Skip to content

200: พฤติกรรมแปลกๆ ในการเทรดหุ้นของเรา

2349268098_fdda9baf60

พฤติกรรมแปลกๆ อันแรก คือ สมมติว่า เราถือหุ้นตัวหนึ่งมานานมาก เช่น สามปี แต่มันก็เป็นหุ้นที่ค่อนข้างนิ่งมากในช่วงที่ถืออยู่ เช่น แกว่งในช่วงแคบๆ 10.1-10.5 บาท ไม่หนีไปจากนี้เลย

ถ้าวันหนึ่ง มันวิ่งขึ้นไป 12 บาท (+10%) ในวันเดียวเลย ปฏิกิริยาอัตโนมัติของเราคือ เราจะอยากขายหุ้นตัวนั้นในวันนั้นทันที ถ้าไม่ให้ขายเลยในวันนั้นทันที เราจะอึดอัดอย่างบอกไม่ถูก

แต่โดยมาก เช่น 8 ใน 10 เคส หุ้นที่เคลื่อนไหวแบบนี้มักจะขึ้นต่อไปอีกในวันถัดๆ ไป เช่นกลายเป็น 15 บาทในเวลาแค่ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ต่อมา นั่นคือ เราขายหมู แต่ถึงเราจะเจอแบบนี้บ่อยแค่ไหน ครั้งหน้าที่เราเจอแบบนี้อีก เราก็ยังรีบขายอีกเหมือนเดิม ต่อให้มีประสบการณ์แล้วก็ช่วยไม่ได้มาก

ต้องมีอะไรแปลกๆ ในตัวของเราเองอย่างแน่นอน

การทำตามแรงขับนี้บ่อยๆ จนเป็นนิสัยสามารถส่งผลเสียกับผลตอบแทนของคุณได้อย่างมาก เพราะเท่ากับว่าทุกครั้งที่หุ้นในพอร์ตของคุณขึ้น คุณจะรีบ Limit กำไรของคุณได้ให้มีขนาดต่ำๆ ทันที แทนที่คุณจะได้กำไรจากหุ้นบางตัวเป็น 100% บ้าง แต่คุณกลับปิดโอกาสนั้นด้วยการรีบขายหุ้นทุกตัวที่กำลังจะวิ่งให้หมด ให้คุณได้กำไรจากหุ้นแต่ละตัวแค่ตัวละ 10-15% เท่านั้น

ในตลาดมีหุ้นนับห้าร้อยตัว การจะเจอหุ้นตัวที่วิ่งคงไม่ได้สูงนัก แต่ทุกครั้งที่เราอุตส่าห์เจอ เราก็จำกัดรางวัลของเราให้น้อยลง เอารีบเงินไปเสี่ยงหาโอกาส 1 ใน 500 ใหม่

เวลาที่คุณทำแบบนั้น คุณมักอ้างกับตัวเองว่า ก็มันขึ้นไป 12 บาท พรุ่งนี้มันอาจจะลงมาเหลือ 10 บาทตามเดิม ทำให้เราพลาดทำกำไร 2 บาทนั้นไปเลยฟรีๆ แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง การที่เราถือต่อไปแล้ววันต่อมามันวิ่งกลับลงมาใหม่ เราก็ไม่ได้ขาดทุน เราแค่ขาดทุน “กำไร” ไปเท่านั้น แต่ถ้าเราเลือกที่จะถือมันต่อไป หุ้นก็มีโอกาสขึ้นต่ออีก จะกี่บาทเลยก็ได้ และทุก 1 บาทที่มันขึ้นต่อไปนั้น ก็ยิ่งเป็นข้อได้เปรียบของเราที่จะ “ลุ้นต่อ” เพราะยิ่งมันห่างต้นทุนของเราออกไปเรื่อยๆ เราก็ยิ่งปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น ถ้าหุ้นลงกระทันหัน ขายก็ยังไม่ขาดทุน เพราะยังลงมาไม่ถึงต้นทุน ต่างกับคนที่เพิ่งกระโดดเข้ามาลุ้นที่ 12, 13, 14 บาท เพราะเป็นนักกระโดดข้ามไปข้ามมาจากตัวนั้นตัวนี้ไปเรื่อยๆ ถ้าอยู่ดีๆ หุ้นมันหล่นลงมาแรงๆ พวกเขาจะขาดทุนทันทีเลย เรามีโอกาสที่ดีอยู่แต่ก็ไม่ได้คว้าไว้ เพราะเห็นแก่เงินเล็กๆ น้อยๆ ที่ยังไม่ใช่ของเรา

ยิ่งถ้าคุณเป็นคนที่ซื้อหุ้นโดยดูจากมูลค่าพื้นฐานเป็นหลัก ก็ยิ่งดูไม่มีเหตุผลเข้าไปใหญ่ เพราะถ้าหากคุณมาพิจารณาตั้งแต่แรกแล้วว่า 10 บาทเป็นราคาที่ซื้อหุ้นนี้ได้ แสดงว่า มูลค่าที่เหมาะสมของมันต้องเป็นอะไรที่สูงกว่านั้นมาก เช่น 14-15 บาท เป็นต้น ถ้าหุ้นขึ้นมาแค่นิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่น่าจะเป็นเหตุผลให้ขาย ต่อให้มันขึ้นไป 12 บาทหนึ่งวัน แล้ววันต่อมามันตกลงมาเหลือ 9 บาทเลย จริงๆแล้วก็ต้องไม่ทำอะไรเลยอยู่ดี เพราะต้นทุนของคุณคือ 10 บาท และคุณคิดว่ามันราคาที่ซื้อหุ้นตัวนี้ได้ การที่คุณขายเพราะมันวิ่งไปที่ 12 บาททันทีจึงเป็นเรื่องของการ react ไปตามการเคลื่อนไหวของราคาล้วนๆ เช่นกัน ไม่ใช่เพราะพื้นฐาน หรือมิฉะนั้นคุณก็เป็นพวกนักปัจจัยพื้นฐานที่เล่นหุ้นสะเปะสะปะมาก มี mos แค่ 5-10% พอค่าเน็ตก็เอาแล้ว

เวลาหุ้นลง เราก็มีพฤติกรรมแปลกๆ ด้วยเช่น ถ้าคุณถือหุ้นตัวหนึ่งที่ราคาแกว่งอยู่แถวๆ 10 บาทมานาน อยู่ดีๆ ก็มีข่าวร้ายมากเกี่ยวกับหุ้นตัวนั้น ทำให้มันร่วงลงเหลือ 9 บาททันทีที่ข่าวออก

ถ้าคุณพิจารณาแล้วเห็นว่า ข่าวร้ายนี้เป็นปัจจัยลบที่น่าจะส่งผลต่อหุ้นเป็นเวลานาน สรุปก็คือ น่าจะ cut loss ออกไปก่อน เสียงในหัวของคุณมักจะบอกคุณว่า อย่าเพิ่งขายเลย รอให้ถึงวันพรุ่งนี้มันอาจจะเด้งกลับมาที่ 10 บาท เราค่อยขายออกไปก็ได้ เราจะได้ไม่ขาดทุนเลย ถ้าขายตอนนี้เราจะขาดทุนถาวร 1 บาททันที บลา บลา บลา

แต่คิดแบบนี้ทีไร วันรุ่งขึ้น โชคจะชอบไม่เข้าข้างเราซะทุกที เพราะแทนที่มันจะเด้งเหมือนเคสของหุ้นตัวอื่นๆ ที่มีข่าวร้ายแต่เป็นตัวที่เราไม่ได้ถือ ปรากฎว่า มันลงต่อไปอีกเหลือ 8 บาทซะงั้น ไม่เปิดโอกาสให้เราได้ขายออกไปก่อนแบบไม่ต้องขาดทุนสักบาท คราวนี้ถ้าจะ cutloss ก็จะเจ็บปวดมากกว่าเมื่อวาน เพราะแทนที่จะเจ็บตัวแค่บาทเดียว กลายเป็นสองบาท

ถึงตอนนี้เสียงให้หัวของคุณมักจะบอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้อง cut loss เลยละกัน ต้นทุนในการ cut loss มันสูงแล้วหนิ ไม่ขายไม่ขาดทุน

เวลาหุ้นเพิ่งเริ่มลงใหม่ๆ คนเรามักจะยังมีความหวังในเชิงบวกกับหุ้น เช่น หวังว่ามันน่าจะเด้งกลับขึ้นมาได้ คนที่ชอบซื้อเฉลี่ยหรือชอบข้อนของถูก ก็มักจะทำกันในช่วงนี้ แต่ถ้าหากหุ้นตัวนั้นดิ่งลงต่อไปอีกลึกๆ ตอนนี้เราจะเริ่มมองโลกในแง่บวกน้อยลง คนที่เคยซื้อเฉลี่ยจะเริ่มเปลี่ยนเป็นไม่อยากซื้อเฉลี่ยแล้ว ทั้งที่ราคาหุ้นถูกลงกว่าเดิมมาก และถ้าหุ้นยังลงต่อไปอีกอย่างไร้ความปราณี ตอนนี้เช่นเหลือแค่ 3 บาท เราจะเริ่มเปลี่ยนเป็นความสิ้นหวัง จากที่เคยไม่อยาก cutloss จะกลับเริ่มอยาก cut ท้ิงทุกกรณี แต่การมา cut loss เอาตอนที่ทุนเกือบหายไปหมดแล้วเช่นนี้ มันแทบจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย มันไม่ได้มีอะไรเหลือให้ปกป้องแล้วมากนัก cut loss ต้องทำแต่แรกๆ และบ่อยครั้งที่เรามา cut loss เอาตอนนี้ ราคาหุ้นก็เด้งได้พอดี เพราะหุ้นมันลงมามากจนสะท้อนความเลวร้ายไปหมดแล้ว และทำให้เราต้องเจ็บใจอีกรอบ หุ้นลงก็เจ็บ หุ้นขึ้นก็เจ็บอีก

ถ้าจะคิดดูดีๆ ว่าทำไมคนเราถึงชอบเป็นแบบนี้ น่าจะเป็นไปได้ว่า เรามักยึดติดกับราคาล่าสุดของหุ้น และใช้มันเป็นตัวแทนของราคาที่เหมาะสมโดยไม่รู้ตัว เวลาหุ้นขึ้น เราจึงรู้สึกว่าหุ้นแพงทุกที พอหุ้นลงเราก็รู้สึกว่ามันถูก ทั้งที่จริงๆ แล้วผมก็เห็นราคาหุ้นในตลาดมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่เห็นพวกมันพยายามอิงตัวเองกับราคาเก่าสักที หุ้นมันวิ่งไปเรื่อยๆ ตามข่าวดีและข่าวร้ายที่เข้ามามากกว่า พวกมันความจำเสื่อม

การจัดการกับพฤติกรรมพวกนี้ของตัวเอง ไม่มีวิธีที่เป็นสูตรสำเร็จ แต่อย่างน้อยที่สุด เราควรรู้ตัวเองว่าเรามีจุดอ่อนลักษณะนี้อยู่

ถ้าเรารู้ว่าตัวเราเองมีแนวโน้มที่จะขายหุ้นเร็วเกินไปทุกครั้งที่หุ้นขึ้้น เวลาหุ้นขึ้นก็ให้หาวิธีบังคับตัวเองให้ขายหุ้นให้ช้าที่สุดเท่าที่จะช้าได้ เช่น ถ้าอยากขายหมด ก็ค่อยๆ แบ่งขาย ถ้าอยากขายแค่ครึ่งเดียวก็ให้ขายหนึ่งในสี่ ทำยังไงก็ได้ให้เราอยู่กับหุ้นที่ขึ้นให้ได้นานขึ้น ผลตอบแทนของเราก็จะดีขึ้นเอง

เวลาหุ้นลงก็เหมือนกัน ให้รู้ตัวว่า คนเราจะมองโลกในแง่ดีตอนที่หุ้นเพิ่งลง แต่พอหุ้นลงมากๆ แล้ว เราจะมองโลกในแง่ร้าย ฉะนั้น ถ้าคิดว่าต้อง cut loss ก็ให้ cut ไปให้ไวที่สุด เช่น ทันทีที่คิดได้ ห้ามรอเด้ง หรือบางคนตั้งกฎเหล็กไว้เลยว่า ขาดทุนเกิน 10% จะ cut ทิ้งทันทีทุกกรณี ส่วนตัวไหนที่เราขาดทุนมากๆ แล้ว เช่น 70-80% ก็ให้เลิกคิดเรื่อง cut loss ไปเลย ถ้าเป็นพวกที่จะซื้อเฉลี่ยก็เช่นกัน  บอกตัวเองว่าให้ซื้อเฉลี่ยให้ช้าเข้าไว้ เช่น ลงแค่ 5-10% จะไม่ซื้อเฉลี่ยเลย เพราะถ้าหุ้นกลับมาจริงๆ กำไรหายไปแค่ 5% ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้าจะซื้อเฉลี่่ยต้องลงมาเป็น 20% ขึ้นไป รอให้ลงมาขนาดนั้นก่อนแล้วค่อยๆ คิดอีกทีว่ายังกล้าซื้ออยู่หรือไม่ เป็นต้น ทำยังไงก็ได้ให้ cut ให้เร็วขึ้น ซื้อเฉลี่ยให้ช้าลง เพราะเรารู้ว่าใจของเรามัก cut ช้า ซื้อเฉลี่ยเร็ว

เวลา cutloss เร็วซวยเพราะหุ้นดันเด้งได้ คุณจะมักกลับมาคิดใหม่ว่า “รู้งี้” ไม่คัทดีกว่า แล้วความเด็ดขาดของคุณก็จะหายไปอีก บางคนอาจจะโลเลอยู่แบบนี้นับสิบๆ ปี ไม่รู้ว่าวิธีไหนมันดีกว่ากันกันแน่ เพราะเอา “ดวง” (Random) มาปะปนกับวิธีการ Livermore บอกว่า เวลา cutloss ให้คิดเสมือนว่า 5-10% ที่เรายอมขาดทุนถาวรนั้น เป็นเหมือนเบี้ยประกันที่เราจ่ายเพื่อคุ้มครองทุนที่เหลืออีก 90% ของเราไว้ อย่าไปเสียดาย

ท่องไว้เสมอว่า เวลา cutloss เราต้องขาดทุนส่วนหนึ่งเสมอ มันคือค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งของการเป็นนักลงทุน อย่าคิดว่าเราจะไม่ยอมขาดทุนอะไรเลย เพราะนั่นจะทำให้เราไม่ได้ cut loss แล้วจากขาดทุนเล็กน้อยก็จะกลายเป็นขาดทุนแบบมโหฬาร ซึ่งมันไม่คุ้มกันเลย

คำแนะนำแบบ Contrarian ที่บอกว่า เวลาหุ้นตกให้เข้าไปซื้อเยอะเพราะว่าคนอื่นกลัวนั้น โดยส่วนตัว ผมว่าเป็นคำแนะนำที่ oversimplified มากเกินไป จิตใจคนซับซ้อนกว่านั้น ความกลัวและความโลภของคนขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นด้วย คนส่วนใหญ่มักจะอยู่กับหุ้นที่ขึ้นไม่ได้นานพอ ส่วนหุ้นที่ลงนั้น ตอนที่มันเพิ่งลงใหม่ๆ เรามักมองโลกในแง่ดีเกินไป และตอนที่มันลงไปเยอะๆ แล้วเราจะเปลี่ยนเป็นมองโลกในแง่ร้ายมากเกินไป  ลองพยายามควบคุม bias แบบนี้ของเราให้ได้ครับ

22 thoughts on “200: พฤติกรรมแปลกๆ ในการเทรดหุ้นของเรา”

  1. โครงการ 20 บจ.ภาคสอง ขอ delay หน่อยนะครับ กำลังปรับแนวทางอยู่ ไม่อยากให้กลายเป็นการเชียร์หุ้น ยังอยากให้เป็นบล็อกที่เน้นพูดถึงเรื่องไอเดียวิธีการลงทุนต่อไป อาจจะปรับเนื้อหาเป็นการพูดถึง Sector แทน

    สัปดาห์นี้เลยขอสรุปเรื่องจิตวิทยาหุ้นต่อให้จบไปเลย

  2. จริงๆอยากได้เป็นบริษัทมากกว่าแต่ถ้าไม่ได้ เอาเป็นsectorก็ยังดีคร้าบ

  3. ปรกติแล้ว การคัทลอสต้องทำควบคู่กับการกำหนดจุดซื้อที่เป็นระบบครับ จำมาจากหนังสือของ โอนีล เช่น ซื้อณจุดที่ไม่เกิน4%ของhandleของcup และตั้งจุดคัทที่ต่ำกว่าจุดซื้อไม่มากกว่า8% คือคำนวนแล้วยังไงระบบก็ยังล็อคให้ไม่ขาดทุนหรือขาดทุนน้อยอยู่ ถ้าไม่กำหนดระบบขึ้นมาแล้วอาจต้องคัทบ่อยๆครับ

  4. ผมว่าทันเหมือนหุ้น mint อย่างไงไม่รู้นะครับ

    เหมือนกับ mint มากคับ ประสบการตรงเลยครับ

  5. พอหุ้นตกเร็วมาก ๆ ก็กลัว ตั้งขายยังผิดเลย กำไีีรน้อยแล้ว ยิ่งได้น้อยลงไปอีก ต้องตั้งสติยังไงดีนิ…

  6. บทความนี้ยอดเยี่ยมเช่นเคย ชอบคำว่า “พวกมันความจำเสื่อม” ครับ^^ ..ขอบคุณครับพี่โจ๊ก^_^

  7. วิธีแก้ เช่น อาจจะเลิกดูราคาหุ้นไปเลย หรือนานๆดูที หรือดูตอนตลาดปิดไปแล้ว(เทรดไม่ได้) ก็น่าจะเป็นวิธีแก้ปัญหาขายเร็วเกินไป เพราะถูกราคาในตลาดกระตุ้น ได้ใช่มั้ยครับพี่? ^^

    – -ขอบคุณมากครับ

  8. เท่าที่ตรวจสอบดู username Napa ลงทะเบียนแล้ว แต่ยังไม่ได้ชำระเงินค่าสมาชิก ถ้าได้ลองชำระแล้ว การชำระเงินคงยังไม่สมบูรณ์ ยังไม่มีการตัดเงินไปครับ

    ทางแก้ไขคือ ล็อกอินใหม่ แล้วเริ่มการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตอีกที หรือมิฉะนั้นจะใช้วิธีโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารแล้วแจ้งผมก็ได้ เลขที่บัญชีดูได้ที่ https://dekisugi.net/member ครับ

  9. ขอบคุณครับพี่โจ๊ก ผมก็มีอาการคล้ายๆกันครับ ตอนนี้ก็เลยแก้ด้วยการลดปริมาณและจำนวนครั้งในการเทรดลง (ส่วนตัวผมจะจำกัดว่าเทรดไม่เกินกี่ครั้งต่อเดือน และ ไม่เกินกี่ % ของพอร์ต) พอเทรดไม่บ่อยก็จะไม่ค่อยซื้อๆขายๆครับ ทำให้ดูราคาหุ้นน้อยลงด้วยครับ

    ขอบคุณสำหรับไอเดียครับ จะติดตามเรื่องจิตวิทยาการลงทุนต่อ น่าสนใจดีครับ

  10. ตอนนี้กำลังฝึกเช่นกันคะ เพราะอยากประสบความสำเร็จจริง ๆ คะ

  11. ขอแชร์ประสบการณ์ตัวเองนะครับ
    พออ่านแล้วก็เคยบอกกับตัวเองไว้แบบนี้ แต่ด้วยความกลัวมันเลยทำไม่ได้ซักที..
    จนกระทั่งได้เรียนรู้กับตัวเอง คือ หุ้นในพอร์ตตัวหนึ่ง จ่ายปันผลเป็นหุ้นกับเงินสดนิดหน่อย พอขึ้น XD ผมก็ขายหุ้นออกหมด
    พอหุ้นที่ได้จากปันผลมาจำนวนหนึ่ง ก็เก็บไว้ ถึงแม้จะลบหรือบวกมากแค่ไหนก็ไม่สนใจ เพราะคิดเป็นจำนวนเงินไม่เยอะ และก็ได้มาฟรีๆ

    เวลาผ่านไป ไม่ถึงปี สรุปพอร์ตตัวเอง ปรากฎว่า หุ้นที่ได้จากปันผลตัวนั้น มี capital gain เยอะสุด
    ถึงแม้คิดเป็นจำนวนเงินอาจไม่มาก แต่มันทำให้เรารู้ว่า หากเราเลือกหุ้นดีๆ แล้วถือมันนานๆ ผลตอบแทนที่ได้
    จะมากกว่า ซื้อแล้วกำไรนิดหน่อย ก็เปลี่ยนตัวใหม่ไปเรื่อยๆ พอได้พิสูจน์กับตัวเอง จึงเข้าใจและมีความตั้งใจที่จะทำให้ดียิ่งขึ้น
    ปัจจุบันก็ยังเก็บไว้ในพอร์ตรวมกับตัวอื่นๆ เป็นตัวอย่าง คอยเตือน คอยบอกตัวเองให้นิ่งขึ้น ….

  12. อ่านแล้วเจ็บจี๊ดเลยครับ 55+ และชอบคำพูดที่ว่า “ให้เรารู้ว่าเรามีจุดอ่อน ลักษณะนี้อยู่” ต่อไปก่อนเทรดจะพยายามท่องเข้าไว้ครับว่า เวลาหุ้นขึ้นให้พยายามขายให้ช้าที่สุด, Cut loss เหมือนการซื้อเบี้ยประกัน อย่าไปเสียดาย

  13. เป็นอยู่บ่อยๆเลยครับ หลังๆมาเลยทยอยขายทีละ 1 ใน 3 ผลคือ กลับขึ้นไป จริงๆ แต่เสียตรง ชอบมาหมด ตอนมันเสมอทุน แล้วหุ้นก็ไปต่อ ดันไม่กล้าซื้อตามแล้ว จะไปซื้ออีกที คือตอนมันขึ้นไปเกือบสุด ผลสุดท้ายคือ ขาดทุนอีกรอบ

  14. โดนกับตัวเองเลยครับเรื่องซื้อเฉลี่ยขาลง 5-10% เห็นว่ามันถูกก็ซื้อ แล้วมันดันลงไปอีก 20% หงายเลย t-t

  15. ตอนนี้พยายาม ทนรวย “เพราะขายหมู” บ่อยจัด lol

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *