Skip to content

188: การตั้งกฎเพื่อการควบคุมจิตใจ

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ “จิตวิทยา” หุ้นเป็นเรื่องยาก คือ  เวลาที่เรา Bias นั้น เรามักจะไม่รู้ตัวเสมอว่าเรากำลัง Bias แบบเดียวกับ คนเมาที่ชอบเถียงคนรอบข้างว่าไม่ได้เมา

เวลาเรา bias จิตใต้สำนึกของเราจะพยายามเลือกเหตุผลที่สอดคล้องกับการใช้อารมณ์ของเรามาสนับสนุน เพื่อให้เรารู้สึกว่า เรากำลังใช้เหตุผลอยู่ ที่ทั้งจริงๆ แล้ว เรากำลังใช้อารมณ์ แต่เลือกเหตุผลเฉพาะที่ถูกใจเรามาอธิบายเท่านั้น จึงเป็นเรื่องยากที่เราจะจับได้ว่า ตัวเองกำลัง bias อยู่

วิธีหนึ่งที่ดีที่สุดในการลดการใช้อารมณ์โดยเฉพาะ อารมณ์ชั่ววูบในการลงทุน คือ การปิดหน้าจอซื้อขายหุ้นไปโดยสิ้นเชิง ลองสังเกตตัวเองมั้ยครับว่า ถ้าให้นั่งอยู่หน้าจอเทรดที่มีราคาหุ้นกระพริบขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตลอดเวลา ประเดี๋ยวเราจะต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่งกับพอร์ตของเรา อาจสั่งซื้อหรือสั่งขายอะไรสักอย่าง ถ้าจะให้นั่งอยู่หน้าจอตลอดเวลาโดยบังคับไม่ให้ตัวเองเทรดอะไรเลย จะพบว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่เรามองเห็นนี้แหละที่กระตุ้นการใช้อารมณ์ชั่ววูบมากที่สุด

ถ้าเป็นเอามากๆ ก็อาจต้องหยุดอ่านหนังสือพิมพ์หุ้นรายวันไปด้วยเลย

นอกเหนือจากการลดการมองหน้าจอโดยไม่จำเป็นลงแล้ว มาตรการอีกอย่างหนึ่งที่อาจนำมาใช้ได้ คือ การตั้ง “กฎเหล็ก” บางอย่างให้กับตัวเอง โดยเป็นกฎที่เหมาะสมกับการจัดการกับจุดอ่อนของเราเองโดยเฉพาะ

ตัวอย่างเช่น นักลงทุนบางคนเจอหุ้นที่น่าสนใจแล้ว ราคาปัจจุบันก็ซื้อได้ด้วย แต่สุดท้ายแล้ว ก็ไม่ได้ซื้อทุกที เพราะว่าเป็นคนชอบ “ต่อราคา” เวลาจะซื้อหุ้นทีไรก็อดไม่ได้ที่จะขอตั้ง Bid แบบ “ต่อราคา” ลงมาอีกสัก 50 สต. ขนาดวัดมูลค่าหุ้นแล้วพบว่า หุ้นถูกไปตั้ง 20 บาท แต่ก็ยังขอต่อราคาอีก 50 สต. พอตั้งเสร็จแล้ว หุ้นถูกลงมา 25 สต.จริงๆ ก็ Bid หนีลงมาอีก 25 สต. เพราะหวังจะซื้อได้ถูกลงไปอีก พออยู่ดีๆ หุ้นกระตุกขึ้นทีเดียว 1 บาท ก็จะไม่กล้าซื้อ สุดท้ายมันก็ขึ้นไปอีก 2 บาท ก็ยิ่งไม่กล้าซื้อเข้าไปอีก ก็เลยตกรถไฟไปเลย ทุกที

คนที่รู้ตัวว่ามีจุดอ่อนแบบนี้ (คนเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย) อาจตั้งกฎเหล็กกับตัวเองว่า ต่อไปนี้ การซื้อหุ้นทุกครั้ง เราจะเคาะขวาเสมอ ราวกับว่า ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า Limit Order อยู่ในโลก มีแต่ Market Order อย่างเดียว

กฎเหล็กแบบนี้มีข้อดีถึงสองต่อ ต่อแรกคือทำให้เราไม่พลาดหุ้นใดๆ ที่เราวิเคราะห์มาแล้วว่าซื้อเพราะราคายังถูกอย่างมีนัยสำคัญ ต่อที่สองคือ มันยังช่วยทำให้รอบคอบมากขึ้นก่อนที่จะตัดสินใจเก็บหุ้นสักตัวเข้าพอร์ตด้วย เพราะถ้าเรารู้ว่า เราตั้ง Limit Order ไม่ได้ ต้องเคาะขวาอย่างเดียวเท่านั้น ครั้งหน้าก่อนจะซื้อหุ้นสักตัว เราจะคิดให้หนักขึ้นก่อนเสมอ เพราะจะซื้อเพื่อหวังเก็งกำไรขำๆ แค่ 1-2 บาทไม่ได้อีกต่อไปแล้ว พอร์ตของเราก็จะเป็นพอร์ตที่ Focus มากขึ้น ไม่เป็นเบี้ยหัวแตก ถือว่าเป็นผลพลอยได้อีกอย่าง

คนเรามักคิดว่าการที่เรามีทางเลือกมากๆ ย่อมดีกว่าการมีทางเลือกน้อยเสมอ แต่ในความเป็นจริงโดยเฉพาะสำหรับเรื่องการลงทุนแล้ว บ่อยครั้งการมีทางเลือกมากคืออุปสรรคของการลงทุนให้ประสบความสำเร็จ การที่เรามีตลาดหุ้นที่ทำให้เราสามารถซื้อหรือขายหุ้นตัวไหน เมื่อไรและเท่าไรก็ได้ ถ้ามองอย่างผิวเผินแล้ว มันคืออิสรภาพของการลงทุน ที่ผู้ประกอบการต้องอิจฉาพวกนักลงทุนเลย เพราะผู้ประกอบการสร้างธุรกิจอะไรขึ้นมาแล้วก็ต้องอยู่กับมันตลอดไป ถ้ามองไปข้างหน้าแล้วเจอปัจจัยลบชั่วคราว จะขายท้ิงไปก่อนแล้ว ค่อยกลับมาเก็บก็ไม่ได้ เพราะลูกจ้างยังอยู่กับเรา รอให้เราแก้ไขปัญหา หรือถ้าจะขายบริษัททันที ก็ไม่รู้จะขายใครด้วย ในขณะที่นักลงทุนนั้น ถ้าเห็นอะไรไม่ดีรออยู่ข้างหน้า ก็ขายหุ้นหนีได้ภายในหนึ่งนาที เอาเงินไปเล่นตัวอื่นที่ไม่่มีข่าวร้ายรออยู่ หมดข่าวร้ายแล้วค่อยกลับมาถือตัวเดิมต่อก็ได้ ฟังดูแล้วเหมือนจะดี

แต่ที่จริง การที่เรารู้อยู่แก่ใจว่าซื้อหุ้น ABC แล้ว จะขายทิ้งเสียเมื่อไรเลยก็ได้ มันทำให้เราใช้ความคิดน้อยมากก่อนที่จะตัดสินใจซื้อหุ้นสักหนึ่งตัวในกระดานหุ้น เพราะเรารู้ว่าถ้าเปลี่ยนใจเมื่อไรก็ขายได้เลย นั่นแหละที่กลับกลายมาเป็นข้อด้อยของการเป็นนักลงทุน เพราะมันคือสาเหตุที่ทำให้เราลงทุนแบบ ชุ้ยๆ

เป็นเรื่่องแปลกมากที่เวลาเราจะซื้อมือถือสักเครื่องหรือเสื้อผ้าสักชิ้น เรายอมเดินวนไปวนมา ถามราคาทุกร้าน เพื่อที่จะซื้อได้ถูกลงอีก 50 บาท แต่เวลาเราซื้อหุ้นครั้งละแสนหรือล้าน เรากลับใช้เวลาคิดแค่เพียงไม่ถึง 5 นาทีเท่านั้น นั่นก็เพราะเรารู้ว่าซื้อแล้วจะขายทิ้งก็ขายได้ทันที ทำให้เราซื้อหุ้นโดยปราศจากการคิดที่รอบคอบพอ

ผมว่า วอเรน บัฟเฟต ก็เป็นคนหนึ่งที่ใช้วิธีสร้างกฏเหล็กขึ้นมาเป็นอุบายในการควบคุมจิตใจ แทนที่จะใช้ประโยชน์จากความยืดหยุ่นของตลาดทุนอย่างเต็มที่ เขากลับเลือกที่จะสร้างกฎเหล็กขึ้นมาเพื่อจำกัดทางเลือกของตัวเอง เป็นต้นว่า เขาจะจินตนาการว่าตนเองมีบัตรเจาะรู 20 ช่อง ทุกครั้งที่ซื้อหุ้นหนึ่งตัว ก็จะเจาะรูเพิ่มหนึ่งรู และตลอดชีวิตจะเจาะได้แค่ 20 รูเท่านั้น ที่จริงแล้วตลอดชีวิตเขาจะซื้อหุ้นสักหมื่นครั้งก็ได้ แต่เขาจำกัดตัวเองลงให้ซื้อแค่ 20 ครั้ง (ครั้งใหญ่ๆ) นั่นก็เพื่อบังคับให้ตัวเองคิดอย่างถี่ถ้วนมากที่สุดก่อนที่จะลงทุนสักที

วอเรน บัฟเฟต ยังชอบจินตนาการด้วยว่า หุ้นทุกตัวที่ซื้อนั้น เมื่อซื้อไปแล้ว ตลาดหุ้นจะปิดทำการไปเลยห้าปี ทำให้ขายก่อนห้าปีไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าโอกาสนั้นไม่ไช่โอกาสที่ดีมากถึงขนาดที่ว่า ต่อให้ซื้อไปแล้วขายไม่ได้เลยอีกห้าปีเลย ก็ยังน่าซื้ออยู่ดี เขาก็จะไม่ซื้อหุ้นนั้นเลยตั้งแต่แรก เหล่านี้ล้วนเป็นกุศโลบายที่ช่วยควบคุมการลงทุนของตัวเองให้ดีขึ้นทั้งสิ้น

หรือคนที่พบว่าตัวเองมันลงทุนสะเปะสะปะ เคยตั้งใจหลายครั้งแล้วว่า จะลงทุนกับหุ้นตัวไหนเพราะมองเห็นการเติบโตในระยะยาว แต่สุดท้ายก็ไม่เคยถือหุ้นตัวนั้นได้นานแบบที่คิดไว้สักที อาจตั้งกฎเหล็กว่า ต่อไปนี้ เราจะซื้อเฉพาะหุ้นที่ตัวเองคิดว่ามี Upside อย่างน้อย 100% ขึ้นไปเท่านั้นเข้าพอร์ต ถ้าพบโอกาสที่ดี แต่โอกาสน้นมี Upside ไม่ถึง 100% จะไม่เอาเลย

กฎข้อนี้นอกจากจะเพิ่มความ Focus ให้กับพอร์ตได้แล้ว ยังทำให้ไม่หวั่นไหวกับราคาหุ้นด้วย คนที่ซื้อหุ้นโดยคิดว่าหุ้นตัวนี้มี Upside แค่ 10-15% ถ้าหุ้นขึ้นไปนิดหน่อย ก็จะรีบขายออกมาทันที เพราะกลัวมันจะกลับลงมาใหม่ แต่ถ้าเราเชื่อว่าหุ้นตัวนี้มี Upside ประมาณ 100% ถ้าหุ้นขึ้นไป 10% หลังจากที่ซื้อไป เราจะไม่หวั่นไหว เพราะเรารู้ว่าจริงๆ แล้วมันต้องได้กำไรเยอะกว่านี้อีกมาก คนที่ซื้อหุ้นอะไรแล้วสามารถรอทำกำไรเป็นหลายๆ เด้งได้ ต้องเป็นคนที่มีอะไรบางอย่างทำให้เชื่อว่า หุ้นตัวนั้นมีมูลค่าสูงกว่าราคาที่ตลาดในขณะนั้นอย่างมาก (ความเชื่อนี้จะมาจากอะไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่ประเด็น) ถ้าเรามัวแต่ลงทุนกับหุ้นโดยหวัง upside แค่ 10-15% ก็เอา ตลอดชีวิตเราจะไม่เคยกำไรกับหุ้นเป็นเด้งๆ เหมือนคนอื่นได้เลย เพราะหุ้นขึ้นนิดเดียวเราก็อยากขายหมดแล้ว

10 thoughts on “188: การตั้งกฎเพื่อการควบคุมจิตใจ”

  1. ขอบคุณครับ ตรงประเด็น และก็เป็นกับตัวผมเองหลายๆประเด็นเลยครับ

  2. ขำ tag ของบทความนี้อ่ะ

    “เคาะขวา” 5555

    ขอบคุณกับบทความดีๆครับ

  3. ขอข้อเสนอแนะจากพี่นรินทร์ด้วยนะครับ
    เรื่องการตั้งกฏเกี่ยวกับการขายหุ้น อย่างเช่น ขายเมื่อถึงราคาเป้าหมาย , การทยอยขายขาขึ้น หรือแม้กระทั่งถือไปตลอดจนกระทั่งบริษัทเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดี เป็นต้น
    จะมีวิธีสังเกตอย่างไรว่าเราเหมาะสมกับวีธีไหนครับ

  4. ขอบคุณมากครับ ได้อ่านบทความเกี่ยวกับจิตวิทยา นับว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างนึงในการอยู่รอดในตลาด เป็นประโยชน์มาก ๆ ครับ

  5. เห็นด้วยอย่างยิ่งกับบทความครับ

    ปรัชญาการลงทุนที่ดีที่สุดคือให้นึกว่าเรากำลังซื้อบริษัทอยู่ไม่ใช่แค่หุ้น ดังนั้นถ้าหุ้นตกก็น่าจะยิ่งดีสำหรับคนที่เป็น net buyer โดยเฉพาะนลท.รุ่นใหม่ๆเพราะจะมีเงินสดจากการทำงานไหลเข้าตลอดเวลา

    จากมุมมองส่วนตัว ผมว่า”สาเหตุหลัก”ที่คนกลัวหุ้นตกเพราะส่วนใหญ่ “fully invested” เนื่องจากมักมีมุมมองผิดๆที่ว่า การถือเงินสดคือต้นทุนหรือกล่าวได้ว่าเงินสดมี opportunity cost

    แต่สำหรับนลท.มากประสบการณ์มักจะต้องถือเงินสดไว้บ้างอาจจะ 10-15% ของ port ถ้าตลาดตกแรงก็ยิ่งดีเพราะสามารถเพิ่มสัดส่วนความเป็นเจ้าของในบริษัทได้มากยิ่งขึ้น แต่ถ้าตลาดไม่ลงก็ไม่เป็นไรเพราะมองว่าถือเงินสดเหมือนซื้อประกัน นั่นคือเงินสดเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนนั่นเอง

    ในทางกลับกันคนที่ “fully invested” ก็จะกระวนกระวายตลอดเพราะถ้าหุ้นตกก็ไม่มีเงินจะซื้อเพิ่มแน่นอน และนั่นคือเหตุผลที่คนเหล่านั้น trade บ่อยครั้งนั่นเอง

    สรุปแล้วผมว่าตัวช่วยอีกอย่างที่จะทำให้เราไม่กังวลเมื่อตลาดตกก็คือต้องถือเงินสดในระดับที่เหมาะสมครับ อย่ามองแต่ opportunity cost ถ้าหุ้นขึ้นอย่างเดียวเพราะไม่อย่างนั้นนลท.ก็จะไม่สามารถหาหุ้นหลายเด้งได้อย่างแน่นอน

    ขอบคุณสำหรับบทความดีๆอีกครั้งครับ

  6. ตอนนี้ผมกำลังลำบากใจกับกฎสองข้อที่ตั้งขึ้นมาแล้วเงื่อนไขมันขัดกันเองครับ

    ข้อนึงคือ ด้วย PE ตลาดขนาดนี้ ผมจะถือเงินสดในอัตราไม่เกิน 30%
    อีกข้อก็คือ จะไม่ซื้อหุ้นที่ราคาตลาดมากกว่าราคาที่ผมคำนวนได้เด็ดขาด

    ประเด็นก็คือ เนื่องจากพอร์ทผมเป็นพอร์ทเล็ก ๆ ทำให้เงินเดือนที่ผมแบ่งมาลงทุนเพิ่มทุกเดือนมีนัยสำคัญกับ NAV รวมของผม
    และเดือนหน้านี้ เงินที่ใส่เพิ่มจะทำให้สัดส่วนเงินสดเกิน 30% ซึ่งจะขัดกับกฎข้อแรก ไอ้ครั้นจะเอาไปซื้อหุ้นเพิ่มตอนนี้ ราคาตลาดก็เกินราคาที่ผมคำนวนได้จะขัดกับกฎข้อที่สองอีก ผมควรทำไงดีครับ

    คือจริง ๆ ก็ไม่ได้เครียดอะไรมากกับเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้
    เพียงแต่ด้วยอาชีพของผม ผมได้เห็นเห็นความเสียหายครั้งใหญ่ ๆ มีจุดเริ่มต้นจากการอะลุ่มอล่วยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ มาบ่อยเกินไปแล้ว เรื่องเล็ก ๆ แค่นี้ผมเลยไม่อยากมองข้ามน่ะครับ

  7. ผมคิดมานานแล้วว่า Asset Allocation กับ Valuation เป็นกฎที่ขัดแย้งกันอยู่ ไม่สามารถนำมาใช้ดัวยกันได้ทั้งหมด

    Asset Allocation จะใช้กับพอร์ตแบบ passive แท้ๆ ได้ดี เพราะ passive ไม่สนใจเรื่อง Valuation เลย แต่จะใช้กับพอร์ต active ได้ยาก เพราะกลายเป็นมีเป้าหมายสองอย่างที่มักไม่ได้เกิดขึ้นสอคดล้องกันตลอดเวลานั่นคือ Allocation กับ Valuation

    ครั้นจะใช้ Valuation อย่างเดียว อันที่จริงก็ได้เหมือนกัน แต่ในบางสถานการณ์นั้น จะทำให้ไม่ได้ลงทุนอะไรเลยเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก เช่น มาเริ่มต้นเมื่อตลาดอยู่ใน bull market แล้ว แต่ bull market นั้นกินเวลายาวนานมากๆ เช่น 7-8 ปี ก็อาจทำให้ซื้ออะไรไม่ได้เลย 7-8 ปี ซึ่งน้อยคนที่จะอดทนได้ สุดท้ายแล้วก็จะผ่อนกฎตัวเอง แอบซื้อไป ทำให้เสียหลักการลงทุนไปอยู่ดี

    กฎที่เราใช้สำหรับการลงทุนในทางปฏิบัติจริงๆ จึงอาจจะต้องมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นมากสักหน่อย เป็นต้นว่า ถ้าใครตั้งใจเลือกใช้ Valuation อย่างเดียวไม่ใช่ Allocation เลย เวลาหุ้นที่ซื้อไว้เกินมูลค่าแล้วก็ต้องไม่ขายเลย เพราะถ้าไม่มีกฎนี้เวลาขายไปแล้ว วันหน้าเกิดหาหุ้นซื้อไม่ได้เลยเพราะตลาดหุ้นแพงตลอดเวลา จะกลายเป็นความลำบากกระอักกระอ่วนใจ

    ไว้จะลองเขียนเรื่องที่พูดถึงปัญหาแบบนี้ดูครับ

  8. Ok ครับ งั้นระหว่างที่รอ ผมเอาเงินส่วนเกินนี้ไปจัดบุฟเฟ่โรงแรมก่อนละกันนะครับ เป็นทางออกที่ไม่ขัดกับกฎทั้งสองข้อพอดีเบย 😀

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *