Skip to content

178: คุยกันเรื่องจิตวิทยาหุ้น ตอนที่ 1

นักลงทุนในตลาดหุ้นจะได้เปรียบคนอื่นอยู่สามวิธีเท่านั้น หนึ่งคือข้อมูล สองคือวิสัยทัศน์ และสามคือจิตใจ ผมว่าอันหลังสุดเป็นอะไรที่ ทั้งง่ายที่สุดและยากที่สุดในเวลาเดียวกัน

มันง่ายเพราะมันไม่เกินศักยภาพที่ทุกคนจะฝึกให้เก่งกว่าคนอื่นได้ (ไม่มีภาษาอังกฤษหรือความรู้บัญชีเป็นกำแพง ฯลฯ)

แต่ที่มันยากคือ มันเป็นอะไรที่ลึกๆ อยู่ข้างในจิตใจ บางคนมีความรู้ท่วมหัว แต่ก็ไม่ช่วยอะไรเลย  เพราะตกอยู่ใต้อิทธิพลของอารมณ์โดยที่ไม่เคยรู้ตัวเองเลย

ต่อไปนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่มาจากทฤษฎีอะไรที่ไหน แต่มาจากการสังเกตของผมเองตั้งแต่เริ่มต้นลงทุนมาและคิดว่าน่าจะนำมาแชร์ให้กับคนอื่นได้

ผมว่าแนวคิดที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับจิตวิทยาหุ้นก็คือ  การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นจะส่งผลต่อความคิดของเราเกี่ยวกับหุ้นตัวนั้นในแง่ปัจจัยพื้นฐานเสมอ” และอิทธิพลนี้มันรุนแรงมากๆ แทบไม่มีใครไม่ได้รับอิทธิพลนี้เลย แค่มากหรือน้อย หรือรู้ตัวได้มากแค่ไหนเท่านั้น

ถ้าลองคิดถึงพฤติกรรมแปลกๆ ของนักลงทุนทั้งหลายในตลาดหุ้น เราจะพบว่า เกือบทุกพฤติกรรมล้วนมาหลักการนี้ทั้งสิ้น พูดง่ายๆ ก็คือ มันคือบทสรุปของเรื่องจิตวิทยาการลงทุนเลยก็ว่าได้ (IMHO)

ตัวอย่างแรกที่ง่ายที่สุด คุณเคยสงสัยหรือไม่ครับว่า ทำไมตอนหุ้นไทยวิ่งไป 1700 จุด ก่อนต้มยำกุ้ง แล้วหล่นกลับลงมาจนเหลือแค่ 200 จุดนั้น ทำไมถึงไม่มีใครรอดชีิวิตเลย ในเมื่อตอนที่หุ้นมันขึ้นไปถึง 1700 พีอีมันตั้ง 31 เท่า ไม่ต้องเก่งมากก็รู้แล้วว่าหุ้นมันแพงมากๆ ถ้าหุ้นมันเริ่มไหลลงมามากๆ ทำไมถึงไม่ขายออกมาให้หมดซะเลย ดูแล้วการรอดจากวิกฤตไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก ทำไมไม่มีใครทำ?

นั่นเป็นมุมมองของคนที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์จริง กล่าวคือ เป็นคนรุ่นหลังที่รู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น แล้วจึงค่อยมองย้อนกลับไป แบบนี้ทุกอย่างจะดูง่ายไปหมดครับ (aka hindsight bias)

แต่ถ้าคุณเป็นหนึ่งในผู้โดยสารเรือไททานิคลำนั้น ในช่วงสามเดืือนสุดท้ายที่ SET วิ่งขึ้นอย่างเดียวไปจนถึง 1700 จุด มันเป็นเรื่องยากมากๆ ที่ความเห็นของเราเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานของหุ้นจะยังไม่ได้อิทธิพลใดๆ เลยจากการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นนี้ หุ้นที่ขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างแข็งแกร่งมันจะดูเหมือนขึ้นไปโดยไม่มีวันสิ้นสุด และเราจะไม่ได้รู้ก่อนด้วยว่า สุดท้ายแล้วมันจะไปหยุดที่ 17xx จุด ดังนั้น ถ้าคุณคิดว่าที่ 1100 หุ้นก็แพงแบบบ้าๆ แล้วและขายทิ้ง สักพักคุณก็จะพบว่า มันขึ้นต่อไปอีกเป็นหลายร้อยจุด ทั้งๆ ที่มันแพงมากอยู่แล้ว ตอนแรก คุณอาจจะยังดื้อก่อน เพราะคุณไม่ยอมรับว่าคุณขายหมู คุณอาจสาบแช่งตลาดหุ้นว่าไม่มีเหตุผล แต่พอเวลาผ่านไปสักพัก หากหุ้นขึ้นไปพักตัวอยู่แถวๆ 1300 (สมมติ) และอยู่นิ่งๆ แบบนั้นนานๆ (เช่นสักสองเดือน) ตอนนี้คุณจะเริ่มเปลี่ยนจุดยืนโดยไม่รู้ตัว ยิ่งถ้าหุ้นมันพักตัวอยู่แถวๆ 1300 ได้นานมาก เช่น เป็นปี คุณจะเริ่มรู้สึกไปเองว่า 1300 ไม่ได้น่ากลัว (ทั้งที่ตอน 1100 ที่คุณด่าว่ามันแพงมาก) ตอนนี้คุณทนถือเงินสดมานานมากแล้ว คุณจึงรู้สึกทนไม่ไหวและจะกลับเข้าไปซื้อหุ้นที่ 1300 ซึ่งแพงกว่าเดิม โดยจะหาเหตุผลร้อยแปดที่ฟังดูดีมาอธิบายการใช้อารมณ์อันนี้ของเรา ในที่สุดคุณก็กลับเข้ามาเต็มตัวจนได้ ทีนี้นึกออกมั้ยครับว่าทำไมเวลาตลาดหุ้น crash คนส่วนใหญ่ถึงไม่รอด

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าหุ้นจะราคาเท่าไรนั้น เราสามารถ “รู้สึก” ว่ามันถูกหรือแพงได้เสมอ อันเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวของราคาในช่วงก่อนหน้า (การวิ่งขึ้น การวิ่งลง และการอยู่นิ่งๆ นานๆ) ที่ส่งอิทธิพลต่อความคิดของเราแบบไม่รู้ตัว

ในทางตรงกันข้ามก็เป็นแบบเดียวกันด้วย ถ้าหุ้นวิ่งต่อจาก 1300 ไปถึง 1700 ทุกคนก็จะบอกว่ามันแพงไปมากอีกแล้ว แต่ถ้าตอนนี้มันบังเอิญปรับฐานแบบไม่คาดคิด ทำให้ถอยกลับลงมาเหลือแค่ 1600 เชื่อมั้ยครับว่า จะเริ่มมีคนออกมาพูดว่า ตอนนี้หุ้นถูกมากแล้ว!!! (ที่พีอี 29 เท่า) ลงมาตั้ง 100 จุด ถือเป็นโอกาสซื้อ ดังนั้นจงอย่าแปลกใจว่า ทำไมไม่ว่าตลาดหุ้นจะแพงขนาดไหน ก็ยังมีคนคิดว่ามันถูกอยู่ได้เสมอ

ถ้าบางคนโชคดียังไม่กลับกลับเข้าช้อนซื้อตอน 1600 ก็อย่าเพิ่งดีใจว่าจะรอดจากวิกฤต เพราะพอหุ้นมันหลุดจาก 1600 ลงมาเหลือแค่ 1500 (ท่ามกลางความประหลาดใจของทุกคน) แล้วก็ลงต่อไปที่ 1400 แล้วก็ 1300 คนที่เคยใจแข็งๆ ไม่รีบเข้าไปรับก็จะเร่ิมทนไม่ไหวที่เห็นมันถูกลงมาตั้ง 400 จุดแล้ว (สังเกตว่าไม่ใช่เพราะ 1300 เป็นราคาที่ถูกหรอกครับ แต่เป็นเพราะมันต่ำกว่า 1700 ถึง 400 จุดเท่านั้นเอง) อารมณ์ที่กลัวว่ามันจะเด้งขึ้นไปก่อนแล้วเก็บไม่ทันเลยจะทำให้คุณต้องกลับเข้าไปใหม่ แล้วสุดท้ายมันก็ลงต่อไปอีกเหลือแค่ 200 ทำให้ไม่มีใครรอดได้อีก เพราะต่อให้ขายหนีออกมาก่อนที่จุดไหนจุดหนึ่ง สุดท้ายแล้วก็ทนไม่ไหวต้องกลับเข้าไปใหม่ที่จุดใดจุดหนึ่งให้เจ็บปวดได้อีกอยู่ดี

บางคนเชื่อว่า ถ้าจะรอดจากวิกฤตต้องเล่นสั้นๆ แต่ถ้าคุณพิจารณาจากที่ผมเล่าให้ฟังไป คุณจะเห็นได้ว่า ต่อให้เป็นคนเล่นสั้นก็ไม่รอด เพราะถือสั้นก็กลับเข้าไปใหม่แล้วเจ๊งได้เหมือนกันได้ คนที่จะรอดจากวิกฤตได้อาจจะต้องมีอะไรบางอย่างที่แจ๋วยิ่งกว่าการถือสั้น ที่จริงนักลงทุนไทยสมัยก่อนนั้น 99% ก็เป็นพวกถือสั้นอยู่แล้ว แต่ก็ไม่เห็นว่าจะมีคนไหนรอดตายจากวิกฤตนี้ได้เลย

หุ้นอีกตัวที่น่าพูดถึงเป็นตัวอย่างได้ดี คือ ATC (สมัยนี้ คือส่วนหนึ่งของหุ้น PTTGC) หลังวิกฤตต้มยำกุ้งหุ้นตัวนี้มีราคาเหลือแค่ 3 บาท แต่พอหุ้นตัวนี้ฟื้น มันก็ถีบตัวขึ้นไปเรื่อยๆ จนกลายเป็น 70 บาท ในเวลาแค่ 1-2 ปี (ถ้าจำไม่ผิด) ถ้าฟังแบบผิวเผินคุณคงจะคิดว่า บรรดาผู้ถือหุ้น ATC คงจะรวยไปเลยนะครับ เพราะขึ้นมาตั้ง 20 กว่าเด้ง แต่ว่าเชื่อขนมกินได้เลยครับว่า ในสถานการณ์แบบนั้น แทบไม่มีใครได้กำไร 20 กว่าเด้งจากหุ้น ATC หรอกครับ เหตุผลก็คือว่า ถ้าคุณเคยถือ ATC มานานหลายปีที่ราคา 3 บาท แบบไม่ไปไหนเลย ถ้าอยู่ดีๆ มันวิ่งไป 3.50 บาท ภายในหนึ่งสัปดาห์ คุณก็คงลงแดงตายแล้วถ้าจะไม่รีบขายทำกำไร (ติดคุกมาตั้งนาน) หรือถ้าคุณใจแข็งจริงๆ ผมต่อให้คุณทนจนถึง 6 บาทเลยอ่ะ ถ้าถึงหกบาทแล้วคนที่ถือมาตลอดยังใจแข็งไม่ขายให้หมดพอร์ตก็ถือว่าเก่งมากๆ แล้ว บอกได้เลยว่า ตลอดทางที่มันขึ้นจาก 3 บาท  ไป 70 บาทนั้น มีนักลงทุนมากหน้าหลายตาผลัดกันเข้ามาได้กำไรกันไปคนละนิดคนละหน่อย แต่คนที่จะได้กำไรจาก 3 บาทไปจนถึง 70 บาทนั้นเลย แทบไม่มีเลยครับ เหตุผลหลักมาจากเรื่องเดียวคือ การขึ้นลงของราคาส่งผลต่อความรู้สึกเกี่ยวกับมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นของเรามากกว่าอย่างอื่น ต่อให้คุณทำ Valuation ไว้ที่ 40 บาท แต่ถ้ามันขึ้นจาก 3 มาสัก 10 บาท คุณก็ขาสั่นมากแล้ว ถ้าไม่รีบขายทิ้งให้หมดคงช็อคตายก่อน มันยากมากๆๆๆๆ ครับที่จะบอกตัวเองว่า 10 บาทก็ยังไม่แพง

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ต่อให้คุณเลือกหุ้นถูกตัว เป็นตัว 20 เด้ง แต่คุณก็อาจไม่ได้กำไร 20 เด้งเสมอไป เพราะคุณคงรีบขายทิ้งก่อนตรงไหนสักจุด บางคนอาจจะขายหมดตั้งแต่เมื่อมันขึ้นมาวันแรกได้กำไรไปแค่ 5-10% เท่านั้น (แทนที่ควรจะได้ 2300% แค่ถือไว้) ผลตอบแทนของพอร์ตจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเลือกหุ้นถูกตัวมากอย่างที่คุณเชื่อ แต่ขึ้นกับพฤติกรรมการเทรดหุ้นของแต่ละคนไม่น้อยเลยทีเดียว และพฤติกรรมการเทรดหุ้นก็เป็นเรื่องของอารมณ์ที่แก้ไขยากมากๆ ฆ่ากันให้ตายไปเลยยังง่ายกว่า

ที่สอนเราได้เยอะยิ่งกว่านั้นก็คือตอนขาที่ ATC มันกลับลงมาใหม่ คุณเชื่อมั้ยครับว่า ตอนที่มันวิ่งจาก 70 กลับลงมาเหลือแค่ 50 นั้น มีคนออกชี้ว่ามันถูกมาก เต็มตลาดไปหมด ทั้งที่ตอนที่มันขึ้นมาจาก 3 ไป 10 บาท มีแต่คนบอกว่า 10 บาทแพงมากๆๆๆๆๆ แต่ทำไมถึงมีคนจำนวนมากบอกว่า 50 บาทเป็นราคาที่ถูกๆๆๆ เหลือเกินได้ ลองคิดๆ กันดูเองนะครับ ทำไม 10 บาทถึงบอกว่าแพงมาก แต่ 50 บาทกลับบอกว่าถูกมากได้ เราใช้อะไรกันแน่ในการบอกว่าหุ้นถูกหรือแพง? แต่ที่แน่ๆ หลังจากนั้นมันก็หล่นฮวบลงไปอีก จำไม่ได้แน่ว่าเท่าไร แต่คล้ายๆ ว่าจะเหลืออยู่แถวๆ 26 บาทก่อนที่จะถูกควบรวมกลายเป็น PTTAR ก่อนจะเป็นส่วนหนึ่งของ PTTGC ในเวลานี้

อาการอย่างที่ว่ามานี้ผมสังเกตว่ามันมีลักษณะแบบเดียวกับราคาน้ำมัน สมัยก่อนราคาน้ำมันอยู่แถวๆ 12 บาทนิ่งๆ ติดต่อกันมาสิบปี พอมันพุ่งพรวดเดียวเป็น 17 บาท ทุกคนรู้สึกว่ามันแพงมาก บอกว่าราคานี้คงดำรงชีวิตอยู่กันไม่ได้แน่ๆ บางคนซื้อน้ำมันมาตุนเก็บไว้ในบ้านกลัวมันจะแพงขึ้นไปอีก แต่พอราคามันขึ้นไปยืนอยู่แถว 30-40 บาทสักพักใหญ่ๆ ตอนนี้ไม่มีใครบ่นเวลาเติมน้ำมันแล้ว ทั้งที่มันแพงกว่า 17 บาทเป็นเท่าตัว

ที่เล่ามาทั้งหมดนี่เรายังไม่ได้พูดถึงเลยนะครับว่า Valuation จริงๆ ของ ATC ควรจะเป็นกี่บาท บาทเดียว สามบาท สิบบาท เจ็ดสิบ หรือว่าร้อยบาท เพราะไม่ว่าคุณจะทำ Valuation หรือไม่ ความรู้สึกว่าหุ้นถูกหรือแพงของคุณก็ยังได้รับอิทธิพลจากการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นเช่นนี้อยู่ดี สำหรับตอนที่ 1 นี้ของเล่าแค่นี้ก่อน คราวหน้าจะขอมาเล่าต่อว่าในกรณีที่เรามีการทำ Valuation ร่วมด้วย จิตวิทยานี้จะเข้ามาทำให้ Valuation ของเรา Bias ได้อย่างไร 

32 thoughts on “178: คุยกันเรื่องจิตวิทยาหุ้น ตอนที่ 1”

  1. โดนใจแต๊ๆเลยครับ

    จะว่าไปหนังสือเกี่ยวกับจิตวิทยาการลงทุน ในเมืองไทยหาอ่านยากมากๆเลยนะครับ ทั้งๆที่น่าจะสนับสนุนเรื่องนี้ มากกว่าหนังสือเต็มแผงสมัยนี้

  2. ยอดเยี่ยมสุดๆ โดนใจมากๆ จนอยากเลิกเทรดเองหันมาทุ่มกับ 7thLTG และมีกองทุนอีแร้งคอยช้อนตอนตลาดตกหนักๆ เอาแบบ Good for both worlds ไปเลย เพื่อลดปัญหาจาก anchoring และ จิตวิทยา ขอบคุณมากครับ

  3. กูรูเค้าถึงว่า การลงทุนในหุ้นให้ประสบความสำเร็จเป็นเรื่องของข้อมูล ความรู้ 30% และเป็นเรื่องของจิตวิทยา 70% จำไม่ได้ว่าอ่านเจอที่ไหน …

    เป็นบทความที่ดีและเห็นภาพตามได้ตลอดครับ

  4. อยากให้พี่โจ้กแนะนำหน่อยครับว่าเมื่อเป็นอย่างนี้จะแก้ยังไงดี

  5. หลายๆ อันผมก็ยังแก้ไม่ได้เลย -_-‘ การฝืนใจมันยาก

    แต่การสร้างกฎบางอย่างขึ้นมาก็ช่วยได้ ไว้จะอธิบายในตอนต่อๆ ไปครับ (rule-based methods)

    ช่วงต่อจากนี้กะว่าจะเป็นบทความวิธีการลงทุน สลับกับ 20 บริษัทจดทะเบียน ภาคสอง นะครับ ครั้งเว้นครั้ง สลับกันไปสักพัก

  6. ขนาดพี่โจ๊กก็ติดปัญหาเรื่องจิตวิทยาการลงทุนบ้างในบางมุม
    อย่างนี้คนทั่วไป ไม่ว่าลงทุนมานาน หรือเพิ่งลงทุน ก็ยิ้มออกได้เลยนะคะ(ต้องเจอกับดักนี้แน่ๆ)
    เอ…. ว่าแต่ตอนตลาดขาลงอย่างหนักหันไปถามใครก็ขาดทุนเช่นเดียวกันเลยเปลี่ยนจากเรื่องเครียด มาเป็นเรื่องธรรมดาได้เลยนะคะ แต่พอหุ้นขึ้นคนอื่นกำไรเยอะๆเราทำได้ไม่เท่าเค้า กลับกดดันกลายเป็นเรื่องไม่สมหวังไปซะอย่างนั้น
    แบบนี้ถือว่าเกี่ยวกับจิตวิทยาหุ้นมั้ยคะ
    ป.ล.ติดตามผลงานชอบทุกบทความเลยคะ โดยเฉพาะบทนี้ ขอบคุณมากเลยคะ

  7. หวัดดีครับคุณ kelly

    ถ้าหุ้นลง ถามใครใครก็ขาดทุน แล้วเราสบายใจ ผมก็ไม่เห็นข้อเสียครับ ไม่น่าจะเป็นไร

    ส่วนหุ้นขึ้นแล้วเราไม่ขึ้น ทำให้กดดัน อันนี้น่าจะมีผลกระทบพอสมควร เพราะอาจทำให้เราวู่วามโดยไม่จำเป็นได้

    บางทีภาพที่เราเห็นเป็นเพียงแค่ส่วนเดียว เราไม่ได้เห็นภาพทั้งหมด คนที่ดูเหมือนจะได้กำไรตลอด เขาอาจจะเล่าเฉพาะที่เขาได้กำไรก็ได้ครับ จริงๆ แล้วเขาก็อาจจะผิดบ่อยๆ ไม่ได้ต่างจากเรา

  8. อ่อครับพี่ รอคอยด้วยใจจดจ่อเลยครับ อิอิ
    พูดถึงเรื่องวิธีแก้ ผมเคยอ่านเจอว่าการตั้งกฏบางอย่าง(เหมือนที่พี่โจ้กบอก) และการset upสิ่งแวดล้อมเช่น คุมตัวเองให้อยู่ห่างตลอดโดยไม่ดูราคาเกินเดือนละครั้ง จะช่วยได้ แต่ผมแอบสงสัยว่าจะรอดจากเหตุการณ์1700เหลือ200ได้จริงหรอ (ต่อให้ดูราคาปีละครั้งตอนเหลือ1000จุด ก็คงต้องคิดว่าเป็นโอกาสทองแน่ๆ)
    ส่วนตัวแล้วผมเชื่อลึกๆว่า ถ้าใช้วิธีแบบ7thLTGน่าจะทำให้รอดได้แม้ว่าจะต้องมีช่วงตกต่ำยาวนานหน่อย แต่ด้วยเกณฑ์การเลือกบริษัทและกลยุทธการทยอยซื้อน่าจะทำให้พอร์ตเดินทางผ่านวิกฤตไปได้ แถมเราบังคับตัวเองว่าต้องซื้อทุกเดือนติดกัน15ปี ดังนั้นจึงเหมือนเป็นกฏที่ช่วยตัดeffectของการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นไปแล้ว ผมว่า7thLtGอาจจะทำให้รวยช้าแต่คุ้มกันให้เราไม่จนถาวรได้ครับจึงเป็นกลยุทธที่น่าสนใจมากๆ ที่สำคัญคือmassยังไม่นิยมและต้องรอคอยถึง15ปีไม่ใช่ทางรวยลัด จึงยิ่งดีขึ้นไปอีก

  9. ชอบตอนนี้มากเลยครับ อธิบายได้เห็นภาพมากเลย
    สรุปคือ Value มันแปรผันไปตามราคาสุดท้ายที่เห็น
    ถ้าหุ้นอยู่ที่ 10 บาท แล้วขึ้นไป 50 บาท ภายใน 6 เดือน มันแพง
    แต่ถ้าหล่นมาที่ 25 บาท มันจะถูกทันที ^_^

  10. ซื้อ s&p ราคาประมาณ 25 บาท ราคานิ่งๆๆๆๆๆ เป็นปีๆๆๆๆๆ กินแต่ปันผล ราคาหุ้นไม่ขยับ ไม่ขึ้น ไม่ลง วันดีคืนดีก็เริ่มขยับไป 30 – 40 – 50 – 57 แพงไปแล้วมั้ง ขายก่อนนิดนึง แล้วเดี๋ยวลงค่อยซื้อคืน แล้วมันก็ไปต่อ พร้อมกับคำถามคาใจว่า ปันผลมันก็ไม่คุ้มแล้ว จะขึ้นไปไหน ถึง 75 ขายอีกรอบ ด้วยความมั่นใจว่าคราวนี้มันคงสุดๆ แล้วอีกไม่นานก็คงลง แล้วมันก็เดินหน้าไปที่ 125 จะบ้าเหรอ หุ้นอะไร volume ก็ไม่มี ตั้งซื้อกันคนละร้อยสองร้อยหุ้น จะขายพันหุ้น bid สามช่องบางทียังไม่ขายไม่หมด ลองขายอีกหน่อย แล้วมันก็ไปต่อไปแบบไม่สนใจ ราคาวันนี้ 176 บาท volume 8607 ปันผล 2.3% ยังเหลือหุ้นอยู่บางส่วน ได้แต่มองว่าจะเอาไงกะมันดี คุณนรินทร์ช่วยแสดงความเห็นหน่อยเถอะค่ะ

  11. บทความนี้โดนใจจริงๆครับพี่นรินทร์
    ทุกวันนี้พยายามแก้ไขสิ่งที่เป็นอยู่ แต่ก็ยังแก้ไม่ได้สักที

  12. อยากให้หนังสือเล่มต่อๆไปของคุณโจ๊ก ทำเวอร์ชั่นที่เป็น อีบุ๊ค ออกมาพร้อมกันเลยครับ

  13. ชัดมากครับพี่ … ที่เห็นชัดๆ ในตอนนีเ้ก็ banpu ไงครับ พอราคามันลงมากๆ ก็มีคนเอากราฟออกมาโชว์ วิเคราะห์กันเป็นแถวว่าพื้นฐานเปลี่ยน เป็นขาลง (ซึ่งก็อาจจะจริงก็ได้) แต่ตอนราคามันวิ่งก่อนหน้านี้ถึง 700 กว่า ไม่เห็นมีใครออกมาบอกเลยว่าจะแย่ …. แบบนี้ในวงการกีฬาเค้าเรียกว่า เก่งหลังเกม คือการแข่งขันจบแล้ว จะพูดหรือหาเหตุผลอะไรมาอธิบายก็ได้ แต่ตอนยังแข่งอยู่ก็ไม่รู้หรอก หุๆ

  14. ชอบบทความนี้มากๆครับ โดนใจจริงๆ การจะทำใจถือต่อทั้งที่ติดมานานมันเป็นอะไรที่ยากมากๆ กลัวถ้าไม่ได้ขายรอบนี้แล้วจะติดอีกนานแค่ไหนก็ไม่รู้ เผ่นก่อนดีกว่า ต่างจากคนที่ต้นทุนต่ำถือต่อก็ยังไม่เป็นไร ผมว่าความรู้สึกเรื่องต้นทุนทำให้การถือหุ้นของรายย่อยจะถือหุ้นให้ได้กำไรมากๆเป็นเรื่องยาก และพวกขายก่อนแล้วรอรับกลับก็ทำให้เสียหุ้นได้ง่าย ถ้าหากพื้นฐานเปลี่ยนราคาก็อาจไม่กลับมารับเราอีก กลายเป็นขายหมู แต่ถ้ารับกลับได้แล้วหุ้นกลายเป็นขาลงอันนี้ก็ติดดอยอีก

  15. อาจารย์ของผมเคยบอกว่า ขายหมู ATC ไป 2 บาท หลังจากนั้นขึ้นไป 70 กว่าบาท (อ.ซื้อมา 1 บาทครับ)

    ผมว่า ถ้าเรารักที่จะเรียนรู้ โดยเฉพาะรู้จักตัวตนของเราเอง
    เราสามารถนำบทเรียนการลงทุนที่เราเจอ มาประยุกต์ใช้ในวันข้างหน้าครับ

    ไม่มีคำว่าสายเกินไป
    และไม่มีคำว่า รู้ไปหมด 100% (สำหรับผมนะ)ครับ

  16. ปล.ชอบบทความทุกบทความของพี่โจ๊กเลยครับ
    แวะมาทักทายเป็นช่วงๆนะครับ
    บุญรักษาครับพี่ครับ ^^

  17. เรื่อง อาจารย์ของผม ท่านเล่าให้ผมฟัง เพราะท่านอยากสอนว่า
    อะไรที่เราไม่ถนัด เราเรียนรู้

    และ หลายครั้ง เราคาดเดา ความบ้าคลั่งของฝูงชน และสิ่งที่เรา “ไม่ถนัด” ไม่ได้ครับ

    ผมชอบการลงทุนเพราะผมได้เรียนรู้ โดยเฉพาะ รู้จักตัวเองครับ ^^

  18. เพราะอย่างนี้ปีเตอร์ ลินซ์ถึงได้บอกรายย่อยว่าอย่าดูราคาหุ้นบ่อยๆสินะครับ?

  19. ตอนนี้ อ่านสนุกม้ากค่ะ อินเลย ฮ่าๆๆ ปล.รออ่านภาคสองของ20บริษัทจดทะเบียนอยู่นะคะ ^^

  20. เขียนได้บาดใจวะเหลือเกิน ข้าน้อยขอ คารวะ หนึ่ง จอก ครับท่านจอมยุทธ!

  21. ผมขอเดาว่า20บริษัทจดทะเบียนฯภาค2 จะต้องมี TICON, AMATA, HEMRAJ อยู่สักตัวหนึ่ง อิอิ

  22. นึกถึงเมื่อวานมีบิ้กล็อต cpall 400ล้านหุ้น 34กว่าบาท วันนี้เพื่อนแห่ขายหมู ตอนเปิดตลาด 38บาท พอมาดูตอนปิดเด้งไป 40 บาท บ่นกันใหญ่ เพราะกลัวจะเหมือน cpf น่าสนใจมากเรื่องจิตวิทยา ถ้ามีบิ้กล้อตบ่อยๆ จะเป็นจิตวิทยาหมู่รึเปล่า แห่ขายกันใหญ่

  23. อยากถามพี่โจ้ก หรือเพื่อน ๆ ว่า แล้วปี 2012 ที่ผ่านมา PE ของ SET บ้านเราอยู่ที่ประมาณเท่าไรแล้วคับ

    ขอบคุณคับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *