Skip to content

154: หุ้นกลับตัว (Turnarounds)

ปีเตอร์ ลินซ์ กล่าวว่า หุ้นในตลาดมีหกจำพวก โตช้า-โตปานกลาง-โตเร็ว-หุ้นสินทรัพย์แฝง-หุ้นวัฏจักร-หุ้นกลับตัว แต่ที่น่าสนใจที่สุด ได้แก่ หุ้นโตเร็ว กับหุ้นกลับตัว เพราะเป็นหุ้นสองจำพวกจะทำให้คุณได้กำไรเป็นเท่าตัวได้

โดยส่วนตัว ผมสนใจหุ้นโตเร็วเป็นหลัก ต้องยอมรับว่า หุ้นกลับตัว นั้นไม่ใช่แนวทางที่ผมถนัดเอาเสียเลย ผมว่าคนที่จะเล่นหุ้นกลับตัวได้ดี ต้องเป็นคนที่สามารถอุทิศเวลาให้กับการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับตัวหุ้นแบบเกาะติดได้ ในขณะที่คนที่เล่นหุ้นโตเร็วนั้น ยังสามารถใช้วิธีมองไปข้างหน้าให้ไกลๆ กว่าคนอื่น แล้วยอมรับความผันผวนในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ผมก็มีประเด็นที่อยากพูดถึงเกี่ยวกับวิธีเล่นหุ้นกลับตัวอยู่บ้างเหมือนกัน
[premium level=”1″ teaser=”yes” message=”โปรดล็อกอินเพื่ออ่านบทความเต็ม หรือสมัครสมาชิกรายปี”]
เวลามีหุ้นบางตัวในตลาดเจอข่าวร้ายมากๆ ทำให้ราคาหุ้นร่วงลงเกินปกติจนกลายเป็น Talk of the Town ผมมักได้ยินเสมอในช่วงเวลาแบบนี้ว่ามีคนเชียร์ให้เก็บ เพราะบอกว่าราคาหุ้นถูกมาก เป็นโอกาสทอง คนที่ใจกล้าในเวลาที่คนอื่นกลัวแบบนี้ จะได้รับผลตอบแทนที่งดงาม

แต่ผมกลับไม่ชอบโอกาสลักษณะนี้เลย และไม่ชอบเก็บหุ้นในสถานการณ์แบบนี้ด้วย ถ้าราคาหุ้นร่วงลงไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีข่าวร้ายใดๆ เลยนั่นคงเรียกว่าเป็น “โอกาส” ได้ แต่หากราคาหุ้นร่วงลงไปเรื่อยๆ เพราะว่ามีข่าวร้ายด้วยนั้น ผมว่ามันไม่จำเป็นต้องเป็นโอกาสเสมอไป ตรงกันข้าม มันอาจเป็นการลงอย่างมีเหตุผลเสียด้วยซ้ำ เพราะปัจจัยพื้นฐานมันไม่เหมือนเดิม เราจะไปคิดว่า มูลค่ามันต้องเท่าเดิมได้อย่างไร การที่ราคาหุ้นลดลงมากจึงอาจเป็นการลงที่มีเหตุผลและไม่เรียกว่า “โอกาส”

ผมเคยใช้ตรรกแบบหุ้นลงแรงๆ แปลว่าเป็นโอกาสมาก่อนกับหุ้น Palm Inc.ในตลาดสหรัฐฯ หุ้นตัวนี้ราคาลงมาจากเกือบสองร้อยเหรียญหลัง dot bom จนเหลือแค่หนึ่งเหรียญกว่าๆ ผมมองว่า ราคาได้ลดลงมามากพอแล้ว (-99%) หุ้นจึงน่าจะถูกแล้ว ก็เลยเข้าไปซื้อเก็บไว้

ผลปรากฎว่า หลังจากที่ซื้อไป ราคาลงต่อไปเหลือเพียงแค่ 60 เซ็นต์ (ขาดทุนราวๆ  50%) และพอมันรีบาวด์ขึ้นมาบ้างในอีก “สาม” ปีต่อมา มันก็ไม่เคยขึ้นมาถึงต้นทุนของผมได้เลย ตกลงว่า ตัวนี้ขาดทุนไปเลยเต็มๆ โชคยังดีที่ไม่กล้าซื้อเพิ่มเพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุนด้วย หาไม่แล้วคงขาดทุนหนักกว่านี้อีกมาก

