Skip to content

144: 0481: แกะงบประกัน

ธุรกิจประกันภัย/ชีวิต จะว่าไปก็คล้ายธุรกิจสลากกินแบ่ง ผสมกับธุรกิจธนาคาร…

ที่ว่าคล้ายธุรกิจสลากกินแบ่ง เพราะบริษัทรับเงินล่วงหน้าจากลูกค้าจำนวนมากมาคนละนิดละหน่อย (เบี้ยประกัน) แล้วสัญญาว่า จะนำเงินทุนก้อนนี้คืนกลับไปให้ลูกค้าบางคนเท่านั้น ที่ประสบเคราะห์ภัยในอนาคต พูดง่ายๆ ก็คือ แทนที่จะใช้วิธีหมุนวงล้อเลือกลูกค้าที่โชคดีได้รับรางวัลที่หนึ่ง ก็เปลี่ยนเป็นจ่ายให้ลูกค้าคนที่โชคร้ายแทน และเงินที่เหลืออยู่หลังค่าสินไหมที่จ่ายออกไปและค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจแล้วก็กลายมาเป็นกำไรของธุรกิจไป [premium level=”1″ teaser=”yes” message=”โปรดล็อกอินเพื่ออ่านบทความเต็ม หรือสมัครสมาชิกรายปี”]

ส่วนที่ว่าคล้ายกับธุรกิจธนาคารก็คือ แทนที่บริษัทจะรับเบี้ยประกันภัยมาแล้วเก็บไว้เฉยๆ รอให้มีคนมาเคลมค่าสินไหม บริษัทเอาเงินกองทุนนี้ไปลงทุนหาผลตอบแทนไปพลางๆ ด้วย ยิ่งได้ผลตอบแทนจากการลงทุนมากเท่าไร ก็ยิ่งช่วยลดภาระในการจ่ายค่าสินไหมในอนาคตให้น้อยลง (เอาดอกเบี้ยมาจ่าย) ส่งผลให้กำไรของบริษัทมากขึ้นด้วย คล้ายกับธุรกิจธนาคารที่รับเงินมาแล้วไปหาผลตอบแทน (ปล่อยสินเชื่อ) ที่สูงกว่าแล้วกินกำไรส่วนต่าง

จะเห็นได้ว่า การทำกำไรของธุรกิจนี้ขึ้นอยู่กับสองส่วนหลัก ส่วนแรกคือ ตัวธุรกิจสลากกินแบ่ง ยิ่งหาลูกค้าได้มาก เก็บค่าเบี้ยได้สูงๆ (เมื่อเทียบกับทุนประกัน) จำนวนลูกค้าที่มาเคลมประกันมีน้อย และทำต้นทุนในการดำเนินธุรกิจให้ต่ำ ก็จะยิ่งมีกำไรจากส่วนนี้มากขึ้นเท่านั้น

อีกส่วนหนึ่งมาจากการบริหารเงินกองทุน ยิ่งบริหารจัดการเงินกองทุนให้ได้ผลตอบแทนดีแค่ไหน กล่าวคือ ทำผลตอบแทนได้สูง(และยั่งยืน) ธุรกิจยิ่งได้กำไรมากเท่าขึ้น เพราะกำไรส่วนนี้จะไปช่วยแบ่งเบาภาระในการจ่ายค่าสินไหม กำไรส่วนนี้จึงขึ้นอยู่กับความสามารถเฉพาะตัวของบริษัทในการบริหารจัดการเงิน

งบกำไรขาดทุนของบริษัทประกันก็พยายามสะท้อนโมเดลธุรกิจนี้ ด้วยการแยกรายได้ให้เห็นว่า มาจากสองส่วนหลักคือ เบี้ยรับประกันภัยที่เก็บได้สุทธิ กับ รายได้จากการลงทุนสุทธิ นั่นเอง

รายได้ในส่วนเบี้ยรับประกันจะถูกนำมาหักด้วยค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดซึ่งหลักๆ ก็ได้แก่ ค่าสินไหมที่จ่ายออก เพราะมีลูกค้ามาเคลมประกัน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทนั่นเอง เพื่อให้เหลือเป็นกำไรจากส่วนของธุรกิจรับประกัน

