Skip to content

149: Jeremy J. Siegel

Jeremy Siegel

Jeremy Siegel แห่ง Wharton School ถือเป็นกูรูการลงทุนอีกคนหนึ่ง ที่มีแนวคิดด้านการลงทุนที่น่าสนใจ เพราะเกิดจากการเก็บรวบรวมสถิติในตลาดทุนนานับหลายสิบปี [premium level=”1″ teaser=”yes” message=”โปรดล็อกอินเพื่ออ่านบทความเต็ม หรือสมัครสมาชิกรายปี”]

Siegel อยู่ในค่ายของกูรูหุ้นฝ่าย Bull เพราะเขามักมีมุมมองอยู่แทบตลอดเวลาว่าหุ้นเป็นสินทรัพย์ที่ยังซื้อได้ เพราะยังไงมันก็ยังถูกเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองในระยะยาว เขาเป็นเจ้าของกราฟที่แสดงผลตอบแทนสองร้อยปีเปรียบเทียบระหว่าง เงินสด ตราสารหนี้ ทองคำ และหุ้น ที่เผยให้เห็นว่าหุ้นเป็นหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงที่สุด และเป็นผู้เขียนหนังสือ Stocks for the Long Run
อันโด่งดัง ซึ่งรวบรวมสถิติแทบทุกอย่างเกี่ยวกับตลาดหุ้นเอาไว้อย่างครบถ้วน

แนวคิดหลักของ Siegel คือ ให้ทุกคนลงทุนในหุ้นในสัดส่วนที่มากกว่าอย่างอื่น โดยให้ถือไว้ในระยะยาว และจะต้องมีการกระจายความเสี่ยงไปยังหุ้นดีๆ หลายๆ ตัวด้วย

Siegel อยู่ในค่ายของนักลงทุนที่ชอบหุ้นที่มีค่าพีอีต่ำและมีการจ่ายปันผลที่ดี โดยเขาได้พิสูจน์ว่า ในอดีตที่ผ่านมา พอร์ตของหุ้นที่มีพีอีต่ำกว่าตลาดจะชนะตลาดได้ราวๆ 2% ต่อปี ซึ่งในระยะยาวแล้วถือว่าเป็นส่วนต่างที่เยอะมาก

ในส่วนของเงินปันผลนั้น Seigel บอกว่า เงินปันผลเป็นผลตอบแทนส่วนที่สำคัญมากของหุ้น และแนะนำด้วยว่า สำหรับพอร์ตที่เน้นหุ้นพีอีต่ำนั้น การนำเงินปันผลที่ได้กลับเข้าไปลงทุนต่ออย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เขายกตัวอย่าง ผลตอบแทนของหุ้น Standard Oil กับ IBM ในอดีตว่า ในช่วงเวลาเดียวกัน กำไรของ Standard Oil เติบโตเฉลี่ยแค่ 8% เทียบกับ IBM ที่ 12.2% แต่ Standard Oil มีพีอีต่ำกว่าถึงสองเท่า เพราะถูกมองว่าเป็นธุรกิจที่เติบโตน้อย

แต่สำหรับพอร์ตที่ลงทุนในหุ้นทั้งสองตัวในระยะยาวและมีการนำเงินปันผลกลับมาซื้อหุ้นเพิ่มอย่างต่อเนื่องจะพบว่า พอร์ตที่ลงทุนใน Standard Oil กลับให้ผลตอบแทนรวมที่สูงกว่า IBM ทั้งที่ Standard Oil เป็นธุรกิจที่กำไรโตได้ต่ำกว่า

เหตุผลสำคัญที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะหุ้น IBM มีราคาสูงเนื่องจากตลาดเห็นว่าเป็นธุรกิจที่มีกำไรเติบโตดี จึงทำให้นักลงทุนต้องซื้อหุ้น IBM ที่ต้นทุนค่อนข้างแพง และราคาหุ้นที่แพงยังทำให้หุ้นมี dividend yield ที่ต่ำอีกด้วย ในขณะที่ Standard Oil นั้นแม้กำไรจะเติบโตช้ากว่า แต่จ่ายเงินปันผลสูง ทำให้นักลงทุนนำเงินกลับมาซื้อหุ้นเพิ่มคิดเป็นจำนวนหุ้นได้มากกว่า จึงให้ผลตอบแทนรวมที่สูงกว่าได้

Siegel จึงแนะนำให้นักลงทุนใช้กลยุทธ์เน้นซื้อหุ้นพีอีไม่สูง แต่ต้องมีการนำเงินปันผลกลับไปลงทุนเพิ่มอย่างเคร่งครัดด้วย เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เหนือตลาด แทนที่จะใช้วิธีซื้อหุ้นเติบโตสูง ที่มีความเสี่ยงเรื่องจากราคาหุ้นแพง

นอกจากนี้ Siegel ยังแนะนำให้พยายามกระจายความเสี่ยงของการลงทุนในหุ้นด้วยการแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนหุ้นในตลาดประเทศด้วย เพราะช่วยลดความเสี่ยงได้ดี

Siegel ชอบหุ้นมากๆ เพราะเขามองว่าในรอบสี่สิบปีที่ผ่านมา ดัชนี S&P500 มีราคาถูกเกินไปอยู่แทบจะตลอดเวลาเมื่อคำนวณจากผลตอบแทนในช่วงต่อมาที่นักลงทุนจะได้ เขาบอกว่าคำกล่าวที่ว่า “ราคาหุ้นมักวิ่งแซงผลกำไร” นั้น ไม่ตรงกับความเป็นจริงเลย เพราะในช่วงเวลาที่ดัชนี DJI เพิ่มขึ้นได้สองเท่านั้น ที่จริงแล้วกำไรของบริษัทจดทะเบียนในช่วงเดียวกันเพิ่มขึ้นมาถึงห้าเท่าตัว พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายที่มากเพียงพอจึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเสมอหากเป็นการถือไว้ในระยะยาว[End]

10 thoughts on “149: Jeremy J. Siegel”

  1. ขอรบกวนถามพี่สุมาอี้เรื่อง การหามูลค่าหุ้มโดยวิธ๊ DCF.
    1. การหาข้อมูล PE.Ratio รายกลุ่มอุตสาหกรรมหากต้องการดูย้อนหลังประมาณ 5 ปีขึ้นไปนั้นสามารถดูได้จากแหล่งใดบ้างครับ
    2. Risk Premium ของตลาดหุ้นในประเทศไทยพี่สุมาอี้ใช้ค่าในช่วงเท่าใดครับ
    3. Risk Premium ของหุ้นรายตัวนั้นหามาจากค่าเบต้า ค่าเบต้านั้นควรประเมินอย่างไร และในกลุ่ม Difensive Stock พี่ให้ค่า เบต้าประมาณเท่าใดครับ

    ขอคำแนะนำด้วยครับ ขอบคุณมากครับ

  2. 1. PE ของ sector ย้อนหลังห้าปีสงสัยคงต้องไปดูฐานข้อมูล SETSmart ที่ห้องสมุดมารวย ไม่แน่ใจว่าจะมีรึเปล่าด้วย
    2.Market R/P ของไทยตอนนี้อยู่ที่ 8.25%
    3.เบต้าดูได้จากตารางหุ้นในกรุงเทพธุรกิจเฉพาะวันจันทร์ (สมัยนี้ผมไม่ค่อยได้ดู ไม่รู้ยังมีรึเปล่า แต่เป็นตารางหุ้นที่ทำโดยทิสโก้) ซึ่งอันนั้นคำนวนมาจาก volatility ของราคาหุ้นตัวนั้นในอดีต ซึ่งผมได้บอกไว้ในหนังสือว่า มีข้อด้อยหลายอย่าง ทางที่ดีกว่าคือประมาณเอาเองจากธุรกิจของหุ้น อย่าง Defensive Stock ควรมีเบต้าต่ำกว่าตลาดเล็กน้อย เช่น 0.8 ครับ

  3. ขอขอบคุณพี่สุมาอี้มากครับ มีคำถามเพิ่มเติม 2 ข้อครับผม

    1. ค่าเบต้าถ้าผมยึดตามหนังสือวัดมูลค่าหุ้นของพี่สุมาอี้ ยังคงใช้ค่าในช่วงดังกล่าวได้ใช่ไหมครับ ในช่วงเวลาปัจจุบัน

    Defensive Stock ค่าเบต้าที่เหมาะสม = 0.8-1.0
    ธุรกิจทั่วไป = 1.0
    ธุรกิจที่ต้องพึ่งพาภาวะเศรษฐกิจ = 1.2-1.5
    ธุรกิจที่มีหนี้สินสูงมาก = 2.0

    2. อยากทราบความหมายของธุรกิจที่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจครับ อยู่ใน Sector ใดบ้างครับ มีนิยามอย่างไรครับ Ex.% Profit Growth/Revenue ขึ้นกับ GDP. ของประเทศ?

    หากลองคำนวณแล้วจะขออนุญาติกลับมาปรึกษาอีกครับ

  4. 1. ใช้ได้ครับ
    2. ตัวอย่างเช่น ผู้ขายสินค้าคอมโม ราคาขายอิงตลาดโลก รวมไปถึงธุรกิจที่มีต้นทุนคงที่มากๆ จะอ่อนไหวต่อกำลังซื้อชองคนที่เปลี่ยนไปตามเศรษฐกิจ

  5. รบกวนขอความเห็นพี่สุมาอี้หน่อยครับ
    1.เกี่ยวกับค่า PE ratio คือธุรกิจที่ผมชอบ การดำเนินงานดีส่วนใหญ่ค่า PE สูงทั้งนั้น เวลาซื้อผมจะใช้ค่า PEG เป็นตัววัด ซึ่งจริงแล้วไม่รู้ว่า กำลังปลอบใจตัวเองแล้วหาข้ออ้่างเข้าข้างตัวเองหรือเปล่าว่ากำลังซื้อหุ้นไม่แพงมาก จึงขอความเห็นเกี่ยวกับหุ้นบางตัวที่ค่า PE สูงมาก (20-30 หรือมากกว่า) ยังเหมาะกับการลงทุนแบบ VI หรือไม่ และการใช้ค่า PEG สามารถใช้ประเมินได้ไหมครับ
    2.ขอความเห็นเกี่ยวกับ esop ที่ HMPRO เพิ่งออก อ่านดูในบท 85 ไอเดีย น่าจะมีบางส่วนที่เข้าข่ายการออก esop ที่ไม่ดี ราคาต่ำกว่าตลาดมาก พี่สุมาอี้คิดยังไงครับ
    3.ผมเห็นหนังสือใน AIS bookstore ของพี่สุมาอี้แล้วครับ โหลดมาไว้อ่านแล้วทุกเล่ม ซึ่งจริงๆ แล้วมีหมดทุกเล่มอยู่แล้ว แต่ชอบอ่านหนังสือใน iPad มากกว่า เหลือแต่ 20 บริบัษจดทะเบียน ไม่ทราบว่าจะมีให้สั่งทาง e-book ไหมครับ และพี่สุมาอี้จะออกหนังสือเกี่ยวกับไอเดียการลงทุน version ใหม่หรือเปล่าครับ…. ผมและอีกหลายๆ คนกำลังรอติดตามอ่านผลงานอยู่ครับ

  6. @jutapong

    ที่จริงผมว่า PEG เป็นตัวชี้วัตที่ดีกว่า PE ด้วยซ้ำไป เพราะคำนึงถึง growth ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากของมูลค่าธุรกิจ ส่วน PEG จะขัดแย้งกับหลัก VI หรือไม่นั้น คงขึ้นกับความเชื่อส่วนบุคคลของแต่ละคน อย่าง PEG เป็นอัตราส่วนที่ Peter Lynch แนะนำ บางคนถือว่า Lynch เป็น VI บางคนถือว่าเขาไม่ใช่ ไม่ได้มีมาตรฐานแน่นอน

    HMPRO ออกอีสปบ่อยและออกจนเต็มขีดจำกัดด้วย แต่โดยส่วนตัวผมสังเกตมาตลอดว่า HMPRO เป็นบริษัทที่ตั้งเป้าไว้ตอนต้นปีเท่าไร ต่อให้เจอวิบากกรรมแค่ไหนกลางปี ก็จะพยายามหาวิธีทำให้เข้าเป้าได้เสมอ แบบนี้แจกอีสปให้ผู้บริหารเยอะ ผมก็ไม่ติดใจอะไร เพราะสัญญากับนักลงทุนอะไรไว้แล้วทำให้ได้ตลอด ผมคิดว่าธุรกิจสมัยนี้บางทีก็ต้องแบ่งกันรวยบ้าง ถ้าเถ้าแถ่เก็บกำไรไว้คนเดียว อาจโตได้น้อยกว่าแบ่งให้ CEO รวยด้วยกัน แต่ถ้าเป็นบริษัทที่สัญญาอะไรไว้ วืดตลอด แบบนี้เท่าไรก็ไม่อยากให้ครับ

    20 บจ.ฉบับอีบ้คตอนนี้ยังไม่อยู่ใน plan ครับ เล่มต่อไปน่าจะเป็นมนุษย์เศรษฐกิจ 3.0 ส่วนหนังสือเล่มใหม่ ตอนนี้ยังไม่ได้เริ่มต้นอะไรเลย ช่วงนี้เรียนนิติศาสตร์รามอยู่ด้วย กอปรกับอยากพักผ่อนบ้าง (จริงๆก็ไม่ได้พักผ่อน แต่อยากทดลองเขียนอะไรแปลกใหม่ๆ ที่ต้องใช้เวลาพัฒนานาน) ก็เลยยังไม่มีแผนออกหนังสือใหม่ที่ชัดเจนครับ

    ขอบคุณที่สนับสนุนกันครับ ^_^

  7. อยากรู้ว่าทำไมพี่เรียนนิติศาสตร์เพิ่มเติมครับ (เผื่อผมก๊อบบ้าง 🙂 ขอบคุณครับ

  8. พี่โจ๊กอย่าลืมหาเวลาพักผ่อนบ้างนะครับ
    ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆที่มีให้อ่านเสมอๆครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *