Skip to content

212: แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารพอร์ต

เวลาเราคิดถึงคำว่าบริหารพอร์ต บ่อยครั้งเราขึ้นต้นด้วยคำถามทำนองว่า “ควรมีหุ้นกี่ตัวในพอร์ตดี?” ซึ่ง ผมว่า มันเป็นการตั้งคำถามที่ไม่ดี เพราะถึงเราจะพิสูจน์ได้่ว่า ควรมีหุ้น X ตัวในพอร์ตถึงจะดีที่สุด แต่ในสถานการณ์จริงๆ ซับซ้อนกว่านั้น มันนำมาปฏิบัติได้ยาก และไม่เหมาะกับสถานการณ์จริง

เพราะในแต่ละช่วงเวลา เราย่อมต้องมี judgement ด้วยว่าหุ้นกำลังถูกหรือแพง (หรือหุ้นกำลังเป็นขาขึ้นหรือขาลงในกรณีของคนที่แนวโมเมนตัม) และประเด็นอื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึงอีก ถ้าเราบอกว่าในพอร์ตควรมีหุ้น 10 ตัว แต่ถ้าเราเริ่มต้นลงทุนในตอนที่เราคิดว่าหุ้นแพงล่ะ แปลว่าเราก็ต้องหลับหูหลับตาซื้อไปสิบตัวทั้งที่เราคิดว่าหุ้นแพงทั้งตลาดหรือเปล่า

ก็คงไม่ใช่

ผมมองว่า ถ้าเป็นการลงทุนในแนวเติบโต ผมเริ่มต้นคิดว่า พอร์ตในอุดมคติเลยควรมีหุ้นสักประมาณ 5-7 ตัว (ที่กระจายเงินออกไปใกล้เคียงกัน) เพราะเท่ากับว่าแต่ละตัวมีน้ำหนักประมาณ 15-20% ของพอร์ต พอร์ตของเราจึงไม่เสี่ยงกับหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากจนเกินไป สมมติว่าหุ้นตัวหนึ่งเกิดความเสียหายในระดับที่รุนแรงมากๆ จนมีราคาลดลงไป 50% ก็จะกระทบพอร์ตของเราเพียง 5-10% ซึ่งเป็นระดับที่คิดว่าคนส่วนใหญ่พอรับได้ ถือเป็นระดับของการกระจายความเสี่ยงที่พอเหมาะ

ในเวลาเดียวกัน ในกรณีที่ซื้อตัวใดตัวหนึ่งเข้าพอร์ตไปแล้ว ดันซวยสุดๆ สัปดาห์ต่อมา มันตกแรงมากๆ ทั้งที่ภาพใหญ่ของมันก็ยังดีอยู่ เช่น ซื้อก่อนวันออกมาตรการ 30% พอดี ทำให้เป็นโอกาสซื้อเพิ่มแบบไม่คาดฝัน การซื้อเพิ่มขึ้นไปสักเท่าตัว ก็ทำให้น้ำหนักของหุ้นตัวนั้นในพอร์ตเพิ่มขึ้นมาเพียงแค่ 20-30% เท่านั้น ซึ่งก็ยังเป็นระดับที่ไม่ได้สูงมากจนเกินไป จนทำให้พอร์ตต้องเสี่ยงเพราะผูกกับหุ้นตัวใดตัวหนึี่งมากจนเกินไปอยู่ หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ที่ระดับ 10-20% ยังเป็นระดับที่ทำให้เรามี room ที่จะ bet เพิ่มได้ด้วยถ้าจำเป็น ลองคิดว่าถ้าเรามีหุ้นแค่ 2-3 ตัว แล้วมีความจำเป็นต้องซื้อตัวใดตัวหนึ่งเพิ่ม ความเสี่ยงของพอร์ตโดยรวมจะเพิ่มขึ้นในระดับที่สูงมากทีเดียว

ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าหากเรามีหุ้นในพอร์ต 20 ตัว เท่ากับตัวละ 5% อาจเป็นตัวเลขที่น้อยลงอีก ทำให้พอร์ตไม่ต้องผูกกับหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากขึ้นอีก นั่นเป็นข้อดี แต่ข้อเสียก็คือว่า ถ้าคุณคิดมาอย่างดีกับหุ้นตัวหนึ่งว่าน่าลงทุน แต่คุณลงทุนกับมันแค่ตัวละ 5% เท่านั้น เวลาคุณได้กำไรจากตัวนั้นสัก 50% พอร์ตคุณจะโตขึ้นแค่ 2.5% เท่านั้น ซึ่งมันไม่คุ้มค่าเหนื่อยเลย ยังไม่นับการทีคุณต้องติดตามหุ้นถึง 20+ ตัว ซึ่งเป็นการบ้านที่หนักมาก และทำให้เรารู้ได้ไม่ลึกซึ้งกลายเป็นข้อเสียเปรียบอีกต่างหาก

ฉะนั้นแล้ว 5-7 ตัว จึงเป็นระดับที่ optimal มากที่สุด เมื่อมองจากหลายๆ ด้านในเวลาเดียวกัน ตามความคิดของผม

แต่ 5-7 ตัว ที่ว่านี้ คือ เป็นเป้าหมายอุดมคติ เพราะในสถานการณ์จริง สถานการณ์อาจไม่เอื้อให้เราซื้อหุ้นได้ 5-7 ตัวตลอดเวลา เราอาจเริ่มต้นลงทุนในภาวะที่ตลาดหุ้นแพงมากหรือถูกมากก็ได้ ฉะนั้น ในสถานการณ์จริง เราต้องคิดถึงมูลค่าหุ้นด้วย เราอาจไม่พบหุ้นในตลาดที่มีราคาที่เหมาะสมให้ซื้อได้ครบห้าตัวก็ได้

ถ้าหากผมเห็นว่าตอนนี้ตลาดหุ้นถูกมากๆ หุ้นแทบทุกตัวในตลาดมีราคาที่ซื้อได้หมด ความปลอดภัยสูงมาก แบบนี้เราก็ต้องใช้เงินทุนของเราให้เต็มประสิทธิภาพ เราควรคัดหุ้นให้ได้ 5-7 ตัวตามพอร์ตในอุดมคติ แล้วลงทุนจนเต็มพอร์ตไปเลย

แต่หากเราเห็นว่า ขณะนี้ ตลาดหุ้นแพงมากๆ หุ้นส่วนใหญ่ซื้อไม่ได้ แบบนี้เราก็ต้องปรับแผนมาถือเงินสดเพิ่มบ้าง เราอาจลงทุนแค่ 2-3 ตัวเท่าที่พอหาได้ว่ายังพอซื้อได้ไปก่อน เพียงแต่ตัวละ 10-20% ของพอร์ตก็พอ ที่เหลือน่าจะเก็บไว้เป็นเงินสดก่อนดีกว่า เหมือนกับว่ายังมีที่ว่างในพอร์ตอยู่ แต่ยังหาหุ้นซื้อไม่ได้ เลยปล่อยที่ว่างนั้นเป็นเงินสดไว้ก่อน ไว้เจอตัวที่พอซื้อได้ค่อยซื้อ ถ้าไม่เจอก็ไม่ต้องดันทุรังซื้อสุ่มสี่ซุ่มห้าเพียงเพื่อให้ครบห้าตัว

หลักการคร่าวๆ ของการบริหารพอร์ต (active) ของผมจึงสรุปง่ายได้ว่า มีหุ้น 5-7 ตัวในพอร์ต แต่จะซื้อครบหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่าเราหาหุ้นที่มีราคาเหมาะสมได้กี่ตัวด้วย ถ้าช่วงไหนตลาดหุ้นแพง เราหาหุ้นได้น้อย ก็ถือเงินสดไว้ส่วนหนึ่งด้วย โดยอัตโนมัติด้วย ไม่จำเป็นต้องมีหุ้น 5-7 ตัวเสมอไป

ผมได้ยินตรรกของหลายๆ คนที่บอกว่า ถ้าเราต้องการได้ผลตอบแทนปีละ 100% ขึ้นไป เราจำเป็นต้องถือหุ้นแค่ 1-2 ตัวในพอร์ตเท่านั้น เพราะยิ่งถือมากขึ้น ผลตอบแทนรวมของพอร์ตก็จะยิ่งล้อกับตลาดมากขึ้น แต่ตลาดหุ้นยากที่จะให้ผลตอบแทน 100% ได้ทุกปี จึงจำเป็นต้อง bet กับหุ้นแค่ 1-2 ตัว ถึงจะบรรลุเป้าหมาย 100% ต่อปีได้ ซึ่งที่จริงผมก็เห็นด้วยกับตรรกนี้ แต่ไม่ได้เห็นด้วยว่าการซื้อหุ้น 1-2 ตัวทั้งพอร์ตจะเป็นคำตอบ เพราะตลาดหุ้นไม่มีอะไรแน่นอน เราคิดผิดได้เสมอ การผูกพอร์ตทั้งพอร์ตไว้กับหุ้นแค่ตัวเดียว ผมมองว่ายังไงก็อันตรายเกินไป ได้ไม่คุ้มเสีย ถ้าหากผมมีเป้าหมายผลตอบแทนที่สูงมาก เช่น 100% ต่อปี ยังไงๆ ผมก็ต้องหาหุ้นที่มี upside 100-200% มาให้ครบห้าตัวให้เจอ ผมถึงจะกล้าลงทุนเต็มพอร์ต นั่นคือ เราต้องแก้ปัญหานี้ด้วยการทำการบ้านให้มากขึ้น ไม่ใช่เสี่ยงมากขึ้น อยู่ดี โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่เคยไว้ใจหุ้นตัวไหน 100% เพราะตลาดหุ้นจะมีสิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

แต่ถ้าจะซื้อหุ้นตัวเดียวเต็มพอร์ตจริงๆ เพราะเจอหุ้นอยู่แค่ตัวเดียวที่มี upside 100% และยังไงก็ต้องให้ได้ผลตอบแทนปีละ 100% ให้ได้  ผมคงไม่คิดแบบบริหารพอร์ตการลงทุนแล้ว แต่จะคิดแบบเทรดเดอร์ไปเลย คือ cut loss ทันที หากขาดทุนถึงจุดหนึ่ง แบบนี้ก็จะเป็นวิธีป้องกันความเสี่ยงได้อีกแบบหนึ่งครับ ฉะนั้นการบริหารพอร์ตจึงเชื่อมโยงกับสไตล์การเล่นหุ้นของแต่ละคนด้วย

และหลังจากที่เราตัดสินใจลงทุนในหุ้นตัวใดๆ ไปแล้ว ถ้าหากหุ้นตัวนั้นปรับตัวลงแรงหลังจากนั้น แล้วเราคิดว่าเราอยากซื้อเพิ่มเพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุน ผมจะทำทำให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น ทำเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เช่นเดิมมีอยู่ 20% แล้วในพอร์ต ถ้าจะซื้อเพิ่มก็จะซื้อให้เป็น 30% ของพอร์ตเท่านั้น ถ้าหากซื้อไปแล้ว หุ้นยังลงต่อไปอีก ผมจะไม่ซื้อเพิ่มอีกเลย เพราะถ้าซื้อเพิ่มอีก ความเสี่ยงของพอร์ตที่ผูกกับหุ้นตัวใดตัวหนึ่งจะสูงเกินไปแล้ว เราต้องตัดใจอย่างเดียว ยอมรับว่าเราอาจคิดผิดก็ได้ อย่ามีอีโก้เด็ดขาด ต้องคิดว่า ถ้าเราคิดถูกจริงๆ สุดท้ายมันจะกลับมาได้เอง ถ้าไปซื้อเพิ่มอีก เราอาจเสียหายหนักขึ้น และเสียหายแบบไม่จำกัด ถ้าหากสุดท้ายแล้วเราคิดผิด

การบอกตัวเองว่าให้ซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเพิ่มได้แค่หนเดียวเท่านั้น และซื้อจำนวนจำกัดด้วย ช่วยให้เราคิดหนักก่อนที่จะซื้อเฉลี่ย เพราะถ้ามันยังตกไม่แรงจริงๆ เราจะไม่อยากซื้อ เพราะรู้ว่าซื้อได้แค่หนเดียว จะช่วยลดปัญหาการซื้อถัวเฉลี่ยเร็วเกินไปได้ด้วย เป็นการตั้งกฎเพื่อการควบคุมจิตใจอย่างหนึ่ง และประโยชน์อีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ทำให้วิธีการลงทุนของเราซับซ้อนมากเกินไปด้วย เพราะถ้าเราตัดสินใจลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งไปแล้ว แล้วเรายังมีการซื้อๆ ขายๆ เพิ่มเติม เพื่อเปลี่ยนต้นทุนของมันไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีจุดจบ ไม่ช้าไม่นานวิธีบริหารพอร์ตการลงทุนของเราจะซับซ้อนมากจะมั่วไปหมด หรือบางครั้งการยึดติดกับต้นทุนเดิมก็ทำให้เรา bias ดังน้นการพยายามทำให้การบริหารพอร์ตของเรา simple ไว้ก่อน จะช่วยให้การลงทุนของเราไม่สะเปะสะปะได้ครับ

ส่วนเวลาขายหุ้นนั้น ผมคิดว่าเราไม่ควรขายหุ้นเติบโต เพียงแค่เพราะหุ้นตัวนั้นมีราคาเพิ่มขึ้นจนแพงเกินพื้นฐาน  หุ้นเติบโตนั้นไม่เหมือนหุ้นอย่างอื่น เพราะกำไรของมันยังเพิ่มขึ้นได้อีกเรื่อยๆ ในอนาคต มูลค่าพื้นฐานของมันจึงยังเพิ่มได้อีก ถ้าเราเห็นว่าราคาเกินพื้นฐาน เราก็ขายทิ้งเลย ปีหน้ากำไรมันเพิ่ม ราคามันอาจจะกลับไปต่ำกว่าพื้นฐานใหม่ก็ได้ แต่ว่าเราก็ได้ขายมันทิ้งไปแล้ว การขายหุ้นตัวเก่าที่เรามีต้นทุนต่ำๆ อยู่แล้ว เพื่อเอาเงินไปซืื้อตัวใหม่ที่เราต้องซื้อที่ราคาตลาดนั้น ผมว่าสู้ลุ้นกับตัวเดิมต่อไปยังดีกว่า เพราะถ้ามันตกลงมานิดหน่อย มันก็ยังไม่ถึงต้นทุนของเรา ถ้าคิดช้าหนีได้ช้ากว่าคนอื่นก็ยังไม่ขาดทุน ถือตัวเก่าไว้ก่อนจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

เราน่าจะขายหุ้นเติบโตเมื่อเห็นว่ามันไม่ใช่ธุรกิจที่เติบโตได้ในระยะยาวแล้วมากกว่า ถ้าหากจะขายหุ้นเติบโตเพราะเรื่องราคาหุ้นจริงๆ ก็ต้องเป็นในกรณีที่เห็นว่าราคามันแพงแบบสุดขีด (extreme valuation) ไม่ใช่แค่คำว่าแพงแบบธรรมดา

ทั้งหมดนี้เป็นแค่ตัวอย่างของการขบคิดเกี่ยวกับวิธีการบริหารพอร์ต จะเห็นได้ว่ามีอะไรที่ต้องคำนึงถึงหลายอย่างมากกว่าแค่คำว่าควรมีหุ้นกี่ตัวในพอร์ตนะครับ

22 thoughts on “212: แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารพอร์ต”

  1. อยากถามพี่โจ้กเรื่องการขายหุ้นครับ ที่ว่าขายเมื่อมันไม่โตแล้วนี่แปลว่าเราต้องคาดการณ์ล่วงหน้าหรือรอให้เห็นผลประกอบการก่อนว่ามันไม่โตจริงๆจึงขาย
    ปกติแล้วราคาหุ้นมันจะไปก่อนผลประกอบการเสมอ (Reflexivity) แต่หลายครั้งหุ้นเติบโตราคามันเหวี่ยงเพราะผิดหวังกับผลประกอบการระยะสั้น ผมเลยสงสัยว่าพี่โจ้กขายหุ้นยังไง

  2. ได้มุมมอง ความรู้ดีๆเช่นเคย ขอบคุณมากครับพี่โจ๊ก^_^

  3. ถ้าเป็นอย่างที่พี่บอก แล้วการวางแผนซื้อถัวเฉลี่ยทั้งขาขึ้นและขาลง เราควรจะวางแผนอย่างไรครับ เช่น จะถั่วเฉลี่ยนขา ขึ้น และ ลง ใน rage กี่ เปอเซนต์ ของราคาซื้อครั้งแรก หรือมีวิธี ถัวอย่างไร้างครับ

  4. ปกติผมจะคิดว่าไม่ทำอะไรเลยไว้ก่อนเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดครับ ถ้าเรามีหุ้นตั้งห้าตัว หุ้นบางตัวจะลงไปบ้างก็ไม่เป็นไร บางทีมันลงไปแล้วสามเดือนต่อมาก็มันก็ขึ้นมาใหม่ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย เรามักวิตกกังวลไปเอง

    อีกอย่างที่จะบอกตัวเองอยู่บ่อยๆ คือ หุ้นลงแค่ 5% ให้ถือว่าไม่เปลี่ยนแปลง เราจะได้ไม่ซื้อถัวเฉลี่ยเร็วเกินไป ถ้ามันลงไป 5% แล้วเด้งจริงๆ เราอาจพลาดที่จะได้กำไรอีก 5% แต่จริงๆ มันก็เป็นกำไรที่น้อยมาก ไม่คุ้มกับที่เราจะต้องเพิ่ม position ในหุ้นตัวนั้นไปอีกเยอะมาก แล้วปรากฎว่ามันดันลงต่อไปอีก

    ที่ซื้อเฉลี่ยขาลงบ้างก็มีเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ต้องลงไปเยอะมากๆ จะซื้อเฉลี่ยครั้งเดียวเลิก แต่ตัวไหนลงเยอะมากแล้วควรซื้อเฉลี่ย ตัวไหนไม่ควรซื้อ ผมไม่ได้มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน มันขึ้นอยู่กับเหตุผลของแต่ละตัวจริงๆ

    ส่วนเวลาหุ้นขึ้นบางทีก็อาจซื้อเพิ่มเหมือนกัน แต่ยังทำไม่ค่อยเป็น ส่วนใหญ่จะอยู่เฉยๆ เหมือนกัน เพราะคิดว่ายังไงเรามีอยู่ตั้ง 15-20% ก็เรียกว่าได้ประโยชน์เยอะพอสมควรแล้ว

    ทั้งหมดนี้ต้องเกิดจากตอนซื้อครั้งแรกว่าเราคิดถี่ถ้วนหรือไม่ หุ้นมีอนาคตจริงหรือไม่ หุ้นไม่แพงเกินไปใช่หรือไม่ ถ้าเราคิดได้ถี่ถ้วนทุกครั้งตอนที่ซ์้อครั้งแรก จะไม่ค่อยกลัวที่จะไม่ทำอะไรเลย ระหว่างทาง

    1. เห็นด้วยกับประโยคสุดท้ายของพี่โจ้กที่ิสุดเลยคร้าบ ก่อนซื้อถ้าคิดดีแล้วเราจะไม่ค่อยจำเป็นต้องแก้ไขอะไร ถ้าผิดก็ยอมรับผิดไปเลยดีกว่าด้วยซ้ำ…

  5. แล้วในกรณี ที่ สมมติว่าผมสนใจหุ้นตัวหนึ่งแล้วอยากจะซื้อ สัก 200000 แต่ผมไม่ซื้อที่เดียว คือผมจะซื้อเฉลี่ยขาขึ้น หรือ ขาลง แล้วแต่ พี่มีคำแนะนำบ้างมั้ยครับ เพราะตามที่พี่เคยในข้อคิดเรื่อง การซื้อเฉลี่ย ไว้อ่ะครับ เเราไม่รู้ว่าราคาไหนต่ำสุด หรือ สูงสุด การซื้อเฉลี่ยนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดี ผมจึงอยากได้แนวทางในการซื้อเฉลี่ยครับ ขอบคุณมากครับ

  6. ถ้าจะซื้อตูมเดียว สำหรับผมคือหุ้นต้องอนาคตดี “และ” ราคาต้องยังไม่แพงเกินไปด้วย ต้องใช่ทั้งสองอย่างเท่านั้น ผมถึงจะทำ ถ้าซื้อไปแล้วซวยจริงๆ เกิดเหตุที่ไม่คาดคิดทำให้ราคามันถูกลงมาก แต่อนาคตก็ยังดีอยู่ ผมก็อาจจะซื้อเพิ่มอีก แต่คงมีแค่ครั้งเดียวเลิก ถ้าลงต่อ จะไม่เอาแล้ว ส่วนใหญ่ผมตอนซื้อครั้งแรกประมาณ 15-20% ของพอร์ต ถ้าต้องซื้อเพิ่มอีกครั้งกลายเป็น 30% ก็ยังถือว่า ปลอดภัยอยู่ นั่นคือ ผมเผื่อการซื้อเพิ่มแล้วไว้แล้วหนึ่งก๊อกสำหรับหุ้นทุกตัวที่ลงทุน เผื่อเราโชคไม่ดีจริงๆ

    แต่ถ้าหุ้นที่อนาคตดี แต่ว่าคิดว่าราคามันยังแพงเกินไป ถ้าอยากได้จริงๆ ผมจะซื้อเฉลี่ย อาจจะเฉลี่ยไปเรื่อยๆ ตามช่วงเวลา โดยไม่สนใจว่ามันขึ้นหรือมันลง และงวดหนึ่งค่อนข้างน้อย ถ้าซื้อไปเรื่อยๆ แล้ววันดีคืนดีมันลงตูมใหญ่ขึ้นมาจนเป็นราคาที่ถือลงทุนได้ ผมถึงจะค่อยปรับมาซื้อเยอะๆ เป็นการเข้าซื้อแบบถือลงทุนไปเลย

    ที่จริงผมมีเงินส่วนหนึ่งที่เล่นรอบด้วยเหมือนกัน เพราะมันสนุกดี แต่ก็ไม่ใช่เงินที่เยอะนัก บางทีผมเห็นว่าเป็นจังหวะตลาดที่ดี ผมก็จะเข้าไปซื้อหุ้นหลายตัว แต่การซื้อแบบนี้ผมจะไม่มี commitment ใดๆ ถ้าเห็นท่าตลาดจะไม่ค่อยดี ผมจะขายหุ้นพวกนี้ทิ้งหมดทันที เพราะเรารู้อยู่แก่ใจว่า ตอนซื้อเราไม่ได้ซื้อโดยมองมูลค่า แต่ซื้อเพราะโมเมนตัมเป็นหลัก ไม่ควรไปยึดติดกับมัน

  7. สมมติหุ้น X ที่เราวิเคราะห์ ราคาเหมาะสม 5 ปี ข้างหน้าคือ 100 บาท …ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 100 บาท โดยที่เรามีต้นทุนที่ต่ำมากๆ กรณีนี้พี่ขายรึป่าวครับ?

    – ขอบคุณครับ

    1. ถ้าเป็นหุ้นเติบโตคือเชื่อว่าธุรกิจมันโตไปเรื่อยๆ ได้ คงไม่ขาย ยิ่งต้นทุนเราต่ำมากก็ยิ่งไม่น่าขาย เพราะหลังจากปีที่ห้ามันก็โตต่อได้อีก ราคาเหมาะสมมันก็เพิ่มได้อีก

      แต่ถ้าไม่ใช่ธุรกิจที่เติบโตไปเรื่อยๆ ได้ ก็น่าขายครับ

  8. แสดงว่าพอรต์หลักของพี่ ที่มีหุ้นเติบโต ที่ธุรกิจยังคงโตไปได้เรื่อยๆ ถึงแม้ราคาจะรวมกำไรในอนาคตไปหลายๆปีแล้ว แต่ถ้ามันยังโตต่อไปได้ ก็ถือยาวไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะไม่ใช่ธุรกิจที่โตได้อีก ^^ …. ตาสว่างเลยครับ ที่ผ่านมาผมใช้วิธีง่ายๆ ที่คนใช้กันคือ ดูว่ากำไร 5 ปี ข้างหน้าคือเท่าไหร่ และประเมินมูลค่าเหมาะสมจาก P/E ที่เหมาะสม แบบหยาบๆ โดยวิเคราะห์เชิงคุณภาพของธุรกิจก่อน และซื้อโดยมี MOS มากๆ แต่หุ้นบางตัวขึ้นเร็วถึงราคาเหมาะสมปีที่ 5 ก็เลยขาย …. ปัญหาก็คือ ราคาก็ยังขึ้นต่ิอไปได้อีก ตามธุรกิจที่โต ( แต่บางทีผมอาจคำนวณมูลค่าเหมาะสมไม่ใก้ลเคียงกับความเป็นจริงก็ได้ครับ) แล้วทีนี้ก็จะมีปัญหา ไม่กล้าจะซื้อคืน เพราะจะรู้สึกว่าราคาแพงไปมาก ติดกับดักจิตวิทยาอีก ><

    1. ้อจะกะ กำไร 5ปีข้างหน้าไ้ด้ น่าจะใช้ dcf หลายๆ scenario ไปเลยไม่ดีกว่าเหรอคับ
      ผมว่าใช้ pe มันยังไงๆอยู่นะคับ

  9. ได้รับประโยชน์ทุกครั้งที่อ่านบทความใหม่ๆครับ ขอบคุณมากครับ

  10. ขอบคุณมากครับ ยากที่สุดคงเป็นการเลือกหุ้น ณ เวลานี้ที่ set ใกล้ 1,500 นี่แหละ ยากจริงๆ

  11. สุดยอดครับพี่ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการขายหุ้นเติบโต หายข้องใจไปเยอะเลยครับ 🙂

Leave a Reply to นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์ Cancel reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *