ขอเอาการเติบโตรายได้ของบางบริษัทในตลาดหุ้นในช่วงสิบปีล่าสุดมาให้ดูกันนะครับ ภาพสิบปีไม่ใช่ภาพที่เราคิดถึงอยู่ทุกวัน เวลาที่เรามองหุ้นครับ
ผมจงใจเลือกหุ้นบิ๊กแค๊ปมาให้ดู หุ้นบิ๊กแค๊ปเป็นหุ้นที่นักลงทุนโดยทั่วไปมองว่าน่าเบื่อ โตยาก ราคาหุ้นมักขึ้นๆ ลงๆ ตาม SET Index ทำให้ไม่มีอะไรแตกต่างจากการซื้อดัชนีมากนัก
แต่ถ้าเอาภาพสิบปีมาดูจะเห็นว่า บนความเหมือนๆ กันในระยะสั้นนั้น หุ้นบิ๊กแค๊ปแต่ละตัวมีภาพการเติบโตในระยะสิบปีที่แตกต่างกันได้เป็นอย่างมาก
หุ้นบิ๊กแคปที่ดูเหมือนจะเคลื่อนไหวตามเซ็ตเหมือนๆ กันนั้น บางตัวเมื่อสิบปีที่แล้วมันแกว่งอยู่แถวๆ 2-4 บาท สิบปีต่อมามันก็ยังแกว่งอยู่แถวๆ 2-4 บาทเหมือนเดิม (แบบนี้ถือทิ้งไว้คงไม่ได้อะไร) แต่บางตัวสิบปีก่อนมันอาจแกว่งอยู่แถว 2-4 บาท แต่พอสิบปีผ่านไป มันก็ยังคงแกว่งตามเซ็ตอยู่เหมือนเดิม แต่ช่วงที่มันแกว่งอาจกลายเป็นแถว 20-40 บาทไปแล้ว นั่นก็เพราะขนาดธุรกิจของมันเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อสิบปีที่แล้วอย่างมากนั่นเอง
คนที่ลงทุนแบบระยะยาวจึงต้องมองข้ามภาพการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในระยะสั้นให้ได้ เพราะในระยะสั้นอิทธิพลของตลาดมีผลต่อราคาหุ้นมากกว่าปัจจัยพื้นฐานของหุ้นแต่ละตัวมาก เราต้องแยกให้ออกว่า หุ้นที่ดูจะผันผวนตามเซ็ตเหมือนๆ กันนั้น ตัวไหนบ้างที่จะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต เพราะขนาดของธุรกิจที่มีการเติบโตได้แบบมีนัยสำคัญ
ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ การเติบโตของธุรกิจมักไม่ได้เป็นเส้นตรงที่มีความชันคงที่ไปตลอด แต่มักเติบโตสูงเป็นพักๆ สลับกับช่วงหยุดนิ่ง เพราะธุรกิจอาจเจอกำแพงของการเติบโตในบางช่วง ทำให้ดูเหมือนหยุดโตแล้ว แต่เมื่อบริษัทสามารถทำลายกำแพงระยะสั้นเหล่านั้นลงได้สำเร็จ มันก็จะกลับมาเติบโตอีกจนกระทั้งชนเข้ากับกำแพงตัวใหม่ เป็นอย่างนี้เรื่อยไป ตราบเท่าที่ศักยภาพในการเติบโตที่แท้จริงของมันยังไม่หมด ฉะนั้นการที่บางบริษัทอาจมีรายได้ที่หยุดโตในบางช่วง จึงไม่ได้หมายความว่าพวกมันเติบโตไม่ได้แล้วเสมอไป ที่จริงแล้วถ้าคุณเลือกลงทุนเฉพาะหุ้นที่มีฐานธุรกิจที่มั่นคงแล้วสักหน่อย การที่ราคาหุ้นร่วงลงเพราะกำไรลดลงในระยะสั้นนั้นไม่ใช่เรื่องน่ากลัว โดยมากมักเป็นโอกาสด้วยซ้ำ รอสักนิดหน่อย บริษัทที่มีฐานธุรกิจที่มั่นคงระดับหนึ่งโดยมากมักจะกลับมา
สำหรับพอร์ตที่ลงทุนแบบสะสมไปเรื่อยๆ ในระยะยาวอย่างเช่น พอร์ต 7LTG นั้น ถ้าหุ้นที่ซื้อสะสมจะมีกำไรลดลงหรือเติบโตหยุดนิ่งบ้างในบางช่วงบางเวลาย่อมไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว หรือจำเป็นจะต้องปรับหุ้นเหล่านั้นออกแต่อย่างใด เพราะตราบใดที่หุ้นเหล่านั้นยังสามารถกลับมาสร้างจุดสูงสุดเดิมได้อีกอยู่เรื่อยๆ การสะสมหุ้นเหล่านั้นย่อมไม่ทำให้ขาดทุน การถอยกลับชั่วคราวกลับเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำที่จะได้สะสมของถูก หุ้นที่ต้องระวังจริงๆ จึงไม่ใช่หุ้นที่มีผลประกอบที่ผันผวน แต่เป็นหุ้นที่ธุรกิจของมันหมดอนาคตไปแล้วโดยถาวร เป็นการยากที่จะกลับมาสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้อีก ถ้าคิดว่าหุ้นตัวไหนเป็นเช่นนั้น ถึงจำเป็นต้องปรับออกครับ
ความเสี่ยงของการลงทุนแบบระยะยาวไม่ใช่ความผันผวนของราคาหุ้น หรือแม้แต่ความผันผวนของผลประกอบการ เพราะนั่นเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ แต่ความเสี่ยงของการลงทุนแบบระยะยาวคือการเลือกลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีศักยภาพแล้วครับ
I’ve followed your writings for quite a while. Just want to say thank you for your simple-but-sharp knowledge sharing on stock investment and economics.
cheers!!
ภาพที่นำมาเสนอเยี่ยมมากครับ ทำให้เห็นภาพเปรียบเทียบได้ดี
อาจขอเสนอให้ระบุเลขปีเข้าไปในรูปด้วยเลยเช่น 2000-2010
เพื่อเพิ่มความชัดเจนของข้อมูลครับ 😀
จนถึงวันนี้ ท่านแม่ทัพก็ยังเป็นอันดับหนึ่งในใจผมเสมอ มุมมองดีมาก เห็นด้วยทุกประการ ขอบคุณมากครับ โดยเฉพาะย่อหน้าสุดท้าย เตือนใจได้ดีที่สุดเลยครับ
ขอบคุณมากครับ ชอบมากเลย โดยเฉพาะวรรคสุดท้าย จะท่องจำให้ขึ้นใจก่อนคิดจะซื้อหรือขายครับ 🙂
ความเสี่ยงของการลงทุนแบบระยะยาวคือการเลือกลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีศักยภาพแล้ว ★☆★☆★ cool! ครับ
ความเสี่ยงของการลงทุนแบบระยะยาวคือการเลือกลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีศักยภาพแล้ว
เห็นด้วยค่ะ
ขาด PTT PTTEP SCC จะได้เห็นภาพ ความสามารถของบริษัทไทยได้มากขึ้นเลยครับ
มุมมองในเรื่องของศักยภาพชัดเจนดีมากครับ แต่ให้มอง trend ในระยะยาวคงต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และการคาดการณ์อนาคตเป็นหลักเหมือนกันครับ ซึ่งพวกเราส่วนใหญ่เวลาเลือกหุ้น (ถ้ากำหนดให้เลือกบริษัทแบบ 7thLTG) ก็มักเข้าข้างตนเองอยู่เป็นประจำแหละครับ ถ้าให้ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ถามว่ามีใครสักกี่คนที่มองอนาคตแล้วซื้อหุ้นที่กล่าวมาข้างต้นบ้าง
จะเลือกหุ้นเข้าข้างตัวเองบ้างก็ไม่มีปัญหาเลยครับ ขึ้นชื่อว่าหุ้นไม่มีคำว่าแน่นอน 100% อยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องเลือกให้ได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์เลยครับ
ปีเตอร์ ลินซ์ บอกว่า ถ้าคนธรรมดาหันมาเลือกหุ้นด้วยตนเอง 5 ตัว แล้วพยายามถือไว้ให้ได้นานๆ จะพบว่า มีหุ้น 3 ตัวที่ได้ผลตอบแทนธรรมดาๆ, 1 ตัวเลวร้ายผิดคาด แ่ละอีก 1 ตัวได้ผลตอบแทนดีเกินคาดไปมาก แต่เพียงแค่นี้ ผลตอบแทนโดยรวมของพอร์ตก็ดีมากแล้ว
คนเราเคยชินกับโลกแบบ Certainty แต่ในโลกของธุรกิจนั้นเป็นเรื่องของ Probabilty ครับ
นักธุรกิจส่วนใหญ่ ในวันที่เริ่มต้นทำธุรกิจ เขาไม่ชัวร์ 100% หรอกครับ เพราะถ้าจะรอให้ชัวร์ 100% ถึงจะทำ รับรองว่าไม่ต้องทำอะไรเลยแน่
แต่่แล้วทำไมนักธุรกิจถึงเป็นอาชีพที่รวยที่สุดในสังคม ในขณะที่มนุษย์เงินเดือนมีรายได้แน่นอนกลับไม่รวย ทำไมพันธบัตรซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ชัวร์ที่สุดถึงให้ผลตอบแทนที่ต่ำที่สุดในบรรดาสินทรัพย์ทั้งปวง
การคิดถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่สิ่งจำเป็นในโลกของการลงทุนครับ
เห็นกราฟของ BANPU แล้ว….ซี้ด…เลยค่ะ
แสดงความหมายของคำว่า “ศักยภาพ” ได้ชัดเจนมากค่ะ
หวังว่า บ้านปูจะเติบโตได้ดีต่อไปในอนาคตอีกนะคะ อยากเห็น
บริษัทไทยเป็นบริษัทข้ามชาติที่แข่งแกร่ง แข่งขันได้ในระดับโลกค่ะ
1-10 คือ 2001-2010
ข้อมูลกราฟสำเร็จรูปถึง สิบปีเเบบนี้ ไม่ทราบเราจะหาข้อมูลมันได้จากที่ไหนเหรอครับ
หรืออันนี้พี่ทำขึ้นด้วยตัวเอง ผมว่ามันมีประโยชน์มากเลย
ผมเอาข้อมูลดิบจาก setsmart มาสร้างกราฟด้วย excel ครับ
ขอบคุณครับพี่โจ้ก
ขอบคุณครับ พอจะขยายความคำว่าศักยภาพของการเติบโตได้อีกมั้ยครับ ผมเข้าใจว่ามันคือ demand trend และ ความได้เปรียบเชิงแข่งขันอย่างยั่งยืน(DCA) อย่างนี้ถูกต้องมั้นครับ
ติดตามหนังสือคุณนรินทร์เกือบทุกเล่มครับ พอดีส่วนตัวผมก็ซื้อเฉลี่ยว Major อยู่เหมือนกันเลยอยากจะให้ช่วยวิเคราะห์ว่าในระยะยาวแล้ว ตัวนี้ยังมีโอกาศเติบโตบ้างหรือเปล่าครับ
เห็นภาพชัดเจนมากครับ ขอบคุณครับ
เป็นบทความที่เยี่ยมยอดอีกบทความนึงครับ เห็นภาพชัดเจนมากเลย ขอบคุณด้วยคนครับ 🙂
ข้อมูล setsmart นี่ต้องซื้อหรือยังไงครับ ผมดูมันมีย้อนหลังแค่ 5 ปี
10 ปี นี่พี่หาจากไหนครับ คือว่าต้องการหาข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยเหมือนกันครับ
ติตต่อที่ห้องสมุดมารวยได้เลยครับ
สงสัยนิดนึงครับพี่สุมาอี้ว่าตกลงต้องเอารายได้มาดูย้อนหลังเหรอครับ ผมนึกว่าต้องเอากำไรหรือกำไรต่อหุ้นมาดูซะอีก
จะดูกำไรก็ได้ครับ
แต่เวลาตรวจ growth ผมชอบดูรายได้มากกว่า เพราะกำไรมักเป็นสิ่งที่เหวี่ยงขึ้นเหวี่ยงลงในระยะสั้น เพราะมันเป็นบรรทัดสุดท้าย ปัจจัยจึงเยอะ ทำให้เห็นแต่ noise ซะเยอะ ไม่ค่อยเห็น signal
ในระยะสั้น รายได้กับกำไรอาจไปคนละทางได้ แต่ระยะยาวๆ เช่นสิบปี ถ้ารายได้ยังเป็นขาขึ้น ยังไงๆ กำไรก็ต้องไปในทางเดียวกันแน่นอนครับ แค่ผันผวนมากกว่า จะลองไปเอามาดูก็ได้ครับ
ขอบคุณสำหรับแนวคิดดีๆครับ
พฤหสับดีที่๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ สวัสดีครับ ผมอายุ๕๖ปีเดือนนี้(กค๕๔) จบสัตวบาล-มช.ปี๒๕๒๑ได้งานทันทีที่CP FEEDMILL -ลำพูนทำงานที่นี้๖ปี รุ่นพี่ชวนลาออกไปตั้งบริษัทสินเกษตรอุตสาหกรรมโภคภัณฑ์ จก.ที่ลำพูนอีกเช่นกันทำงานที่นี้๑๗ปีลาไปทำงานที่ประเทศจีน ๒ปี๔เดือน ลากลับไทย ปัจจุบันดูแลเขียงหมูที่ตลาดสดเทศบาลลำพูน๑(หนองดอก)ขายเนื้อหมูวันละ๑๐-๑๒ตัว รวมทำงานด้านปศุสัตว์(หมู,ไก่ไข่,ไก่เนื้อ)๓๓ปี ระยะ๒ปีมานี้ผมพยายามจะหาอาชีพที่เหมาะสมยามแก่ที่สามารถมีรายได้ช่วยเหลือตัวเองได้กล่าวคือขอมีรายได้สัก ๒-๓หมื่นบาทต่อเดือนจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยนี้ได้ไหม? สิ่งแรกที่ผมตั้งใจคือ ผมจะเริ่มต้นเรียนวิชาตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ชั้นอนุบาล ไป ประถม ไป มัธยม สุดท้าย ป.ตรี อย่างไรดีครับ? ใช้เวลาเรียนนานสักเท่าไรดี? ตอนนี้ผมเริ่มด้วยหนังสือของท่าน “85 ไอเดียการลงทุน ในตลาดหุ้นไทย”อ่านเมื่อวันที่๑๗ถึงวันที่๒๑วันนี้ไปได้๑๒๘หน้าแล้ว มีความรู้สึกดีๆต่อตลาดหุ้นไทยขึ้นมามากๆจนอยากจะเริ่มลงทุน แต่ผมมีความศัทธาต่อวิชาเฉพาะทาง ความชำนาญเฉพาะทาง มีประสบการณ์เฉพาะทาง จึงจะสามารถฝ่าอุปสรรคได้ดี. ความรู้พื้นฐานควรเป็นอย่างไรดี? อะไรดี? ที่ไหนดี? ใครดี? ( ผมอยู่ลำพูน ) ที่เชียงใหม่มีสถาบันซื้อขายหุ้นไทยเขาจะสอนให้ใช่ไหม่ครับ ดีไหม?เช่น หลักทรัพย์กสิกรไทย เป็นต้น ตอนนี้ผมชักจะเมากับการเริ่มต้มจริงๆ ขอรบกวนท่านชี้แนะด้วยนะครับ ขอบคุณครับ
ตอบให้แล้วครับ ^^
https://dekisugi.net/7thltg#comment-7777
กูรูหลายท่านให้ความสำคัญกับกำไรมากกว่ารายได้ โดยมองว่ารายได้หรือยอดขายที่ไม่ทำให้เกิดกำไรนั้นไม่มีประโยชน์ และแม้ยอดขายไม่โตแต่บริษัทสามารถทำอัตรากำไรได้สูงขึ้นก็ถือว่าดี
แต่โดยส่วนตัวผมเห็นด้วยกับการดูรายได้นะครับ เพราะโดยหลักแล้วกำไรก็ควรมาจากรายได้หรือยอดขายนั่นเอง และการ squeeze กำไรออกมาจากยอดขายที่ไม่โตก็คงทำได้ไม่ตลอดไป สู้ยอดขายที่เติบโตไม่ได้ เพราะนั่นแสดงว่าตลาดหรือส่วนแบ่งตลาดของบริษัทมีการเติบโต แต่ก็นานาจิตตังครับ
ใช่ครับ ในระยะสั้นกำไรผันผวนมากกว่ารายได้ การมองแต่กำไรจะทำให้เรามองแต่ระยะสั้น และมองไม่เห็นภาพใหญ่ของธุรกิจเลยครับ
like…Dekisugi school of investing