Skip to content

129: 0444: หุ้นธนาคาร

ตั้งแต่จำความได้เหมือนผมจะไม่เคยเขียนถึงหุ้นธนาคารพาณิชย์เลย โดยส่วนตัวไม่ค่อยได้ลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ เพราะมีความเชื่อว่าสมัยนี้วิกฤตเกิดบ่อย เวลามีวิกฤตทีไรสถาบันการเงินมักโดนก่อนเสมอ เลยไม่ค่อยอยากคิดอะไรยาวๆ กับหุ้นกลุ่มนี้นัก [premium level=”1″ teaser=”yes” message=”โปรดล็อกอินเพื่ออ่านบทความเต็ม หรือสมัครสมาชิกรายปี”]

แต่ก็อาจเป็นเรื่องที่ผมมองผิดพลาดไป เพราะในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ของไทย ถือเป็นธุรกิจที่ดีมาก (เป็นภาพที่ตรงข้ามกับธนาคารในต่างประเทศ) กำไรเพิ่มขึ้นทุกปีติดต่อกันยาวนาน ประชาชนทำธุรกรรมในชีวิตประจำวันผ่านธนาคารมากขึ้นเรื่อยๆ ฐานะการเงินก็เข้มแข็ง เนื่องจากบ้านเราเคยเจอวิกฤตหนักมาก่อนธนาคารจึงดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังมาก เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจเมกกะเทรนด์ที่ผมพลาดไปจริงๆ

ผมว่าธุรกิจธนาคารพาณิชย์บ้านเรามีจุดเด่นคือถูกคุมเข้มโดย ธปท. ทำให้คู่แข่งรายใหม่เข้ามาได้ยากมาก เพราะติดข้อกำหนดที่ค่อนข้างโหดในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ส่วนใหญ่ต้องใช้วิธีเข้ามาซื้อหุ้นตัวเก่า ในเมื่อรายใหม่เข้ามาได้น้อยมาก การแข่งขันก็มีจำกัด รายเก่าๆ ที่อยู่มาก่อนแล้วจึงได้ประโยชน์ไปเต็มๆ

นับเป็นภาพที่แตกต่างจากธุรกิจประกันภัยอย่างสิ้นเชิง เพราะแม้ว่าจะเป็นธุรกิจควบคุมเหมือนกัน แต่ดูเหมือน คปภ.จะปล่อยให้มีผู้เข้ามาเล่นในอุตสาหกรรมนี้เยอะมากๆ จนค่อนข้างล้น การแข่งขันรุนแรง การทำกำไรจึงสู้ธนาคารพาณิชย์ไม่ได้

เวลามองหุ้นกลุ่มนี้ ผมจะแบ่งออกเป็นแค่สองพวกง่ายๆ คือ ธนาคารใหญ่ กับธนาคารกลาง (หรือเล็กนั่นแหละ) ผมว่าธนาคารขนาดใหญ่ที่มีจำนวนสาขาที่ทั่วถึงแล้ว และมีบริการต่างๆ ที่ครบถ้วน เป็นพวกที่ได้เปรียบธนาคารขนาดกลาง แทบทุกประตู เพราะบริการแทบทุกด้านของธนาคารพาณิชย์ล้วนต้องใช้เงินลงทุนเริ่มต้นที่สูงมากทั้งสิ้น แต่ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นน้อยมากเมื่อจำนวนธุรกรรมนั้นๆ มากขึ้น รายใหญ่ที่มีลูกค้าเยอะๆ จึงลงทุนแล้วคุ้มกว่าเสมอ ตัวอย่างเช่น ข้อมูลของธปท.บอกว่า ธนาคารขนาดใหญ่มีรายได้จากตู้เอทีเอ็มเฉลี่ย 8.3 แสนบาทต่อตู้ต่อปี ในขณะที่ธนาคารขนาดกลางมีรายได้เพียง 5.2 แสนบาท เป็นต้น อีกทั้งธนาคารขนาดใหญ่จะได้ความน่าเชื่อถือเรื่องความมั่นคงทางการเงินมากกว่า ทำให้มีต้นทุนทางการเงินน้อยกว่าธนาคารขนาดกลาง ซึ่งทำให้ยิ่งได้เปรียบมากขึ้นไปอีก ดังนั้นหากจะมองระยะยาวแล้ว การเลือกลงทุนระยะยาวไปกับธนาคารขนาดใหญ่ไว้ก่อนน่าจะดีกว่า อาจโตช้าหน่อย แต่โตไปได้เรื่อยๆ (SCB, KBANK, BBL, KTB)

ในบรรดา 4 แบงก์ใหญ๋ BBL มีจุดเด่นที่สุดเรื่องขนาด เพราะเป็นที่หนึ่งทั้งในแง่ ปริมาณเงินฝาก สินเชื่อ และขนาดสินทรัพย์ แต่ KBANK และ SCB นั้นสามารถทำส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) ได้มากกว่า หรือปล่อยกู้แล้วผลตอบแทนมากกว่านั่นเอง อีกทั้งยังทำรายได้จากค่าธรรมเนียมในสัดส่วนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับรายได้รวมอีกด้วย ในขณะที่ KTB นั้นดูด้อยกว่าเพื่อนในหลายๆ ด้าน

ข้อได้เปรียบเรื่องขนาดนี้ก็เป็นเรื่องที่ธนาคารขนาดกลางทุกแห่งรู้ตัวดี ธนาคารขนาดกลางทุกแห่งจึงมีเป้าหมายเดียวกันหมดคือ มุ่งไปสู่การเป็นธนาคารขนาดใหญ่ด้วยการเพิ่มขนาดสินทรัพย์และมีบริการที่ครบวงจร (Universal Banking) ให้เทียบเท่ากับธนาคารขนาดใหญ่ให้ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะต้องใช้ทุนสูงมาก จะอาศัยกำไรสะสมอย่างเดียวก็ยากมาก เพราะการทำธุรกิจก็ไม่ได้เปรียบเขาอยู่แล้ว ทำกำไรโตแซงหน้าเขาได้อย่างไร ดังนั้น ธนาคารขนาดกลางจึงกลายเป็นเป้าหมายของการร่วมทุน หรือการควบรวมอย่างต่อเนื่อง ถ้าใครจะสนใจหุ้นธนาคารขนาดกลาง การเก็งการเข้าซื้อหรือควบรวมก็น่าจะเป็น Theme หลักของการลงทุนในหุ้นธนาคารขนาดกลาง มากกว่าเรื่องของการได้เปรียบทางธุรกิจหรือการถือเพื่อรอกินปันผล ซึ่งถ้าเก็งถูกจังหวะ ก็คงทำกำไรได้อย่างรวดเร็ว ตามสไตล์ M&A ไม่ต้องคิดอะไรยาวนัก

ในบรรดาธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางด้วยกัน ดูเหมือน TCAP จะเป็นธนาคารที่มาได้ไกลที่สุด เหตุเพราะเป็นผู้ชนะการประมูลซื้อหุ้นของธนาคารนครหลวงไทย (SCIB) ซึ่งกองทุนฟื้นฟูเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมไปได้ ทำให้สามารถเพิ่มขนาดสินทรัพย์ให้กับตัวเองได้แบบก้าวกระโดดกลายมาเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้า ได้สำเร็จ (แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะสบาย แค่รอดจากข้อเสียเปรียบเรื่องขนาดแล้วเฉยๆ แต่ก็ยังต่อมาแข่งกับแบงก์ใหญ่สี่แบงก์ที่มีขนาดใหญ่กว่าตนเองอีก) ซึ่งกว่าจะทำสำเร็จได้ ก็ต้องให้ธนาคารสัญชาติแคนาดามาช่วยเพิ่มทุนให้ขนานใหญ่ และเมื่อรวมควบรวมกิจการเสร็จแล้วก็ดูเหมือนฐานทุนจะยังไม่แข็งแรงนักเมื่อเทียบกับธนาคารใหญ่ แต่ทางผู้บริหารก็ยืนยันว่าไม่ต้องเพิ่มทุนอีกแล้ว ซึ่งก็ต้องคอยดูกันต่อไปว่าจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่

ส่วนธนาคารขนาดกลางตัวที่เหลือน่าจะยังไม่จบเรื่องควบรวมหรือหาพันธมิตรร่วมทุนถ้าหากไม่อยากเสียเปรียบเรื่องขนาด ดังนั้น ถ้าใครอยากเล่นข่าวควบรวมกิจการหุ้นธนาคาร ก็คงต้องเล็งธนาคารขนาดกลางเหล่านี้กันให้ดีว่าตัวไหนจะมีใครมาจีบ หรือจะควบรวมกับใคร เพื่อทำให้ตัวเองใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนมาทัดเทียมกับธนาคารใหญ่ๆ ได้[End]

3 thoughts on “129: 0444: หุ้นธนาคาร”

  1. ถ้าเราจะพิจารณาว่าบริษัทหนึ่งๆ มีโอกาสที่จะ เพิ่มทุนในอนาคต

    ตัวเลขทางการเงินตัวไหนที่เราควรเอามาพิจารณาครับ

    ยกตัวอย่างเช่น TCAP ที่กล่าวถึงในบทความ

  2. คุณ โจ๊ก กังวลกับการที่รัฐจะคุ้มครองเงินฝากแค่ 1 ล้านบาท หรือไม่ครับ ถึงแม้แต่ว่า ส่วนใหญ่ บัญชีจะมีไม่ถึงล้านกัน 98.5 เปอร์เซนต์ แต่ ความมั่นใจในแบงค์มันจะต่างกันเยอะ เช่น หากเกิดววิกฤติอะไรที่บ้านเราโดนทางตรง บรรดาบริษัทที่กู้เงินเกิดเป็นหนี้สูญเยอะ และ เกิดวิกฤติความมั่นใจ ต่างคนแต่แห่ถอนเงิน ขึ้นมา แบงค์จะดูไม่จืด เลยนะฮะ มันดูน่ากังวลไงๆ พิกลครับ

  3. โดยส่วนตัว ไม่ค่อยเชื่อว่า ถ้าแบงก์ใหญ่ล้มจริงๆ แล้วรัฐจะไม่เข้าไปอุ้ม เพราะมีสถาบันประกันเงินฝากแล้ว

    อเมริกา ก็มีสถาบันประกันเงินฝากมานานแล้ว แต่พอพวก too big too fail ล้ม รัฐก็เข้าไปอุ้มตามเดิม

    สถาบันประกันเงินฝาก มีประโยชน์สำหรับ ประเทศที่ีมีธนาคารเล็กๆ เป็นพันๆ แห่งแบบสหรัฐฯ ถ้าธนาคารเหล่านี้ล้ม สถาบันประกันเงินฝากสามารถเข้าไปชดเชยได้ แต่ถ้าเป็นแบงก์ใหญ่จริงๆ สถาบันประกันเงินฝากก็เอาไม่อยู่

    ประเทศไทยมีอยู่แค่ไม่กี่แบงก์ ฉะนั้นแบงก์ส่วนใหญ่ too big too fail ทั้งนั้น ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีสถาบันประกันเงินฝากขึ้นมาทำไม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *