ตลาดหุ้นดูเหมือนจะผันผวนขึ้นอย่างชัดเจน หลังจาก S&P ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรสหรัฐฯ ลงจากระดับสูงสุด ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบกว่าเก้าสิบปีเลยทีเดียว ผสมโรงกับตัวเลขปรับปรุงใหม่ที่บ่งชี้ว่าการฟื้นตัวของสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมากลับไม่ได้สูงอย่างที่คิด โดยครึ่งปีแรกของ 2011 เติบโตได้เพียง 0.8% ต่อปีเท่านั้น ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำเกินไป และทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจอาจกลับไปถดถอยในอนาคตอันใกล้เป็นไปได้สูงขึ้น [premium level=”1″ teaser=”yes” message=”โปรดล็อกอินเพื่ออ่านบทความเต็ม หรือสมัครสมาชิกรายปี”]
สองปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้น ทองคำ และคอมโมฯ ดูจะได้รับอานิสงส์อย่างมาก จากมาตรการทางการเงินที่ผ่อนคลายอย่างสุดขีดของเฟด และธนาคารกลางของประเทศที่พัฒนาแล้วอีกหลายประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงิน นโยบายนี้ส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นในเงินกระดาษ นักลงทุนจึงเข้าซื้อสินทรัพย์สภาพคล่องสูงทุกชนิด เพื่อป้องกันความเสี่ยง
แต่การที่ตลาดกลับมากังวลเรื่องการขยายตัวของเศรษฐกิจอีกครั้ง ในขณะที่นโยบายทางการเงินเหล่านี้ยังคงอยู่ ทำให้ตลาดหุ้นและคอมโมฯ รวมทั้งน้ำมัน มีความน่าสนใจลดลง คงเหลือแต่ทองคำเท่านั้น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยตรง ราคาทองคำจึงปรับตัวขึ้นสร้างสถิติใหม่ได้
ว่าไปแล้ว การปรับลดความน่าเชื่อถือของพันธบัตรสหรัฐฯ นั้น แม้ว่า S&P จะบอกว่ามีโอกาส 50% ที่จะปรับลดลงอีกในอนาคตอันใกล้ แต่ตลาดก็ไม่ได้สูญเสียความเชื่อมั่นในพันธบัตรสหรัฐฯ แม้แต่น้อย สังเกตได้จากผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ตอบรับด้วยการปรับเพิ่มขึ้นน้อยมากและกลับมาเป็นขาลงใหม่หลังจากนั้นเสียด้วยซ้ำ ตลาดยังเชื่อว่าสหรัฐฯ ยังคงห่างไกลจากโอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้มาก ตรงกันข้ามตลาดเข้าถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เพราะกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจมากกว่า
ทางด้้านเฟดนั้น เบน เบอเนนเก้ ได้ออกมารับรองว่าจะขอยืนนโยบายดอกเบี้ยต่ำพิเศษเช่นเดิมต่อไปอีกนานแบบหายห่วงเลย และถ้าหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับเข้าสู่ภาวะถดถอยรอบใหม่ ก็พร้อมจะออกมาตรการทางการเงินเพิ่มเติม (เช่น QE3) แต่ก็ส่งสัญญาณด้วยว่า ในช่วงนี้คงยังไม่ได้เห็น เพราะจะเก็บไว้ใช้เมื่อจำเป็นจริงๆ ก็แน่ละครับ เฟดเหลือเครื่องมือน้อยลงเรื่อยๆ แล้ว แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ยังไม่ฟื้นตัวอย่างที่หวังสักที เลยต้องเก็บอาวุธที่เหลือไว้ใช้อย่างประหยัดที่สุด อีกอย่างหนึ่ง ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ พักหลังดูจะเริ่มเป็นบวกมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถพิมพ์เงินเพิ่มขึ้น โดยไม่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อด้วย ดูแล้วงานนี้สหรัฐฯ คงเทหมดหน้าตักไปเรื่อยๆ จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นหรือจนกว่าจะไม่มีอะไรเหลือให้เทแล้ว ไม่ยอมรัดเข็มขัดเหมือนอย่างเช่นกลุ่มประชาคมยุโรปนะครับ
โอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวเร็วนั้นมีไม่มากนัก เพราะวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และการเงิน ซึ่งโยกย้ายทรัพยากรไปสู่เศรษฐกิจภาคอื่นได้ช้า เงินดอลล่าร์ที่อ่อนลงก็ไม่อาจช่วยภาคส่งออกได้มากอย่างที่คิด เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในภาคบริการเป็นหลัก ผลิตสินค้าส่งออกน้อย สถาบันการเงินก็อยู่ในภาวะที่ไม่เข้มแข็งมากนัก ทำให้ปล่อยสินเชื่อให้ภาคธุรกิจไม่เต็มที่ นอกจากนี้ หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างน้อยห้าปี ไม่ว่าแผนงบประมาณจะออกมาในรูปแบบไหนก็ตาม ดังนั้นโอกาสที่เราจะเห็นเงินดอลล่าร์อยู่ในแนวโน้มขาลงไปอีกนานนั้นจึงเป็นไปได้สูง ตราบใดที่ภาพยังคงเป็นเช่นนี้อยู่ ก็น่าจะยังส่งผลดีต่อราคาทองคำได้ในระยะยาว
ถ้าหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงต่อไปไม่สดใสจริงตามคาด ประกอบกับเศรษฐกิจยุโรปซึ่งไม่ดีอยู่แล้วด้วย ก็น่าจะส่งผลกระทบต่อจีดีพีของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ และยุโรปรวมกันกว่าร้อยละ 20 และถ้ารวมการส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นที่สุดท้ายแล้วส่งต่อไปยังตลาดสหรัฐฯ และยุโรปด้วย ตัวเลขจะสูงถึงร้อยละ 48 เลยทีเดียว แต่เวลานี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความหวังอยู่จากหลากหลายนโยบายกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศของรัฐบาลที่จะมาช่วยชดเชยการส่งออกที่อาจแย่ลงได้ ฉะนั้นในช่วงนี้ นักลงทุนควรหยุดมองหุ้นที่เกี่ยวข้องกับภาคส่งออกไว้ก่อนชั่วคราว ตัวอย่างเช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ เป็นต้น และปรับน้ำหนักการลงทุนหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศ เช่น ค้าปลีก ในพอร์ตให้มากขึ้น
ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้หมายความว่า ทองคำ หรือหุ้นบริโภคภายในประเทศจะไม่มีความเสี่ยงเลย เพราะราคาทองคำที่ปรับตัวขึ้นมาในช่วงหลายปีนี้ไม่ได้เกิดจากตัวทองคำเอง แต่เกิดค่าเงินดอลล่าร์ที่อ่อนลงเป็นหลัก ดังนั้นถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เกิดฟื้นตัวแบบกะทันหัน ทองคำก็สามารถปรับตัวลงอย่างรุนแรงได้ ผู้ที่ลงทุนในทองคำจึงต้องคอยติดตามภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ แบบใกล้ชิด ส่วนหุ้นบริโภคภายในประเทศนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของรัฐบาลในการผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นหากการเมืองในประเทศเกิดความวุ่นวายจนถึงระดับที่รัฐบาลทำงานไม่ได้ ตลาดก็อาจปรับลดความคาดหวังของหุ้นที่เกี่ยวกับการบริโภคในประเทศลง ผู้ที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้จึงต้องจับตาดูสถานการณ์ทางการเมืองให้ดี และสุดท้ายคือ หุ้นส่งออกก็อาจจะไม่เลวร้ายเสมอไปก็ได้ ถ้าหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงต่อไปไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดกัน สุดท้ายแล้ว นักลงทุนก็ยังต้องคอยจับตาว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปในทางใดด้วย จะเทใจเชื่อไปทางใดทางหนึ่งทั้งหมดเลยมิได้ครับ[End]
อยากทราบความเห็นพี่โจ๊กเกี่ยวกับ อุตสาหกรรมยานยนตร์ประเทศไทยอ่ะครับ เท่าที่ตามมาเห็นว่าการผลิตช่วงนี้ดีมาก ส่วนปีหน้าก็จะเน้นส่งออกด้วย แล้วเห็นว่าหลายบริษัทมุ่งเป้าเน้นให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการผลิตมากขึ้นด้วย trend ตรงนี้พี่โจ๊กมีความคิดเห็นอย่างไรอ่ะครับ
ขอบคุณล่วงหน้าครับผม 🙂