ความเสี่ยงของภัยแต่ละชนิดไม่เท่ากัน โดยสถิติแล้ว จำนวนผู้ที่มาเคลมประกันภัยแต่ละชนิดจะไม่เท่ากัน เราเรียกสัดส่วนระหว่างค่าสินไหมที่บริษัทต้องจ่ายให้ผู้เสียหายเทียบกับเบี้ยประกันทั้งหมดที่บริษัทเก็บได้ว่า Loss Ratio

ชนิดของการประกันภัย Loss Ratio โดยประมาณ
รถยนต์ 56%
อัคคีภัย 16%
ทางทะเล 25%
เบ็ดเตล็ด 46%

จะเห็นได้ว่า อัคคีภัยน่าจะมีกำไรดีที่สุด เพราะเก็บเบี้ยได้เยอะ แต่ต้องจ่ายค่าสินไหมน้อย เพราะโอกาสเกิดอัคคีภัยมีไม่บ่อยนัก แต่สุดท้ายแล้ว บริษัทประกันภัยส่วนใหญ่ก็มักเลือกรับประกันภัยทุกรูปแบบอยู่ดี เพราะตลาดอัคคีภัยมีขนาดจำกัดและไม่โต ใครๆ ก็อยากให้ธุรกิจเติบโต เพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาดให้มากที่สุด

สำหรับ ธุรกิจประกันชีวิตนั้น จะแตกต่างจากประกันแบบอื่นค่อนข้างมาก เพราสัญญาประกันภัยส่วนใหญ่จะทำกันปีต่อปี บริษัทประกันภัยจะหักค่าสินไหมเป็นค่าใช้จ่ายปีต่อปีได้เลย โดยหักทันทีเมื่อมมีลูกค้ามาขอเคลม โดยประมาณการล่วงหน้าว่า สุดท้ายแล้วบริษัทจะต้องจ่ายเงินให้ลูกค้ารายนั้นประมาณเท่าไร แล้วหักเป็นค่าใช้จ่ายออกไปทันที (คล้ายกับการตั้งสำรอง)

แต่สำหรับประกันชีวิต จะยุ่งยากกว่านั้นเยอะ เพราะส่วนใหญ่แล้ว สัญญาประกันชีวิตจะกินเวลานานหลายสิบปี ถ้าเอาค่าสินไหมที่ลูกค้ามาเคลมในปีนั้นมาหักเป็นค่าใช้จ่ายปีต่อปีจะให้ภาพที่ผิดเพี้ยนไปจากภาระผูกพันที่แท้จริงของการประกันชีวิตมาก (รายได้ส่วนใหญ่ของปีมาจากลูกค้าใหม่ๆ แต่ค่าใช้จ่ายกลับมาจากสัญญาของลูกค้าเมื่อยี่สิบปีก่อน เป็นต้น) ก็เลยต้องมีวิธีการประมาณค่าสินไหมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของเบี้ยรับที่ได้มาในปีปัจจุบันโดยอาศัยสูตรคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน

หลักการของการใช้สูตรคณิตศาสตร์คือ เวลามีลูกค้ามาซื้อประกันชีิวิตก็จะคำนวณว่า ลูกค้ารายนั้นน่าจะตายเมื่อไร โดยดูจากสถิติในอดีต (ตารางมรณะ) แล้วคิดว่า บริษัทต้องมีเงินสำรองแค่ไหนถึงจะมั่นใจได้ว่าจะรองรับการจ่ายค่าสินไหมในอนาคตให้กับลูกค้ารายนั้นได้ (อย่างชัวร์พอสมควร) โดยเรียกตัวเลขนี้ว่า เงินสำรองประกันชีวิต

จากนั้นก็คำนวณว่า การรับเบี้ยที่ถือเป็นรายได้ของปีปัจจุบันมาจากลูกค้ารายนั้นจะทำให้บริษัทต้องมีเงินสำรองประกันชีวิตเพิ่มอีกเท่าไร (จากที่ต้องมีอยู่แล้วจำนวนหนึ่งสำหรับลูกค้าที่มีอยู่แล้ว) ถึงจะเพียงต่อการจ่ายค่าสินไหมในอนาคตที่เกิดจากเบี้ยที่รับรู้ใหม่เหล่านี้ แล้วก็คิดซะว่า เงินจำนวนนี้คือค่าใช้จ่ายของการรับประกันลูกค้ารายนั้นไปเลย เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของการรับประกันให้มากที่สุด (ต้นทุนจากภาระผูกพันในอนาคตที่เพิ่มขึ้น) เราจึงเห็นค่าสินไหมที่ถูกตัดเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนของบริษัทประกันชีวิตบรรทัดหนึ่งที่เรียกว่าเป็น เงินสำรองประกันที่เพิ่มขึ้น นั่นเอง

ค่าใช้จ่ายตัวนี้จึงไม่ใช่ของจริง เพราะมิใช่เงินที่จ่ายจริงในปีปัจจุบันเลย เป็นแค่ “ตัวเลข” ทางบัญชีที่ประมาณขึ้นมาเท่านั้น แต่หลักบัญชีให้ทำแบบนี้ เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของธุรกิจประกันชีวิตให้ได้มากที่สุด

ยิ่งบริษัทรับประกันชีวิตมากขึ้น เงินสำรองประกันชีวิตที่ควรมีย่อมต้องเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าเราอยากรู้ว่าตอนนี้ควรมีเงินสำรองประกันชีวิตเท่าไรแล้ว เราก็สามารถดูได้จากงบดุลในส่วนของหนี้สิน จะมีรายการหนึ่งที่ชื่อว่า เงินสำรองประกันชีวิต ซึ่งเป็นค่าประมาณของภาระผูกพันที่บริษัทยังมีกับลูกค้าที่น่าจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตทั้งหมด (คำนวณให้เป็นมูลค่าปัจจุบันแล้ว) จึงถือว่าเป็นหนี้สินของบริษัทนั่นเอง และส่วนใหญ่แล้ว รายการนี้ก็คือหนี้ส่วนที่ใหญ่ที่สุดของธุรกิจประกันชีวิตด้วย เป็นหนี้สินโดยประมาณจากความน่าจะเป็น

เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า บริษัทประกันชีวิตมักจะมีหนี้สินต่อทุนสูงกว่าบริษัทประกันภัยมาก นั่นก็เพราะบริษัทประกันชีวิตทำสัญญากับลูกค้าในระยะยาวมากนั่นเอง (แต่ก็ไม่ได้แปลว่า ธุรกิจประกันภัยจะดีกว่าประกันชีวิต ตรงกันข้าม ธุรกิจประกันภัยมีสงครามราคาสูง เพราะลูกค้าเปลี่ยนบริษัทได้ทุกปี คู่แข่งก็มีมากรายเลยเก็บค่าเบี้ยได้ต่ำ ในบ้านเราผลตอบแทนทางธุรกิจจึงกลับสู่ประกันชีวิตไม่ได้)

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2544 ทางภาครัฐฯ ได้กำหนดให้ปรับสมมติฐานโอกาสที่คนไทยจะเสียชีวิตในช่วงอายุต่างๆ ( อัตรามรณะ) ใหม่ เพื่อให้สะท้อนปัจจุบันที่คนอายุยืนขึ้น ส่งผลให้อัตราเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะได้รับจากลูกค้าทั้งระบบลดต่ำลงด้วย การปรับสมมติฐานแบบนี้ถือว่าส่งผลในแง่ลบกับบริษัทประกันชีวิต เพราะต้นทุนสำรองประกันชีวิตย่อมสูงขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้

ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่มีผลต่อเงินสำรองประกันชีวิตที่คำนวณได้ตามสูตรคือ อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด เพราะถ้าหากปรับเพิ่มขึ้นก็เท่ากับบริษัทต้องมีเงินสำรองประกันชีวิตน้อยลง เนื่องจากภาระผูกพันที่มีกับลูกค้ากำหนดไว้เป็นเงินจำนวนคงที่ ที่เรียกว่า ทุนประกัน แต่เมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้น บริษัทก็จำเป็นต้องสะสมเงินสำรองประกันชีวิตน้อยลง เพราะนำไปหาผลตอบแทนแล้วได้มากขึ้น ทำให้ภาระต่อผู้เอาประกันในอนาคตเบาลง นั่นเอง

ในส่วนของการบริหารเงินกองทุนนั้น เมื่อบริษัทเอาเบี้ยรับไปลงทุนในตราสารหนี้หรือตราสารทุนต่างๆ แล้วได้ดอกเบี้ยหรือเงินปันผลมา ก็จะบันทึกเป็นรายได้จากเงินลงทุน หรือถ้าหากมีการซื้อขายตราสารเหล่านี้แล้วมีกำไร หรือมูลค่ายุติธรรมของตราสารที่ถือไว้เพิ่มขึ้น เพราะอัตราดอกเบี้ยในตลาดเปลี่ยนไป ก็จะนำมาบันทึกเป็นรายได้สุทธิจากการลงทุนอีกทางหนึ่งด้วยเหมือนกัน (หรือบันทึกขาดทุนก็ได้ด้วย ถ้าบริหารผิดพลาด)

บริษัทประกันชีวิตที่บริหารกองทุนได้เก่งย่อมมีกำไรสะสมจากส่วนนี้มาก และทำให้ส่วนของเจ้าของในงบดุลเพิ่มขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับเงินสำรองประกันชีวิต (จากกำไรสะสมที่เพิ่มขึ้น) ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทลดลง และทำให้ฐานะการเงินของบริษัทมั่นคงขึ้นด้วยนั่นเอง เพราะมีทุนสะสมเกินพอที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนในอนาคตได้แบบสบายๆ เรามักได้ยินบริษัทประกันชีวิตคุยว่ามีเงินกองทุนสูงกว่าเงินสำรองประกันชีวิตเท่านั้นเท่านี้แล้วเป็นต้น

ถ้าอยากดู Growth ของบริษัทประกันชีวิตก็น่าจะดูจากเบี้ยรับที่เพิ่มขึ้น โดยแยกเอาเฉพาะเบี้ยรับปีแรกอย่างเดียว เป็นหลัก เพราะเบี้ยรับปีถัดๆ มาของลูกค้าเก่าไม่ใช่สิ่งที่สะท้อนการขยายตัวของธุรกิจที่ดี แต่เป็นรายได้ที่เกิดจากฐานลูกค้าในอดีตมากกว่า

ในช่วงที่อัตราการเติบโตของเบี้ยเป็นอัตราเร่ง ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นแรงด้วย เพราะค่าใช้จ่ายที่ช่วยให้บริษัทได้ลูกค้าใหม่ จะแพงกว่าค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับลูกค้าเดิม (เพราะต้องอัดฉีดตัวแทนขาย ต้องโฆษณา ต้องเสนอโปรโมชั่น ฯลฯ ในปีแรกสูงเป็นพิเศษ) อย่างไรก็ตาม หลักบัญชีได้มีการนำค่าใข้จ่ายส่วนนี้ มาทยอยตัดจ่ายตลอดอายุสัญญาประกันภัย เพื่อมิให้ต้องบันทึกค่าใช้จ่ายส่วนนี้ในปีแรกสูงจนเกินไปอยู่แล้ว

ถ้าอยากดูความสามารถในการแข่งขันควรดูจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้เบี้ย โดยเทียบกับคู่แข่ง เพื่อดูว่า บริษัทบริหารต้นทุนได้ดีกว่าคู่แข่งมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งดูด้วยว่า เบี้ยรับเทียบกับค่าสินไหม (เงินสำรองที่เพิ่มขึ้น) สูงขึ้นหรือต่ำลงด้วย เพื่อให้แน่ใจว่า บริษัทไม่ได้ลดราคามากเกินไปเพื่อรักษาฐานลูกค้า

ในส่วนของการบริหารเงินกองทุน ควรดูในหมายเหตุประกอบงบการเงินว่า บริษัทได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในงวดนั้นเท่าไร อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนที่สูงไม่ใช่ว่าจะดีเสมอไป เพราะบริษัทอาจลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงๆ เพื่อหวังให้ได้ผลตอบแทนมากๆ แล้วก่อให้เกิดปัญหาระยะยาวก็ได้ บริษัทที่ลงทุนเก่ง ควรจะได้ผลตอบแทนสูงกว่า Benchmark เมื่อพิจารณาจากประเภทของหลักทรัพย์ที่บริษัทเลือกลงทุนด้วย[End]

40 thoughts on “144: 0481: แกะงบประกัน”

  1. มีเสริมหน่อยครับ ธุรกิจประกันชีวิต ได้ประโยชน์ จากเรื่องหักลดหย่อน ภาษีด้วยนะครับ ผมว่าทำให้คนไทยซื้อขึ้นมาก

    ผมว่าบ้างคนที่ซื้อคือไม่ได้กะว่าจะอ้อม อะไรหลอกครับ แต่ที่ซื้อคือ ได้ลดหย่อน ภาษี (คือพี่ผมเองครับ) แต่ก่อนไม่เคยคิด

    ซื้อเลยแต่รัฐบาลออกนโยมากเรื่องนี้ซื้อเลยครับ

    ผมอยากถามหน่อยครับ แล้ว ธุรกิจประกันภัย ดีกว่า ประกันชีวิต อะไรบ้างครับ?

  2. อยากขอช่วยขยายนิดนึงครับ ว่าอัตรามรณะใหม่ที่สะท้อนว่าคนมีอายุคืนขึ้น ทำให้ต้นทุนสำรองประกันชีวิตสูงขึ้นได้อย่างไรครับ เพราะอัตราเสียชีวิตที่ลดลงน่าจะทำให้ต้นทุนลดลงนะครับ
    ผมยังงงๆอยู่นิดหน่อย
    ขอบคุณครับ

  3. หมายถึงว่าทำให้บริษัทประกันเก็บเบี้ยประกันได้น้อยลงใช่มั๊ยครับ

  4. ดีครับ … เรื่องเข้ายากๆคุณโจ๊กทำให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้นครับ 🙂
    ถ้ามองมุมบวกบ้าง เบี้ยที่ต่ำลงจะสร้างกลุ่มฐานลูกค้าที่กว้างขึ้นไปอีกนะครับ

  5. พิมพ์เร็วไปนิด หุหุ..หมายถึงเรื่องที่เข้าใจยากทำให้เข้าใจง่ายขึ้นนะครับ

  6. ประกันเป็นธุรกิจที่เป็้นแหล่งรวมเงินสดจริงๆ

  7. คุณนรินทร์ครับ หากจะประเมินมูลค่าหุ้นประกันผมจะใช้เพียง NI+DA(ประมานการ) – Change in Working Cap เพื่อประเมิน เงินสดคร่าวๆได้ไหมครับ

  8. สงสัยอย่างว่า ไม่รู้ว่าทำไป บริษัทประกันชีวิตอย่าง SCBlife BLA จึงเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ อ่ะครับ เพราะความต้องการระดมเงินลงทุนก็ไม่น่ามี ต้นทุนดอกเบี้ยจากผู้ถือหุ้น น่าจะสูงกว่า ต้นทุนดอกเบี้ยที่หาได้จากลูกค้าให้กู้อยู่แล้ว

  9. ประกันชีวิตน่าจะกู้แบงค์ได้น้อยนะครับ เพราะไม่รู้จะเอาหลักทรัพย์อะไรไปค้ำประกัน ทำให้บางช่วงบางเวลาที่ต้องการเงินเพื่อมาขยายกิจการเร็วๆ ตลาดทุนเป็นทางเลือกที่ดี

  10. ปกติ ค่าโฆษณา ในธุรกิจทั่วไป ต้องหักเป็นค่าใช่จ่ายในงวดที่เกิดขึ้น
    จากข้างบนบทความที่พี่เขียน เหมือนว่า ทยอยตัดจ่ายตลอดอายุสัญญาประกันภัย
    อันนั้นเป็นข้อยกเว้นสำหรับธุรกิจประกัน รึเปล่าคับ ?

  11. ยังไม่ค่อยเคลียร์จุดนึงครับพี่โจ๊ก เท่าที่อ่านดูเข้าใจว่าเงินสำรองประกันชีวิตจะเป็นฝั่งหนี้สิน และอยู่ในฝั่งสินทรัพย์เป็นเงินสดใช่ไหมครับ แสดงว่าเงินส่วนนี้ไม่สามารถเอาไปลงทุนอื่นๆได้เลยหรอครับ

  12. มาตรฐานบัญชีใหม่ล่าสุด เข้าใจว่า ค่าโฆษณาโปรดักส์ใหม่หรือเพื่อให้ได้ลูกค้าใหม่จะต้อง expense at incur (ทันที) คงแตกต่างจากกรณีของประกันชีวิต แต่อันนี้ไม่แน่ใจนะครับ

    เงินสำรองประกันชีวิต เป็นตัวเลขประเมิน อยู่ฝั่งหนี้สิน
    ส่วนเงินที่สำรองไว้จริงๆ อยู่ฝั่งสินทรัพย์ เอาไปลงทุนพันธบัตรหรือหุ้นก็ได้
    ตราบใดที่ฝั่งสินทรัพย์สูงกว่าฝั่งหนี้สินก็แสดงว่าบริษัทมีทรัพย์สมบัติมากกว่าหนี้สินในอนาคต ก็แสดงว่า in a good shape

  13. หวัดดีครับพี่สุมาอี้..ได้หนังสือที่สั่งพร้อมลายเซ็นต์แล้วครับชอบบทความทั้งในหนังสือและที่ post มากครับ ให้ทั้งความรู้ในการลงทุนและแง่คิดในการดำเนินชีวิตดีมาก จะคอยติดตามอ่านเรื่อยๆ ครับ

  14. ขอบคุณมากครับ ธุรกิจประกันชีวิตมีอะไรซ่อนอยู่ก่อนกำไรบรรทัดสุดท้ายจริงๆด้วย

  15. ผมได้หนังสือแล้วครับ 3 เล่ม มี 85 ไอเดียการลงทุน the survival kit และวัดมูลค่าหุ้น ส่วนนอกนั้นไปเดิน SB สอยมาแทบทุกเล่มแล้วครับ สงสัยนิดหน่อยครับ ถือโอกาสถามเลย อย่างหุ้นกลุ่มนิคมอุสาหกรรม เช่น amata ถือว่าเป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์หรือเป็นแนวอุตสาหกรรมกันแน่ครับ และอ่านใน survival kit แล้วจัดเข้าพวกไม่ได้ กำลังศึกษากลุ่มนี้อยู่แต่ยังจับทิศทางไม่ได้เลยครับ หนังสือ 20 บริษัทจดทะเบียนก็ไม่มีกลุ่มธุรกิจแนวนี้เลย อยากรบกวนชี้แนะเป็นแนวทางพอจะได้ไหมครับ หรือเขียน post เลยยิ่งดีนะครับ ผมจะรออ่านผลงานอย่างแฟนพันธุ์แท้คนหนึ่ง

  16. อ่อครับ

    AMATA อยู่ใน Sector อสังหา แต่ธุรกิจในกลุ่มนี้มีหลายแบบ และไม่ค่อยเหมือนกันเลยครับ เอาไว้วันหลังอาจจะเขียนถึงหุ้นนิคมสักตัวหนึ่งเพื่อเป็นตัวอย่างครับ

  17. เห็นพี่โจ๊กสนใจธุรกิจประกันจังเลยอะครับ ผมมองข้ามมากๆ เลย

  18. บริษัท ประกัน สามารถเอา เงิินไปลงทุน ในบริษัทใดบริษัทหนึ่งเกิน 20% ได้หรือไม่ครับจะได้ รับร้ กำไรขาดทุนตามสัดส่วนได้ ไม่ต้องรอแต่เงินปันผล

    1. เหมือนจะมีข้อกำหนดตามกฎหมายนะครับว่าจะลงหุ้นได้มากสุดแค่ไหน แต่ผมหารายละเอียดไม่ได้เจอ

      ทำได้ครับ แต่ถ้าพอร์ตมีหุ้นทุนมากเกินไป ผู้เอาประกันอาจไม่เชื่อถือ เพราะรู้สึกว่าเสี่ยงเกินไป

  19. อยากทราบข้อดีข้อเสียของ Single Premium ว่าบันทึกในงบต่างกันอย่างไร และดีกับผลประกอบการในระยะยาวหรือไม่ เห็น BLA เน้นมากขึ้นครับ
    (แทน)

  20. @psvit50

    โทษทีที่ตอบช้าครับ พอดีจะรอถามคนรู้จักที่เขาเป็นตัวแทนอยู่เกี่ยวกับตลาดประกันช่วงนี้นิดนึง ก็เลยค้างมาตอบช้า

    ที่ผ่านมา bla ขายประกันที่มีอายุค่อนข้างสั้นเยอะไปหน่อย เพราะว่าขายง่ายกว่า แต่พอดอกเบี้ยในตลาดเป็นขาลงปุ๊บ มันทำให้เกิดการ mismatch ระหว่างสินทรัพย์กับหนี้สิน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น (เงินสำรองทุนประกัน) บริษัทจึงต้องพยายามขายประกันอะไรก็ได้ที่เงินจะ lock อยู่กับบริษัทยาวขึ้น และเป็นก้อนใหญ่ๆ มากขึ้น เพื่อปรับสินทรัพย์กับหนี้สินให้อายุ match กันมากขึ้น เงินสำรองทุนประกันในแต่ละงวดจะได้น้อยลงครับ

  21. รบกวนสอบถามคุณ นรินทร์ หน่อยครับดูในงบกำไรขาดทุนเห็นรายได้จากการลงทุนและกำไรจากการลงทุน แตกต่างกันอยา่งไรครับ ผมเข้าใจว่ารายได้จากการลงทุนคือดอกเบี้ยจากการลงทุนอย่างเช่นbla 2554 รายได้จากการลงทุนประมาณ5,000mb~5%ของเงินกองทุน แต่กำไรจากการลงทุน~400mb. ไม่เข้าใจว่าการลงทุนต้องมีค่าใช้จ่ายอะไร
    ขอบคุณครับ

  22. รายได้จากการลงทุนน่าจะเป็นดอกผลของหลักทรัพย์ที่ถือไว้ใช่ครับ

    กำไรจาการลงทุนน่าจะเป็นกรณีที่มีการขายหลักทรัพย์บางตัวในช่วงเวลานั้นแล้วเกิดกำไรจาก capital gain

  23. ขอบคุณครับ แต่รบกวนอีกนิดครับ ยังไม่เคลียร์ สมมุติว่าผมต้องการทราบผลตอบแทนจากการลงทุนในแต่ละปีคือ รายได้จากการลงทุน+กำไรจากการลงทุน ถูกต้องรึเปล่าครับ

  24. ขอถามต่อเลยนะครับ
    ยกตัวอย่างBLAมีเงินกองทุนประมาณ 120,000 mb ผลตอบแทนการลงทุนประมาณ 4,500 mb(4%ต่อปี) เบี้ยรับ 30,000 mb/ปี กำไรจากการดำเนินงาน 4,900 mb สมมุติเบี้ยรับ/ปี ไม่เพิ่มเลยอีก 4 ปีข้างหน้าเงินกองทุนเป็น 240,000 mb ผลตอบแทน 9,000 mb กำไรเพิ่มประมาณ 100%ถูกต้องไหมครับ

  25. ผมถามผิดกฎรึเปล่าครับ ถึงไม่ตอบ ถ้าผิดต้องขอโทษด้วยครับไม่ได้ตั้งใจลบ
    Postทิ้งได้เลยครับ

    ขอบคุณครับ

  26. เงินกองทุนน่าจะเพิ่มจาก ดอกเบี้ยรับบวกเงินปันผลรับบวกกำไรจากการลงทุนที่ยังไม่ทำให้เป็นจริง บวกเบี้ยรับใหม่ที่หักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานออกแล้ว หักเงินปันผลที่จ่ายให้ผู้ถือหุ้นและดอกเบี้ยจ่ายให้เจ้าหนี้ (ถ้ามี)

    แต่เบี้ยรับใหม่ที่หักค่าใช้จ่ายออกแล้วไม่น่าจะเท่ากับ เบี้ยรับทั้งหมดบวกกำไร เพราะเงินสำรองประกันชีวิตที่เป็นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งซึ่งถูกหักออกจากเบี้ยรับทั้งหมดเป็นค่าใช้จ่ายที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง

    ดังนั้นถ้าจะประมาณเงินกองทุนที่เพิ่มขึ้นแบบหยาบๆ แต่ละปีน่าจะเอากำไรสุทธิมาบวกกลับด้วยทุนสำรองประกันชีวิตที่เพ่ิ่มขึ้น

    อย่างปี 54 บริษัทมี asset เพิ่มขึ้นมาประมาณ 23000 ล้าน

    ถ้าเอากำไรสุทธิปี 54 บวกกลับด้วยเงินสำรองประกันชีวิตที่เพิ่มขึ้นจะได้ 3400+20000 ล้าน ก็คือประมาณ 23000 ล้าน เท่ากันพอดี

  27. ขอบคุณครับ
    ชอบบทความคุณนรินทร์มากครับ. อ่านบทความทุกบทความในwebนี้ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ ซื้อหนังสือทุกเล่มที่มีอ่านจบแล้วใช้เวลาพอสมควรครับ. พออ่านจบเหงาเหมือนกันไม่รู้จะอ่านอะไรทุกวันนี้เปิดwebรอดูบทความใหม่ทุกวัน
    วันนี้พึ่งไปเหมาหนังสือที่b2sมาฝากเพื่อนแนะนำให้เพื่อนอ่านได้มา8เล่ม. ผมคิดว่าอนาคตคุณนรินทร์จะเป็นตำนานด้านการลงทุนคนหนึ่งของเมืองไทยเป็นกำลังใจให้ครับ

  28. สวัสดีครับพี่นรินทร์ ผมเป็นแฟนหนังสือของพี่ครับ ได้อ่านหนังสือวัดมูลค่าหุ้นด้วยต้นเอง พอมาเจอบริษัทประกันเลยเกิดข้อสงสัยอยากถามพี่ครับ
    เราจะหา wacc ของบริษัทประกันยังไงครับ คือจากสูตร wacc=(d/d+e)*Rd*(1-tax)+(e/d+e)*Re ผมสงสัยว่าส่วนของRdหายังไงครับ

    http://www.settrade.com/C04_06_stock_financial_p1.jsp?txtSymbol=THREL&selectPage=6

    ตัวอย่างจากงบดุลบริษัทแห่งหนึ่ง wacc=(651.75/1797.69)*Rd*(1-0.3)+(1145.94/1797.69)*Re ถูกต้องป่ะครับ
    1. Rd ของบริษัทประกันนี้คำนวณอย่างไงครับ
    2. Re=Rf+Beta*(Rm-Rf) เราหาค่าเบต้าได้จากเวปไหนครับพี่

    ขอบคุณพี่นรินทร์มากๆครับผม^^

    1. Rd ต้องหา Credit Rating ของบริษัทมา แล้วเทียบกับในตารางในหนังสือวัดมูลค่าหุ้นครับ

      Beta ประมาณเอาจากความแข็งแกร่งของธุรกิจเมื่อเทียบกับความผัวผวนของเศรษฐกิจ ถ้าเท่ากับระดับเฉลี่ยก็คือ Beta =1 สำหรับ THREL ผมว่า 0.8 ก็ได้ครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *