Skip to content

137: 0467: การเติบโตที่แท้จริงของบาง บจ.

การประมาณอัตราการเติบโตที่แท้จริงของธุรกิจในระยะยาวนั้น เราควรดูจากด้านของรายได้มากกว่ากำไร (Top line growth vs. Bottom line growth) เพราะยิ่งตัวเลขอยู่บรรทัดล่างๆ ของงบกำไรขาดทุนมากเท่าไร ก็จะยิ่งถูกกระทบด้วยปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของตัวธุรกิจมากเท่านั้น (non-recuring items, gains from asset sales, choice of depreciation methods เป็นต้น ) จนแทบไม่เหลือภาพของการเติบโตที่แท้จริงให้เรามองออกเลย [premium level=”1″ teaser=”yes” message=”โปรดล็อกอินเพื่ออ่านบทความเต็ม หรือสมัครสมาชิกรายปี”]

การตัดสินบริษัทจากกำไรอย่างเดียวยังทำให้เราเป็นคนมองสั้นโดยไม่รู้ตัวด้วย เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นการทำธุรกิจนั้น ยากที่บริษัทจะรักษากำไรให้เพิ่มขึ้นเป็นเส้นตรงได้ ธุรกิจย่อมมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา หรือบางครั้งบริษัทเองก็ต้องยอมลงทุนล่วงหน้าไปก่อนทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในช่วงแรก แต่ก่อให้เกิดรายได้ที่กลับมาในงวดบัญชีถัดๆ ไปได้มากกว่า ถ้าเรามองแต่กำไรรายไตรมาส เห็นกำไรลดลง แล้วมองว่าพื้นฐานของบริษัทแย่ลงทันที ก็กลับกลายเป็นการมองที่ผิดทาง เพราะที่จริงแล้วกำไรที่ลดลงชั่วคราวนั้นก่อให้เกิดกำไรที่สูงขึ้นในช่วงถัดไปต่างหาก ความผันผวนของกำไรในช่วงสั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่ควรจะวิตกกังวลมากเกินไป ต่างกับรายได้ ซึ่งหากลดลง yoy นั้น ย่อมมีนัยยะที่อาจแสดงถึงการเติบโตทางธุรกิจที่กำลังจะเปลี่ยนไปมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ตัวรายได้เองก็ยังไม่ใช่สิ่งที่สะท้อนถึงการเติบโตที่ิแท้จริงของธุรกิจล้วนๆ เพราะ รายได้เกิดจากราคาขายคูณด้วยจำนวนขาย ดังนั้นการที่บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นก็อาจเกิดจากการขึ้นราคาล้วนๆ แต่ปริมาณการขายไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยก็ได้ ดังนั้น เวลามองรายได้ ถ้าเราต้องการจะมองให้ลึกขึ้นกว่าปกติที่คนทั่วไปเขาดูแต่งบการเงินกัน เราน่าจะไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปด้วยว่า รายได้ที่เพิ่มขึ้นมานั้น เกิดจากราคากี่ส่วน และปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นกี่ส่วน ปริมาณการขายนี่แหละที่แสดงถึง การเติบโตที่แท้จริงของธุรกิจ หรือเป็นตัวที่สะท้อนให้เห็นถึง Organic Growth ของบริษัทอย่างแท้จริง

เพื่อแสดงให้เห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ผมได้ลองค้นหาอัตราการเติบโตที่แท้จริงของบาง บจ.มาให้ดูเป็นตัวอย่าง ในแง่หนึ่ง บริษัทที่มี Organic Growth ที่ดีนั้นก็เหมือนเป็นธุรกิจ Snowball เพราะตลาดหรือลูกค้ามีการเติบโตที่ดีขึ้นโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว แค่บริษัทอยู่เฉยๆ ไม่ต้องดิ้นรนทำอะไรใหม่ๆ ก็โตได้เพราะตลาดที่โตขึ้นเอง ถือเป็นสุดยอด Growth Stocks เลยทีเดียว เพราะโตได้แม้ไม่ต้องลงทุนเพิ่มเลย

BGH – ปีที่แล้ว BGH มีรายได้จากธุรกิจโรงพยาบาลเติบโตถึง 50% yoy เลยทีเดียว แต่เราก็รู้ดีว่า การเติบโตนั้นเกิดจากการรวบงบการเงินกับกลุ่มพญาไทเป็นสำคัญ ดังนั้นถ้าเราอยากรู้ว่าธุรกิจโรงพยาบาลมีการเติบโตที่แท้จริงเป็นเท่าไร เราควรขุดไปดูรายได้ของโรงพยาบาลกรุงเทพเองว่าเติบโตเท่าไรโดยไม่รวมการเติบโตที่เกิดจากการเอางบพญาไทมารวม โชคดีที่บริษัทมีการเปิดเผยตัวเลขนี้ไว้ให้ในคำชี้แจงผลการดำเนินงาน ที่จริงแล้ว รายได้ของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพเองเติบโตในระดับแค่ 13% yoy เท่านั้น (แต่ก็ถือว่าเป็นระดับที่ใช้ได้แล้วสำหรับหุ้นเติบโตทั่วไป)​ บริษัทไม่ได้ระบุว่าตัวเลขนี้มาจากการปรับราคาเท่าไร แต่บอกว่าการเติบโตในส่วนนี้เกิดจากจำนวนคนไข้ที่เพิ่มขึ้น และการรับรักษาโรคที่มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ

GC – บริษัทหนึ่งที่ตัวเลขรายได้ค่อนข้างจะหลอกตาคือ GC ปีที่แล้ว GC มีรายได้เติบโต 3% yoy แต่ถ้าเข้าไปดูให้ละเอียดแล้ว Sales Quantity เติบโตติดลบคือ -4% yoy แสดงว่าจริงๆ แล้วธุรกิจบริษัทไม่ได้ใหญ่ขึ้น แต่ที่รายได้เพิ่มขึ้นนั้นอาจเกิดจากเงินเฟ้อ ทำให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า และดูเหมือนรายได้ของ GC จะเติบโตสูงกว่า Sales Quantity สองเท่าแทบทุกปีในช่วงห้าปีที่ผ่านมา เช่นนี้เราอาจมองว่าบริษัทนี้ยังอยู่ในช่วงที่หาช่องทางเติบโตธุรกิจไม่ได้ ทั้งที่รายได้เติบโตขึ้นก็ตาม

HMPRO – ตัวเลขที่น่าตรวจดูที่สุดของพวกธุรกิจค้าปลีกคือ Same Store Sales Growth (sss) ซึ่งหมายถึง ยอดขายที่เพิ่มขึ้นโดยไม่นับการเปิดสาขาใหม่ ห้างค้าปลีกที่มีมาตรฐานสักหน่อยจะเปิดเผยตัวเลขนี้ให้กับนักลงทุนทราบทุกปี ปีที่แล้ว HMPRO มีรายได้โต 17% yoy แต่มี SSS growth เท่ากับ 6% yoy ซึ่งถือว่าชะลอลงจากปีก่อนๆ แต่ก็ยังนับว่าสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตของบริษัทนี้ และยังสูงกว่าเงินเฟ้อ ยิ่ง sss โตดีเท่าไร ยิ่งแสดงว่าถ้าบริษัทเปิดสาขาเพิ่มขึ้น โอกาสที่จะสาขาใหม่จะแย่งลูกค้าไปจากสาขาเก่า (Cannibalization) มีน้อยด้วย บริษัทจึงน่าจะยังมีช่องว่างในการขยายสาขาได้อยู่ (ส่วน CPALL นั้น ปีที่แล้ว sss อยู่ที่ 4.8% yoy ครับ)

[End]

 

 

13 thoughts on “137: 0467: การเติบโตที่แท้จริงของบาง บจ.”

  1. แล้ว CPN ดูการเพิ่มของของรายได้ยังไง

    ดูเฉพาะห้างเก่าๆหรือป่าว ไม่นับสาขาใหม่ คล้ายๆ วิธี SSS

    แต่ว่าพื้นที่แต่ละห้างก็เท่าเดิม ค่าเช่าก็คงขึ้นไม่มาก ขึ้นแค่ค่าเงินเฟ้อ

    กรณี cpn ควรดูการขยายสาขามากกว่าหรือป่าว

    ปล. Link “คำชี้แจงผลการดำเนินงาน” ของ BGH ผิดครับ เป็นของ PB

  2. ตัวเลขที่ชี้การเติบโตที่แท้จริงของ CPN อาจจะหาได้ยากหน่อย เช่น จำนวนคนเดินเข้าห้างต่อปี ซึ่งบริษัทอาจไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ

    ย้ายลิงค์ให้ตามนั้นครับ

  3. อ่านบทความนี้ ได้ความรู้เพิ่มขึ้น ดีครับ ขอบคุณ

  4. ขอบคุณครับ ได้มุมมองใหม่ทุก ๆ ครั้ง ที่ได้อ่าน บทความของคุณนรินทร์

    ขอบคุณมากครับ

    ติดตามเสมอ

  5. กำลังไล่อ่านบทความอยู่ครับ
    สมัครสมาชิกได้เลยอ่านใหญ่เลยชอบหลายบทความ
    อยากจะขอมุมมองเพิ่มถ้าเป็น BLA. เราควรจะมองที่รายได้จากอะไรเป็นหลัก
    และผลกระทบที่จะทำรายได้ลดลงต้องมองที่จุดไหนบ้างครับ

  6. ชอบมากๆเลยครับ อย่างนี้ผมขออนุญาติแนะนำต่อ ให้คนมาสมัครสมาชิกกันเยอะๆนะครับพี่ครับ ^^

    ขอบคุณสำหรับข้อเขียนที่อ่านง่าย และมีประโยชน์มากๆครับ

  7. แล้วอย่าง Groupon ละครับพี่โจ๊ค ?

    groupon เป็นธุรกิจที่ว่ากันว่าโตเร็วสุดในโลก ในเชิงของรายได้ ในช่วง3-4 ปีที่ผ่านมา แต่หลังจากทำ IPO ราคาก็ลดมา50%แล้ว (IPO=$20) ที่เป็นปัจจัยลบคือ เค้าว่ามันเป็น Unsustainable Business Model และแม้รายได้โต แต่ว่ารายจ่่ายก็วิ่งกระจายเช่นกัน

    อีกตัวที่เป็นธุรกิจใหม่แต่เป็น IPO ตกสวรรค์ก็คือ Zipcar ซึ่งทำธุรกิจ Car-Sharing

  8. Groupon ไม่มี economy of scales นี่ครับ โปรโมชั่นของภัตตาคารส่วนใหญ่เป็น local ต้องบริษัทเหนื่อยเป็นเมืองๆ ไป เลยไม่รู้ว่าโตจนใหญ่ที่สุดแล้วจะได้เปรียบคนอื่นอย่างไร

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *