ลินซ์ กล่าวไว้ว่า ถ้าหากเขาทำให้นักลงทุนลงทุนเหมือนกับไม่มีสิ่งที่เรียกว่าตลาดหุ้นได้ เขาจะถือว่า เขาประสบความสำเร็จในการสอนนักลงทุนคนนั้นแล้ว
คำว่า ไม่สนใจตลาดหุ้นของลินซ์ หมายถึง ให้เลิกคาดเดาทิศทางของตลาดหุ้นไปเลย ถ้าจะซื้อหุ้นสักตัวต้องไม่ใช่เหตุผลใดๆ เกี่ยวกับทิศทางของตลาดหุ้น แต่ซื้อเพราะเห็นว่าธุรกิจนั้นน่าลงทุน ราคาหุ้นยังไม่แพง หรือราคาหุ้นสะท้อนว่า ผู้คนยังเห็นค่าของบริษัทน้อยเกินไป
แต่ลินซ์ก็บอกว่า การลงทุนโดยที่ไม่ต้องสนใจตลาดหุ้นเลยนั้น ไม่ได้หมายความว่า ตลาดหุ้นไม่มีช่วงเวลาที่เป็นฟองสบู่หรืออันตรายอยู่เลย เพียงแต่มันไม่คุ้มที่เราจะมัวกังวลว่าตลาดกำลังจะ crash หรือเปล่า ลองสังเกตดูจะเห็นว่า ตลาดหุ้นจะกังวลเกี่ยวกับอะไรบางอย่างว่าจะทำให้ตลาด crash อยู่ตลอดเวลา พอสิ่งนั้นไม่เกิด สักพักก็จะเปลี่ยนมากังวลเรื่องใหม่อีก และทำให้เราไม่ลงทุนสักที ความกังวลส่วนใหญ่เป็นความกังวลที่มากเกินไป จึงอย่าไปให้น้ำหนักมากนัก
ถ้าคุณเลือกซื้อแต่หุ้นดีที่มีราคาสมเหตุผลเท่านั้น เวลาที่ตลาดเป็นฟองสบู่ คุณจะไม่เจอหุ้นที่น่าซื้อเองโดยอัตโนมัติ ถ้าเคร่งครัดในกฎข้อนี้ก็ไม่จำเป็นต้องคอยระวังเลยว่า ตลาดหุ้นกำลังเป็นฟองสบู่อยู่หรือเปล่า
แม้ว่าปีเตอร์ ลินซ์จะโปรดปรานหุ้นเติบโตที่สุด แต่เขากลับมีเคล็ดลับในการเลือกซื้อหุ้นเติบโตที่ความมั่นคง คือ ถ้าเห็นว่าเป็นหุ้นเติบโต สิ่งที่เขาจะใช้ตัดสินใจจะไม่ใช่อัตราการเติบโตของธุรกิจนั้นมากเท่ากับว่า มันเป็นธุรกิจที่กำไรดีพอ และ/หรือ มีงบการเงินที่แข็งแกร่งด้วยหรือเปล่า เพราะนั่นแหละคือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การเติบโตนั้นเป็นการเติบโตยั่งยืนในที่สุด นอกจากนี้ เขายังแนะว่าเคล็ดลับของการเล่นหุ้นเติบโตยังอยู่ที่จะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไรหุ้นนั้นจะหยุดเติบโตแล้วและราคาไหนยังไม่แพงเกินไป ไม่น้อยไปกว่าการเลือกหุ้นเลย
เวลาเล่นหุ้นเติบโต อย่ามัวแต่พยายามคาดการณ์ว่า EPS ในอนาคตจะเป็นเท่าไร เพราะมันยาก สิ่งที่ควรทำมากกว่าคือ หาได้เจอว่า ธุรกิจนั้นๆ จะโตต่อไปได้ด้วยเหตุผลอะไร ที่จริงแล้ว มีเหตุผลแค่ 5 ข้อเท่านั้นที่ธุรกิจจะเพิ่มกำไรได้ คือ ลดต้นทุน ขึ้นราคา ขยายตลาดใหม่ ขายลูกค้าเดิมให้เยอะขึ้น หรือขายหน่วยธุรกิจที่ขาดทุนทิ้งไป ถ้าหากเราไม่เห็นว่าบริษัททำสิ่งใดต่อไปนี้อยู่เลย ก็ต้องตอบคำถามตัวเองแล้วล่ะว่าเราคิดว่ามันเป็นธุรกิจเติบโตได้อย่างไร
จำนวนหุ้นในพอร์ตที่ลินซ์แนะนำคือ 5 ตัว และติดตามหุ้นประมาณ 8-12 ตัว เขาไม่ชอบการถือหุ้นแค่ตัวเดียวทั้งพอร์ต การถือหุ้นหลายๆ ตัวมีข้อดีเยอะมาก ที่สำคัญมากที่สุดคือ ถ้าลงทุนหลายตัว โอกาสที่บางตัวจะเติบโตจนเป็นหุ้นสิบเด้งโดยที่เราคาดไม่ถึงจะมีสูง และนั่นก็เพียงพอจะทำให้เราได้ผลตอบแทนรวมที่ดีได้แบบง่ายๆ แล้ว แม้ว่าที่เหลือจะทำผลงานได้แบบธรรมดามากก็ตาม และข้อดีที่สำคัญอีกอย่างคือ ความยืดหยุ่นในการปรับพอร์ต เพราะถ้าโอกาสมาถึง ย่อมมีตัวใดตัวหนึ่งในพอร์ตที่อยู่ในจังหวะที่พร้อมให้เราขายเพื่อเอาเงินสดมาฉวยโอกาสนั้นได้ เนื่องจากเรามีหุ้นอยู่หลายตัวตลอดเวลา
ลินซ์บอกว่า พอร์ตหุ้นเติบโตที่ได้ผลตอบแทนที่ดีนั้น ที่จริงแล้ว เราแค่หวังให้มีหุ้นสักหนึ่งตัวในพอร์ตที่กลายเป็น หุ้นหลายเด้ง ก็เพียงพอที่จะทำให้เราได้ผลตอบแทนที่ดีแล้ว แม้หุ้นตัวอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมดจะให้ผลตอบแทนแบบธรรมดาๆ ก็ตาม และบ่อยครั้งที่หุ้นหลายเด้งของเราอาจเป็นหุ้นตัวที่เราไม่ได้คาดหวังสูง ส่วนตัวที่คาดหวังสูงกลับทำไม่ได้ในที่สุด ด้วยเหตุนี้ การมีหุ้นหลายตัวในพอร์ตเติบโตจึงสำคัญมาก (maximize โอกาส) และการเลือกหุ้นให้ถูกต้องได้ทุกตัวเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นเลย
และแม้ลินซ์จะชอบหุ้นเติบโตที่สุด แต่เขาก็ลงทุนกับหุ้นเติบโตเพียงแค่ 30-40% ของทั้งพอร์ตเท่านั้น ที่เหลือเป็นหุ้นแนวอื่นๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลาย ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการปรับพอร์ตมากขึ้น
ส่วนวิธีเล่นหุ้นบลูชิพนั้น ปีเตอร์ลินซ์จะ rotate ไปมาระหว่างหุ้นบลูชิพหลายๆ ตัว โดยเมื่อกำไรแค่ 30-40% ก็จะขายเลยแล้วไปซื้อหุ้นบลูชิพตัวอื่นที่น่าสนใจกว่า ทำรอบเช่นนีั้ไปเรื่อยๆ เพราะโอกาสที่หุ้นบลูชิพจะทำกำไรเป็นสิบเท่านั้นมีน้อย การขายเมื่อกำไร 30-40% แต่ทำสลับไปเรื่อยๆ สักหกรอบ ก็ทำผลตอบแทนได้ไม่แพ้การเจอหุ้นเติบโตที่กำไร 3-4 เด้งได้เหมือนกัน
แต่ถ้าเป็นหุ้นเติบโตนั้น ปีเตอร์ ลินซ์จะเน้นถือให้ยาวที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อมิให้พลาดโอกาสที่จะกำไรหลายๆ เด้ง (พลาดเพราะทนไม่ไหว ขายหมูไปก่อน) โดยติดตามแผนการขยายธุรกิจไปเรื่อยๆ ถ้ายังมีอยู่ก็อย่าขายออกมา
ส่วนหุ้นวัฏจักรกับหุ้นกลับตัวนั้น ถ้าราคาหุ้นกับข่าวไปคนละทาง เช่น ข่าวไม่ดีแต่หุ้นก็ยังขึ้นต่อไปอีก เขาจะขายออก ถ้าหุ้นร่วงลง 25% แต่ข่าวก็ยังดีอยู่ เขาจะซื้อเพิ่ม
แต่ ปีเตอร์ ลินซ์ ไม่ชอบแนวคิดเรื่องการคัดลอสที่ 10% เขาให้เหตุผลว่า ตลาดทุกวันนี้ผันผวนมาก ถ้าคุณล็อกตัวเองไว้ให้ออกที่ -10% คุณจะขาดทุน 10% กับหุ้นทุกตัวที่คุณซื้อในที่สุด เพราะจุดนั้นจะมาถึงเสมอ และในทางตรงกันข้าม เขาก็ไม่เชื่อคำแนะนำที่บอกว่า กำไร 100% เมื่อไรให้ขาย เพราะนั่นคือเราไม่ได้ check พื้นฐานเลยว่ายังดีอยู่หรือไม่ แต่ขายออกเพราะราคาหุ้น แบบนี้ถ้ามีหุ้นสิบเด้งเราก็จะพลาดด้วย
เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ อื่นๆ ที่น่าจดจำอีก ได้แก่
[list style=”2″ underline=”1″]
- ราคาหุ้นกับพื้นฐานสามารถไปคนละทางได้นาน 3-4 ปีก็ได้ แต่ในระยะเวลาที่นานกว่านั้น มันต้องสอดคล้องกันเสมอ
- เราไม่จำเป็นต้องเข้าลงทุนหุ้นเติบโตตั้งแต่ปีแรกที่มันเริ่มทะยาน ต่อให้เราค้นพบหุ้น Walmart ช้าไปสามปี มันก็ยังน่าลงทุนอยู่
- เวลาที่ควรซื้อหุ้นบลูชิพที่ยังเติบโตอยู่มากที่สุดคือช่วงเวลาที่ราคาหุ้นตกลงมาแรงๆ ในช่วงเวลาแบบนี้ นักวิเคราะห์จะบอกว่าราคาตกลงมาแรงเพราะพื้นฐานแย่ลง แต่จริงๆ แล้วมันตกลงมาเพราะราคาในอนาคตเพิ่มขึ้นเร็วเกินไปต่างหาก ที่สุดแล้วมันจะกลับมาใหม่
- ถ้าสนใจหุ้นกลับตัว อย่างน้อยควรรอจนอุตสาหกรรมนั้นเป็นขาขึ้นเสียก่อน ค่อยเข้าซื้อ
- ถ้าสนใจบริษัทเล็กๆ ควรรอให้บริษัทนั้นมีกำไรก่อนค่อยเข้าลงทุน
- บริษัทควรยังมีผู้ถือหุ้นสถาบันในสัดส่วนที่ไม่สูงจนเกินไป
- ผู้บริหารเป็นเรื่องที่ดูยาก และอย่าตัดสินจากโปรไฟล์หรือความพูดเก่งของเขา ผู้บริหารควรถือหุ้นของบริษัทบ้าง ไม่ใช่รับเงินเดือนอย่างเดียว
- ในระยะสั้น ราคาหุ้นไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับพื้นฐานที่แท้จริงของหุ้น ต่อให้เป็นระยะ 2-3 ปีก็ตาม แต่สุดท้ายแล้ว ราคาหุ้นจะต้องเป็นไปตามพื้นฐานที่แท้จริงเสมอ จงลงทุนอย่างอดทน
- คนที่ตกใจจนล้างพอร์ตออกไปในช่วงที่ตลาดหุ้น crash ทุกครั้ง ไม่เหมาะจะลงทุนในหุ้น
- ถ้าเรารู้จักหุ้น 10 ตัว เราจะเจอหุ้นที่น่าลงทุน 1 ตัว ถ้าเรารู้จักหุ้น 50 ตัว เราจะเจอหุ้นที่น่าลงทุน 5 ตัว ยิ่งขยันก็ยิ่งพบโอกาส การซื้อหุ้นโดยไม่ศึกษาก็เหมือนการเล่นโป๊กเกอร์โดยไม่ดูหน้าไพ่
- ถือหุ้นให้มากกว่าเงินสดเป็นส่วนใหญ่
- แต่ถ้ายังหาหุ้นที่น่าสนใจไม่ได้จริงๆ ก็ยังไม่จำเป็นต้องดันทุรังซื้อหุ้น ถือเงินสดไว้ก่อน
- หุ้นวัฏจักรที่สต๊อกสินค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นช่วงเวลาที่น่าขาย
- การที่บริษัทกำลังย่ำแย่ ไม่ได้แปลว่ามันจะไม่ย่ำแย่ลงอีก
- เพียงเพราะราคาหุ้นขึ้น (หรือลง) อย่างเดียว ไม่ได้แปลว่าคุณเลือกหุ้นผิด
- ซื้อธุรกิจที่ไม่ดีเพียงเพราะว่าราคาหุ้นมันถูกมาก คือกลยุทธ์ที่ผิด
- ขายหุ้นเติบโตเพียงเพราะราคาหุ้นขึ้นจนเกินพื้นฐานไปหน่อย คือกลยุทธ์ที่ผิด เล่นหุ้นเติบโตต้องหวังจะได้กำไรหลายๆ เด้ง
- อย่าเด็ดดอกไม้ในพอร์ตทิ้ง แต่เก็บไว้แต่พวกวัชพืช[/list]
ดีครับ เหมือนคั้นเอาแต่หัวกะทิมาให้ชิม ถ้าเป็นไปได้อยากให้คุณโจ๊ก รวมรวบบทความแนวนี้พิมพ์เป็นเล่มหรือเป็นอีบุ้คมาขายครับ ลำพังการอ่านใยบล็อคอย่างเดียวมันเซฟเก็บไม่ได้ครับ
ขอบคุณครับ
หลังจากลิ้นช์เป็นตำนาน และเกษียณไปแล้ว มีผู้จัดการกองทุนรวมคนอื่นๆทั่วโลก ขึ้นมาทำผลตอบแทนระดับลิ้นช์บ้างรึป่าวครับพี่? (ไม่นับพวก Hedge fund ที่นักลงทุนทั่วๆไป ลงทุนด้วยไม่ได้)
* ขอบคุณครับ ^^
ถ้าหากจะมีรวมเล่มจริงๆ ก็อาจจะทำเฉพาะกิจเพื่อแจกสมาชิกเป็นหลัก แต่ไม่รู้จะมีรึเปล่านะครับ
ผจก.กองทุนสมัยใหม่ที่เก่งๆ ก็มีหลายคน แต่ยังไม่มีใครที่เก่งแบบต่อเนื่องติดต่อกันนานๆ จนแขวนนวมแล้วก็ยังรักษาสถิติไว้ได้แบบ lynch
พี่โจ๊กครับ,
ถ้าพี่จะรวมเล่มจริงๆ อยากให้เพิ่มอีกสักบทนึงเรื่องการลงทุน, ประวัติ (จุดเปลี่ยนจากวิศวกร มาเป็นนักการเงิน), และการใช้ชีวิตของพี่โจ๊กครับ (ถ้าไม่ละลาบละลวงเกินไป)
ผมคิดว่ามีหลายคนในที่นี้มีพี่เป็น “ไอดอล” ทั้งการใช้ชีวิตแบบธรรมดา (เคยอ่านบทสัมภาษณ์ของพี่) และการลงทุน (Smart > Intelligent > Brilliant > Genius > Simple)
ขอบคุณครับ
อ่านแล้วลอยเลยครับ ผมไม่ได้พิเศษอะไรขนาดนั้นครับ แค่อยากได้ทำอะไรที่ชอบโดยไม่ห่วงนั่นพะวงนี่ แค่นั้นเอง ทุกคนก็สามารถทำได้ ถ้าจะทำครับ
อีกจุดนึงก้คือ ลินซ์ถือหุ้นเยอะมากกกกก
แต่ก้ยังทำผลตอบแทนได้ดีมากเช่นกัน ต้องถือว่าสุดยอดจริงๆ
ตอนนี้กำลังอ่านอีกรอบ รู้สึกเข้าใจอะไรมากกว่ารอบแรกที่อ่านจริงๆ
ปล.พี่โจ๊กครับ
“ก็ทำผลตอบแทนได้ ไม่แพง กับการเจอหุ้นเติบโต 3-4 เด้ง”
มันต้องเป็น ไม่แพ้ ป่ะครับ?
แก้ไขตามนั้น ขอบคุณที่แจ้งมาครับ
ขอบคุณครับ
ภาคสองสุดยอดกว่าภาคแรกอีกครับพี่
ขอบคุณมากคับ
บทความนี้ช่วยให้ผมกลับมาลงทุนแบบเข้ารูปเข้ารอยอีกครั้ง
ชอบมากๆ ขอบคุงคร้าบ
กะลังอ่าน beating the street อยู่เลยครับ ^^
สนใจหนังสือ beating the street และ one up on wall street ไม่เคยได้ยินชื่อหนังสือมาก่อนเลยค่ะ อยากอ่านฉบับภาษาไทย มีใครรู้บ้าง หาซื้อได้ที่ใหนคะ
ยังเห็นมีขายอยู่นะครับตาม SE-ED วันก่อนก็เพิ่งไปซื้อ One Up On Wall Street มาครับ
b2s ก็มีครับ ทั้งสองเล่ม
อยากให้คุรนรินทร์ รวบรวมบทความแนวนี้พิมพ์เป็นเล่มเช่นเดียวกับคุณ Thongchai 1996
จะได้อ่านเรื่อยๆ พิมพ์เป็นเล่มก็หยิบอ่านได้ง่ายค่ะ
ภาษาไทยมีครับ แต่หนังสือออกมานานแล้ว จะหายากหน่อย ลองสั่งซื้อออนไลน์จากเว็บร้านหนังสือชื่อดังๆ ของไทยน่าจะมี
ยอดเยี่ยมเหมือนเคย ท่านแม่ทัพสุมา 🙂
ขอบคุณ คุณนรินทร์ ZARUMAN และคุณ TAPATTAN ที่แนะนำ หนังสือทั้ง 2 เล่ม ขอให้เจริญๆ ทุกท่านค่ะ
ไปซื้อมาเรียบร้อย ในหนังสือ one up on wall street เขียนเรื่องการปรับพอร์ตได้น่าสนใจมากๆ
ผมlog in มาอ่านยากมากเลยครับ ไม่ทราบเป็นเพราะaccount ผมหรือป่าว
ขอบคุณนะครับ อ่านแล้วได้ข้อสรุปที่ชัดเจนมาก ๆ เลยครับ ผเชื่อชอบทั้งคุณลินซ์และคุณนรินทร์ในแนวทางการลงทุนมาก ๆ ครับ ตอนนี้ผมเริ่มลงทุนมาได้ 1 ปีแล้ว ผลตอบแทนมากกว่าที่ตั้งไว้ ต้องยอมรับครับว่าเพราะไอดอลทั้งสองท่านที่กล่าวถึงก่อนหน้าเลยครับ ทำให้มีความสุข สนุกกับการศึกษาและลงทุนมาก ๆ
ถ้าให้แนะนำหนังสือการลงทุนผมแนะนำ มหัศจรรย์แห่งกลยุทธ์ทางธุรกิจ ของคุณนรินทร์ อีกเล่มครับ แล้วจะเข้าใจความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในตลาดทุนได้เยอะขึ้นมาก ๆ ครับ (ผมแอบเก็บ วัดมูลค่า,กลยุทธ,survival ทั้งเล่มและebookไว้ด้วย ^ ^)
อยากเป็นอิสระทางการเงินและมีเวลาใช้ชีวิตให้มีความสุขแบบไอดอลทั้งสองท่านเร็ว ๆ จริง ๆ ^ ^
เหมือนตอนนี้การ login จะมีปัญหา จะรีบหาสาเหตุให้ ขอบคุณที่แจ้งมาครับ
ยอดเยี่ยมมากเลยครับ ขอบคุณมากๆครับพี่โจ๊ก สำหรับบทความดีๆ^_^
จากบทความหุ้นบลูชิบกับหุ้นเติบโตต่างกันอย่างไรคะ เข้าใจว่าหุ้นบลูชิบหมายถึงหุ้นขนาดใหญ่ ส่วนหุ้นเติบโตขนาดเล็กกว่า ถูกหรือเปล่า
บลูชิบหมายถึงหุ้นขนาดใหญ่ถูกต้องครับ
หุ้นเติบโตคือหุ้นที่รายได้/กำไรมีอัตราการเติบโตสูง ไม่จำเป็นต้องเป็นหุ้นเล็กครับ หุ้นใหญ่ก็มี
เข้าใจมากขึ้นและขอบคุณสำหรับคำตอบค่ะ
พูดถึง peter lynch นะครับ จริงๆ track record ของเค้าเพียงแค่ 13 ปี เท่านั้นเอง 1977-1990 ซึ่ง มันอาจจะน้อยไปรึเปล่าครับพี่โจ๊ก?
และหลังจากนั้น ก็ไม่ได้มีข้อมูลอะไรเลยว่า Lynch ได้เป็น billionaire หรือประสบความสำเร็จในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง คือผมก็คิดว่าหนังสือของ Lynch อ่านสนุกได้ความรู้ดี แต่ไม่แน่ใจนักถึงประสิทธิภาพในระยะยาวในตลาดทุกๆ สภาพการณ์
อย่าง Buffet , Munger ก็แน่นอนว่าใน 50 ปีที่ผ่านมา ผลตอบแทนที่ทั้งคู่ทำได้ ผ่านสถานการณ์ตลาดหลายๆแบบ มาแล้ว อาทิตย์ก่อนผมไปหยิบหนังสือเก่า The Stock Market Wizard ที่รวมนักเล่นหุ้น(ทั้งผจก.กองทุน และคนธรรมดา) super star ช่วงปี 90-99 (หนังสือเขียนปี 2001) สัมภาษณ์มา 10 กว่าคน ผมนึกสนุกลองเอาชื่อไปหาข้อมูล ปัจจุบัน เหมือนว่าคนที่ยังบริหารกองทุนอยู่ เหลือแค่ 1-2 คน เท่านั้นเอง บางคนกองทุนขาดทุนหนักในบางปี ต้องปิดตัวไป บางคนเป็นเน้นขาย คอรส์สอนเล่นหุ้นไป(พวกสายเทคนิค) บางคนหาข้อมูลไม่เจอ อาจจะรวยแล้วเลิก ผจก.กองทุนที่เหลือคนนึงคือ Steven Cohen ซึ่งกองทุนกำลังโดนตรวจสอบอย่างหนักจาก กลต. เพราะใช้ insider info เยอะมาก
ปีเตอร์ ลินซ์ ไม่รู้ว่าเป็นเศรษฐีหรือเปล่า แต่ถ้าไม่เป็นก็ไม่แปลกครับ เพราะเป็นผุู้จัดการกองทุนรวม ไม่ได้บริหารเงินของตัวเอง ทำเป็นวิชาชีพครับ
13 ปี เฉลี่ย 29% ต่อปี ผมว่า proven นะครับ เท่ากับทำพอร์ตให้งอกเงยขึ้นมาได้ประมาณ 27 เท่า และตัวเลข 29 นี้คือค่าเฉลี่ยต่อปีด้วย บางทีคงทำได้ไม่ถึงอยู่แล้ว แสดงว่าปีส่วนใหญ่ต้องได้เกิน 29 แต่ถัวเฉลี่ยออกมาเหลือแค่ 29
บัฟเฟตนั้นสามารถทำผลตอบแทนได้สูงๆ ส่วนสำคัญเลยเป็นเพราะเขามีการเข้าไป control บริษัทด้วย เนื่องจากการเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ทำให้มีอำนาจควบคุม ถ้าซื้อไปแล้วผิด ก็ยังเข้าไปกดดันกรรมการบริษัท หรือบอกให้แก้ไขปรับเปลี่ยนวิธีบริหาร ทำให้ผลตอบแทนกลับมาดีได้ แต่ในกรณีของรายย่อยอย่างเราจะไม่มีโอกาสแบบนั้นเลย ลินซ์ก็เช่นกันเป็นเพียงแค่กองทุนรวม ไม่ได้เข้าไปล้วงลูกผู้บริหาร ผมจึงมองว่า ผลตอบแทนของลินซ์นั้นทำได้ยากกว่ากรณีของบัฟเฟตเสียอีกครับ แถม track record ของลินซ์นั้นยังสูงกว่าบัฟเฟตมากด้วย (29 vs 21)
ครับ พี่โจ๊ก ผลตอบแทนของ Buffett เป็น leveraged ด้วยเพราะมี float ซึ่งเป็นเงินยืมมาช่วย ตรงfloat นี้Munger ก็ยอมรับว่าเป็นปัจจัยความสำเร็จส่วนนึงของ Berkshire แต่เม็ดเงินที่บริหารของ 2 ท่าน ทั้ง Lynch และ Buffett ก็ไม่เท่ากัน
พูดถึงอีกคนนึง คือ Bill Miller ผจก.กองทุนของ Legg Mason ที่ทำผลตอบแทน beat S&P ได้ต่อเนื่อง 16 ปี แต่ว่าถ้าตามข่าว ทรัพย์สินที่ Bill บริหารขึ้นสู่จุด peak ในปี 2006-2007 เพราะว่าตอนนั้นเค้าได้รางวัลมากมาย และมีหนังสือเกี่ยวกับเค้าออกมาด้วย ตอนแรกกองทุน ขนาดประมาณ 8 หลัก million$ แต่ขึ้นไป peak 20 กว่า billion$ ตอนปี 2008 กองทุน Legg Mason ขาดทุน 50% เท่ากับว่า ถ้าดูเม็ดเงิน ที่ Bill Miller ทำขาดทุนมากกว่า เงินที่เค้า สร้างมาในรอบ 16-17 ปี ซะอีก
และทำให้ตอนนี้กองทุน Legg Mason ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ก่อตั้ง กลายเป็นแพ้S&P ซะอีกครับ ตอนนี้Bill ไม่ได้ออกจากการเป็น CIO ของกองทุนมาปีกว่าแล้ว หุ้นหลายๆตัวที่เค้าซื้อเยอะๆ ก็ล้มไปก็มีเช่น Kodak , Bear Stern
http://performance.morningstar.com/fund/performance-return.action?t=LMVTX®ion=USA&culture=en-us
http://www.cornerofberkshireandfairfax.ca/forum/general-discussion/what-do-you-guys-think-of-bill-miller/
bill miller กับ peter lynch เป็นคนละคนกันนี่ครับ ถ้า bill miller ไม่เก่ง จะสรุปว่า แสดงว่า peter lynch ต้องไม่เก่งด้วย เพราะว่าเป็นผู้จัดการกองทุนเหมือนกันคงไม่ได้ แบบนั้น ถ้าหมอคนไหนไม่เก่ง แสดงว่าหมอทุกคนต้องไม่เก่ง ก็คงไม่ใช่
อ้อๆ เปล่าครับ ผมไม่ได้หมายความว่า Lynch ไม่เก่ง เพียงแต่ว่า กรณีของ Bill ถึงจะ beat ตลาดต่อเนื่องมา 16 ปี แต่พอสุดท้ายแพ้ตลาดก็กลายเป็นว่า แพ้เยอะจนต้อง out ไป
เท่านั้นเอง
อ่านมาถึงคอมเม้นนี้รู้สึกเสียดายที่พี่โจ้กไม่เขียนถึง Bill Miller เหมือนกันนะครับ
ผมอ่านหนังสือของ Lynch มา ผมว่าวิธีการเค้า practical ดีนะครับ การประเมินมูลค่าบริษัทก็ดู make sense กว่าตำราหลายๆเล่มครับ ที่สำคัญเค้าเขียนหนังสือเอง ต่างจากบัฟเฟต ที่คนเขียนหนังสือแค่ประเมินว่าบัฟเฟตน่าจะใช้หลักการโน้นนี่ครับ
ที่ ปีเตอร์ ลินส์ บอกว่า การเรียนประวัติศาสตร์ และ ปรัชญา เป็นประโยชน์ต่อการลงทุนในตลาดหุ้น
พี่ช่วยขยายความเพิ่มเติมด้วยครับ 2 วิชานี้มีประโยชน์ อย่างไร
ถ้าอยากเก่งเหมือน ลินส์ จำเป็นต้องศึกษา 2 วิชานี้ด้วยหรือเปล่า
ใครเป็นไอดอล และใครที่มีอิทธิพลสำคัญต่อ Lynch ที่ทำให้ Lynch เป็นนักลงทุนแบบนี่ครับ
อ่านแล้วติดใจตรงงบการเงินที่แข็งแกร่งนี่ดูอย่างไร อย่างเช่น DE ratioหรือเปล่าคะ เพราะว่าบริษัทส่วนใหญ่ที่เติบโต การก่อหนี้มักจะมีมากกว่าเพื่อนำไปลงทุน งบที่เห็นก็อาจจะไม่ดีมากนัก ใช่ไหมคะ อย่างที่เห้นตอนนี้ CPALL หลังควบรวม, CPN เพิ่มทุน, HMPRO แบบนี้ถือว่างบดีหรือเปล่าคะ เพราะหลายครั้งก็ดูไม่ออกว่าการขยายกิจการอย่างรวดเร็วมากแบบตอนนี้ บริษัทไหนที่มีงบแข็งแกร่งบ้างนะคะ อะไรเป้นตัวที่บอกได้ดีที่สุดคะว่ามีงบแข็งแกร่ง
เรื่องเรียนประวัติศาสตร์และปรัชญานี่ผมจำไม่ค่อยได้นะครับ จำได้ Bill Miller บอกว่าเรียนปรัชญามีประโยชน์
งบแข็งแกร่ง D/E ก็เป็นตัวสำคัญตัวหนึ่ง D/E ไม่ใช่ยิ่งน้อยยิ่งดี แต่ D/E ไม่ควรสูงเกินไป เช่น ไม่ควรเกิน 1 เท่า แต่ระหว่าง 0-1 ถือว่าโอเคหมดครับ เพราะว่าบริษัทควรมีหนี้บ้าง
ตัวถัดไปที่ควรจะดูคือ interest coverage ratio คือ ดูว่า บริษัทกำไรกี่เท่าเมื่อเทียบกับภาระดอกเบี้ยจ่าย เพราะถ้าหนี้น้อย แต่กำไรก็น้อย ก็อาจจะประสบปัญหาสภาพคล่องจ่ายหนี้ไม่ได้ก็ได้