อันที่จริงผมไม่ค่อยได้ลงทุนแนวหุ้นปันผลเท่าไร แต่ก็มีประเด็นหลายอย่างที่คิดว่า น่าจะนำมาคุยกับท่านนักลงทุนเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ ไว้เพิ่มทางเลือกครับ
เวลาได้ยินคนชักชวนให้ซื้อหุ้นปันผลกัน บ่อยครั้งผมมักได้ยินตรรกที่ว่า ถือหุ้นปันผลไปเถอะยังไงก็คุ้ม เพราะทุกปีได้เงินปันผลก็มากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากอยู่แล้ว ว่าแล้วก็ขุดรายชื่อหุ้นที่มี Dividend Yield สูงกว่าตลาดมากๆ ออกมาให้เลือกซื้อกัน [premium level=”1″ teaser=”yes” message=”โปรดล็อกอินเพื่ออ่านบทความเต็ม หรือสมัครสมาชิกรายปี”]
โดยส่วนตัวผมเห็นว่าเป็นตรรกที่หยาบเกินไปครับ!
ประการแรก หุ้นกับเงินฝากนั้นมีความเสี่ยงไม่เท่ากันและต่างกันมาก การเอา Yield มากเป็นตัวเปรียบเทียบกับตรงๆ จึงผิดหลักการลงทุนโดยสิ้นเชิง ดอกเบี้ยเงินฝากนั้นได้แน่นอน แต่เงินปันผลนั้นไม่ใช่ (ไม่ใช่สัญญา) อีกทั้งเงินต้นของหุ้นนั้นไม่ได้การันตีอย่างเงินฝาก ถ้าได้ปันผลสูงกว่าดอกเบี้ยสัก 2% แต่อาจขาดทุนเงินต้น 30-40% เลยก็ได้ จึงเอาแต่ Yield มาเปรียบเทียบกันแบบนี้ไม่ได้
ประการต่อมา การคัดหุ้นปันผลโดยดูจาก Dividend Yield เป็นหลักนั้น เป็นเรื่องที่อันตราย เพราะ DY เกิดจาก “เงินปันผลต่อหุ้น” หารด้วย “ราคาตลาดต่่อหุ้น” การที่ DY มีค่าสูงมาก ไม่ได้เกิดจากการที่บริษัทจ่ายเงินปันผลเยอะอย่างเดียวแต่เกิดจากการที่หุ้นตัวนั้นมีราคาตลาดที่ต่ำผิดปกติได้ด้วย ซึ่งในกรณีหลังนั้น เราต้องเฉลียวใจด้วยว่า ทำไมตลาดจึงถึงให้ราคาบริษัทนั้นต่ำกว่าปกติ การค้นหาว่ามีหุ้นตัวไหน DY สูงๆ บ้างไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไรเลย แค่เปิดตารางหุ้นดูก็รู้แล้ว การที่ราคาหุ้นต่ำผิดปกติจึงอาจเป็นเพราะตลาดเห็นว่ามีอะไรอย่างอื่นที่ไม่ดีเกี่ยวกับบริษัทนั้นอยู่ ซึ่งต้องตรวจสอบ
หุ้นที่มี DY ที่สูงผิดปกตินั้น จำนวนไม่น้อยเลยเป็นหุ้นของธุรกิจที่แต่ไหนแต่ไรมากำไรปีต่อปีของบริษัทผันผวนอย่างมาก และบริษัทก็บังเอิญอยู่ในช่วงที่กำไรเป็นขาลงพอดี เมื่อตลาดทิ้งหุ้นตัวนั้น เพราะรู้ว่ากำไรกำลังจะลดลงในอนาคต ก็จะทำให้ DY มีค่าสูงขึ้นได้เองอย่างมาก เพราะ เงินปันผลที่เป็นเศษของ DY นั้น เป็นเงินปันผลของงวดที่แล้ว แต่ราคาหุ้นสะท้อนอนาคต เมื่อนักลงทุนซื้อไปแล้วก็มักพบกับความผิดหวังในอีก 6 เดือนข้างหน้า เมื่อบริษัทประกาศลดหรืองดจ่ายเงินปันผล ทำให้ DIY กลับไปต่ำเหมือนเดิม ซะงั้น
ดังนั้นถ้าหากคุณเป็นนักลงทุนที่เล่นหุ้นปันผลจริงๆ คุณควรจะมีวิธีคัดหุ้นปันผลที่แยบผลกว่าปกติทั่วไป ที่จริงแล้ว เราไม่ได้ต้องการหุ้นที่จ่ายปันผลสูงมากๆ จนผิดปกติ แต่เราต้องการหุ้นที่ปันผลสูงกว่าค่าเฉลี่ยบ้าง (แต่ไม่จำเป็นต้องสูงจนผิดปกติ) แต่ที่สำคัญกว่าคือ ต้องจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ
หุ้นปันผลสม่ำเสมอคือหุ้นที่มีผลประกอบการ (กำไร) ไม่ผันผวนรุนแรงจนเกินไประหว่างปีต่อปี และมีประวัติที่ยาวนานของการจ่ายเงินปันผลที่ไม่ต่ำกว่าเดิม แม้แต่ในบางปีที่ผลประกอบการออกมาไม่ดี ยิ่งประวัติดีเท่าไร ก็ยิ่งเป็นหุ้นปันผลที่น่าสนใจ แม้ DY จะสูงปานกลาง ไม่ถึงกับสูงมากก็ตาม
บังเอิญได้ไปเห็นสถิติที่ตลาดหลักทรัพย์ทำไว้ เกี่ยวกับหุ้นที่จ่ายปันผลต่อเนื่อง 20 ปี พอดี [url]https://docs.google.com/open?id=0B0yBOgvjj3wcSjkzN19rTUpUWVE[/url] เลยเอามาฝากกัน ที่จริงมันยังเป็นสถิติที่ไม่ตรงใจผมทีเดียวนัก ที่ผมอยากได้จริงๆ คือ รายชื่อหุ้นที่ไม่ใช่แค่จ่ายปันผลทุกปีอย่างเดียวแต่ต้องจ่ายแบบอย่างน้อยเท่าเดิมทุกปีด้วย แม้แต่ในปีที่ยากลำบาก ยิ่งทำได้ติดต่อกันนานเท่าไรก็ยิ่งดี หุ้นแบบนี้จะเป็นหุ้นปันผลที่น่าสนใจ
อีกเรื่องหนึ่งที่นักลงทุนควรจดจำก็คือว่า เงินปันผลไม่ใช่ obligation แต่อย่างใด บริษัทจึงไม่จำเป็นต้องจ่่ายเงินปันผลเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการบริษัท นักลงทุนจึงยึดเงินปันผลในอดีตเป็นสรณะไม่ได้ แม้แต่ในปีที่บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น แต่คณะกรรมการบริษัทจะงดจ่ายปันผลโดยอ้างว่ากำลังโตเร็วเลยต้องเก็บเงินสดไว้ลงทุนเพิ่มก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความเห็นของคณะกรรมการบริษัทล้วนๆ
ทั้งนี้รวมถึง “นโยบายการจ่ายเงินปันผล” (Dividend Policy) ที่บริษัทประกาศไว้กับตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่ใช่สัญญาเช่นเดียวกัน เป็นแค่ guideline ซึ่งบริษัทจะบิดพริ้วก็ไม่มีความผิดแต่อย่างใด
โปรดอย่าไปยึดติดกับ DY และ DP เพราะน้ำตาคุณจะเข็ดหัวเข่าได้ครับ
อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยน Dividend Policy สามารถมองเป็นทฤษฏีเกมได้ด้วย ในทางทฤษฎีถือว่า ถ้าอยู่ดีๆ บริษัทประกาศปรับเปลี่ยน Dividend Policy เช่น เพิ่มจาก 30% เป็น 50% ของกำไรสุทธิ แสดงว่า บริษัทต้องเห็นแล้วว่าธุรกิจของบริษัทจะมีกระแสเงินสดที่ดีขึ้น ไม่ใช่แค่ปีหน้าปีเดียวเท่านั้น แต่เป็นระยะยาว ถึงได้ตัดสินใจให้มีการแก้ไข DP อย่างเป็นทางการ ซึ่งแปลความได้ในเชิงบวกสำหรับนักเล่นหุ้นปันผล (แต่ Growth Investor อาจมองเป็นสัญญาณลบ เพราะแปลว่า ธุรกิจของบริษัทจะเปลี่ยนจาก Growth Company ไปเป็น Cash Cow แล้ว)
Dividend Policy ที่บริษัทประกาศไว้เป็นตัวเลขอีกตัวหนึ่งที่เราอาจใช้พิจารณาประกอบเวลาคัดหุ้นปันผลก็ได้ เพราะ Dividend Policy ควรมีความสัมพันธ์กับการเติบโตทางธุรกิจด้วย โดยมีความสัมพันธ์แบบหยาบๆ ตามสูตร Growth = r x ROE เมื่อ r = retention ratio
ตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัท A มี Dividend Policy ว่าจะจ่ายปันผลไม่น้อยกว่า 70% ของกำไรสุทธิ แสดงว่า กำไรร้อยส่วนจ่ายปันผลเจ็ดสิบ อีกสามสิบเก็บไว้ลงทุนต่อ แบบนี้ r จะเท่ากับ 30%
ถ้าบริษัท A มี ROE อยู่ที่ 10% จะได้ว่า Growth ที่ควรจะเป็นของธุรกิจจะเท่ากับ r x ROE หรือ 30% x 10% หรือเท่ากับ 3% ต่อปี
ดังนั้น บริษัท A ควรโตได้เฉลี่ย 3% ต่อปีเป็นอย่างน้อยด้วย (โดยไม่ต้องกู้เพิ่มหรือเพิ่มทุน) จึงจะถือว่าเอากำไรส่วนที่ไม่ได้จ่ายเงินปันผลออกมาไปลงทุนต่อแล้วได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับทุนที่ลงไป อย่างนี้เป็นต้น
ในตัวอย่างนี้ 3% เป็นตัวเลขที่ง่าย เพราะธุรกิจส่วนใหญ่ถ้าไม่โตเลยก็ควรโตได้อย่างน้อยเท่ากับเงินเฟ้อที่ 3% อยู่แล้ว แต่ถ้าเราไปเจอบริษัทที่จ่ายปันผลแค่ 30% ของกำไร ทั้งที่มี ROE สูงถึง 30% แต่ในระยะยาวบริษัทกลับโตได้แค่ 3% อย่างนี้ถือว่าจ่ายปันผลน้อยเกินไป และใช้เงินลงทุนได้ไม่คุ้มค่า เพราะทางทฤษฎีแล้ว ควรจะโตได้ 21% เป็นอย่างน้อย
อย่างไรก็ตาม สูตรนี้เป็นแค่การประมาณ ไม่ต้อง exact มากครับ แค่ดูมิให้หลุดไปมากๆ ก็พอ[End]
คุณควรจะมีวิธีคัดหุ้นปันผลที่”แยบผล”กว่าปกติทั่วไป
หมายถึงอะไรเหรอครับพี่
ขอบคุณกับบทความดีๆครับ
หมายถึง มันไม่น่าจะเป็นแค่การเปิดตารางหุ้นในนสพ.ดูแล้วก็ลงทุนในตัวที่มี DY สูงๆเท่านั้น
ขอบคุณค้าบ ^^
จากเคสย่อหน้าสุดท้าย roe 30%, ปันผล 30% (r จะเท่ากับ 70%)
ตามสูตร Growth จะเท่ากับ 70% x 30% = 21% รึเปล่าครับ
ทำไม ผม login เข้ามาได้แล้วแต่ไม่สามารถดู บทความนี้แบบทั้งหมดของพี่นรินทร์ ได้ละครับ
ผมทำตรงไหนผิดไปหรือเปล่าครับผม ช่วยแนะนำด้วยครับ
@slb
ในส่วนของการชำระเงินยังไม่สมบูรณ์ครับ ถ้าหากชำระผ่าน Paypal ไม่สำเร็จ ใช้วิธีโอนเงินเข้าบัญชีได้ครับ ดูเลขบัญชีได้ในหน้า https://dekisugi.net/member
@TiDTeE
เป็นตามที่ทักท้วงมาครับ แก้ไขให้เรียบร้อย ขอบคุณมากครับ
ขอสอบถาม 2 เรื่องครับ Growth = r X ROE (r = Retention Ratio) ในย่อหน้าสุดท้าย
1. Growth ที่ควรจะโตนั้น คือ Net Profit ของบริษัทหรือ Total Revenue ครับ
2. Retention Ratio จริงๆแล้วหากบริษัททำไปลงทุนเพียงส่วนหนึ่ง ex. สำรองตามกม. นั้นนักลงทุนสามารถหาข้อมูลตรงนี้จากงบกระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน แล้วหารด้วย Net Profit จะให้ r ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้นไหมครับ? หรือว่าคิดหักจาก %DY ครับ
ขอบคุณมากครับพี่สุมาอี้
ชำระค่าสมาชิก ผ่าน paypal มันแปลกๆ ไม่ยอมเด้งกับมาที่ dekisugi.net มันค้างอยู่ที่ หน้า payment ไม่รู้ว่าสำเร็จรึเปล่า แต่มี mail จาก paypal comfirm การชำระเงินแล้ว
@wittayanun
ใช้ได้แล้วครับ ใช้พาสเวิร์ดที่ได้เลือกไว้ล็อกอินแล้วอ่านบทความได้เลย
รบกวนพี่สุมาอี้ช่วี้แนะในคำถามที่ถามไปเมื่อวันที่ 30 Jun 2012 ด้วยครับ
ขอบคุณมากครับ
โทษทีครับ อ่านแล้วว่าจะกลับมาตอบแต่ดันลืม
ตามสูตรจริงๆคือ กำไรครับ แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ ส่วนตัวผมชอบ revenue มากกว่า เพราะกำไรปีต่อปีอาจเหวี่ยงได้ด้วยสาเหตุร้อยแปด แต่ในระยะยาวรายได้กับกำไรน่าจะเติบโตด้วยอัตราเดียวกัน (เพราะธุรกิจเดิม มาร์จิ้นเฉลี่ยระยะยาวน่าจะเท่าเดิม)
Retention ratio ก็เหมือนกัน ในทางปฏิบัติอาจต้องเอาปันผลต่อกำไรมาถัวเฉลี่ยระยะยาวเอา หรือมิฉะนั้นก็ใช้นโยบายปันผลของบริษัทเป็นตัวแทนไปเลย
link หุ้นที่จ่ายปันผล 20 ปีย้อนหลัง มันกดไม่ไปน่ะครับ
ผมลองเช็คดูแล้วเข้าได้ปกตินะครับ
ลองเข้าไปลิงค์นี้แทนก็ได้
http://www.set.or.th/th/company/files/MenuStock_jun2012.pdf
ขอบคุณมากครับพี่สุมาอี้
ขอบคุณคับผม
ขอบคุณครับ ได้อ่านบทความดีๆอีกแล้ว ^_^
@คุณ trophy ผมว่าจะแยกยากหรือเปล่าคับ
เพราะ ถ้าดูจากในงบกระแสเงินสด
บางทีมันก็แยกไม่ได้ ว่า เป็น maintanance capex or capex f0r growth
ถ้าจะเจาะขนาดนั้น ใช้ parameter อื่น หรือใช้วิธีที่ deep ไปเลย
น่าจดีกว่า
???หรือเปล่าคับ???
การลงทุนสำหรับผู้ที่มีระยะเวลาการลงทุนน้อย เช่น อายุห้าสิบ up ควรลงทุนในหุ้นปันผลมากกว่าหุ้นเติบโต ขอความคิดเห็นด้วยค่ะ …เกี่ยวกันไหมคะ
ขอบคุณทุกท่านที่ให้ประสบการณ์ดีๆอะค่ะ
จากสูตรการหาgrowth ของคุณนรินทร์ ผมมีคำถามว่า แล้วถ้าเป็นบริษัทที่มีการจ่ายเงินปันผล 100%ของกำไรสุทธิ เราจะใช้สูตรไหนในการหาค่าgrowth หรอครับ
เอากำไรจ่ายปันผลออกหมดก็คือไม่หวังเติบโตในระยะยาวแล้ว ก็ใช้ dividend model ธรรมดา เช่น P= Div/r
ดิฉันเลือกหุ้นปันผล(สมาชิก) พอคลิกแล้วไม่มีข้อมูลค่ะ
ถ้าเป็นบทความ [สมาชิก] ลงทะเบียนแล้วยังต้องชำระเงินด้วยถึงจะอ่านได้ ถ้าชำระเงินผ่านเน็ตไม่เป็น จะโอนเข้าบัญชีธนาคารก็ได้ 300 บาทต่อปีครับผม สะดวกธนาคารไหนแจ้งได้ครับ
พี่โจ๊ก,
บริษัทที่มี % dividend yield มากกว่า % ดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคาร
ทำไมบริษัทนั้น ไม่กู้เงินจากธนาคารเอามาซื้อหุ้นคืน แล้วจ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคารอะครับ