Skip to content

210: ตอนที่ ๑ : หลักการและเหตุผลของงบการเงิน

แนวคิดแรกสุดที่นักลงทุนควรรู้เกี่ยวกับงบการเงินคือ งบการเงินประกอบด้วยงบสำคัญ 3 งบ คือ งบแสดงฐานะการเงิน (หรือเรียกว่า งบดุล), งบกำไรขาดทุน (บางคนเรียกว่า P&L) และงบกระแสเงินสด แต่ละตัวมีประโยชน์ต่างกัน และต้องดูทั้งสามตัวจึงจะให้ภาพเกี่ยวกับบริษัทได้ครบถ้วน

งบดุล นั้นมีไว้บอก “ฐานะทางการเงิน” ของบริษัทอย่างเดียวโดยที่ไม่ได้สนใจว่า ธุรกิจของบริษัทดีหรือไม่ดี บริษัทเปล่าๆ ที่เพิ่งตั้งใหม่อาจมีงบดุลที่แข็งแกร่ง เพราะมีแต่เงินสดอยู่ในธนาคารเป็นพันล้านบาท และยังไม่มีหนี้เลย แต่ความสามารถในการทำกำไรเป็น 0 เลย เพราะยังไม่ได้ทำธุรกิจอะไรเลย

โครงสร้างของงบดุล คือ สมการ “สินทรัพย์ = หนี้ + ทุน” หมายความว่า สินทรัพย์ทุกอย่างของบริษัทต้องมีที่มาจากเงินของเจ้าหนี้หรือเงินของเจ้าของทั้งสิ้น งบดุลจึงพยายามแจงให้ดูว่า บริษัทเป็นเจ้าของสินทรัพย์อะไรอยู่บ้าง และในเวลาเดียวกันนั้น สินทรัพย์เหล่านั้นหามาได้โดยเงินของเจ้าหนี้เท่าไร เงินของผู้ถือหุ้นเท่าไร สองข้างของสมการต้องเท่ากัน “เป๊ะ” เสมอ

แนวคิดที่สำคัญอีกอย่างเกี่ยวกับงบดุลคือ งบดุลเป็น “ภาพนิ่ง” ของบริษัท ณ วันปิดงบวันเดียว เช่น งบดุลไตรมาส 4 คือ ฐานะการเงินของบริษัท ณ วันที่ 31 ธค วันเดียว ส่วนวันอื่นในไตรมาส 4 ที่มาก่อนหน้านั้นอาจมีฐานะการเงินที่ดูแตกต่างจากวันที่ 31 แค่ไหนก็ได้ เป็นสิ่งที่เราไม่รู้ เช่น บริษัทอาจจะกู้เงิน O/D มาทำธุรกิจจนเกินตัวอยู่ตลอดทั้งไตรมาส แล้วพอถึงวันที่ 31 ก็ใช้รีบหนี้ O/D แค่วันเดียวเพื่อปิดงบให้เหมือนมีหนี้น้อยแล้ววันรุ่งขึ้นก็กู้กลับมาใหม่ก็ได้ งบการเงินไม่ได้ตามไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นในวันระหว่างงวดด้วยครับ

งบตัวที่สองคือ งบกำไรขาดทุน มีไว้บอก “ผลการดำเนินงาน” ของบริษัทในงวดนั้นๆ ตามสมการ รายได้ – ค่าใช้จ่าย = กำไร เพราะฉะนั้น งบกำไรขาดทุนจึงต่างกับงบดุล เพราะเป็นตัวที่บอกว่า ในช่วงที่ผ่านมา บริษัททำอะไรให้งอกเงยขึ้นมาได้แค่ไหน ซึ่งก็คือทำกำไรได้แค่ไหน กำไรที่สร้างขึ้นมาในงวดนั้นจะถูกนำไปเติมลงในงบดุลอีกทีในรูปของกำไรสะสมซึ่งผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าของ และช่วยให้งบดุลดูแข็งแกร่งขึ้นอีก กำไรจึงเป็นสิ่งที่ link งบกำไรขาดทุนกับงบดุลของบริษัทเข้าด้วยกัน

ถ้างบดุลคือ “จุดของเวลา” งบกำไรขาดทุนจะเป็น “ช่วงเวลา” หมายความว่า งบดุลไตรมาส 4 อาจบอกฐานะการเงิน ณ วันที่ 31 ธค วันเดียว แต่งบกำไรขาดทุนไตรมาส 4 จะเป็นการนับรายได้/ค่าใช้่จ่ายของทุกวันในไตรมาส 4 มารวมกันแลัวหักลบกลบกับจนเป็นกำไรที่ทำได้ทั้งหมดตลอดช่วงไตรมาส 4 ไม่ใช่แค่วันใดวันหนึ่ง

งบสำคัญตัวสุดท้ายคืองบกระแสเงินสด ซึ่งแสดงการเข้าออกของเงินสดในบริษัทในระหว่างงวด คล้ายกับงบกำไรขาดทุนเหมือนกันแต่เป็นเงินสดล้วนๆ แต่เดิมนั้นงบการเงินมีแค่งบดุลกับงบกำไรขาดทุนเท่านั้น แต่ปรากฎว่า มีคนคิดวิธีแต่งทั้งงบดุลและงบกำไรขาดทุนให้ดูสวยพร้อมๆ กันได้อย่างแนบเนียน ตอนหลังก็เลยมีการบังคับให้บริษัทต้องแสดงงบกระแสเงินสดด้วยอีกงบหนึ่ง เพื่อทำให้การตกแต่งงบการเงินทำได้ยากยิ่งขึ้น เพราะถ้าจงใจแต่งงบดุลและงบกำไรขาดทุนให้ดูดี เป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้งบกระแสเงินสดออกมาดูดีด้วย เราจึง ควรดูทั้งสามงบประกอบกันเพื่อให้มั่นใจว่าสุขภาพของบริษัทดีจริงๆ ไม่ใช่การแหกตา

นอกเหนือจากงบทั้งสามนี้แล้ว ในงบการเงินแต่ละไตรมาสยังมีความเห็นของผู้สอบบัญชีและหมายเหตุประกอบงบการเงินแนบมาด้วย ถ้าเป็นไปได้เราควรตรวจดูความเห็นของผู้สอบบัญชีด้วย งบการเงินที่เชื่อถือได้ควรเป็นงบการเงินที่ผู้สอบบัญชี “แสดงความเห็นอย่างไม่มีเงื่อนไข”​ เพราะการไม่แสดงความเห็นนั้นหมายความว่า ผู้สอบบัญชีสอบบัญชีแล้วมีเรื่องที่ไม่สบายใจเยอะมากจนเลือกที่จะไม่ขอแสดงความเห็นให้เปลืองตัว หรือการแสดงความเห็นแต่มีเงื่อนไขก็แสดงว่า ผู้สอบอาจจะพอรับได้ในภาพรวม แต่ก็ยังมีบางจุดที่เป็นข้อสังเกตอยู่ด้วย ส่วนหมายเหตุประกอบนั้นคือส่วนของรายละเอียดทั้งหมดที่ใช้อธิบายเพิ่มเติมงบการเงินครับ

ปกติแล้ว ในงบการเงินจะมีสองงบอยู่ด้วยกันคือ งบการเงินรวม และงบการเงินเฉพาะบริษัท โดยส่วนใหญ่แล้ว (95%) นักลงทุนจะดูงบการเงินรวมเสมอ เพราะงบการเงินรวมคืองบที่นักบัญชีพยายามสร้างขึ้นมาเพื่อให้สะท้อนความเป็นเจ้าของของบริษัทให้ตรงกับความเป็นจริงให้มากที่สุด ซึ่งก็คือคิดถึงส่วนที่อยู่ในบริษัทลูกซึ่งบริษัทแม่ควรจะมีส่วนเป็นเจ้าของด้วย ในขณะที่งบการเงินเฉพาะ จะแสดงฐานะการเงินเฉพาะบริษัทแม่ที่จดทะเบียนเข้าตลาดหุ้นเท่านั้น ซึ่งในหลายกรณีเป็นแค่ Holding Company ที่ถือหุ้นบริษัทลูกเพื่อให้บริษัทลูกเป็นตัวทำธุรกิจ ส่วนตัวแม่เองแทบไม่ได้ทำธุรกิจอะไรเองเลย เป็นต้น

ก่อนจากกัน มีอีกหนึ่งเรื่องที่อยากกล่าวถึงคือเรื่องมาตรฐานบัญชี เพราะตลาดหุ้นไทยเพิ่งจะมีการเปลี่ยนมาตรฐานบัญชีใหม่ครั้งใหญ่เมื่อสองปีก่อน เรื่องนี้มีที่มาจากการที่สมัยก่อนหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยจะยึดมาตรฐานบัญชีตามแบบสหรัฐเป็นหลัก ที่เรียกว่า GAAP แต่เมื่อเร็วๆ นี้ได้เกิด มาตรฐานบัญชีใหม่ที่เป็นแบบนานาชาติขึ้นเรียกว่า IFRS ขึ้น ซึ่งแทบทุกประเทศตกลงที่จะยึดตามมาตรฐานสากลนี้ แต่สหรัฐกลับเป็นประเทศเดียวที่ไม่เอาด้วย ประเทศไทยก็เลยมีการแก้ไขมาตรฐานบัญชีใหม่ให้ยึดตาม IFRS มากขึ้น จึงแตกต่างจาก GAAP ที่เราเคยใช้เป็นหลักอยู่เดิม เอาไว้เวลาพูดถึงเรื่องไหนที่มาตรฐานบัญชีใหม่ต่างจากสมัยก่อน ผมจะพูดถึงให้ฟังเป็นจุดๆ ให้อีกทีนะครับ

14 thoughts on “210: ตอนที่ ๑ : หลักการและเหตุผลของงบการเงิน”

  1. ขอบคุณครับ

    ทำให้เข้าใจมากขึ้นเยอะเลย

    เคยอ่านหนังสือเรื่องงบการเงิน แต่ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจสักที

    รอติดตามตอนต่อไปนะครับ

  2. ขอบคุณครับ ยิ่งไล่ตามอ่านบทความก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองโง่ มากกขึ้น

    ผมยังต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกเยอะ

  3. ขอบคุณครับพี่ จะรอติดตามบทความเกี่ยวกับงบการเงินต่อไปครับ

  4. ขอบคุณค่ะพี่โจ๊ก เข้าใจขึ้นเยอะเลยค่ะ อยากให้เขียนเกี่ยวกับการอ่านงบการเงินเยอะๆ ค่ะ

  5. ถ้ามีมาเป็น Series อย่างนี้ พี่โจ๊กจะเอามารวมเล่มมั๊ยครับ?

  6. “เข้าใจง่าย ได้ความรู้” ขอบคุณครับพี่โจ๊ก ขอตามอ่านทั้งซีรี่ครับ^_^

  7. งบการเงินนี้เป็นศิลปะแบบหนึ่งเลยนะครับ สามารถตกแต่งออกมาได้
    ทางที่ดีเราควรพัฒนาตัวเองให้เป็นศิลปินเพื่อจะได้อ่านภาพศิลปะได้กระจ่าง ถ้าจะดีนะครับ..

  8. เป็นการ Intro to งบการเงินที่ดีมากๆครับ บางครั้งอ่านหนังสื่อเกี่ยวกับงบการเงินเองก็ยังสงสัยในที่มาที่ไป อ่านตรงนี้แล้วทำให้เข้าใจมากขึ้นเลยครับ

  9. ผมชอบอ่านหนังสือมากยิ่งเรื่องการลงทุน ยิ่งชอบมาก แต่เมื่อไหร่จะตกผลึกก็ไม่รู้ ขอบคุณครับ

  10. กำลังศึกษาอย่างท่องแท้เอาให้แน่ๆชัวร์จะได้เป็นเซียนน้อยในเร็วัน 55+
    ขอบคุณมากมาย
    รออ่านต่อไปคะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *