Skip to content

159: กลยุทธ์สำหรับ index funds

สำหรับคนที่สนใจการลงทุนแบบ passive (ออมระยะยาว ไม่ต้องรู้มาก ไม่ต้องเฝ้าตลาด) Index Fund ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีมาก เพราะเป็นหลักทรัพย์ที่มีกระจายความเสี่ยง (โดยมาก) และมีการพิสูจน์กันมาแล้วว่า managed funds ส่วนใหญ่นั้นมักไม่สามารถเอาชนะ index funds ติดต่อกันหลายๆ ปีได้

แต่ปัญหาต่อมาก็คือว่า [premium level=”1″ teaser=”yes” message=”โปรดล็อกอินเพื่ออ่านบทความเต็ม หรือสมัครสมาชิกรายปี”]เราควรซื้อ index funds อย่างไร สมมติว่าเรามีเงินเก็บหนึ่งล้านบาท วิธีที่ง่ายที่สุดก็คงจะได้แก่ การเอาเงินหนึ่งล้านบาทนั้นซื้อ index funds ทั้งหมดทันที แล้วถือยาวไปเลยกว่าจะจะเกษียณ หรือเมื่อจำเป็นต้องใช้เงินนั้นจริงๆ และพยายามไม่สนใจว่าตลาดหุ้นจะผันผวนมากแค่ไหนระหว่างทาง อย่างนั่นคือ passive จริงๆ ไม่ต้องคิดอะไรเลย

แต่ถ้าดูจากอดีตของตลาดทุนเป็นตัวอย่าง การทำแบบนั้นมีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อยทีเดียว ตัวอย่างเช่น ถ้าหากใครซื้อดัชนีนิเคอิ ตั้งแต่ปี 1989 (ดัชนีอยู่ที่ 38, 915 จุด) ถึงตอนนี้ผ่านไป 23 ปีแล้ว เขาจะยังคงขาดทุนอยู่ (ปัจจุบัน ดัชนีอยู่ที่ประมาณ 8, 500 จุด ต่อให้นับรวมเงินปันผลด้วยก็คงยังขาดทุนอยู่ดี) แสดงว่า ถ้าใช้วิธีถือซื้อตูมเดียวด้วยเงินทั้งหมด แล้วถือให้ยาวที่สุด ถ้ายังขาดทุน ก็ยังไม่ขาย จนกว่าจะกลับมาเป็นบวกหรือมีกำไรได้เองนั้น อาจเป็นวิธีที่ไม่ได้ผล เสมอไป เพราะช่วงเวลา 23 ปีน่าจะนานพอๆ กับระยะเวลาออมเงินเกษียณสำหรับหลายๆ คนเลยทีเดียว แต่ก็ยังขาดทุนได้อยู่

นี่ยังไม่น้บกรณีของหุ้นไทยที่เคยอยู่ที่ 1, 700 จุดก่อนปี 2540 ซึ่งผ่านมาแล้ว 15 ปีก็ยังกลับไปที่จุดเดิมไม่ได้เช่นกัน รวมทั้ง Nasdaq ที่ก็ยังกลับไปที่จุดสูงสุดเดิมเมื่อปี 2000 ไม่ได้ด้วย แสดงว่า กลยุทธ์ buy and hold กับดัชนีหุ้นนั้น ไม่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ และโอกาสที่จะขาดทุนนั้นก็มีไม่น้อยเลยทีเดียว

อีกวิธีหนึ่งคือ ทำแบบเดิมเหมือนกันแต่แทนที่จะซื้อทันทีด้วยเงินทั้งหมดเมื่อคิดจะลงทุน บางคนอาจใช้วิธีรอไปเรื่อยๆ ก่อน ให้ตลาดหุ้นตกแรงๆ แล้วค่อยเอาเงินเก็บไปซื้อเพื่อถือยาวจนเกษียณ แต่วิธีนี้ก็ไม่ได้ไม่มีข้อเสีย เพราะในบางกรณีเราอาจโชคร้าย เพราะรอแล้วรอเล่าเป็นสิบปี ดัชนีก็ไม่เคยตกแรงๆ ให้เข้าไปซื้อได้สักที กลายเป็นเสียเวลาในการลงทุนไปสิบปี เพราะมัวแต่ถือเงินสดทั้งหมดเอาไว้เฉยๆ กล้าๆ กลัวๆ ไม่ซื้อซะที ถ้าหากโชคร้ายกว่านั้น พอเห็นว่าสิบปีตลาดก็ยังไม่วิกฤต ก็เลยกระโดดเข้าไป ยอมซื้อแพง ก็กลายเป็นความซวย เพราะคราวนี้ตลาดก็มักจะ crash ในเห็นทันที คราวนี้ที่ยอมรอมา กลายเป็นแย่กว่าเก่า เพราะรอที่จะมาซื้อแพง ไม่ใช่ซื้อถูก การรอของถูกอีกแง่หนึ่งก็กลายเป็นการลงทุนที่ไม่ passive เพราะต้องมาคอยเก็งอยู่ตลอดเวลา เก็งแล้วก็ใช่ว่าจะถูก บางทีคิดว่าถูกแล้ว ปีถัดมาก็ยังมีถูกกว่า ไม่สิ้นสุด น่าเวียนหัว

กลยุทธ์ถัดไปเป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีการพูดถึงกันบ่อย ซึ่งอาจตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ดียิ่งขึ้น เพราะเป็นการ trade-off ระหว่างการซื้อทันทีกับการรอคือ การซื้อเฉลี่ย นั้นคือการใช้ asset allocation + portfolio rebalancing

หลักการของวิธีนี้ก็คือ เริ่มต้นด้วยการแบ่งเงินออมที่จะลงทุนออกเป็นสองส่วน (Asset Allocation) ระหว่างหุ้นกับเงินสด เช่น มีเงินลงทุนหนึ่งล้านบาท แทนที่จะลงหุ้นทั้งหนึ่งล้าน ก็แบ่งลงทุนในหุ้นแค่ห้าแสน อีกห้าแสนถือไว้เป็นเงินสดก่อน (Stock:Cash = 50:50) จากนั้นทุกสิ้นปี สัดส่วนตรงนี้ย่อมเปลี่ยนไป เพราะราคาหุ้นย่อมมีค่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามภาวะตลาดหุ้น ก็มาปรับสัดส่วนกันใหม่ (portfolio rebalancing) เช่น ถ้าสิ้นปี พอร์ตหุ้นเพิ่มค่าขึ้นมาเป็นหกแสน ก็ขายออกมาห้าหมื่น เพื่อให้มูลค่าหุ้นต่อเงินสดเป็น 50:50 เหมือนเดิม แต่ตอนนี้มีข้างละห้าแสนห้าหมื่น แล้วปรับสัดส่วนใหม่ทุกสิ้นปี เช่นนี้ไปเรื่อยๆ

ข้อดีของกลยุทธ์นี้คือ ถ้าบังเอิญโชคร้ายเริ่มลงทุนในช่วงที่ตลาดหุ้นแพง เราก็ยังมีเงินสดเหลืออยู่ให้ซื้อเฉลี่ยต้นทุนในปีต่อๆ ตอนมาที่ตลาดหุ้นถูก ทำให้ไม่พลาดโอกาส ในทางตรงกันช้าม ถ้าซื้อไปแล้ว ตลาดหุ้นเกิดปรับตัวขึ้นอย่างเดียวมากจนเป็นฟองสบู่ เราก็ได้ขายทำกำไรออกมาบ้างส่วนหนึ่งเป็นระยะๆ เนื่องจากมีการทำ rebalancing ใหม่ทุกปี หรือถ้าตลาดไม่ไปไหนเลยแต่ย่ำอยู่กับที่ติดต่อกันหลายปี เราก็ยังได้ทำกำไรจากการเล่นรอบไปด้วยจากการทำ rebalancing ทุกสิ้นปีด้วย กลยุทธ์นี้จึงดูเหมือนจะได้ประโยชน์ทุกสถานการณ์ ดูไปแล้วจึงน่าจะเป็นวิธีซื้อ index fund ที่ดีกว่าการซื้อแบบ buy-and-hold ธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นแบบซื้อทันที หรือแบบรอไปเรื่อยๆ ไม่รู้ถึงเมื่อไร

เคยมีงานวิจัยบางชิ้นที่อ้างว่าทำ back-test กับข้อมูลในอดีตแล้วพบว่า buy-and-hold จะให้ผลตอบแทนได้มากกว่ากลยุทธ์ portfolio rebalancing แต่พอไปดูไส้ในของการวิจัยนี้แล้วปรากฏว่า ช่วงเวลาที่ใช้ทำ back test นั้น เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นติดต่อกันยาวนานพอดี ก็แน่นอนล่ะครับ ถ้าหากตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นตลอดทางที่เราลงทุน การซื้อหุ้นด้วยเงินทั้งหมดตั้งแต่เริ่มแล้วถือไว้ตลอดย่อมได้ผลตอบแทนสูงกว่าการทำ asset allocation อยู่แล้ว เพราะเงินทั้งหมดถูกซื้อที่ต้นทุนต่ำสุดเมื่อตอนเริ่มต้นลงทุน แต่ในความเป็นจริง เราไม่รู้หรอกว่าตลาดหุ้นจะเป็นขาขึ้นหรือขาลงหรืออยู่กับที่หลังจากที่เราตัดสินใจเริ่มต้นลงทุน การที่ buy and hold ได้ผลดีกว่าใน scenario เดียวจึงไม่ได้แปลว่ามันดีกว่า เพราะถ้าตลาดหุ้นเกิดเป็นขาลงตลอดหลังจากที่เราลงทุนบ้าง คราวนี้ buy-and-hold จะกลายเป็นวิธีที่ให้ผลตอบแทนที่เลวร้ายหนักสุดไปเลย ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่มีใครรู้ว่าตลาดหุ้นอนาคตจะไปทางไหน กลยุทธ์ที่ดีกว่าจริงๆ จึงควรเป็นกลยุทธ์ที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเมื่อเทียบกันทุกๆ สถานการณ์ ยังๆ portfolio rebalancing จึงเป็นกลยุทธ์ที่ดีกว่า buy-and-hold ภายใต้สถานการณ์ที่เราไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร กล่าวคือ แม้ไม่ได้ผลตอบแทนกรณี best case แต่ก็ไม่มีโอกาสเป็น worst case ด้วยเช่นกัน ถ้าพิจารณาแบบเผื่อทุกสถานการณ์แล้ว portfolio rebalancing น่าจะเป็นกลยุทธ์ซื้อดัชนีที่น่าใช้มากกว่า

มีบทวิจัยที่ทำการทดสอบว่า การปรับพอร์ต (rebalancing) ทุกเดือน ทุกไตรมาส และทุกปี แบบไหนจะได้ผลตอบแทนสูงที่สุด ผลปรากฎว่า ทั้งสามแบบได้ผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาวที่แทบไม่ต่างกันเลย ดังนั้นการทำ rebalancing ปีละครั้ง น่าจะมากเพียงพอแล้ว เพราะการทำบ่อยกว่านั้น ไม่ได้เพิ่มผลตอบแทนเท่าไร แต่กลับเปลื้องค่าคอมและเวลาของเรามากกว่าด้วยซ้ำ

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องตัดสินใจคือ เราควรกำหนดสัดส่วนเงินสดต่อหุ้นเป็นเท่าไรดี ในทางการเงิน แนะนำให้เราพิจารณาจากระยะเวลาลงทุนที่ยังเหลืออยู่ของเราเอง ยิ่งเรามีเวลาลงทุนนานเท่าไรก็รับความเสี่ยงได้มากเท่านั้น จึงควรกำหนดสัดส่วนให้ถือหุ้นมากหน่อย เพราะหุ้นผันผวนสูงแต่ให้ผลตอบแทนดีกว่า และเมื่อระยะเวลาในการลงทุนเหลือน้อยลงก็ค่อยๆ ปรับสัดส่วนใหม่ให้มีเงินสดเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ขึ้น หรือที่เรียกกันว่า Glide Path Strategy ตัวอย่างเช่น ถ้าอายุแค่ 20 เพิ่งเริ่มต้นลงทุน อาจใช้สัดส่วนหุ้นต่อเงินสดเป็น 80:20 แล้วค่อยๆ ลดสัดส่วนหุ้นลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น จนเหลือเวลาอีกแค่ห้าปีจะเกษียณ อาจมีสัดส่่วนหุ้นต่อเงินสดกลายเป็น 30:70 เป็นต้น ก็จะ optimal ที่สุดครับ

ข้อเสียอย่างเดียวที่ผมยังมองเห็นเกี่ยวกับ portfolio rebalancing ก็คือ กลยุทธ์นี้ทำให้เราใช้เงินสดไม่มีประสิทธิภาพเท่าไรนัก ตัวอย่างเช่น สมมติว่าคุณกำหนดสัดส่วนหุ้นต่อเงินสดไว้ที่ 50:50 แล้วผ่านไปหนึ่งปี บังเอิญตลาดหุ้นเกิดวิกฤตใหญ่ หุ้นตกมากถึง 50% แบบนี้เวลาปรับพอร์ต คุณจะใช้เงินสดที่ถือไว้ 50 ส่วน มาซื้อหุ้นเพิ่มแค่เพียง 12.5 ส่วนเท่านั้น (ลองคำนวณตามดู) นั้นแสดงว่า แม้ตลาดหุ้นจะตกมากถึงขนาดนั้น แต่คุณก็ยังใชเงินสดที่ถือรอไว้ ซื้อถัวเฉลี่ยเพิ่มไปเพียงแค่ 12.5% เท่านั้น ทั้งที่ในเวลาปกติ คุณต้องถือเงินสดไว้เฉยๆ มากถึง 50% เลยทีเดียว ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่ใช้เงินสดที่ถือไว้เฉยๆ อย่างไม่ค่อยเต็มประสิทธิภาพอยู่เหมือนกัน

ผมเคยออกแบบกลยุทธ์การทำ rebalancing แบบใหม่ขึ้นมาเล่นๆ เพื่อหาทางแก้ไขจุดอ่อนตรงจุดนี้อยู่เหมือนกัน เรียกได้ว่าเป็น การดัดแปลง กลยุทธ์ portfolio rebalancing ให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น แต่เป็นวิธีที่คิดเล่นๆ ขึ้นมาเอง ไม่มีในตำรา เอาไว้วันหลังจะเอามาเล่าสู่กันฟัง แต่สำหรับวิธีมาตรฐานที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็ถือว่าเป็นวิธีที่พอใช้ได้แล้ว เป็นวิธีที่ผมแนะนำสำหรับใครที่อยากลงทุนใน index funds แบบ passive ครับ [End]

35 thoughts on “159: กลยุทธ์สำหรับ index funds”

  1. สวัสดีครับ ผมเพิ่งสมัครสมาชิก แต่ยังอ่านบทความไม่ได้น่ะครับ ไม่แน่ใจว่าต้องทำอย่างไรต่อ ตัวอักษรในบทความมันแสดงเพียงย่อหน้าแรกน่ะครับ ขอบคุณครับ

  2. อ่านได้แล้วครับ ขอบคุณมากครับ,

    ได้ประโยชน์มากเลยครับ เป็นข้อเขียนที่ตรงกับความคิดตอนนี้พอดี เพราะส่วนตัวก็ลงทุนแบบ passive fund เป็นหลัก และรอโอกาสที่จะได้ซื้อของถูกอยู่เสมอ (แต่ก็ยังไม่ค่อยมาเสียที ^_^)

    ก่อนนี้ก็เคยลองคำนวณสัดส่วนการถือหุ้นหลายๆแบบ แล้วจำลองสถานการณ์เวลาหุ้นตก จึงเห็นด้วยกับมุมมองที่ว่า แม้ตลาดตกมากๆ เราก็ยังไม่ได้ใช้เงินสดที่มีให้เต็มที่ เมื่อเทียบกับปริมาณเงินที่ถืออยู่ (ยิ่งถ้ามีสัดส่วนหุ้นเยอะอยู่แล้วด้วย)

    เลยคิดว่าถ้าตกหนักจริงๆ อาจจะปรับเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น ให้มากกว่าภาวะปกติไปด้วยเลย

  3. ขอบคุณครับ เป็นวิธีที่ได้ผลและไม่ต้องเสี่ยงมากเลยครับ ถ้าใช้รวมกับแนวคิดของ Talmud asset allocation model เพิ่ม อสังหาริมทรัพย์ มาอีกหนึ่ง asset class เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงผมว่ายิ่ง ทําให้พอร์ต เสถียรขึ้นไปอีก ครับ
    ส่วนของหุ้นถ้า แบ่งเป็น us equity, foreign developed, foreign emerging market และตาม fame & french three factor model= market factor+size factor+value factor ใน 60% ของเงินทุน
    ส่วน fix-income long-term bond, short-term bond และ tips อย่างละ 10%
    ส่วน อีก 10% เป็น property หรือ real estates fund
    ผมว่าวิธีนี้ น่าจะช่วย ลดความเสี่ยง ของ single country stock market ดังที่พี่กล่าวมาแล้วครับ
    แล้ว rebalancing ทุกปีให้ เป็น 60:30:10

    พี่เห็นว่า จัดพอร์ตแบบนี้เป็นไงยังบ้างครับ

  4. รออ่านอยู่นะคะ การดัดแปลงกลยุทธ์ใหม่ ขอบคุณคะ *+*

  5. ชอบมากค่ะ ทำเรื่องยากให้เข้าใจง่าย และยังยืนอยู่บนจุดที่ให้คนธรรมดาทั่วไปก็ทำได้เนี่ย นับถือจริงจริง

    ชั้นได้ติดตามหนังสือและบทความคุณ เริ่มเปิด port ครั้งแรก2แบบ คือcash balance และโปรแกรมออมหุ้น
    ถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว ไม่เคยได้จากแบบแรกเลยเหนื่อยต้องตามด้วย ซื้อแล้วแดงทุกที ^^! ซื้อขายไม่ถูกจังหวะเลยค่ะ เลยขอตามขบวน7thLTG ต่อไปด้วย และว่าจะลองแนว index fund นี้ด้วยค่ะ

    รอติดตามกลยุทธ์ต่อไปอยู่นะคะ

  6. ส่วนผม ตอนนี้นอกจาก Index Fund แล้ว ก็เริ่มสนใจจะออมหุ้นกับเขาบ้าง

    เพราะบางครั้งเราก็อยากเลือกหุ้นเอง + สนุกที่เห็นเงินได้งอกเงยไปอีกขั้น เมื่อเทียบกับ Index Fund

  7. คิดยังไงกลยุทธ Dollar Cost Averaging ในการทยอยซื้อ Index Fund ครับ

    สมมติแบ่งเงินออกเป็นซัก 10 ส่วน แล้วทยอยซื้อไปปีละแสน จนครบ 1 ล้าน
    ก็จะได้ต้นทุนเฉลี่ย ที่น่าจะครอบคลุม Cycle ของตลาดพอดี

    แต่ก็อย่างว่า มันมีค่าเสียโอกาสของเงินทุนส่วนที่ไม่ได้ลงทุนในหุ้นปีแรกๆไปอยู่ดี

  8. เพิ่งส่ง username/password ให้คุณ boonlap ทาง gmail เมื่อสักครู่ครับ

    ที่ผมเคยคิดเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง portfolio balancing กับ DCA ก็คือ สำหรับ DCA จะเหมาะกับคนที่ยังไม่มีเงินก้อนที่ต้องการลงทุน แต่ต้องการหักเงินเดือนส่วนหนึ่งออกมาค่อยๆ สะสมเงินออมทุกเดือนจนกว่าจะมีเงินก้อน ส่วน Portfolio Balancing จะเหมาะกับคนที่มีเงินก้อนอยู่แล้ว แต่ไม่รู้จะลงทุนอย่างไร

  9. ยังสงสัยอยู่ครับ
    ถ้าตลาดลงหลายปีติดต่อกันเช่นเกิน3ปี มันไม่กลายเป็นว่าเราเอาเงินไปถัวเฉลี่ยราคาขาลง พอปีที่4ตลาดขึ้นเรากลับขายได้กำไรน้อยเพื่อเก็บเงินสด ซึ่งโดยสภาพตลาดหุ้นไทยในอดีต ระยะเวลาขาลงยาวนานกว่าขาขึ้น(จนเซียนป๋องยังเอามาตั้งเป็นประโยคประจำตัวทำนองว่า ซึมยาวเป็นเต่าคลาน สุขขีปีะเด๊๋ยวประด๋าว) ระยะเวลาที่เป็นจำนวนปีของตลาดที่ขึ้นและลงมีผลต่อกลยุทธนี้มั๊ยครับ

  10. ผมว่าทุกๆ สามถึงห้าปี ตลาดหุ้นไทยมันเปลี่ยนนิสัยไปเรื่อยๆ นะครับ ถ้าลองสังเกตดู เมื่อก่อนนี้ ตลาดหุ้นไทยเป็นอย่างที่ว่าจริงๆ เวลาเพื่อนบ้านทรุด มันทรุดตาม เวลาเพื่อนบ้านขึ้น มันไม่ค่อยไป แต่พอมายุคสามสี่ปีให้หลัง กลับกลายเป็นตรงข้าม เดี๋ยวนี้ตลาดไทยแข็งกว่าเพื่อนบ้านมาก ถ้าใครใช้อดีตเป็นตัวตัดสิน ในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมาคงขายหมูกันไปหมดแล้ว

    ดังนั้นผมเลยคิดว่า บนสมมติฐานที่เราไม่รู้ล่วงหน้าว่าอีกห้าปีข้างหน้าตลาดหุ้นจะเป็นแนวไหน เราควรเลือกวิธีที่รับมือได้ดีพอสมควรกับภาวะตลาดทุกรูปแบบ

  11. ขอบคุณพี่โจ๊กมากค่ะ อ่านทีไรได้ไอเดียดีๆ ตลอด เป็นกำลังให้กับทุกผลงาน มีหนังสือครบทุกเล่มค่ะ

  12. วิธีการลงทุนแบบที่พี่เขียนทำให้ผมนึกถึงหนังสือที่เคยอ่านเจอที่ไหนสักเล่มเลยครับ (ขอโทษด้วยจริงๆที่จำชื่อหนังสือเล่มน้ันไม่ได้นะครับ)
    เพียงแต่อาจารย์ท่านนี้ แนะนำให้ลงทุนในทรัพย์สิน 4 อย่างครับคือ index funds, เงินสด, พันธบัตร, ทองคำ แล้วทำการ rebalancing ให้เท่าๆกัน เมื่อครบทุกๆ 1 ปี
    ไม่รู้ว่าพี่เคยอ่านเจอไหม

  13. พี่โจ๊กครับกรณี index fund ถ้าเรา rebalance สัก 1 ปีครึ่งจะดีกว่า rebalance ทุกๆ 1 ปีรึไม่ครับ ในกรณีภาวะตลาดหลายๆ แบบ

    1. @Nider มีการวิจัยพบว่า ระยะห่างของการ rebalance แต่ละแบบ ให้ผลลัพธ์ในระยะยาวที่ไม่ได้ต่างกันมาก ดังนั้นแล้วแต่ครับ แต่นานหน่อยน่าจะดีกว่า เพราะจะได้ไม่ต้องเสียเวลาเยอะ

  14. version ดัดแปลงอีกนานไหมคะ กำลังคิดอยู่ว่าจะทำแบบไหนดีค่ะ

  15. จริงๆ ก็ว่าจะเลิกซื้อกองทุนแล้วค่ะ สองสามปีที่ผ่านมาซื้อกองทุนหุ้นแบบทุกเดือนเยอะกว่าที่ซื้อ 7thltg ซื้อหลายกองด้วย แต่พอไปดูหุ้นส่วนใหญ่ที่แต่ละกองซื้อก็เป็นหุ้นซ้ำๆ กัน คิดว่าจะเปลี่ยนมาซื้อหุ้นเองเลยดีกว่า แต่เนื่องจากเป็นเงินคนละส่วนกัน ก็เลยจะเปิดใหม่อีกบัญชีหนึ่ง เลือกเอาตามใจชอบได้มา 9 ตัว รบกวนถามคุณนรินทร์ว่ามีตัวไหนที่มีข้อเสียมากๆ ที่ไม่น่าจะซื้อไหมคะ CPF TCAP PS
    PTT BGH BTS INTUCH CPALL BANPU

  16. ขอบคุณค่ะ ครบรอบสามปี 7thltg กองแรกพอดี (จำไม่ได้แล้วว่าตอนนั้นดัชนีเท่าไหร่) เปิดใหม่กองนี้ดัชนี 1200 รอดูว่าอีกสามปีจะถึง 1700 ได้มั้ย 🙂

  17. มีโอกาสอ่านบทความคุณโจ๊ก แล้วสมัครสมาชิก เริ่มซื้อ tmbset 50 พร้อมกับกองหุ้น 5 ตัว (BIGC, BGH, TUF, DCC, HMPRO) ซื้อตอนSET1200 จุด ขอบคุณกับคำแนะนำค่ะ

  18. ขอบคุณครับ อยากรู้ว่า ถ้า เป็น LTFจะใช้กลยุทธ์เดียวกันนี้ได้หรือเปล่า ครับ ถ้าเปรียนเทียบซื้อ เฉลี่ยทุกเดือนแบบไหนดีกว่ากันครับ

  19. พี่โจ๊กครับ กลยุทธ์การใช้ VA แทน DCA นั้นให้ผลตอบแทนมากกว่าในขาขึ้นและขาดทุนน้อยกว่าในขาลง แต่ปัญหาคือเงินที่ควรเพิ่มแต่ละงวดคือเงินต้นอย่างเดียว หรือเงินต้น+(กำไรเฉลี่ยของset/12) (ตอนนี้ผมยังมึนๆอยู่เลยแค่ DCA อย่างเดียวไปก่อนอ่ะครับ)

  20. ขอเสนอความเห็น ให้พี่โจ๊กเขียนบทความเกี่ยวกับ Vix index ครับ ^ ^

  21. อยากให้ทำ Model Reขbalancing ออกมาให้เล่นกันหน่อยครับ รอเอามาใช้ด้วยครับ

  22. ช่วงที่ผ่านมาผมพยายามออกแบบ rebalancing model อันหนึ่งเพื่อแก้ไขจุดอ่อนของโมเดลมาตรฐานดู ทีแรกนึกว่าสำเร็จแล้ว แต่มาดูอีกทีพบว่ามันยังมีจุดอ่อนอยู่เยอะ เลยต้องพับไปก่อน

    ใครคิด model แจ๋วๆ ออกจะมาแชร์กันก็ได้ครับ

  23. ดูยังไงครับท่านแม่ทัพว่าเป็น index fund แล้วมันมีทั้ง LTF&RMF เลยรึปล่าวครับ

  24. หมายถึงกองทุนไหนเป็น index fund มั่งอ่าครับ ดูยังไงครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *