Skip to content

117: 0452: BLA

ธุรกิจประกันชีวิตถือเป็นธุรกิจหนึ่งที่น่าลงทุนในระยะยาว เพราะการประกันชีวิตถือเป็นการออมรูปแบบหนึ่ง ลูกค้าของบริษัทประกันชีวิตจึงมักต้องอยู่กับบริษัทเป็นเวลานาน ทำให้บริษัทสามารถสร้างฐานให้มั่นคงขึ้นเรื่อยๆ ได้ ต่างกับธุรกิจประกันภัยซึ่งลูกค้ามัก Switch ไปมาได้ง่าย เนื่องจากมีการแข่งขันด้านราคาสูง ธุรกิจประกันชีวิตจึงมีแนวโน้มทำกำไรได้มากกว่าประกันภัย [premium level=”1″ teaser=”yes” message=”โปรดล็อกอินเพื่ออ่านบทความเต็ม หรือสมัครสมาชิกรายปี”]

ในแง่โอกาสในการเติบโตระยะยาวของอุตสาหกรรมประกันชีวิตก็มีสูงด้วย เพราะเมื่อคนมีรายได้มากขึ้น ก็จะเริ่มหันมาสนใจการทำประกันชีวิต ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งทำให้มีคนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น จึงมีช่องว่างเหลืออยู่มากทั้งในแง่ของจำนวนผู้ทำประกันชีวิต และอัตราการทำประกันชีวิตของประชากรที่ยังไม่อิ่มตัว ด้วยเหตุนี้ ที่ผ่านมา ตลาดประกันชีวิตในประเทศไทยจึงสามารถเติบโตได้มากกว่าจีดีพีของประเทศราวสองเท่าตัวทุกปี

ดังนั้นเมื่อพิจารณาทั้งในแง่ของการความสามารถในการทำกำไรและโอกาสในการเติบโตแล้ว ธุรกิจประกันชีวิตจึงเป็นธุรกิจของไทยที่น่าลงทุนในระยะยาว นอกจากนี้ข้อบังคับของทางการที่กำหนดให้บริษัทประกันชีวิตของไทย จะต้องแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนทุกบริษัทในไม่ช้านี้ ยังช่วยทำให้นักลงทุนในตลาดหุ้นไทย มีทางเลือกในการลงทุนในธุรกิจนี้ได้มากขึ้นในอนาคต

กรุงเทพประกันชีวิต หรือ BLA ถือเป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจเลยทีเดียว จุดเด่นของ BLA คือ การเป็นพันธมิตรกับธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของไทย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ทำให้สามารถใช้สาขาของธนาคารพาณิชย์ เป็นช่องทางขายที่เข้าถึงลูกค้าจำนวนมากได้ ตามโมเดลธุรกิจแบบ “แบงก์เอสชัวรันส์” ซึ่งคู่แข่งที่ไม่มีตรงนี้จะเสียเปรียบมาก

ที่ผ่านมา  BLA เติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ด้วยการขายผ่านแบงก์เอสชัวรันส์ ส่งผลให้เป็นบริษัทประกันชีวิตในกลุ่มที่กำลังมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นได้ทุกปี ซึ่งในช่วงปี  2010 บริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงขึ้นนอกเหนือจาก BLA ก็ได้แก่ เมืองไทยประกันชีวิตของกสิกร และนิวยอร์คไลฟ์ของไทยพาณิชย์ ซึ่งล้วนแต่อาศัยแบงก์เอสชัวรันส์ในการขยายธุรกิจทั้งสิ้น

ประกันชีวิตมีผลิตภัณฑ์มากมายหลายรูปแบบเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า แต่ทุกวันนี้ลูกค้ากว่าครึ่งของ BLA มักทำประกันชีวิตแบบออมทรัพย์มากที่สุด เพราะเป็นรูปแบบที่โดนใจลูกค้ามากกว่ารูปแบบอื่นๆ (ลูกค้ามักรู้สึกว่ารูปแบบนี้ไม่ได้เสียเงิน แต่เป็นการออมเงิน ที่จะได้เงินคืนพร้อมผลตอบแทนในอนาคต) รูปแบบรองลงมาก็คือ การทำประกันชีวิตกลุ่ม ซึ่งมีลูกค้าเป็นองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการซื้อประกันให้พนักงานแบบเหมารวม เพื่อให้ได้ราคาที่ดีนั่นเอง ส่วนในอนาคต รูปแบบที่น่าจะมีการเติบโตที่ดีคือ ประกันชิีวิตแบบบำนาญ ตามแนวโน้มประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น และการเพิ่มแรงจูงใจด้านสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี ซึ่งทางการออกมาเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนทำประกันแบบนี้ให้มากขึ้น

ส่วนในแง่ของช่องทางขายนั้น ในปี 2010 BLA ขายผ่านแบงก์เอสชัวรันส์เป็นหลักถึงกว่า 80% ในขณะที่การขายผ่านตัวแทนซึ่งเคยเป็นช่องทางหลักมาก่อน มีแนวโน้มลดลง อันเป็นผลมาจากการภาครัฐฯ ที่ผ่านคลายกฎเกณฑ์ให้กับแบงก์เอสชัวรันส์ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดการลักลั่นกับการขายผ่านตัวแทน ส่งผลให้ตัวแทนใหม่ที่เข้าระบบมีแนวโน้มลดลงทั้งระบบ ปัญหานี้นับว่าทำให้บริษัทประกันชีวิตที่มีช่องทางแบงก์เอสชัวรันส์ที่แข็งแกร่งอยู่แล้วได้เปรียบเป็นอย่างมาก

อนึ่ง นโยบายของภาครัฐฯ ถือว่าเป็นปัจจัยที่มีผลต่ออุตสาหกรรมนี้ค่อนข้างมาก ทั้งในแง่บวกและลบ เพราะอุตสาหกรรมนี้ถือเป็นอุตสาหกรรมควบคุม ผลกระทบในแง่บวกที่สำคัญก็ได้แก่ มาตรการลดหย่อนภาษีให้กับผู้ซื้อประกัน เพื่อกระตุ้นการออมภาคครัวเรือน ในขณะที่ ผลกระทบในแง่ลบก็ได้แก่การออกกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในการทำธุรกิจ ซึ่งทุกบริษัทจะต้องดิ้นรนปรับตัวอยู่เสมอ นักลงทุนจึงควรติดตามข่าวสารการออกมาตรการใหม่ๆ ของภาครัฐฯ ที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทประกันชีวิตเป็นระยะๆ

กำไรของธุรกิจประกันชีวิตนอกจากจะขึ้นอยู่กับการมีเบี้ยรับที่เพิ่มขึ้น และการควบคุมอัตราการเคลมและค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจให้สอดคล้องกันแล้ว ยังขึ้นอยู่กับส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งคือ ผลตอบแทนที่เกิดจากการนำเบื้ยรับที่ได้ไปบริหารด้วย ถ้าบริษัทบริหารกองทุนได้ดีก็จะเกิดกำไรเพิ่มเติม แต่การแสวงหาผลตอบแทนของเงินกองทุนก็ต้องบาลานซ์กับความเสี่ยงด้วย เพื่อให้เกิดความมั่นคงของเงินกองทุนในระยะยาว เนื่องจากบริษัทยังคงมีภาระผูกพันกับลูกค้า ซึ่งโดยปกติ หน่วยงาน คปภ.ของทางราชการที่มีหน้าที่ควบคุมบริษัทประกัน จะกำหนดให้ทุกบริษัทต้องรักษามูลค่าเงินกองทุนไว้ไม่ให้ต่ำกว่าค่าค่าหนึ่ง เรียกว่า เงินสำรองประกันชีวิต ซึ่งคำนวณมาจากความน่าจะเป็นที่บริษัทจะต้องจ่ายเงินเคลมให้ลูกค้าในอนาคต

นโยบายการบริหารเงินกองทุนของ BLA เน้นหลักทรัพย์ที่ีมีความมั่นคงสูงเป็นหลักมากกว่าจะเน้นเรื่องของผลตอบแทน ในปี 2010 BLA ถือพันธบัตรรัฐบาล 66% ของกองทุนทั้งหมด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ไม่เน้นการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งมีความผันผวนสูง หรือการในหลักทรัพย์ที่อยู่นอกตลาดหรือการปล่อยนำเงินกองทุนไปปล่อยสินเชื่อเพื่อหาผลตอบแทน ซึ่งแม้จะอยู่ในข่ายที่ คปภ.อนุญาตให้ทำได้ แต่ก็มีความเสี่ยงสูง และยังอาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องความโปร่งใสได้ด้วย

ด้วยเหตุนี้ BLA จึงมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งมาก ในปี 2010 บริษัทมีความสามารถที่จะจ่ายเงินเคลมสูงกว่าที่คปภ.กำหนดไว้ถึงกว่า 8 เท่า โดยแลกกับผลตอบแทนของเงินกองทุนที่ดูไม่โดดเด่นมากนัก คืออยู่ที่ 5.76% เท่านั้น[End]

 

36 thoughts on “117: 0452: BLA”

  1. เป็นธุรกิจที่น่าสนใจ น่าลงทุนระยะยาว ติดนิดนึงตรง P/BV สูง แสดงว่าตลาดให้ premium ธุรกิจประกันภัย เนื่องจาก Growth Opportunity ในอนาคต

  2. เ่อ แล้วพวกเมืองไทยประกันชีวิตมันไม่เข้าตลาดเหรอโจ๊ก

    1. มีกฎให้ประกันชีวิตและประกันภัยทุกบริษัทต้องเป็นบริษัทมหาชนภายใน 2556 นะกิตติ ก็คิดว่าสุดท้ายแล้วเมืองไทยประกันชีวิตก็คงต้องเข้าตลาดในที่สุด แต่คงยื้ดให้สุดๆ ก่อน (โตเองให้เต็มที่ก่อนแล้วค่อยกระจายหุ้น มั้ง)

      ก็เล็งตัวนี้อยู่เหมือนกัน เพราะไม่ใหญ่เกินไป และกินส่วนแบ่งตลาดคนอื่นเพิ่มทุกปี จึงน่าจะเติบโตได้ดีที่สุด

  3. อ้อๆๆ ขอบคุณมากโจ๊ก เคยคิดสนใจหุ้นบริษัทประกันชีวิตอยู่เหมือนกัน แต่ยังไม่ดูจริงจัง หาเมืองไทยประกันชีวิตไม่เจอ เลยสงสัยว่าทำไมมันไม่เข้าตลาด

  4. ได้ยินมาว่าบังคับให้เป็นมหาชน แต่ไม่บังคับเข้าตลาดนะครับ ดังนั้นหลังแปลงเป็นหมาชน บ.อาจจะยังยื้ออยู่นอกตลาดได้อีกระยะเวลานึงหรือเปล่าคับ

  5. ผมเดาว่า ธุรกิจประเภทนี้ ดู P/BV ไม่น่าจะให้ประโยชน์อะไร หากเอา ROE มาดูและการควบคุมดอกเบี้ยจ่ายอย่างต่อเนื่องดูว่าน่าจะให้ประโยชน์กับนักลงทุนมากกว่าหรือเปล่าครับ ? เป็นไปได้หรือไม่หากนำ Core Revenue เทียบกับ Market Cap เพื่อดูความถูกแพงของหุ้นจะดีกว่าหรือไม่ครับ ?

    1. รออ่านบทความเรื่องการดูหุ้นประกันชีวิตในมุมมองของคุณนรินทร์ด้วยใจจดใจจ่อครับ ^_^

  6. อยากรู้ว่าที่ bla เติบโตสู้ scblif ไม่ได้ เพราะว่าปกติแล้วกลุ่มลูกค้าของแบงค์กรุงเทพจะไม่ใช่ชนชั้นกลางทำให้ขายยากกว่าของแบงค์ไทยพาณิชย์ที่มีฐานลูกค้าเงินฝากเป็นชนชั้นกลางหรือป่าวคับ
    หรือว่าด้วยเหตุผลอื่น

  7. อันนี้ไม่แน่ใจครับ แต่คิดว่าลูกค้า BBL/SCB/KBANK สามเจ้านี้ไม่น่าจะแตกต่างกันมาก น่าจะ overlapsed กันเป็นส่วนใหญ่

  8. BLA ยังโตมากเพราะเศรษฐีตามบ้านนอกนิยมใช้บริการแบงค์กรุงเทพครับ
    เพราะมีเงินเหลือ พนักงานที่แบงค์ก็มักจะใช้ความสนิทกับลูกค้าชวนทำประกันในที่สุด
    ต่างจาก SCBLIF,เมืองไทยประกันฯ ที่จะได้พนักงานเงินเดือนเป็นหลัก

  9. เข้าใจว่า BLA มีการเติบโตของรายได้เบี้ยประกันไม่ได้ด้อยไปกว่า SCBLIF แต่เป็นเพราะชนิด/ประเภทของการรับประกันของ BLA ทำให้ต้องมีการตั้งสำรองในอัตราที่สูงกว่า(ข้อมูลจากที่ผู้บริหารตอบในที่ประชุมผู้ถือหุ้น) กอปรกับช่วงที่ผ่านมา BLA มีเป้าหมายในการตั้งสำรองให้ถึงจุดที่ต้องการ (เพื่อประกัน fixed income)
    อย่างไรก็ตาม เรื่องการตั้งสำรองในอัตราที่สูงกว่าผมก็ยังไม่เคลียร์ ต้องรบกวนผู้รู้ ให้คำแนะนำด้วยครับ
    ขอบคุณครับ

  10. เรื่องการตั้งสำรองที่สูงของ BLA เป็นเพราะ สัดส่วนในการขายประกันของบริษัทเป็นแบบสะสมทรัพย์ที่มากครับ เนื่องจากประกันชีวิตแบบนี้เมื่อครบสัญญาจะต้องคืนเงินให้ลูกค้า+ผลตอบแทน ทำให้ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองสูง (ผมไม่แน่ใจเรื่องตัวเลข แต่น่าจะประมาณ 70-80% ของเบี้ยรับ) ทีนี้ ปัญหามันมาเกิดอยู่ที่ว่า ในแง่ภาษีนั้น กรมสรรพากรอนุญาติให้เอาสำรองมาตั้งเป็นค่าใช้จ่ายได้แค่ 60% เท่านั้น (ส่วนที่เกิน ไม่สามารถคิดเป็นค่าใช้จ่ายได้) ผลคือ ทำให้มีงบภาษีที่ยื่นหใ้สรรพากร ดูมีกำไรเยอะ(กว่างบกำไรขาดทุน)>> จ่ายภาษีเยอะ ปี 12 tax rate อยู่ที่ 27-28%(กฏหมายแค่ 23%) จะเห็นได้ว่า ปี 2012 นั้น BLA ไม่เร่งขยายยอดขายของประกันสะสมทรัพย์เท่าไหร่ แต่จะไปเน้นประกันเกษียรอายุเเทน ทำให้ยอด FYP เติบโตน้อยมาก
    ส่วน SCBLIF นั้น ในแง่ของproduct mix นั้นต่างจาก BLA มาก เพราะ SCB ที่ถือหุ้นใหญ่ลงมาช่วยในการขายประกันแบบ mortgage เช่นพวกประกันคุ้มครองสิ้นเชื่อบ้าน พวกนี้ พอครบอายุสัญญา จะไม่จำเป็นต้องคืนเงินให้ลูกค้า ทำให้ในแง่บัญชี การตั้งสำรองของประกันประเภทนี้จะต่ำแค่ ประมาณ 40% ซึ่งจะมา weight ให้การตั้งสำรองทั้งหมด ทำให้บริษัทสามารถขายประกันที่ขายดีที่สุด คือแบบสะสมทรัพย์ได้มากขึ้นเยอะ การตั้งสำรองเมื่อถัวเฉลี่ยลดลงมาอยู่ที่ไม่เกิน 60% ซึ่งสามารถนำไปตั้งสำรองเป็นค่าใช้จ่ายในแง่ภาษีได้

    ผิดถูกรบกวนชี้เเนะด้วยครับ ^ ^

  11. เรื่องภาษีก็คงมีส่วนครับ เมื่อไรก็ตามที่ tax accounting กับ reported accounting ไม่ได้ใช้วิธีเดียวกัน จะมี tax assets เกิดขึ้น ทำให้ในระยะสั้นเสียภาษีเยอะ แต่สุดท้ายแล้วก็ไปเอาคืนได้ในระยะยาว

    ผมจึงมองว่าไม่ใช่แค่เรื่อง tax เท่านั้นที่ทำให้ BLA ต้องมีปรับการส่วนผสมของพอร์ตลูกค้าเป็นใหญ่ แต่ประเด็นที่กดดัน BLA มากกว่าน่าจะมาจากการที่อายุเฉลี่ยของกรรธรรม์ที่รับประกันค่อนข้างสั้นเกินไปนั่นแหละ (อาจจะเพราะขายได้ง่ายกว่า ทำให้ gearing ไปทางนั้นมากเกินไป)​ เวลาดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวลง จะต้องบันทึกค่าใช้จ่ายจากเงินสำรองประกันภัยที่เพิ่มขึ้นสูงมาก

  12. แสดงว่า อายุเฉลี่ยของกรมธรรม์ที่สั้น ทำให้บริษัทพยายามปรับให้อายุยาวขึ้น โดนการเน้นขายกรมธรรม์ที่อายุยาว ทำให้ส่วนผสมยาวๆมากขึ้น แต่ก็ทำให้ขายได้ยากกว่า ทำให้การเติบโตชะงักไปพอสมควร

    ดูจากในรายงานประจำปีล่าสุด ณ สิ้นปี 55 Duration ขึ้นมาอยู่ที่ 10.03 ขึ้นมาจาก 8.67

    ที่นี้ พี่โจ๊กคิดว่า บริษัทจำเป็นต้องปรับตรงนี้ไปจนถึงเมื่อไหร่ครับ

  13. ผ่านปี 56 มาได้สองเดือน ดูเหมือนว่า BLA จะกลับเข้าสู่เกมมารุกตลาดประกันแบบสะสมทรัพย์ได้ดีทีเดียวครับ
    ยอด FYP TP สูงขึ้นมาก น่าติดตามจริงๆว่า ปีนี้จะยอดขายปีนี้จะเป็นเท่าไหร่ จะเเย่งตำแหน่งคืนจาก SCBLIFE ได้หรือเปล่า

  14. เห็นข่าวในประชาชาติธุรกิจฉบับล่าสุดบอกว่า BLA หันกลับมาเน้นขายประกันออมสั้นแล้ว

    สินค้าระยะสั้นขายง่ายกว่า สุดท้ายแล้วก็ต้องกลับมาขาย ไม่งั้นคนอื่นแซงไปก่อน

  15. ขอชวนคุยเรื่อง bla สักนิดนะคับ ตอนนี้ดอกเบี้ย bond เริ่มปรับตัวสูงขึ้น น่าจะส่งผลดีต่อ bla มากมั๊ยคับ

    1. ดอกเบี้ยสูงขึ้นควรจะดีกับบริษัทประกันชีวิตโดยทั่วไป เพราะบริษัทประกันชีวิตรับเงินล่วงหน้าจากลูกค้าไปหาผลตอบแทนในตลาด ถ้าหากตลาดให้ผลตอบแทนดี ถึงเวลาที่ต้องคืนเงินลูกค้าในอนาคตอันไกล ก็จะมีเงินมาคืนง่ายขึ้น

  16. ตอนนี้หุ้น BLA ร่วงเอา ๆ เลยครับ ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

    พี่โจ้กครับ ถ้าเปรียบเทียบ BLA กับ MTI เมืองไทยประกันชีวิต พี่โจ้กคิดว่ายังไงบ้างครับ ขอบคุณครับ

  17. ดูให้ดีๆครับ MTI คิอ เมืองไทยประกันภัยนะครับ ไม่ใช่ประกันชีวิต

    เมืองไทยประกันชีวิตไม่ได้อยู่ในตลาดคับ

  18. BLA ร่วงไปรอบหนึ่งตอนปรับ duration ของลูกค้า

    แต่รอบนี้ superstock ร่วงหนักกันทุกตัว น่าจะเป็นช่วง correction ของพวก superstock เพราะที่ผ่านมา เกิดแฟชั่นที่ทุกคนซื้อ superstock กันแบบไม่ต้องสนใจราคา BLA ก็อาจเป็นหนึ่งในนั้น

  19. threl เข้ามา มีมุมมองยังไงบ้างครับเมื่อเทียบกับ bla

  20. ผมชอบ threl ในแง่ที่มันเป็นการประกันชีวิต โอกาสที่จะมีคนตายพร้อมๆ กันเยอะ ทำให้บริษัทต้องรับภาระหนักๆ มีน้อยกว่าการรับประกันภัยต่อของประกันภัยมาก

    แต่ threl ก็ต้องแข่งขันกับบริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศเหมือนกัน เพราะบริษัทประกันชีวิตในไทย ไม่จำเป็นต้องประกันต่อกับบริษัทในไทยก็ได้ มีตัวเลือกให้ไปประกันต่อที่เมืองนอกได้มากมาย

    อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้คิดว่า threl น่าจะยังมีฐานให้โตได้เยอะอยู่ เนื่องจากยังโตจากฐานที่ไม่ใหญ่มาก ก็เลยคิดว่า น่าจะเป็นหุ้นเติบโตไปได้ช่วงหนึ่งครับ

  21. เราเปรียบเทียบหยาบๆแบบนี้ได้มั้ย ว่าBLA เหมือนปลายน้ำ THREL เหมือนต้นน้ำ

    แม้ว่า THREL จะมีฐานรายได้ที่เล็กกว่า แต่การที่เป็นต้นน้ำและมีขนาดเล็กกว่าบริษัทปลายน้ำ พี่ว่ามันแปลกๆมั้ยคับ

    เหมือนproduct ประกันชีวิตดีดีเช่น saving พวก bancasurance จะเก็บไว้เอง ส่วนแบบ credit life จะส่งต่อให้ re insurance

    Threl จะได้อะไรจากพฤติกรรมการลดหย่อนภาษีโดยออมเงินในประชีวิต บ้างไหมคับ

    1. เรียกว่าต้นน้ำได้หรือเปล่าอันนี้ไม่แน่ใจ แต่เรียกว่าเป็นธุรกิจที่ถ้าหากบริษัทประกันชีวิตทั่วไปไปได้ดี ก็จะได้พลอยได้รับประโยชน์ไปด้วยทางอ้อม

      เวลาบริษัทประกันชีวิตได้ลูกค้ามาเยอะๆ เขาก็ต้องประกันต่ออีกทอดหนึ่งเพื่อกระจายความเสี่ยงอยู่แล้ว พวกประกันภัยต่อก็จะได้ business ในส่่วนนี้ไปนะครับ

      threl เล็ก เพราะว่า เขาไม่ใช่ตัวเลือกตัวเดียวของบริษัทประกันชีวิต แต่บริษัทประกันชีวิตสามารถประกันต่อกับบริษัทรับประกันต่อในต่างประเทศเอาก็ได้ มีทางเลือกเยอะครับ

  22. ถ้าบริษัทประกันจดทะเบียนเป็นมหาชน แต่ไม่เอาเข้าตลาดหุ้นได้มั้ยครับ

    1. ทำได้ครับ ใหญ่ๆ ก็เช่นเมืองไทยประกันชีวิต รวมถึงไทยพาณิชย์ประกันชีวิต(ในอีกไม่ช้า)

  23. ขอบคุณครับคุณ XO
    ผมสงสัยว่าแรงจูงใจที่จะให้บริษัทประกันชีวิตจะเข้าตลาดหลักทรัพย์คืออะไร หรือว่าตอนนี้อุตสาหกรรมไปได้ดี เลยยังไม่ต้องเข้าตลาด แล้วพออุตสาหกรรมเริ่มแข่งขันมากขึ้น มีความเสี่ยงมากขึ้นถึงจะเริ่มกระจายหุ้น(และความเสี่ยง)ให้รายย่อยครับ แล้วมันมีแรงจูงใจอื่นรึเปล่าครับ

  24. เท่าที่ทราบคือ คปภ มีข้อบังคับให้ประกันชีวิตทุกบริษัทแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน (มีกำหนดเส้นตาย) หรือถ้าเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทมหาชนอยู่แล้ว ก็คงจะผ่านเกณฑ์ ส่วนตัวไหนแปรสภาพแล้วจะเข้าตลาดได้หรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถและความต้องการของแต่ละแห่ง

  25. ผู้กองเบิร์ด คนเกาะกูด

    กำลังจะสมัครตัวแทนประกันชีวิตพอดี ยังมาเจอ แบงอินชัวรันอีก สงสัยเจองานหินอีกแล้ว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *