เบนจามิน แกรม ผู้ให้กำเนิด แนวการลงทุนแบบก้นบุหรี่ (Cigar Butt Strategy) มีแนวคิดว่า ถ้าเราเลือกซื้อแต่หุ้นที่ราคาถูกมากๆ ไว้ในพอร์ตเท่านั้น เราก็ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับตัวธุรกิจของหุ้นเหล่านั้นเลยก็ได้ เพราะราคาที่ต่ำมากช่วยทำให้ความเสี่ยงต่่ำอยู่แล้ว Downside จึงต่ำ ถ้าหุ้นกลับตัวขึ้นมาได้ เราก็ได้แต่กำไร รวมๆ แล้ว วิธีนี้น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีแก่นักลงทุนได้ [premium level=”1″ teaser=”yes” message=”โปรดล็อกอินเพื่ออ่านบทความเต็ม หรือสมัครสมาชิกรายปี”]
เบนจามิน แกรม ได้ใช้ “อัตราส่วนทางการเงิน” เป็นตัวชี้วัดความถูกของหุ้นตามแนวคิดนี้ ซึ่งเขาแนะนำว่า หุ้นก้นบุหรี่ควรเป็นหุ้นที่มีราคาหุ้นน้อยกว่า 2/3 ของ net current asset โดย net current asset หมายถึง สินทรัพย์หมุนเวียนทั้งหมดในงบดุลของบริษัทหักออกด้วย หนี้สินหมุนเวียนทั้งหมด [แล้วหารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดเพื่อให้ได้เป็น net current asset ต่อหุ้นด้วย] เขาบอกว่า ถ้าซื้อหุ้นที่ราคานี้ก็ถือว่าต่ำจนปลอดภัยมากพอแล้ว เพราะถ้าปิดบริษัทแล้วเอาสินทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทไปขายทอดตลอดยังได้กำไรเลย (1/3 ที่เหลือ)
คนที่ลงทุนด้วยวิธีของเบนในปัจจุบันอาจเลือกใช้อัตราส่วนการเงินตัวอื่นในการชี้วัดความเป็นก้นบุหรี่ เนื่องจากสูตรของเบนนั้นหาหุ้นซื้อได้ยากแล้วในภาวะตลาดหุ้นปัจจุบัน บางคนหันไปใช้ P/BV, P/E, P/CF ฯลฯ แต่แนวคิดก็ยังเป็นแนวคิดเดิม คือเน้นซื้อของราคาต่ำไว้ก่อน เพื่อลิมิต downside ให้น้อยที่สุด เพียงแต่เปลี่ยนอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้เป็นตัวชี้วัดความเป็นก้นบุหรี่ไปเท่านั้น
โดยส่วนตัว ผมชอบหลักการและเหตุผลของแนวก้นบุหรี่มาก แต่ก็ไม่ได้ลงทุนตามแนวนี้ เพราะเห็นว่า การใช้อัตราส่วนทางการเงินเป็นตัวชี้วัดความถูกของหุ้นนั้นมีจุดอ่อนอยู่มาก ตัวอย่างเช่น การบอกว่าหุ้นที่มี P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า เป็นหุ้นก้นบุหรี่นั้น อาจเหมาะกับหุ้นในบาง Sector เท่านั้น เช่น หุ้นโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งใช้ hard assets ในงบดุลในการทำธุรกิจเป็นหลักเท่านั้น แต่ไม่เหมาะกับหุ้นของธุรกิจที่คุณค่าอยู่ที่ แบรนด์ เทคโนโลยี หรือทรัพยากรบุคคล (เช่นหุ้นบริการ) ที่ใช้สินทรัพย์น้อย แต่สร้างกำไรได้มาก พอใช้ P/BV <1 กับหุ้นทุกชนิด เราอาจได้ตัวชี้วัดที่แพงเกินไปสำหรับหมวดหนึ่ง แต่ถูกเกินไปสำหรับอีกหมวดหนึ่ง สุดท้ายแล้ว อาจทำให้ไม่ได้พอร์ตก้นบุหรี่จริง (บางตัวยังแพงอยู่) พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยจะเชื่อว่า อัตราส่วนทางการเงินต่างๆ เป็นตัวชี้วัดมูลค่าหุ้นที่ดี
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงไม่ได้ลงทุนในแนวก้นบุหรี่ แต่สมมติว่า ถ้าผมจะลงทุนในแนวนี้จริงๆ สิ่งที่ผมอาจจะทำต่างออกจากเบน ก็คงเป็นเรื่องตัวชี้วัดนี่แหละ เพราะผมคงใช้ตัวชี้วัดรูปแบบอื่นแทนที่จะใช้อัตราส่วนทางการเงินตัวใดตัวหนึ่ง
ตัวที่เคยนึกสนุก อยากเอามาทดลองใช้เป็นตัวชี้วัดหุ้นก้นบุหรี่ คือ คำแนะนำ “ขาย” โดยโบรกเกอร์ครับ
เหตุผลก็คือ ผมมองว่า โดยปกติแล้ว โบรกเกอร์มักไม่ค่อยกล้าให้คำแนะนำหุ้นเป็น “ขาย” เพราะการแนะนำว่า “ขาย” นั้น ลูกค้าที่ถือหุ้นตัวนี้อยู่มากๆ อาจจะเคืองเอาได้ ในขณะที่ ถ้าฝ่าย IR ของบริษัทนั้นก็อาจมองว่า ให้ข้อมูลนักวิเคราะห์คนนี้ไปแล้วไม่ได้ประโยชน์ เพราะนักวิเคราะห์แนะนำขาย ความสัมพันธ์ระหว่างนักวิเคราะห์กับบริษัทก็อาจแย่ลง ทำให้ได้รับข้อมูลจากบริษัทน้อยลงในอนาคต ด้วยเหตุผลประการทั้งปวง คำแนะนำ “ซื้อ” จึงเป็นกลยุทธ์เด่น เพราะมีแต่ win-win สำหรับทุกฝ่าย การให้คำแนะนำขายนั้นจึงต้องเป็นกรณีที่พิเศษจริงๆ (สังเกตจากปริมาณบทวิเคราะห์ที่ให้คำแนะนำซื้อนั้นมีจำนวนมากกว่าอย่างมากมาย) ถ้าหากจะแนะนำให้ “ขาย” จริงๆ ก็อาจจะต้องเลี่ยงไปใช้คำว่า “ถือ”, “ซื้อเมื่ออ่อนตัว”, “ซื้อเพื่อลงทุนระยะยาว” เป็นต้น
กรณีที่โบรกเกอร์ให้คำแนะนำเป็น “ขาย” แสดงว่า เขาต้องเห็นแล้วว่าจะไม่ขัดใจทุกภาคส่วน ซึ่งน่าจะได้แก่ ช่วงเวลาที่ราคาหุ้นนั้น ปรับตัวลงมาอย่างรุนแรงมากจนถึงระดับหนึ่งแล้วที่ใครๆ ก็มองว่าควร ขาย ทำให้คำแนะนำ “ขาย” เป็นคำแนะนำที่ฟังดู Traditional ไม่แหกคอก ช่วงเวลาแบบนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่หุ้นมี Downside เหลือน้อยมากแล้ว เพราะทุกภาคส่วนได้ขายหุ้นออกมาหมดแล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่ก็ cut loss ไปกันหมดแล้ว เพราะก่อนหน้านี้หุ้นปรับตัวลงมาแรงมากจนต้องถอดใจ หุ้นจึงน่าจะมี downside เหลือน้อยที่สุด เพราะว่าหมดแรงขายแล้ว จึงน่าจะเป็นหุ้นก้นบุหรี่ที่ดีได้แล้ว
เพื่อทดสอบแนวคิดนี้ ผมจึงได้สร้างพอร์ตจำลองขึ้นมาพอร์ตหนึ่ง โดยอาศัย account พอร์ตจำลองของ SETTRADE โดยมีกลยุทธ์การลงทุนดังนี้ครับ
1. ซื้อหุ้นที่เพิ่งถูกปรับคำแนะนำใหม่ให้เป็น “ขาย” โดยโบรกเกอร์อย่างน้อย 2 ราย ในหน้า SAA Consensus ของ SETTRADE โดยเข้าซื้อด้วยเงิน 10% ของพอร์ตต่อตัว
2. ซื้อแล้วแช่ไว้เฉยๆ ในพอร์ต โดยจะไม่มีการซื้อเพิ่มอีก ไม่ว่าราคาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร (เพื่อลิมิต risk exposure ของพอร์ต)
3. ทำเช่นนี้จนครบ 10 ตัว (เงินหมด) แล้วรอไปอีก 1 ปี ค่อยวัดผลตอบแทนรวม โดยคิดเฉพาะ Capital Gain อย่างเดียวก็พอ
พอร์ตนี้เป็นแค่พอร์ตจำลองเท่านั้น คงไม่กล้าลงเงินจริงๆ แค่อยากทดสอบตัวชี้วัดตัวนี้สักหน่อยว่าจะได้ผลดีแค่ไหน ท่่านที่สนใจอยากเข้าไปชมความเคลื่อนไหวของพอร์ตจำลองนี้ ก็สามารถเข้าไปชมได้เป็นระยะ ที่นี่
และเมื่อจบการทดลองเมื่อไร ผมจะนำบทสรุปที่ได้มานำเสนออีกทีครับ
[End]
ใช้ทฤษฎีเกมวิเคราะห์ว่า คำแนะนำให้ซื้อ เป็นกลยุทธ์เด่น รู้สึกเหมือน จอห์น แนช มาวิเคราะห์หุ้นเอง คลาสสิคมาก
มาดูอีกที เอ้า … ครบ 10 ตัวแล้วเหรอเนี่ย…
สงสัยว่าการตั้งเงื่อนไขอ่อนไปหรือเปล่าครับ เลยเก็บไว้ครบไวขนาดนี้
คือ เราจะเก็บ 10ตัว โดยถือ 1ปี ใช่ไหมครับตอนนี้ผ่านมา 2เดือน ก็ครบ10ตัวแล้ว นั้นแปลว่า ในรอบๆปีหนึ่งอาจจะมีหุ้นแนะนำขายมากกว่านี้ก็ได้
จำนวนโบรกเกอร์ที่แนะนำ “ขาย” ลองเปลี่ยนเป็น 3 รายเป็นอย่างต่ำนี้จะ workไหมครับ
ลึกซึ้ง เป็นการ apply จิตวิทยาของ Broker แล้วทำตรงข้าม … น่าลองๆๆ
ครบเมื่อไรก็ได้ครับ และเมื่อครบแล้วก็ถือต่อไปอีกหนึ่งปีค่อยวัดผล เสร็จแล้วก็อาจล้างพอร์ตเพื่อทำใหม่ทั้งหมดไปเรื่อยๆ ก็ได้
ที่จริง sell ตั้งแต่ 2 โบรก ก็อาจจะผ่อนปรนไปหน่อย อาจตั้งเป็น 3 หรือมากกว่านั้นก็ได้ครับ
น่าสนใจครับ จะได้ทดลองบ้าง
ขอเสนอ criteria เพิ่มเติมครับ บางกรณี มีหุ้นที่ขึ้นอย่างร้อนแรง ยาวนานจนเกินพื้นฐานมาเป็นเวลาหลายเดือน กระทั่ง Broker ปรับคำแนะนำเป็นขายเกิน 2 โบรก ที่ราคาดอย ซึ่งก็จะเข้าเกณฑ์หุ้นก้นบุหรี่ แม้ราคาจะสูงเกินพื้นฐานมากๆๆๆก็ตาม (เช่นหุ้นบันเทิงบางตัวณ วันนี้)
หากเราเพิ่มเงื่อนไขอีกนิด คือ “หุ้นตัวนั้นต้องไม่อยู่ในขาขึ้นชัดเจนในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา” … แบบนี้จะช่วยกรองหุ้นที่ราคาสูงอย่างรวดเร็วออกไปได้ ซึ่งหากใช้กฎ 2 ข้อ(1. โบรกมากกว่า 2 โบรกเชียร์ขาย และ 2. มิได้อยู่ในขาขึ้นชัดเจน 3 เดือนที่ผ่านมา) นำมาใช้ในช่วงปลายปี 2011 เราจะได้ซื้อ PS, ROJNA , และกลุ่มอิเลคทรอนิคส์หลายๆตัว
ท่านแม่ทัพเห็นประการใดครับ?
ก็เป็นกฎที่ดีครับ ถ้าวิ่่งไปแล้ว 30-40% แล้วค่อยมาเห็นอะไรเงี้ย แม้ว่าอาจจะขึ้นต่อไปอีก แต่ถ้ามันลงก็คงอันตรายเหมือนกัน จะเพิ่มกฎเพื่อตัดกรณีเหล่านั้นออกไปก็ได้ครับ
เพิ่งสังเกตว่าคุณสุมาอี้ทำเพจไว้เป็นแบบก็อปตัว text ไม่ได้
ดังนั้นถ้าเกิดทำลิ้งไว้ในเพจ เพื่อให้กดเข้าไปได้ กรุณาแยกออกมาต่างหากไว้ดีมั้ยครับ เพราะว่าผมต้องพิมพ์ลิ้งเองหมดเลยเพื่อเข้าไปดู ขอบคุณมากนะครับ
โทษทีครับ ผมก็ลืมนึกถึงเรื่องนี้ไปเลย แก้ไขให้ใหม่แล้วครับ
ครบปีละคร้าบบพี่
อ่อ ขออภัยครับ ต้องเป็น 5 ก.พ. 56 ดันไปดูวันที่เขียนบทความ
6 กพ 56 มาแน่ครับผม
Pingback: ผลตอบแทนของพอร์ตหุ้นก้นบุหรี่ (ผลลัพธ์) | Dekisugi.net
Pingback: ผลตอบแทนของพอร์ตหุ้นก้นบุหรี่ (ผลลัพธ์) | Dekisugi.net