หุ้นกลับตัว อาจมี upside สูงที่เกิดจากการที่ราคาหุ้นลดต่ำลงไปมาก แต่ในเวลาเดียวกัน downside ก็สูงมากด้วยจากการที่หุ้นอาจกลับตัวไม่สำเร็จในที่สุด มันจึงเป็นหุ้นที่พ่วงมาทั้งผลตอบแทนและความเสี่ยง ไม่ใช่โอกาสอย่างเดียว หุ้นกลับตัวที่กลับตัวไม่สำเร็จจนต้องล้มละลายในที่สุดนั้นจะทำให้คุณขาดทุนมากถึง 100% เสมอ ไม่ว่าตอนที่ซื้อ คุณจะสามารถซื้อได้ต่ำแค่ไหนก็ตาม

พวก Private  Equity ที่ทำดีล LBO มาเยอะๆ บอกว่า เทคนิคสำคัญในการตัดสินใจว่าควรเข้าไปลงทุนในบริษัทที่กำลังจะล้มละลายหรือไม่ คือให้ดูไปที่ตัวสินค้าก่อนว่ายังเป็นสินค้าที่มีคนซื้อหรือไม่ (สมมติว่าสินค้านั้นขายโดยบริษัทอื่นที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการเงิน) ถ้าตัวสินค้าก็ขายไม่ได้ด้วยแล้ว ให้ยุติดีลไปได้เลย ต่อให้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้ถูกแค่ไหนก็ไม่คุ้ม แต่ถ้าสินค้ายังขายได้ ถึงค่อยมาพิจารณาด้านอื่นต่อไป

ผมว่าข้อคิดอันนี้สอนอะไรเราได้หลายอย่างเกี่ยวกับการเล่นหุ้นกลับตัว กล่าวคือ ไม่ว่าราคาหุ้นจะลงมามากแค่ไหนก็ไม่อาจบอกได้เลยว่าราคาหุ้นถูกแล้ว แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่ไปด้วยเสมอคือ แล้วด้านพื้นฐานล่ะ มันแย่ลงมากหรือน้อยกว่าราคาหุ้นแค่ไหน

บางคนถือคติว่าจะไม่เข้าไปเก็บหุ้นขาลงเลย ไม่ว่ามันจะถูกลงแค่ไหนกว่าตาม จนกว่าจะเห็นปัจจัยพื้นฐานใหม่ๆ ที่จะช่วยให้หุ้นกลับตัวได้จึงค่อยเข้าไปซื้อ วิธีนี้เป็นกลยุทธ์ที่ไม่เลว เพราะแม้ว่าอาจจะต้องซื้อแพงสักหน่อย แต่โอกาสที่หุ้นจะกลับตัวได้มีมากกว่า เพราะจริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องซื้อได้ที่จุดต่ำสุดก็สามารถทำกำไรจากหุ้นกลับตัวได้ แต่ที่เราอยากจะแน่ใจมากกว่าคือ หุ้นกลับตัวที่เราซื้อนั้นกลับตัวได้สำเร็จจริงๆ และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมบอกว่า การเล่นหุ้นกลับตัวจำเป็นต้องตามข่าวสารแบบเกาะติด เพราะเราต้องคอยดูว่าว่าปัจจัยใหม่ๆ ที่อาจช่วยให้บริษัทกลับตัวได้นั้น ยังเป็นไปตามที่เราคาดไว้หรือไม่ เพราะถ้าหากไม่เป็นไปตามที่คาดคิดเมื่อไร เราต้องรีบออกตัวให้ทัน เพื่อลดการขาดทุนหนักๆ ไม่ใช่เล่นหุ้นกลับตัวแบบนักมวยขาตาย

ช่วงเวลาหนึ่งที่มักเป็นโอกาสของหุ้นกลับตัว คือ ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโดยรวมเริ่มฟื้นตัวจากภาวะตกต่ำพอดี ช่วงเวลาแบบนี้ แม้แต่เป็ดง่อยก็บินได้ โอกาสที่บริษัทจะพลิกฟื้นสถานการณ์ขึ้นมาได้เพราะปัจจัยภายนอกส่งเสริมนั้นมีสูง เวลาแบบนี้เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่หุ้นกลับตัวมีความน่าสนใจเป็นพิเศษ วิธีคิดของนักลงทุนในช่วงเวลาแบบนี้จะกลับตาลปัตรกับช่วงเวลาปกติ เพราะยิ่งบริษัทมีปัจจัยพื้นฐานแย่มากเท่าไรก็จะยิ่งมี Upside สูงมากเท่านั้น ในขณะที่บริษัทดีๆ ในช่วงเวลาแบบนี้กลับปรับตัวขึ้นได้ไม่ค่อยมาก

นอกจากตัวธุรกิจเองแล้ว ความแข็งแรงของ Balance Sheet ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากของการดูหุ้นกลับตัว บางคนเข้าไปช้อนซื้อธุรกิจที่กำลังจะล้มละลายในราคาหุ้นที่ต่ำมาก พอหุ้นกลับตัวได้จริง ปรากฎว่าต้องมีการเพิ่มทุนครั้งใหญ่ ทำให้สุดท้ายแล้วมูลค่าบริษัทยังอยู่ แต่มูลค่าหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิมแทบไม่เหลือเลย เพราะถูก Dilute อย่างมหาศาลโดยกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ที่เข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องให้บริษัท สุดท้ายแล้วก็ขาดทุนอยู่ดีทั้งที่บริษัทสามารถกลับตัวได้สำเร็จ

หุ้นกลับตัวที่มี Balance Sheet ที่อ่อนแอมากๆ บางทีการรอคอยจนกว่าจะมีแผนเพิ่มทุนที่ชัดเจนว่าหุ้นเดิมจะต้อง Dilute อีกเท่าไร แล้วค่อยเข้าไปลงทุน อาจเป็นจังหวะที่ดีกว่า เพราะแม้จะต้องซื้อแพงขึ้นหน่อย แต่ Downside Risk จะต่ำกว่ามาก

จำไว้ว่า เวลาเล่นหุ้นกลับตัว อย่ามองแต่ Upside อย่างเดียว แต่ต้องพยายามเลือกโอกาสที่มี Downside ที่จำกัดด้วย จึงจะเป็นโอกาสของการลงทุนที่ดีกว่า (Favorable Bets/Positive NPV) ที่แท้จริง[End]

13 thoughts on “154: หุ้นกลับตัว (Turnarounds)”

  1. โดยส่วนตัวจะเข้าซื้อหุ้น (ที่คิดว่า) Turnaround กับหุ้นที่โดน special crisis อย่างเช่น hamburger crisis หรือ Thailand mega flood ปลายปีที่แล้ว ตัวอย่างชัดเจนน่าจะเป็น หุ้นอิเลคฯ กับ หุ้นอสังหา ที่สามารถ turnaround อย่างน่าประทับใจ

    แต่หุ้นที่ลงจากสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง การแข่งขัน หรือ product substitution เช่น หุ้น Palm , NOKIA, RIM (AAPL กับ Samsung กินส่วนแบ่งไปอย่างรวดเร็ว) หรือ ของไทยเช่น BANPU (shale gas/ demand หดตัวจากเศรษฐกิจถดถอย) แบบนี้จะคิดหนักว่าควรซื้อถัวขาลงหรือไม่

    ปล. ลึกๆผมเชื่อว่า BANPU จะกลับมาได้ครับ

  2. SSI ภาระทางการเงินหนักหน่วงมากๆ ก็เข้าข่าย turnaround เพราะ “ถ้า” สามารถกลับมาได้ ก็น่าจะมีมูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากทีเดียว (แต่ต้องขีดเส้นใต้คำว่า ถ้า และต้องคำนึงถึงว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนถึงจะกลับมาได้ด้วยเหมือนกัน)

    ผมก็คิดอะไรคล้ายคุณ atip เหมือนกัน คือ ถ้าให้ผมช้อนซื้อหุ้นที่ตกไปมากๆ ผมชอบหุ้นที่ตกเพราะปัจจัยตลาดหุ้นหรือเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่าหุ้นที่ตกเพราะปัจจัยลบที่เกิดขึ้นกับตัวของมันเอง เพราะอย่างแรกน่าจะเป็นการตกที่ไม่มีเหตุผลมากกว่าอย่างหลัง

    บ้านปูคิดว่าพื้นฐานเปลี่ยนไปจริงๆ ดังนั้นมูลค่่าน่าจะหายไปพอสมควร แต่ก็คิดว่าบริษัทนี้น่าจะกลับมาได้ เพราะเป็นบริษัทที่มีการจัดการที่ดีครับ

  3. หุ้นประกัน เช่น MTI ที่ได้รับผลกระทบการน้ำท่วม จ่ายความเสียหายจากการแคลมส่วนที่เป้นสาระสำคัญไปแล้ว ไตรมาสต่อไปงบการเงินน่าจะเริ่มมีกำไร turnaround แนวนี้ พี่ชอบไม๊?

    1. ถ้าให้เก็งกำไรก็อาจจะเล่นสนุกๆ ครับ แต่ต้องตรวจงบดุลให้ดีกว่าจะมีเพิ่มทุนรึเปล่า ส่วนระยะยาวนั้น รู้สึกว่าผบห.ของบริษัทนี้ชอบเสี่ยงนะครับ ถือแล้วนอนไม่ค่อยหลับ แต่ถ้าเป็น เมืองไทยประกันชีวิต ล่ะก็ ชอบเลย

  4. AH ถือว่าแนว turnaround ไม๊ กำไร/ขาดทุน ปีเว้นปี แต่เมื่อปีที่แล้วหนักหน่อย โดนน้ำท่วมเต็มๆ แต่อุตสาหกรรมรถของไทยน่าจะไปได้สวย แล้วQ1ก้อกลับมาได้แล้ว Q2, Q3, Q4 น่าจะดีขึ้นมาลำดับ (จากน้อย–> ไปมาก) ( แต่ปีนี้ น่าจะตรงข้ามกับปีปกติที่ จะโตมาก:Q1 –> น้อย:Q4) แต่ติดที่เมื่อก่อนผู้บริหารมีประวัติเกี่ยวกับธรรมภิบาล แนวนี้ไหวไม๊ ?

    1. อึมไม่แน่ใจว่าเล่น turnaround กลุ่มรถยนต์จากน้ำท่วมตอนนี้จะยังทันรึเปล่า เพราะมันฟื้นตัวชัดเจนมานานหลายเดือนแล้ว ตลาดเลยน่าจะรับข่าวไปพอสมควรแล้ว แต่ถ้ามีเหตุผลอย่างอื่นก็เป็นอีกเรื่องนึงครับ

  5. Banpu ผมคิดว่า ราคาปัจจุบัน ถือว่าลงมาน้อยนะครับ ถ้าเทียบกับหุ้นถ่านหินในต่างประเทศ คงเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่า นักลงทุนเชื่อมือบริษัท Banpu ค่อนข้างมาก

  6. ผมว่าmalee เป็นตัวอย่างดีมากๆ กับหุ้นกลับตัวอ่ะครับ

    ในมุมมองพี่ คิดว่าอะไรเป็นสาเหตุให้ malee พุ่งแรงมากในช่วงปีที่ผ่านมาอ่ะครับ

  7. เป็นเคสที่น่าสนใจครับ

    เดาว่าบริษัทที่โดนแขวนไปนาน และราคาล่าสุดก่อนจะถูกแขวนก็ต่ำมากๆ พอวันที่มันกลับมาได้ใหม่ คงไม่มีใครกล้าซื้อมันที่ราคาใหม่ที่เหมาะสมทันที เพราะภาพของราคาเดิมที่ต่ำเตี้ยมันยังหลอนอยู่ในความทรงจำของตลาดอยู่ ก็เลยเกิด gap ที่ใหญ่มาก กว่าที่ตลาดจะกล้าไล่ซื้อจนไปสู่ราคาใหม่ที่เหมาะสม (based on ปัจจุบันอย่างแท้จริง) จึงเป็นอะไรที่ไกลมาก ก่อให้เกิดช่วงโอกาสทอง เป็น market abnomaly อย่างหนึ่ง

    คล้ายกับกรณีของหุ้น ASIA วันแรกเปิดมาก็แถวๆ ราคาเก่าที่โดนแขวน แล้วมันก็วิ่งทุกวันจนเป็นหลายๆ เด้งในเวลาแค่ไม่กี่วันอย่างน่าตกใจมาก

    ถ้ามีกรณีแบบนี้อีกก็น่าสนใจไม่น้อย ;p

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *