Skip to content

176: ค้นหาแนวการลงทุนของคุณ

วิธีการลงทุนที่ใช้ได้ดีในตลาดหุ้นนั้น ผมเห็นว่ามีได้มากกว่าหนึ่งแนว จะสังเกตเห็นได้ว่า ทุกๆ แนวที่เป็นที่นิยมกันนั้นล้วนมีคนกลุ่มหนึ่งที่ประสบความสำเร็จได้ทั้งสิ้น (และจะเป็นคนส่วนน้อยเสมอ ตามกฎของธรรมชาติ ที่คนที่ประสบความสำเร็จต้องมีจำนวนน้อยเสมอ ไม่ว่าเรื่องไหน) ดังนั้นจึงเป็นเรื่องป่วยการที่จะมานั่งทำสงครามกันว่าวิธีไหนดีกว่ากัน

ทางที่ดีกว่าคือ น่าจะเอาเวลาไปค้นหาว่า วิธีไหนเหมาะสมกับบุคลิก/ความถนัด/ศักยภาพ และการใช้เวลาของเราเองมากที่สุด  เพื่อให้เรามีโอกาสดีที่สุดที่จะประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้ เวลาพิจารณาแนวการลงทุนแต่ละแนว ควรตรวจสอบดูด้วยว่า แต่ละวิธีนั้น มีความสมเหตุสมผลและสอดคล้องในตัวของมันเองแค่ไหน

แต่ถ้าใครลงทุนมาหลายปีแล้ว ยังหาที่ลงไม่ได้สักทีว่า ตัวเองควรลงทุนแนวไหนกันแน่ ผมได้คัดกรองแนวลงทุนที่น่าสนใจ (เฉพาะแนวที่เน้นปัจจัยพื้นฐาน) มาให้เลือกกันดู 3 แนว เพราะผมเห็นว่า 3 แนวนี้มีความสมเหตุสมผลในตัวมันเอง จึงเป็นแนวทางที่น่าจะประสบความสำเร็จได้ แต่ในระหว่างสามแนวนี้ คุณควรจะเลือกแนวไหนนั้น ผมคงตอบแทนให้ไม่ได้แล้ว เพราะขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของแต่ละคนจริงๆ คุณต้องคิดเอาเอง

1. แนวทำกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของ EPS ในระยะสั้น

แก่นของวิธีนี้คือ การ “ขุด” หาแต่หุ้นที่ EPS รายไตรมาสกำลังจะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญมากๆ เท่านั้น เช่น มากกว่า 50-100% ขึ้นไป แล้วเข้าไปซื้อหุ้นรอไว้ก่อนที่ผลประกอบการจะออกมา เมื่อราคาปรับตัวขึ้นเยอะพอแล้ว หรือเมื่องบการเงินประกาศออกมาตามนั้น ก็รีบขายออกมา เพื่อนำเม็ดเงินไปลงทุนในหุ้นตัวใหม่ที่มีลักษณะเดียวกันอีกไปเรื่อยๆ (ทำรอบ)

วิธีนี้ผมมองว่าเป็นวิธี “รวยเร็วๆ” ด้วยหุ้นวิธีหนึ่งที่เป็นไปได้ โดยส่วนตัวแล้ว ผมจึงไม่ได้ against แนวคิดแบบนี้ เพียงแต่คนที่มีเป้าหมายแบบนี้ จะต้องยินดีที่จะทำงานหนักด้วย ไม่ใช่แค่อยากรวยอย่างเดียว แต่ว่าไม่ยินดีที่จะทำงานหนัก แบบที่คนจำนวนมากชอบทำกัน คนอยากรวยที่ทำงานหนักด้วยนั้น ผมชื่นชมเสียด้วยซ้ำ

คนที่จะใช้วิธีนี้ได้ผล ควรอุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้กับตลาดหุ้นได้ เพราะหัวใจความสำเร็จของวิธีนี้คือ การเข้าถึงข้อมูลที่รวดเร็ว และแม่นยำกว่าคนอื่น จึงจำเป็นต้องให้เวลาไปกับการขุดข้อมูลให้มากกว่าคนทั่วไป แต่ข้อดีของวิธีนี้คือ ไม่ต้องอาศัย “วิสัยทัศน์” ซึ่งอาจเป็นเรื่องของพรสวรรค์ แต่อาศัยพรแสวงหรือความขยันเสียมากกว่า (เพราะการคาดการณ์กำไรระยะสั้นนั้นต่อให้เป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ดียังไง ก็คงสู้คนที่รู้ข้อมูลไม่ได้) นอกจากนี้คุณยังอยู่ในเกมเดียวกันกับคนที่มีข้อได้เปรียบบางอย่างด้วย (both legal and illegal) ดังนั้นคุณจึงจำเป็นต้องเป็นคนที่รอบจัดพอสมควร ไม่ใช่คนที่ถูกใครหลอกได้ง่ายๆ  ผมรู้จักบางคนที่เล่นหุ้นด้วยวิธีนี้บางคนที่ลงทุนตีสนิทกับ IR ของบริษัท เพื่อที่จะสามารถต่อสายไปเช็คข่าวกับ IR ได้ทันท่วงที เวลาที่เกิดอะไรที่ดูไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับราคาหุ้น เพราะแม้ IR จะบอกข้อมูลบางอย่างไม่ได้ แต่อย่างน้อยการได้พูดคุยกับ IR เพื่อ sense อะไรบางอย่าง ก็ย่อมได้เปรียบคนอื่นอย่างแน่นอน กฎทุกข้อมี gray area เสมอ

วิธีนี้จะสามารถคาดหวังผลตอบแทนในระดับ 50-100% ต่อปี หรือมากกว่านั้นก็ได้ (ขึ้นอยู่กับความขยันที่ใส่ลงไปด้วย) มันจึงเป็นวิธีที่สามารถตอบสนองคนที่มีเป้าหมายการลงทุนแบบ “รวยด้วยหุ้น” ได้ ถึงแม้ว่าจำนวนคนที่ประสบความสำเร็จจะมีค่อนข้างน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนนักลงทุนทั้งหมดที่เลือกเล่นหุ้นด้วยวิธีนี้ แต่ผมก็มองว่าวิธี “รวย” เร็วๆ ด้วยวิธีอื่นๆ ทุกวิธีในโลกนี้ ก็ล้วนมีคนจำนวนน้อยที่ประสบความสำเร็จด้วยกันทั้งนั้นแหละ ผมจึงไม่ถือว่าเป็นข้อเสียของวิธีนี้แต่อย่างใด

นักลงทุนวัย 20+ เป็นกลุ่มที่มีได้เปรียบในการลงทุนวิธีนี้มากที่สุด เพราะยังมีเวลาเหลือให้ลองผิดลองถูกได้อีกมากทำให้แบกรับความเสี่ยงได้มากกว่าคนอื่น นอกจากนี้ ความรู้เรื่อง Technical ยังเป็นความรู้ที่มีประโยชน์สำหรับการลงทุนแนวนี้ เพราะระยะเวลาการลงทุนที่ค่อนข้างสั้นทำให้ราคาหุ้นมีลักษณะเป็นโมเมนตัมค่อนข้างมาก ในขณะที่ Valuation อาจไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไรนัก บางคนบอกว่าเล่นหุ้นวิธีนี้ต้องเลือกหุ้นพีอีต่ำๆ ด้วย แต่ผมคิดว่าไม่จำเป็นเสมอไป เพราะราคาหุ้นในระยะสั้นจะปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ขึ้นอยู่กับ EPS จะเปลี่ยนแปลงมากแค่ไหนเป็นตัว catalyst ที่สำคัญมากกว่าคำว่าราคาหุ้นถูกหรือแพง ส่วนคนที่ควรหลีกเลี่ยงวิธีนี้คือคนที่ขี้เกียจทำการบ้านหรือเป็นคนที่คิดว่าเราจะรวยด้วยหุ้นได้แบบง่ายๆ เพราะมันจะเป็นหลุมศพของคุณเลยทีเดียว เพราะคุณจะเป็นเหยื่อตลอด

นอกจากนี้ลักษณะหุ้นที่เหมาะกับวิธีนี้มากที่สุดมักจะได้แก่ หุ้นกลับตัว (Turnaround) เพราะหุ้นกลับตัวมักมีการเปลี่ยนแปลงของ EPS จากไตรมาสสู่ไตรมาสเป็นตัวเลขที่สูงได้มากๆ ด้วยเหตุนี้ เมื่อหุ้นกลับตัวได้แล้ว จึงมักไม่ค่อยน่าถือต่อเท่าไรนัก เพราะตัวเลข EPS growth ที่ดูสูงผิดปกติมักจะไม่ค่อยยั่งยืนต่อไปในระยะยาว จึงไม่จำเป็นต้องถือยาว นักลงทุนแนวนี้จึงไม่ควรยึดติดกับตัวหุ้น และอย่าคิดว่าหุ้นตัวเดิมจะสร้าง EPS ให้เติบโตสูงๆ ในระดับเดิมได้ต่อเนื่องตลอดไป

ส่วนในแง่ของการบริหารพอร์ตเพื่อปกป้องความเสี่ยง เช่น การ Diversify นั้น อาจไม่จำเป็นกับแนวนี้เลยก็ได้ ถ้าหากนักลงทุนรู้จักการ cut loss เพื่อลิมิต downside จะเป็นวิธีป้องกันความเสี่ยงที่ได้ผลมากกว่า และนั่นทำให้นักลงทุนที่ใช้วิธีนี้สามารถลงทุนแบบมาร์จิ้นได้ด้วย (เพราะถ้าจะขาดทุนมากเกินไปก็รีบ cut loss เอา) แต่ถ้าหากหุ้นตัวที่สนใจมีสภาพคล่องค่อนข้างน้อย การ Diversify เพื่อช่วยลดความเสี่ยงอีกทางหนึ่งด้วยก็เป็นเรื่องที่ควรจะทำครับ หรือบางคนอาจจะเลือกเล่นแต่หุ้นสภาพคล่องสูงไปเลย เพื่อให้สามารถ cut loss ได้ทุกตัว จะได้ไม่ต้องห่วงเรื่อง diversify เลย แน่นอนจิตใจที่เด็ดเดี่ยวเป็นคุณสมบัติของคนที่ใช้วิธี cut loss เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้วย

2. Medium/Long-term Growth Investing

แนวนี้เริ่มต้นด้วยการมองหาบริษัทที่มีแนวโน้มทางธุรกิจในอนาคตที่ดี เช่น สินค้าเป็นเมกะเทรนด์ หรือบริษัทมี Growth Strategy ที่ยอดเยี่ยม และในเวลาเดียวกันตัวธุรกิจก็มี “คูเมือง” ที่แข็งแกร่งด้วย ทำให้ทนทานต่อการแข่งขันโดยคู่แข่ง หรือปัจจัยเสี่ยงทางมหภาคได้ แล้วเข้าไปซื้อหุ้นเพื่อถือลงทุนแบบค่อยๆ เติบโตไปพร้อมๆ กับบริษัท ยอมรับความผันผวนของราคาหุ้นหรือผลประกอบการที่เกิดขึ้นระหว่างทางได้ เพราะเชื่อว่า ยังไงๆ กำไรของบริษัทก็ยังเป็นขาขึ้นในระยะยาว

วิธีนี้เหมาะกับนักลงทุนทุกวัย คาดหวังผลตอบแทนได้ในระดับ 15% ต่อปี มีข้อดีคือ ทำให้ไม่ต้องเกาะติดตลาดหุ้นมากจนเกินไป เพราะเป็นการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทในระยะกลางถึงยาวมากกว่า มีเวลาทำอย่างอื่น สามารถลงทุนเป็น Hobby และสนุกกับการวิเคราะห์หุ้นได้ อันเป็นไปตามหลักคิดเรื่องให้เงินทำงาน แต่มีข้อด้อยคืออาจหวังรวยเร็วๆ แบบวิธีแรกไม่ได้ แต่ถ้าสามารถรอ 10-15 ปีได้ ก็มีโอกาสรวยได้ไม่ยากด้วยพลังของการทบต้น

แนวคิดเรื่อง Valuation เป็นแนวคิดที่มีประโยชน์สำหรับการลงทุนแนวนี้ โดยไม่จำเป็นต้องเลือกหุ้นที่มี Valuation ที่ถูกมากๆ (เพราะถ้าคิดอย่างนั้น อาจไม่มีวันได้ซื้อ Growth Stocks) แต่จะต้องไม่แพงมากเสียจนต่อให้บริษัทเติบโตได้ตามที่คิดไว้จริงก็ยังเป็นพีอีที่แพงอยู่ดี เพราะอย่างนั้นก็คงไมไ่ด้อะไรจากการอุตส่าห์ถือนานๆ เลย ในภาวะปกติ บริษัทที่กำไรน่าจะเติบโตได้ในระยะยาว และมี Valuation ในระดับกลางๆ จะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุดสำหรับวิธีนี้

แม้ว่า ความรู้เรื่องธุรกิจและการลงทุน รวมทั้งสิ่งที่เรียกว่า “วิสัยทัศน์” อาจจำเป็นจะต้องมีอยู่บ้างสำหรับคนที่ลงทุนด้วยวิธีนี้ แต่สิ่งเหล่านี้สามารถทดแทนได้ด้วยการ Diversify เพราะอย่างไรเสีย คนที่มีวิสัยทัศน์ที่ดีที่สุดก็ไม่อาจคิดถูกได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว จึงควรเลือกลงทุนกับหุ้นอย่างน้อย 5 ตัว เพื่อให้สามารถมีช่องว่างของความผิดพลาได้ แต่รวมๆ แล้วผลตอบแทนของทั้งพอร์ตออกมาดี ปัจจัยที่กลับถือได้ว่าสำคัญมากกว่าวิสัยทัศน์สำหรับการลงทุนแนวนี้คือ ความสามารถในการหักห้ามใจไม่ให้ตกอยู่ในอิทธิพลของตลาดและความผันผวนของราคาหุ้นมากกว่า เช่น ถ้าทุกคนบอกว่าหุ้นตัวนี้ดี ก็ไม่ได้ทำให้เราคิดว่าหุ้นตัวนั้นจะต้องดีตามคนอื่นไปด้วยเสมอไป หรือถ้าราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรงมากก็ไม่ได้ทำให้เราคิดว่าพื้นฐานมันจะดีไปด้วยเสมอไป คนที่จะลงทุนแนวนี้ได้ดีมักได้แก่คนที่กล้าซื้อหุ้นที่พื้นฐานดีตั้งแต่ตอนที่ยังไม่มีใครคิดว่ามันดีเพราะราคาหุ้นยังไม่ได้ชี้ให้เห็นว่ามันดี และสามารถรอคอยจนกว่าบริษัทจะ execute growth strategy ให้สำเร็จ โดยไม่โลเลไปก่อน เพราะราคาหุ้นที่ผันผวน รวมทั้งการไม่ขายเร็วจนเกินไป เมื่อถึงเวลาที่ราคาหุ้นเริ่มสะท้อนผลประกอบการ

ในทางตรงกันข้าม กับดักอีกอย่างหนึ่งของการลงทุนวิธีนี้คือ การให้ความสำคัญกับ Valuation มากเกินไปทำให้มองข้ามการพิจารณาเรื่องคุณค่าของตัวธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิง เช่น มัวแต่ยึดติดว่าพีอีสูงคือแพง โดยที่ไม่ได้นำอัตราการเติบโตของรายได้มาพิจารณาประกอบเลย เป็นต้น

อีกแนวหนึ่งที่สามารถเรียกได้ว่า Growth Investing ด้วยเหมือนกันคือแนวที่มองการลงทุนแบบปีต่อปี คือต้นปีก็มาดูทีหนึ่งว่า ปีนี้จะมีหุ้นตัวไหนมี EPS เติบโตดีบ้าง แล้วก็ลงทุนกับหุ้นกลุ่มนั้น พอสิ้นปีก็มาเลือกกันใหม่อีกที แบบเดียวกับที่นักลงทุนสถาบันนิยมทำหรือนิยมแนะนำหุ้นให้ลูกค้า โดยส่วนตัวผมไม่ชอบวิธีการลงทุนแบนนี้เท่าไร เพราะระยะเวลาที่สั้นเกินไป การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นจึงอาจยังไม่สอดคล้องกับผลประกอบเท่าไร จึงมีปัญหาเรื่อง Timing ที่ค่อนข้างเล่นยาก ผมว่า Medium/Long-term น่าจะเวิร์คกับ Growth Investing มากกว่า แต่กลับไม่ค่อยมีคนทำกันมากนัก

3. Classical VI

แนวนี้ยึดหลักการลงทุนของ เบนจามิน แกรม ต้นตำรับ Value Investing อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า อนาคตของธุรกิจเป็นเรื่องทำนายได้ยาก จึงให้ความสำคัญกับอัตราส่วนทางการเงินในปัจจุบันมากกว่า ข้อดีของวิธีนี้คือ ไม่จำเป็นต้องรู้หรือทำความเข้าใจอะไรเกี่ยวกับตัวธุรกิจของบริษัทให้มากนัก เพราะคัดเลือกหุ้นโดยใช้พวกอัตราส่วนทางการเงินทั้งหลายเป็นตัวกรองหุ้นเป็นหลัก

โดยส่วนตัว ผมว่าแนวนี้มีกับดักที่สำคัญคือ การที่คุณจ้องจะซื้อแต่หุ้นที่มีอัตราส่วนทางการเงินที่ถูกมากๆ เช่น พีอีหรือพีบีต่ำมากๆ เพื่อถือว่าหุ้นที่มีลักษณะแบบนี้เป็นหุ้นที่ถูกนั้น ในความเป็นจริง คุณจะทำให้คุณไปซื้อเอาหุ้นที่พื้นฐานไม่ดีเข้าไว้ในพอร์ตเยอะมาก เพราะหุ้นที่รายได้กำลังเป็นขาลง หรือหุ้นที่กำลังมีปัญหาทางการเงินนี่แหละที่จะมีอัตราส่วนทางการเงินต่ำเป็นพิเศษ ดังนั้น การลงทุนในแนวนี้จะต้องอาศํยการ Diversify มากๆ เพื่อลดความเสี่ยงด้วย

นอกจากนี้ เนื่องจากหุ้นที่มีพีีอีต่ำในภาวะปกติส่วนใหญ่มักไม่ใช่ธุรกิจที่ยังมีการเติบโต ดังนั้นการซื้อหุ้นเหล่านี้ในเวลาที่ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะปกตินั้น อาจไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีเท่าไร เพราะจะหวังพึ่งกำไรที่มาจากการเติบโตของตัวธุรกิจมากไม่ได้ ผมจึงมีความเชื่อว่า คนที่จะลงทุนด้วยวิธีนี้แล้วได้ผลตอบแทนที่ดีๆ ต้องเป็นนักรอคอยอย่างยิ่ง กล่าวคือ จะต้องไม่ซื้อหุ้นในสภาวะปกติเลย แต่ต้องรอให้ตลาดหุ้น Crash หนักๆ เท่านั้นจึงค่อยเข้าไปช้อนซื้อของถูกๆ เพื่อให้ต่อให้ซื้อมาแล้วไม่ขายเลยรอกินเงินปันผลไปเรื่อยๆ ไม่ขายออกเลย ก็ยังเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะซื้อหุ้นมาในราคาที่ต่ำมากเสียจน Dividend Yield สูงมากๆ แต่ปัญหาส่วนใหญ่ของคนที่ลงทุนด้วยวิธีนี้คือ มักอดไม่ได้ที่จะซื้อหุ้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้ซื้อหุ้นได้ไม่ถูกจริงๆ

บางคนที่เล่นหุ้นแนวนี้พอเห็นตลาดหุ้นขึ้นไปแรงๆ เช่น 30% ก็ไม่กล้าซื้อ บอกว่าแพงไป แล้วพอตลาดปรับฐานลงมาแค่ 5-10% ก็บอกว่าถูก เลยเข้าไปซื้อโดยใช้แนวการลงทุนแบบนี้ ซึ่งผมมองว่าอันตรายมาก ผมมองว่า ช่วงเวลาที่ควรใช้วิธีการลงทุนแบบนี้น่าจะเป็นการ Crash ใหญ่ ไม่ใช่การปรับฐานธรรมดาๆ ซึ่ง ในรอบหลายๆ ปี อาจมีโอกาสให้ซื้อแค่หนเดียวเท่านั้น นักลงทุนที่ไม่ใช่นักรอคอยจริงๆ จึงไม่ประสบความสำเร็จด้วยการลงทุนแบบนี้

23 thoughts on “176: ค้นหาแนวการลงทุนของคุณ”

  1. เป็นข้อ2 แต่อยากให้ราคามันตอบสนองเร็วแบบข้อ1 นะสิครับ T_T

  2. ยอดเยี่ยมครับ ตอนนี้ผมเป็นแบบ 2 ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆๆๆๆ

    ปีใหม่นี้ขออนุญาตเตรียมของขวัญปีใหม่เล็กๆน้อยๆให้ท่านแม่ทัพ ไว้จะขอนัดนะครับ

  3. ขอบคุณมากครับ แสดงว่าสำหรับแบบ 1 นี่นักลงทุนจะต้องมีครบเครื่องเลยหรือป่าวครับ คือ แนวพื้นฐาน และ แนวเทคนิค เพราะต้องมีไว้ดูจังหวะซื้อขาย และต้อง cut loss เป็น

  4. ขอบคุณมากครับ
    หลังจากลงทุนมาได้เกือบ 6 ปีค้นพบแล้วว่าตัวเองน่าจะถนัดแบบ 2 ไปเรื่อยๆ แบบชิวๆ

    แต่ปัญหาของคนที่ลงทุนแบบที่ 2 คือต้องฝึกวินัยทางด้านจิตใจไม่ได้หวั่นไหวไปกับตลาดด้วย ไม่งั้นจะกลายเป็นว่าไปกล้าซื้อตอนบริษัทมีแต่ข่าวดี (ซื้อหุ้นแพง) และขายออกเมื่อบริษัทประสบปัญหา (ขายถูก)

  5. สำหรับแบบที่1นี่ไม่ทราบว่า เราจะหาสัญญาณเตือนล่วงหน้าได้อย่างไรบ้างครับ ว่าหุ้นตัวไหนจะมีการเปลี่ยนแปลงeps อย่างมีนัยสำคัญรายไตรมาส ในกรณีที่ไม่มีความสามารถจะตีสนิทกับir ได้
    ถ้าดูจาก historical price and volume ที่ก้าวกระโดดก็ไม่ทันเสียแล้ว?

  6. สำหรับแนวที่ 2 ค่า terminate pe ที่ควรจะเป็น สำหรับกิจการแข็งแกร่ง กำไรสม่ำเสมอ แต่ไม่สามารถเติบโตในระดับสูงได้เหมือนในอดีตควรจะเป็นเท่าไรครับ (รักษาการเติบโตไว้ได้ไม่เกิน5%)

  7. ขอบคุณครับ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับมิติอื่นของชีวิตได้ด้วย

  8. แนวทางการลงทุนของพี่โจ๊ก ในพอร์หลักของพี่ ก็เป็นแบบที่ 2 ใช่มั้ยครับพี่? ^ ^

  9. ผมเป็นแบบที่1+2ครับ ถ้าหาหุ้นที่เป็นแบบที่1และต่อด้วยแบบที่2 ในหุ้นตัวเดียวกันคงเทพมากครับ พี่โจ๊กพอจะยกตัวอย่างหุ้นในแต่ละแบบให้เป็นวิทยาทานไว้ศึกษาได้ไหมครับ

  10. อยากรบกวนให้คุณนรินทร์ ช่วยแนะนำหนังสือต่างประเทศที่เกี่ยวกับแนวการลงทุนในหุ้นเติบโตด้วยครับ

Leave a Reply to saiko Cancel reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *