Skip to content

119: 0454: Growth Investing Clarified

Growth Investing ก็เหมือนแนวการลงทุนอื่นอีกหลายแนว ที่มีนิยามที่ค่อนข้างหลากหลาย บ่อยครั้งก็ทำให้เกิดการสับสนและเข้าใจผิดในหมู่นักลงทุนด้วย บทความนี้จึงพยายามแยกแยะ และพูดถึงความหมายของคำคำนี้ เมื่อถูกนำไปใช้ในสถานการณ์ต่างๆ นะครับ [premium level=”1″ teaser=”yes” message=”โปรดล็อกอินเพื่ออ่านบทความเต็ม หรือสมัครสมาชิกรายปี”]

ความหมายแรกที่นักลงทุนอาจพบได้คือ บางคนจะแบ่งการลงทุนแนวพื้นฐานออกเป็นสองแนว ที่ตรงกันข้ามกันคือ Value Investing vs. Growth Investing โดยถือว่านักลงทุนที่เลือกลงทุนในหุ้นที่มีพีอีต่ำ คือ Value Investors ส่วนนักลงทุนที่เลือกลงทุนในหุ้นที่มีพีอีสูง คือ Growth Investors

ตามความหมายข้างต้นนี้เป็นความหมายที่ค่อนข้างเก่า และในปัจจุบันนี้เป็นที่ใช้กันเฉพาะกลุ่มคนที่ยังลงทุนตามแนวทางเก่าของเบนจามิน แกรม (Classical VI) อย่างเหนียวแน่นเท่านั้น นักลงทุนแนว Classic VI จะเลือกลงทุนเฉพาะหุ้นที่มี Valuation ต่ำๆ อย่างเคร่งครัด หุ้นที่มีพีอีสูงจึงถูกเรียกว่า หุ้นเติบโตไปโดยปริยาย ซึ่งโดยส่วนตัวผมเห็นว่า Growth Investing ในความหมายนี้ค่อนข้าง misleading มากๆ เพราะเหมือนกับว่า ความเป็นหุ้นเติบโต วัดกันทีี่ราคาหุ้นที่ตลาดยินดีจะจ่าย แทนที่จะวัดจากการเติบโตของผลประกอบการ ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง เพราะความเป็นหุ้นเติบโตน่าจะดูจากตัวธุรกิจ ไม่ใช่ดูจากตลาดหุ้น และปัจจุบันยังพบว่า มีนักลงทุนจำนวนมากเข้าใจว่า คำว่าหุ้นเติบโตหมายถึงหุ้นพีอีสูงๆ และ Growth Investor เป็นพวกที่ชอบหุ้นพีอีสูงๆ ซึ่งนั่นคือความเข้าใจที่ผิด

ที่จริงแล้ว Growth Investor ไม่ได้ชอบหุ้นเพราะว่ามีพีอีสูง แต่พวกเขาชอบลงทุนในธุรกิจที่ยังมีการเติบโตของกำไร (หรือรายได้) อยู่เป็นสำคัญ เพราะมองว่าการเติบโต คือตัวขับดันมูลค่าที่สำคัญมากของธุรกิจ แต่โดยมากแล้ว พีอีของหุ้นเหล่านี้จะไม่ค่อยต่ำ เพราะตลาดย่อมให้พรีเมี่ยมกับการเติบโต Growth Investor จึงมักไม่ค่อยได้ซื้อหุ้นที่มีพีอีต่ำมาก เพราะถ้าจะรอให้ธุรกิจที่มีการเติบโตมีพีอีที่ตำ่ด้วยนั้น ก็อาจไม่มีวันได้ซื้อ แต่นั่นไม่ได้แปลว่า พวกเขาจะชอบพีอีสูง ถ้าหากพวกเขาพบหุ้นเติบโตที่มีพีอีต่ำๆ ด้วย พวกเขาจะยิ่งชอบมากกว่า เพียงแต่โอกาสเหล่านั้นมักหาไม่ได้ง่ายนักสำหรับการลงทุนแนวนี้

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ Growth Investor ไม่ได้ยินดีซื้อหุ้นพีอีสูงทุกกรณี แต่พวกเขาจะเลือกซื้อหุ้นเติบโตที่พีอียังไม่สูงเกินไปเมื่อเทียบกับโอกาสเติบโตของมันเท่านั้น จะว่าไปแล้ว Growth Investing ก็ยังคงยึดหลักการเดียวกันกับ Value Investing ในแง่ที่ว่าเราควรซื้อหุ้นที่ยังมีราคาต่ำกว่าพื้นฐานอยู่ แต่พวกเขาใช้การเติบโตเป็นตัวชี้วัดมูลค่าที่สำคัญ และให้มูลค่าที่เหมาะสมตามการเติบโตด้วยไม่ได้มองว่าหุ้นทุกตัวควรมีพีอีเท่ากันไปหมด จะว่าไปแล้ว คำว่า Growth กับ Value นั้นไม่อาจแยกออกจากกันได้โดยเด็ดขาด

แต่สิ่งที่ Growth Investing ค่อนข้างต่างจาก Value Investing อย่างชัดเจนคือ การตัดสินใจซื้อและขาย โดย Growth Investor จำนวนมากจะให้สำคัญกับความต่อเนื่องการเติบโตด้วย ตัวอย่างเช่น ถ้าหุ้นตัวนี้รายได้เติบโต 20% yoy ติดต่อกันมาทุกไตรมาส แล้วอยู่ดีๆ มีข่าวออกมาว่า ไตรมาสหน้ารายได้จะโตเหลือแค่ 5% แบบนี้พวกเขาอาจตัดสินใจขายทิ้งไปก่อนโดยไม่สนใจว่ามูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นในเวลานั้นจะเป็นเท่าไร ซึ่งก็ถือว่าเป็นวิธีที่สมเหตุผลอยู่ เพราะการลงทุนในแนวนี้ เป็นการคาดหวังเรื่องการเติบโต ตลาดมักให้ราคาหุ้นโดยบวกความคาดหวังไว้ด้วยเสมอ ดังนั้นถ้าหากการเติบโตมีการสะดุดกะทันหัน ราคาหุ้นมักปรับตัวลงอย่างรุนแรงได้ การรีบขายออกไปก่อนจึงเป็นวิธีลดความเสี่ยงที่เหมาะสมกับการลงทุนแนวนี้

มีบางคนไม่ยังเข้าใจเรื่องนี้ มองว่ารายได้ก็ยังโตตั้ง 5% ก็เลยถือต่อ บอกตัวเองว่ายังไงก็ยังโตอยู่ แต่พอพบว่าราคาหุ้นปรับตัวลงรุนแรงมาก เช่น 30-40% ก็คิดว่า ตลาดไม่มีเหตุผล ซึ่งบางทีคิดแบบนี้ก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะลืมไปว่า ราคาเดิมที่ตัวเองซื้อไปก่อนที่จะลงมานั้นเป็นราคาที่ตลาดเขาคาดหวังการเติบโตกันในระดับ 20% ไม่ใช่ 0% พอโตได้แค่ 5% จะบอกว่าพื้นฐานยังไม่เปลี่ยนเพราะยังไงก็ยังโตอยู่นั้นก็คงไม่ได้นะครับ หรือบางคนเห็นราคาตกลงมาแค่นิดหน่อยก็รีบเข้าไปเก็บ เพราะคิดว่าเป็นโอกาส แต่ที่จริงแล้ว ถ้าบริษัทกลับมาโตแบบเดิมไม่ได้อีก ก็อาจเป็นการลงแบบถาวรได้

อาจกล่าวได้ว่า การลงทุนแนวนี้มีจุดดีที่เห็นผลลัพธ์ได้เร็ว เพราะซื้อแพงก็จริงแต่ซื้อแล้วขึ้นต่อเลยบ่อย แต่ในเวลาที่ทุกอย่างไม่เป็นไปตามคาด นักลงทุนก็ต้องรู้จักเปลี่ยนมุมมองให้ทันด้วย อย่าหลงรักหุ้น หรือยึดติดกับราคาเก่า และอยากเคลิ้มกับคำพูดปลอบใจของผู้บริหารมากเกินไป การลงทุนในแต่ละแนวมีวิธีการตัดสินใจซื้อและขายที่เหมาะสมไม่เหมือนกันนะครับ

Growth Investing ที่ดีนั้นต้องไม่ควรมองที่ “ขนาด” ของการเติบโต แต่ควรมองที่ความยั่งยืนของการเติบโตนั้นเป็นหลัก ที่จริงแล้ว หุ้นที่ไตรมาสที่แล้ว รายได้เติบโต +50% yoy กลับไม่น่าสนใจเท่ากับหุ้นที่ไตรมาสที่แล้วรายได้เติบโต +15% yoy เพราะ การเติบโตในระดับ 50% ในทางธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ค่อยยั่งยืน ตัวอย่างเช่น อาจเกิดจากปีที่แล้วธุรกิจเจอปัญหาหนักทำให้กำไรลดฮวบ พอมาปีนี้ทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติ กำไรก็เลยดูเพิ่มขึ้นมาก แต่ที่จริงแล้ว ไม่ใช่อัตราการเติบโตที่แท้จริงของธุรกิจนั้นในระยะยาว พอปีถัดไปก็กลายเป็นหนังคนละม้วน หรือบางทีก็อาจเป็นเพราะบังเอิญปีนั้น บริษัท “ฟลุ้ค” ได้โปรเจ็คใหญ่เข้ามาแต่เป็นแค่ one-time thing ไม่ได้ต่อเนื่องทุกปี ปีถัดไปกำไรกลับลดลง บ่อยครั้งมักมีการเชียร์กันว่าหุ้นเหล่านี้เป็น Growth Stock เพราะรายได้เติบโตสูงปรี๊ด แต่เป็นเรื่องชั่วคราว หลงซื้อกันไปแล้วออกตัวไม่ทัน ก็มักเสียหายหนัก ที่แย่ก็คือ หุ้นแบบนี้มักถูกชักชวนให้ซื้อกันโดยบอกว่าคือ Growth Stocks เสียด้วย 

หุ้นเติบโตที่ดีจริงๆ กลับเป็นพวกหุ้นที่รายได้เติบโตแค่ 10-20% ต่อปีเท่านั้น เพราะเป็นระดับที่ธุรกิจส่วนใหญ่มักรักษาไว้ให้ยั่งยืนได้โดยไม่ยากเกินไปนัก ราคาหุ้นก็อาจจะดูแพงไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้ถึงกับดูไร้เหตุผลมากนัก ยิ่งถ้าหุ้นนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีพื้นฐานที่แข็งแรงด้วยแล้ว การถือทิ้งไว้ติดต่อกันหลายๆ ปีมักให้ผลตอบแทนที่ดีมาก อีกทั้งหากกำไรรายไตรมาสจะผันผวนไปบ้าง (โดยที่รายได้หรือ unit growth ไม่ได้ลดลง) ก็ไม่จำเป็นต้องขายหนีก็ได้ เพราะธุรกิจที่มีพื้นฐานที่ดีด้วย ทนรอสักนิด โอกาสที่การเติบโตของกำไรกลับมาได้มักมีสูงด้วย การซื้อหุ้นเติบโตอย่างหลังนี้ โดยมีการกระจายหุ้นด้วยพอสมควรร่วมด้วย ถือว่าเป็นการลงทุนที่น่าสนใจมากทีเดียวครับ[End]

4 thoughts on “119: 0454: Growth Investing Clarified”

  1. เหมือน bla เรย ^^
    แต่การหวังที่ประมาณ 12%-20% นับจากนี้ไปดูจะสมเหตุสมผลกว่า ทั้งที่ผมได้พยายามเตือน นลท ในห้องบลาแล้ว เขาก็ยังคาดหวังโตกันปีละ 50% up ได้แต่นั่งดูเขาหวังกัน ^^

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *