่ความหายนะ เพราะเราจับวิธีการที่ต้องการทักษะบางอย่างที่กูรูมี แต่คนธรรมดาไม่มี

คนที่เลือกหุ้นถูกตัวตลอดเวลาไม่มีอยู่ในความเป็นจริง เพราะหุ้นเต็มไปด้วยปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ที่เราเห็นบางคนเลือกหุ้นถูกอยู่เรื่อยๆ มักเป็นเพราะเราไม่ได้เห็นภาพทั้งหมด เขาแค่หันด้านที่เขาประสบความสำเร็จให้เราดูเท่านั้น เวลาที่เขาเลือกหุ้นผิด เขาไม่ได้บอกเรา

คนที่มีความเชื่อว่าต้องเลือกหุ้นถูกตัวเก่งเท่านั้นถึงจะประสบความสำเร็จในการลงทุน ก็จะมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นคนที่ชอบซื้อหุ้นตามคนอื่นด้วย คือคิดว่าก็เราไม่เก่งขนาดกูรู ทำไมเราไม่ซื้อหุ้นตามกูรูล่ะ ทัศนคติแบบนี้มักนำพานักลงทุนไปสู่การเป็นแมงเม่าแห่ตามคนอื่น ซึ่งก็มักไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน

ผมกลับชอบแนวคิดที่ว่าจริงๆ เราไม่ต้องเลือกหุ้นถูกตัวบ่อยๆ เพียงแต่ว่า ทุกครั้งที่เราเลือกถูก เรา let the profit run ไม่รีบขายหมู ทำให้เราได้กำไรจากหุ้นตัวนั้นเยอะๆ ทั้งที่หุ้นตัวอื่นในพอร์ตของเราแทบไม่วิ่งเลย แต่เราก็มีผลตอบแทนที่ดีได้ เพราะเราไม่ขายหุ้นที่เราได้กำไรเร็วเกินไป อะไรทำนองนี้ เป็นแนวคิดที่ไม่ต้องพึ่งความสามารถในการเลือกหุ้นให้ถูกตัวตลอดเวลาแบบเทวดา

ที่ชอบมากคือแนวคิดของปีเตอร์ลินซ์ที่บอกว่าถ้าคุณเลือกหุ้น 5 ตัวในพอร์ต สุดท้ายแล้วคุณมักจะพบว่า มีแค่ตัวเดียวที่ได้กำไรมากตามที่คุณคิดไว้ อีกหนึ่งตัวจะได้กำไรมากแบบเหนือความคาดหมาย ส่วนอีกสามตัวจะได้กำไรหรือขาดทุนแค่เล็กน้อย รวมๆ แล้วพอร์ตของคุณก็จะมีกำไรที่น่าพอใจแล้ว นั่นคือจริงๆ แล้วนักลงทุนคนนั้นตีแตกแค่ตัวเดียว แต่ก็มีผลตอบแทนที่ดีได้ จากประสบกาณ์ตรงของผม ผมก็รู้สึกว่ามันมักจะเป็นแบบนั้นจริงๆ หุ้นบางตัวเราวิเคราะห์หนักมาก แต่ให้ผลตอบแทนธรรมดาา แต่บางตัวซื้อแบบไม่ค่อยได้คิดอะไรเท่าไร กลับได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ หุ้นมีแต่ความไม่แน่นอน อย่าไปเล็งผลเลิศ หรือคิดอะไรที่เป๊ะๆ มากเกินไป เพราะมันะจะไม่เป็นแบบที่เราคิดอยู่ดี

เวลาดัชนี SET50 ขึ้นจาก 500 ไป 1000 จุด หุ้นทั้งห้าสิบตัวในดัชนีไม่ได้ขึ้นทุกตัว บางตัวลงด้วยซ้ำ แต่SET50 ก็ยังขึ้นไปเท่าตัวได้ แสดงว่าจริงๆ แล้วไม่จำเป็นเลยที่หุ้นทุกตัวในพอร์ตจะต้องได้กำไรเสมอไป ตราบใดที่ผลตอบแทนรวมของพอร์ตมีกำไร คุณจะแคร์ทำไมว่าหุ้นทุกตัวในพอร์ตจะต้องเขียวหมดทุกตัว การคาดหวังแบบนั้นจะทำให้คุณขายหุ้นทิ้งอยู่เรื่อยๆ สุดท้ายแล้วพอร์ตของคุณจะไม่มีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม พอทุกอย่างกลับทิศทาง แทนที่การขายบางตัวทิ้งจะช่วยให้คุณได้กำไร มันกลับทำให้คุณขาดทุนเพิ่มขึ้น

สุดท้ายนี้ อย่ากลัวที่จะคัดเลือกหุ้นเข้าพอร์ตด้วยตนเอง ปีเตอร์ลินซ์พิสูจน์มาแล้วว่าเด็กอนุบาลในโรงเรียนแห่งหนึ่ง สามารถเลือกหุ้นชนะนักวิเคราะห์หุ้นที่ทำให้ในบริษัทหลักทรัพย์ได้ หุ้นไม่เหมือนกับความเชี่ยวชาญอย่างอื่นๆ ผู้เชี่ยวชาญไม่ได้เก่งกว่าคนธรรมดาทั่วไปมากอย่างที่เราคิด เพราะหุ้นเป็นหลักทรัพย์ที่มีปัจจัยไม่แน่นอนสูงมาก อย่าไปซีเรียสกับการเลือกหุ้นจนเกินไป

 

 

ลงทุนระยะยาวอย่าดูผลประกอบการ

อาจฟังดูแปลกๆ แต่สำหรับการลงทุนระยะยาว อย่าเลือกหุ้นหรือตัดสินใจอะไรโดยดูจากผลประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตก็ตาม

นักลงทุนไม่ควรมองผลประกอบการในอดีตอยู่แล้ว อย่างที่เขาบอกว่า ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้การันตีอนาคต บริษัทที่รุ่งเรืองในอดีตไม่ได้แปลว่าอนาคตจะรุ่งเรือง การตัดสินใจซื้อขายหุ้นโดยดูจากงบการเงินในอดีตเปรียบเสมือนคนที่ขับรถโดยมองกระจกหลัง มูลค่าปัจจุบันของบริษัทมีค่าเท่ากับค่าปัจจุบันของผลรวมของกระแสเงินสดอิสระในอนาคตทั้งหมดรวมกัน ไม่มีอะไรในมูลค่าบริษัทที่เกี่ยวกับอดีตของบริษัทเลยแม้แต่น้อย

ผลประกอบการในงวดปัจจุบันก็ไม่ได้ใช่ตัวบอกว่าหุ้นน่าซื้อหรือไม่เช่นกัน สมมติว่าอยู่ดีๆ ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง 50% แต่ผลประกอบการหุ้นน้ำมันในปัจจุบันจะยังไม่สะท้อนราคาน้ำมันนี้ทันที เพราะผลประกอบการในปัจจุบันยังขึ้นอยู่กับสัญญาขายน้ำมันที่ทำไว้ในอดีต จนกว่าสัญญาเหล่านั้นจะหมดอายุลงราคาขายน้ำมันถึงจะสะท้อนราคาน้ำมันใหม่ ถ้าเรามองผลประกอบการปัจจุบันที่ยังดีอยู่แล้วบอกตัวเองว่า พื้นฐานยังไม่เปลี่ยนเลยไม่ขายหุ้น แบบนี้เราจะกลายเป็นคนสุดท้ายในตลาดเสมอ เพราะกว่าผลประกอบการจะแย่ลงให้เห็นอาจเป็นอีกหนึ่งปีข้างหน้า ซึ่งราคาหุ้นร่วงไปก่อนนานแล้ว

แม้แต่ผลประกอบการในอนาคตก็ไม่ใช่ตัวชี้วัดเช่นกัน คนที่เล่นหุ้นโดยดูผลประกอบการในอนาคต (ประมาณการกำไรในอนาคต) คือคนที่ลงทุนระยะสั้น เช่น หนึ่งปี ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมในหมู่นักลงทุนสถาบัน ที่มองหุ้นทีละหนึ่งปี กำหนดราคาเป้าหมายหนึ่งปีข้างหน้าไว้โดยดูจากประมาณการกำไรหนึ่งปี แล้วถ้าประมาณการกำไรถูกปรับขึ้นหรือลดลง ก็ค่อยปรับราคาเป้าหมายขึ้นและลงตามไปเรื่อยๆ (ถ้าประมาณการถูกปรับลดลง ก็ขาดทุน) แบบนี้ก็เป็นการลงทุนแบบปีต่อปี ไม่ใช่การลงทุนระยะยาว อีกทั้งการให้ค่าหุ้นตามโปรเจ็คการเติบโตยังทำให้เรามีแนวโน้มที่จะซื้อหุ้นตอนแพง ต่างจากการมองที่โมเดลธุรกิจเป็นหลักที่ทำให้เราไม่ต้องแย่งกันซื้อหุ้นกับคนอื่นในตลาด

แทนที่จะดูผลประกอบการ นักลงทุนระยะยาวควรหันมาพิจารณาว่า บริษัททำธุรกิจอะไร ใครคือลูกค้า ลูกค้าจะเพิ่มขึ้นได้อีกมั้ย เพราะอะไร ธุรกิจมีคู่แข่งมากน้อยแค่ไหน โมเดลธุรกิจเป็นอย่างไร เหล่านี้ต่างหากที่เป็นสิ่งที่นักลงทุนระยะยาวควรพิจารณาเวลาลงทุน

พูดอีกอย่างคือ การลงทุนระยะยาวต้องวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ถ้าหากตอบคำถามสั้นๆ ไม่เกินหนึ่งย่อหน้าไม่ได้ว่าทำไมธุรกิจนี้จึงเป็นธุรกิจที่ดี หรือทำไมหุ้นตัวนี้จึงน่าซื้อ ก็ไม่ควรลงทุนในหุ้นตัวนั้น

การลงทุนโดยดูจากผลประกอบการ เป็นเกมที่ยาก เพราะนักลงทุนสถาบันอาจมีข้อมูลที่ดีกว่าเรา เช่น สามารถเข้าประชุมนักวิเคราะห์ได้ หรือสนิทกับ IR ของบริษัทเป็นการส่วนตัว ทำให้รู้ผลประกอบการล่วงหน้าได้ก่อนคนอื่น จึงไม่ใช่เกมที่นักลงทุนรายย่อยควรจะเข้าไปเล่น ตรงกันข้ามการเลือกหุ้นโดยพิจารณาจากลักษณะธุรกิจ ช่วยทำให้เราไม่ต้องแข่งกับคนอื่น และไม่ต้องซื้อหุ้นเกินราคาเพราะบริษัทที่มักประเมินกำไรในอนาคตไว้สูงๆ เป็นการลงทุนที่มีโอกาสเอาชนะคนอื่นในตลาดมากกว่า ถ้าหากเราเป็นคนที่ “รอได้”

การลงทุนที่ดีควรเป็นอย่างไร

มาถึงจุดนี้ก็น่าจะสรุปได้แล้วว่า การลงทุนที่ดีในความคิดของผมต้องมีลักษณะยังไง

  1. เลือกลงทุนแต่เฉพาะธุรกิจที่มีพื้นฐานที่แข็งแรงและมีอนาคตเติบโตเท่านั้น ส่วนการซื้อหุ้นเพื่อเก็งผลประกอบการระยะสั้น (เช่น Earnings ปีหน้า) หรือเก็งหุ้นของธุรกิจที่มีปัญหาเพื่อหวังว่าจะกลับตัว หรือเก็งหุ้นวัฏจักรต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่การลงทุน
  2. มีความอดทนรอคอยที่จะซื้อหุ้นเหล่านั้นในราคาที่ไม่แพงในระดับที่มากกว่านักลงทุนปกติทั่วๆ ไป และเมื่อซื้อแล้วก็ไม่มีนโยบายที่จะขายหุ้นเหล่านั้นออกมา โอกาสที่ดีก็อย่างเช่น เมื่อตลาดหุ้นปรับฐานใหญ่ในรอบหลายๆ ปี  (แต่ถ้าหุ้นเหล่านั้นถูกอยู่แล้ว หรือตลาดหุ้นถูกอยู่พอดี (เช่น Market P/E < 15) ก็อาจซื้อหุ้นเหล่านั้นได้เลยแต่โอกาสแบบนั้นไม่ได้มีบ่อยๆ ในช่วงชีวิตของคน)
  3. เมื่อลงทุนเต็มพอร์ตแล้ว พอร์ตมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีพอสมควร เช่น มีหุ้น 5-10 ตัว

วิธีการลงทุนทั้ง 3 ข้อนี้ต้องไปด้วยกันทั้งยวง ถ้าทำแค่บางส่วนจะไม่เวิร์กเลย (แต่เชื่อมั้ยว่าถึงจะบอกอย่างนี้แล้วก็จะยังมีคนเอาไป quote เป็นส่วนๆ อยู่ดี เช่น สุมาอี้บอกให้ถือหุ้นแล้วต้องไม่ขายเลย เป็นต้น ซึ่งผมไม่ได้บอกอย่างนั้น เว้นเสียแต่ว่าคุณจะทำทั้ง 3 ข้อ)

ถ้าคุณไม่สามารถทำแบบนี้ได้ ทางที่ดีกว่าคือเลิกคิดเรื่องการเป็นนักลงทุนระยะยาวไปเลย ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ใช่คนเลวแต่อย่างใด หันไปเล่นหุ้นแบบอื่น เช่น ลงทุนแบบ DCA, ซื้อกองทุนดัชนี ใช้ magic formula หรือแม้แต่หันเป็นไปนักเก็งกำไรไปเลย กลับดีกว่า การคิดว่าตัวเองเป็นนักลงทุนระยะยาว แต่ทำไม่ได้จริง ซึ่งมักนำไปสู่ความหายนะ เช่น ซื้อหุ้นวัฎจักรมาแล้วถือยาว เพราะคิดว่าตัวเองเป็นนักลงทุนระยะยาวเลยต้องถือยาว เป็นต้น

ในช่วงแรกๆ ของการค่อยๆ สะสมหุ้นเพื่อเป็นนักลงทุนระยะยาว พอร์ตมักจะว่าง ซึ่งบางทีก็อาจใช้เวลานานหลายปี ในช่วงนี้หากอดทนไม่ได้ อาจลงทุนแบบ DCA ควบคู่ไปด้วย หรือทำยังไงก็ได้เพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกว่าต้องรีบซื้อหุ้น แต่เมื่อสะสมให้ได้จนเต็มพอร์ตแล้ว การมีนโยบายไม่ขายหุ้น จะช่วยดูแลตรงนี้ให้เราเองโดยอัตโนมัติ คงเหลือแต่เงินปันผลที่เกิดขึ้น ก็ให้สะสมไว้ เมื่อโอกาสมาถึงก็ค่อยซื้อเพิ่ม เราต้องการสะสม Wealth ของเราทั้งหมดไว้ในหุ้นไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ขายทำกำไรออกมา

ความคิดของผมอาจจะฟังดูแปลก แต่นี่คือสิ่งที่ผมคิด หลังจากอยู่ในตลาดหุ้นมาตั้งแต่ปี 2002 และการลงทุนของผมต่อจากนี้จะยืนอยู่บนแนวทางนี้ไปเรื่อยๆ จนเกษียณ หรือเมื่อมีเหตุต้องบริโภคเงินเหล่านั้นเท่านั้น

ต่อจากนี้ไปขอเขียนเรื่องเพื่อขยายความหลักการลงทุนนี้เพิ่มเติม เช่น เลือกหุ้นพื้นฐานดียังไง จะรู้ได้ยังไงว่าหุ้นถูกพอหรือยัง จะทำใจยังไงระหว่างรอซื้อหุ้น ฯลฯ นะครับ

 

ตลาดหุ้นไทยลงทุนระยะยาวได้ด้วยเหรอ?

จากที่เล่าไปสองโพสต์ที่แล้ว สมมติว่าเรามีพอร์ตหุ้นที่เต็มไปด้วยหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง และซื้อมาในราคาไม่แพง มีการกระจายของพอร์ตที่เหมาะสม เช่น 5-10 ตัว เราคงสบายใจ ที่จะถือพอร์ตนี้ไว้เฉยๆ ในระยะยาวๆ

แต่ในทางปฏิบัติ มีปัญหามากมาย ประการแรก หุ้นไทยถือยาวได้เหรอ?

ที่จริงผมเห็นด้วยว่า หุ้นไทยถือยาวไม่ได้ แต่ผมหมายความว่า หุ้นไทยส่วนใหญ่ถือยาวไม่ได้ ซึ่งนั่นไม่ได้แปลว่า หุ้นไทยทุกตัวถือยาวไม่ได้ และในความเป็นจริง ตลาดหุ้นไทยมีหุ้น 700 ตัว ไม่ได้แปลว่า เราจะต้องเล่นทุกตัว ถ้าหากเราสามารถหาหุ้นที่มีคุณภาพสูงได้แค่ 5 ตัว จาก 700 ตัว เราก็สามารถสร้างพอร์ตในฝันของเราได้แล้ว ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้สำหรับหุ้นไทย

มีอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่งของผมเคยบอกว่า การที่ PowerPoint มีฟังก์ชั่นหรูๆ นับพัน เช่น เสียงเอ๊ฟเฟ๊กต่างๆ อนิเมชั่น ฯลฯ ไม่ได้แปลว่าเราต้องใช้ฟังก์ชั่นเหล่านั้นทุกอัน ในการทำสไลด์ดีๆ สักเรื่อง ตรงกันข้าม การพยายามใช้ฟังก์ชั่นแฟนซีเหล่านั้นให้ครบทุกอันในสไลด์ของเรา กลับจะทำให้เราได้สไลด์ที่ดู unprofessional คนฉลาดเลือกใช้แค่ฟังก์ชั่นที่ทำให้สไลด์เราดูดี เรียบหรู แค่ไม่กี่ฟังก์ชั่น แต่ออกมาสวยงามกว่า

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เราตกอยู่ในกับดักอะไรบางอย่าง ตลาดหุ้นก็เช่นเดียวกัน การที่ตลาดหุ้นไทยมีหุ้น 700 ตัว ไม่ได้แปลว่าเราต้องรู้หรือเล่นให้หมดทุกตัว ถ้าเราเลือกมาแค่ 5-10 ตัว แต่ก็สนใจอยู่แค่ไหน ถ้าหากมันสามารถตอบโจทย์เราได้ กลับดีกว่าด้วยซ้ำ เพราะทำให้เราโฟกัสมากกว่า

สิ่งที่ผมพยายามจะบอกก็คือว่า ถ้าเราตั้งเป้าหมายที่จะลงทุนระยะยาว ให้เล่นให้แคบๆ เข้าไว้ คัดเลือกหุ้นที่น่าจะถือยาวได้แค่ 10-20 ตัวก็พอ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ในตลาดหุ้นไทยที่แม้จะดูไม่มั่นคงนัก แต่ว่ามันมีหุ้นตั้ง 700 ตัว ต้องมีสัก 10 ตัว แหละน่าที่จะเข้าเกณฑ์ถือยาวได้ แล้วเราจะไปแคร์ทำไมว่าอีก 690 ตัว ที่เหลือถือยาวไม่ได้ มีใครบังคับให้เราเล่นหุ้นครบทั้ง 700 ตัวเหรอ ไม่มีสักหน่อย

ถ้าหาหุ้น 5-10 ตัว ที่ลงทุนระยะยาวได้ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้สำหรับตลาดหุ้นไทย (แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่า หุ้นตัวไหนลงทุนระยะยาวได้ ใช้เกณฑ์อะไรวัด เรื่องนี้ขอเอาไปพูดถึงในตอนต่อๆ ไป)​ ปัญหาที่ยังเหลืออยู่ก็มีแค่ แล้วเมื่อไรเราจะซื้อหุ้นเหล่านั้นได้ในราคาที่เหมาะสม ประเด็นนี้ผมได้พูดไปแล้วในโพสต์ก่อนหน้า นั่นคือ นักลงทุนระดับเทพส่วนใหญ่ เลือกที่จะรอ และพวกเขาก็ยินดีรอนานมากด้วย พวกเขาไม่ยินดีที่จะซื้อๆ ไปก่อน ในราคาที่อาจจะยังไม่ถูกจริง เพียงเพื่อให้ได้ลงทุน แล้วก็ต้องมาเสียใจภายหลัง เวลาที่ตลาดหุ้นปรับฐานครั้งใหญ่ ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับนักลงทุนระดับตำนานเหล่านั้น ผมคิดว่าสำหรับพอร์ต “ลงทุน” แล้ว เราต้องเป็นสุดยอดนักรอจริงๆ หุ้นจึงจะถือยาวได้

และนี่ก็เป็นปัญหาใหญ่ของนักลงทุนจำนวนมาก เพราะการรอนานมาก เป็นสิ่งที่ทรมาน นอกจากเรื่องนี้จะเป็นปัญหาเชิงจิตวิทยาแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องต้องถือเงินสดไว้นานๆ ทำให้เงินไม่ได้ทำงาน ซึ่งเป็นปัญหาทางการเงินที่เป็นรูปธรรมด้วย เรื่องนี้นักลงทุนระดับตำนานได้แก้ปัญหาไประดับหนึ่งด้วยการซื้อแล้วไม่ขายเลย แต่ปัญหาก็ยังไม่หมด แม้หลังจากซื้อไปแล้ว ก็จะมีหุ้นเต็มพอร์ต แต่ก่อนที่จะซื้อ ก็ยังต้องถือเงินสดไว้เฉย ซึ่งบางครั้งก็อาจจะนานถึง 5 ปีเลยก็ได้ ดังนั้น เพื่อที่จะแก้ปัญหานี้ สำหรับนักลงทุนระดับธรรมดาอย่างผมหรืออย่างเราๆ ท่านๆ ผมเห็นว่า เราควรจะเริ่มต้นจากการแบ่งเงินของเราออกเป็นสองพอร์ต พอร์ตแรกคือพอร์ตลงทุน ซึ่งเป็นพอร์ตที่สามารถรอนานแค่ไหนก็ได้ ส่วนพอร์ตที่สองควรเป็นพอร์ตที่ลงทุนแบบ DCA ด้วยเงินไม่มากนักต่อเดือน ระหว่างที่รอซื้อหุ้นลงทุนในพอร์ตลงทุน เราจะได้เริ่มต้นลงทุนแบบ DCA ไปก่อน ถ้าสุดท้ายแล้ว หุ้นไม่ปรับฐานใหญ่เลย 10 ปี อย่างน้อยเราก็ยังได้ลงทุนในพอร์ต DCA ไปแล้ว 10 ปี ทำให้เงินของเราได้ทำงานในระดับหนึ่ง และที่สำคัญ การที่เราได้ลงทุนอะไรบ้าง ระหว่างที่รอ ช่วยทำให้เราไม่รู้สึกรน เวลาที่หุ้นไม่ลงมาให้ซื้อลงทุนได้สักที เราจะได้รอได้อย่างสุขุม

ที่อธิบายมาทั้งหมดสามตอน คือไอเดียคร่าวๆ ที่ผมคิด เกี่ยวกับพอร์ตการลงทุนระยะยาว ว่าจริงๆ แล้วคนเราควรลงทุนอย่างไร (ขออภัยที่เขียนอธิบายไปแบบไม่ค่อยสละสลวยเท่าไหร่) ในตอนหน้าน่าจะสรุปบทเรียนทั้งหมดให้เป็นวิธีการลงทุนระยะยาวในสไตล์ของผมได้แล้ว กลับมาต่อกันในตอนหน้าครับ

Burn the bridge behind you

นักกลยุทธ์บอกว่า การตัดทางเลือกของตัวเอง บางครั้งอาจส่งผลดีมากกว่า

กองทหารที่ทุบหม้อข้าวตัวเอง ทหารย่อมต้องสู้ตาย เพราะทางหนีไม่มีแล้ว การตัดทางเลือกให้ตัวเองจึงกลายเป็นการทำให้ตัวเองให้พลังมากกว่าเดิม

หุ้นก็เหมือนกัน ทางเลือกของหุ้นคือ ซื้อแล้วขายเมื่อไรก็ได้ ง่ายแค่ปลายนิ้ว ฟังดูเหมือนเป็นข้อดีของการลงทุนในหุ้น แต่จริงๆ มันเป็นข้อเสีย

ถ้าซื้อแล้วขายเมื่อไรก็ขายได้เลย เวลาซื้อเราจะไม่คิดเยอะ ไม่ระมัดระวัง ไม่รอบคอบ เพราะถ้าผิด ก็แค่ขายทิ้ง

ถ้าสังเกตให้ดี วอเรน บัฟเฟต จะมีกลยุทธ์ทุบหม้อข้าวเยอะมาก เพื่อหลอกตัวเองให้ซื้อหุ้นแต่ละครั้งอย่างรอบคอบจริงๆ

เป็นต้นว่า เขาหลอกตัวเองว่ามีบัตรเจาะรูอยู่ใบหนึ่ง มีสิบช่อง ถ้าซื้อหุ้นหนึ่งตัว ก็จะเจาะรูทิ้งหนึ่งรู ทั้งชีวิตเจาะได้แค่สิบรู ดังนั้น ทุกครั้งที่ซื้อหุ้นสักตัว จะต้องคิดให้ดีมากๆ ต้องเป็นโอกาสที่ดีมากจริงๆ ถึงจะเอา เพราะเท่ากับว่าชีวิตนี้จะซื้อหุ้นได้น้อยลงไปอีกหนึ่งตัวเลยทีเดียว

นอกจากนี้เขายังหลอกตัวเองก่อนจะซื้อหุ้นว่า สมมติว่าหลังจากนี้ตลาดหุ้นจะปิดไปอีกห้าปี เรายังกล้าซื้อหุ้นตัวนั้นหรือไม่ ถ้ายังกล้าซื้อ เขาถึงจะซื้อมัน นี่ก็เป็นกลยุทธ์ทำนองเดียวกัน

ลองหลอกตัวเองสิว่าหุ้นในตลาดหุ้น ซื้อแล้วขายไม่ได้อีกเลย คุณจะซื้อแต่หุ้นแบบไหน

แน่นอน คุณจะซื้อแต่หุ้นที่พื้นฐานดี เป็นธุรกิจที่ต้องอยู่ได้อีกนานแสนนาน ไม่ซื้อหุ้นเก็งกำไร ไม่ซื้อหุ้นวัฏจักร คุณจะรอให้แน่ใจว่าราคาหุ้นไม่ได้แพงจริงๆ ในระยะยาว และคุณจะไม่ทุ่มซื้อตัวเดียวด้วยเงินทั้งหมด แต่จะกระจายความเสี่ยงให้มากพอ

ในโพสต์ที่แล้วได้ชี้ให้เห็นว่า ถ้าหากเราสามารถซื้อหุ้นอะไรแล้วไม่ต้องขายเลยได้ด้วย จะช่วยทำให้เรามีหุ้นเต็มพอร์ตตลอดเวลาได้ง่าย เป็นการให้เงินได้ทำงานอย่างเต็มทีอยู่ตลอดเวลา แต่หุ้นที่จะถือแล้วไม่ต้องขายได้นั้น ต้องมีลักษณะพิเศษ คือต้องเป็นธุรกิจที่ดีจริงๆ ราคาเข้าซื้อต้องไม่แพง ซึ่งการตั้งกฎกับตัวเองว่า ถ้าซื้อหุ้นอะไรแล้วจะไม่ขาย เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยบังคับตัวเองให้ซื้อแต่หุ้นแบบนี้มาเข้าพอร์ตได้

เอาเถอะ เชื่อว่า ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้คงต้องมีคำถามมากมาย (คำถามเชิงโต้แย้ง) ที่เล่ามาทั้งหมด ยังไม่เพียงพอที่จะใช้เป็นหลักการลงทุนที่สมบูรณ์ได้ ยังต้องมีวิธีคิดอะไรอย่างอื่นที่มากกว่านี้มาประกอบด้วย เอาไว้มาต่อกันในโพสต์หน้าครับ

ทำไมบางคนถึงซื้อหุ้นแล้วไม่ยอมขาย

นอกจากแนว Magic Formula แล้ว การลงทุนแบบ Lump sum มีทางเลือกอะไรอีกบ้าง?

อันที่จริง สมัยก่อน ไม่มีใครลงทุนแบบ Magic Formula หรอก แนวนี้เพิ่งเข้ามาในช่วงหลังๆ เมื่อแนวคิดเรื่อง Quant หรือ System Trade เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ก่อนหน้านี้ การลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานน่าจะได้รับอิทธิพลจากแนว Value Investing มากที่สุด

แนว VI ให้ความสำคัญกับมูลค่าหุ้นที่เหมาะสมอย่างยิ่งยวด ต่อให้หุ้นพื้นฐานดีขนาดไหน ถ้าซื้อเกินราคาก็จะกลายเป็นการลงทุนที่แย่ การที่มีปรัชญาเรื่องไม่ซื้อของเกินราคาเป็นแกนหลัก ทำให้บ่อยครั้งเราไม่สามารถลงทุนเต็มพอร์ตได้ตั้งแต่ Day 1 เพราะตลาดหุ้นไม่ได้มีของถูกให้ซื้ออยู่ตลอดเวลา ซึ่งนับเป็นข้อเสียสำคัญของการลงทุนแนวนี้ เพราะเงินอาจไม่สามารถทำให้เราได้ตลอดเวลา บางทีตลาดหุ้นก็แพงยาวเป็น 5-6 ปีเลยก็มี ถ้าเป็นคนที่เข้มงวดกับหลักการนี้จริงๆ ก็อาจจะไม่ซื้ออะไรเลย 5-6 ปี ซึ่งเสียโอกาสของเงินลงทุนอย่างมาก

ในทางปฏิบัติ นักลงทุนมักรู้สึกแปลกๆ ถ้าจะไม่ซื้อหุ้นอะไรเลย 5-6 ปี สุดท้ายแล้ว ก็มักต้องหลอกตัวเอง ปรับลดเกณฑ์ในผ่อนคลายลง หรือเหตุผลมา justify การเข้าซื้อของตัวเอง  เพราะการถือเงินสดไว้เฉยๆ เป็นสิ่งที่ทรมานมากสำหรับการเป็นนักลงทุน ข้อดีก็คือได้ซื้อหุ้นตลอดเวลา ทำให้เงินทำงานอยู่ตลอด แต่ข้อเสียคือซื้อไม่ถูกจริง สุดท้ายแล้ว ก็มักนำมาซึ่งความเสียหาย ซึ่งคิดแล้วไม่คุ้ม

แต่ถ้าไปดูคนที่เป็น VI แบบระดับตำนานจริงๆ พวกเขามักจะไม่ซื้อหุ้นบ่อยๆ ตัวอย่างเช่น วอเรน บัฟเฟตต์ บางทีก็ไม่ได้ซื้อ position ใหญ่ๆ เลยเป็นสิบปี คนพวกนี้เข้มงวดกับกฎการลงทุนของตัวเองอย่างมาก และมีความสามารถในการรอคอยอย่างยิ่งยวด แต่คนพวกนี้มีอยู่น้อยมากๆ

อนึ่ง การรอนานมากขนาดนั้น แม้จะสร้างความปลอดภัยให้กับการลงทุนให้อย่างสูง แต่ค่าเสียโอกาสของเงินก็มากมายมหาศาล บางทีต้องจอดเงินสดทิ้งไว้เฉยๆ หลายปีๆ โดยที่ไม่ได้อะไรเลย บางทีคิดแล้วก็อาจไม่คุ้มเสมอไป ถ้าอย่างนั้นแล้วพวกนักลงทุนอย่างวอเรน บัฟเฟตต์ จัดการกับเรื่องนี้ยังไง?

มีข้อน่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง คือ นักลงทุนที่เป็นระดับตำนานพวกนี้ มักจะมีนิสัยร่วมกันอีกอย่างหนึ่งด้วยก็คือ ซื้อหุ้นอะไรแล้ว ก็มักจะไม่ขายอีกเลย ต่อให้ราคาหุ้นพุ่งเกินพื้นฐานไปมาก หรือแม้แต่บางครั้งธุรกิจหมดระยะเติบโตไปนานแล้ว ก็ไม่ขายออกมา ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แปลกมากในสายตาของคนทั่วๆ ไป ซึ่งมักจะมองว่า ถ้าหุ้นเกินพื้นฐานไปแล้ว ก็รีบขายออกมาสิ จะได้เอาเงินไปลงตัวอื่นที่ยังถูกอยู่ ทำรอบได้หลายๆ รอบ ผลตอบแทนจะได้ยิ่งสูงขึ้นไปอีก ปล่อยเงินไว้เฉยๆ กับตัวเดิมนานๆ ทำไม

ผมเองก็เห็นแบบเดียวกับนักลงทุนส่วนใหญ่ จนกระทั้งเมื่อ 2-3 ปีมานี้ ที่ผมเริ่มขบคิดเรื่องค่าเสียโอกาสของเงินมากขึ้น ผมจึงเริ่มปิ๊งไอเดียว่าที่จริงแล้วสองเรื่องนี้อาจเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้ง สาเหตุที่คนกลุ่มนี้มักซื้อแล้วไม่ค่อยขาย เป็นเพราะพวกเขาเจอหุ้นไม่บ่อย ถ้าซื้ออะไรมาแล้วกำไรก็ขายทิ้งหมด เงินสดยิ่งเหลือมหาศาล สุดท้ายแล้วก็จะบีบให้ต้องซื้อหุ้นที่ไม่ถูกจริง เพราะให้เงินทำงานตลอดเวลา ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายที่มากกว่า การถือหุ้นที่ซื้อมาแล้วต่อไป คิดแล้วก็ยังดีกว่า เพราะแม้ว่าหุ้นจะแพงไปแล้ว แต่ธุรกิจก็ยังดำเนินอยู่ ยังหาเงินให้เราอยู่ทุกวัน และวันหน้าก็อาจมีโปรเจ็คใหม่ๆ เพิ่มทำให้ธุรกิจใหญ่ขึ้นอีกด้วย ไหนๆ เราก็ซื้อมาได้ที่ราคาต่ำแล้ว ทำไมเราจะไม่ลุ้นต่อไป ได้ลุ้นต่อไปเรื่อยๆ ในต้นทุนที่ต่ำกว่าคนอื่น มันน่าลุ้นมากกว่าไปหาโอกาสใหม่ๆ ซึ่งอาจแพง และทำให้เสียหายได้ และนี่ยังเป็นเหตุผลด้วยว่า ทำไมคนพวกนี้ถึงต้องการซื้อแต่หุ้นที่พื้นฐานแข็งแกร่งเท่านั้น เพราะมีแต่หุ้นที่มีลักษณะเช่นนี้เท่านั้น ที่เราสามารถลุ้นต่อไปนานๆ ได้ ต่างจากหุ้นพื้นฐานแย่ที่แม้ราคาจะถูกมากๆ แต่การไม่สามารถใช้เป็นที่พักเงินต่อไปในระยะยาวๆ ได้หลังจากที่ราคาหุ้นได้ปรับขึ้นมาจนเกินพื้นฐานแล้ว

นี่ทำให้ผมเริ่มเห็นประโยชน์ของการซื้อหุ้นแล้วไม่ขา่ยอย่างเป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรก ซึ่งมันส่งอิทธิพลต่อทัศนคติในการลงทุนของผมในช่วงหลังอย่างมากด้วย ขอค้างประเด็นนี้ไว้ให้ลองขบคิดกันดูน่ะครับ เดี๋ยวจะกลับมาว่ากันต่อในโพสต์ต่อๆ ไป

ออกแบบแนวการลงทุนสำหรับคนที่มีเงินก้อน (lump sum investing)

10 ปีที่แล้ว ผมประดิษฐ์แนวการลงทุนอย่างหนึ่งขึ้นมา เรียกชื่อมันว่า 7LTG 

10 ปีผ่านไป ผมพบว่ามันเป็นแนวการลงทุนที่ดีทีเดียว แต่ถึงกระนั้น มันก็ไม่ได้เหมาะกับนักลงทุนทุกรูปแบบ และมันก็ยังมีจุดอ่อนอยู่อย่างหนึ่ง

ที่ว่าไม่เหมาะกับนักลงทุนบางกรณีนั้น ก็คือ 7LTG เหมาะมากกับคนที่มีรายได้เข้ามาเรื่อยๆ (steam of income)  เช่น มีเงินเดือนประจำ แล้วอยากออมเงิน แต่ไม่เหมาะกับคนที่มีเงินก้อนอยู่แล้วตั้งแต่เริ่มแรก เพราะ 7LTG ใช้วิธี Dollar Cost Averaging (DCA) กว่าเงินก้อนใหญ่ๆ จะแบ่งทยอยลงจนหมด คงใช้เวลานานมากๆ

และนั่นก็เป็นจุดอ่อนหนึ่งของ 7LTG ด้วย เพราะว่ามันคือการลงทุนแบบ DCA ซึ่งอาจจะมีข้อดีตรงที่ช่วยลดความเสี่ยงในการซื้อแพงได้ แต่ตามทฤษฎีการเงิน ตลาดหุ้นมันจะเป็นขาขึ้นในระยะยาวๆ การทยอยลงเงินทีละนิด ย่อมทำให้เสียโอกาสของเงินมากกว่าการลงเงินทั้งหมดตั้งแต่ Day 1

ถ้าอย่างนั้น เราจะมีวิธีไหนมั้ยที่จะเติมเต็ม 7LTG หรือมีทางออกให้กับคนที่มีเงินก้อน และในเวลาเดียวกัน ทำให้ไม่ต้องเสียโอกาสของเงินที่จะอยู่ในตลาดหุ้นเพื่อทำงานเราได้นานๆ

วิธีหนึ่งที่คิดออกคือแนวการลงทุนแบบ Magic Formula หรือแนวที่คล้ายๆ กัน แนวทางแบบนี้เป็นการลงเงินทั้งหมดตั้งแต่วันแรกเลย แล้วทุกปีก็ค่อยปรับพอร์ตหนึ่งครั้งตามสูตร เช่น ถ้าใช้หุ้นพีอีต่ำ พอผ่านไปหนึ่งปี หุ้นในพอร์ตที่พีอีสูงแล้วก็เอาออก เปลี่ยนไปซื้อตัวที่พีอียังต่ำอยู่ วิธีนี้ดีมาก เพราะเงินได้ทำงานทั้งก้อนตั้งแต่ Day 1 ในเวลาเดียวกันก็มีการสลับเอาหุ้นตัวใหม่ๆ ที่ยังถูกอยู่ เข้ามาในพอร์ตเป็นระยะๆ ช่วยเร่งผลตอบแทนได้ด้วย

ดังนั้นถ้าใครมีเงินเดือนเข้ามาเป็นระยะๆ ก็ควรลงทุนแบบ 7LTG ไป แต่ถ้าใครมีเงินก้อนตั้งแต่วันแรกเลย ก็อาจหันไปลงทุนแบบ Magic Formula แทน เลือกเอาตามเงื่อนไขของแต่ละบุคคลไป

อย่างไรก็แล้วแต่ หลังๆ มีหลายคนบอกว่า (หาๆ อ่านดูตามบล็อกต่างๆ) ยิ่งนานวันพวก Magic Formula ยิ่งจะเริ่มไม่ได้ผล ซึ่งน่าจะเป็นเพราะพอคนรู้จักวิธีพวกนี้มากๆ ก็เริ่มนำมาใช้ทำให้เกิดการ arbitrage จนผลตอบแทนส่วนเกินของสูตรพวกนี้เริ่มหายไป ดังนั้นใครจะใช้ Magic Formula ก็อาจจะต้องเลือกสูตรที่ใหม่ๆ หน่อย และควรทำ backtest ด้วย สูตรเก่าๆ ที่ทุกคนรู้กันหมดแล้วอาจไม่ได้ผลอีกต่อไป ทั้งนี้ยังไม่นับปัญหาเรื่องหุ้นบางตัวไม่มีสภาพคล่องด้วย

นั่นก็เลยเป็นที่มาของปัญหาที่ผมขบคิดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่าเราจะออกแบบแนวการลงทุนแบบไหนขึ้นมาสักแบบได้ไหม ที่เหมาะสำหรับคนที่มีเงินก้อน และช่วยอุดช่องว่างของการลงทุนแบบ 7LTG ได้ แนวการลงทุนแบบนั้นควรมีปรัชญาหรือกฎของการลงทุนอะไรยังไงบ้าง และนี่คือเหตุผลหลักที่อยากกลับมาเขียนบล็อกการลงทุนอีกครั้ง

กลับมาเขียนบล็อกการลงทุนอีกครั้ง

ไม่ได้เขียนบล็อกการลงทุนมานานมาก

ตอนแรกก็ว่าจะเลิกเขียนไปแล้วล่ะ แต่ช่วงที่ผ่านมา ผมมีแนวคิดเรื่องการลงทุนใหม่ๆ หลายอย่าง ก็เลยคิดว่าอยากจะกลับมาเขียนบล็อกการลงทุนอีกครั้ง เพื่อบันทึกพวกมันเก็บไว้

การกลับมาครั้งนี้จะเป็นเพียงแค่การเขียนบันทึกในฐานะของนักลงทุนคนหนึ่ง ที่แชร์ประสบการณ์การลงทุนส่วนตัวเท่านั้น เป็นวิธีการลงทุนแบบส่วนตัวจริงๆ ไม่ใช่บล็อกเผยแพร่ความรู้ด้านการลงทุนทั่วไปเหมือนเช่นที่ผ่านมา

ไม่รู้ว่าจะอัพเดทบ่อยแค่ไหน แต่จะพยายาม แล้วพบกันครับ