งบดุลของบริษัทเริ่มต้นด้วยการแจกแจงรายการสินทรัพย์ของบริษัททีละอย่าง ซึ่งจะเรียงลำดับจากสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงไปหาต่ำด้วย ดังนั้น บรรทัดแรกของงบดุลจึงมักได้แก่เงินสดเสมอ ซึ่งมักรวมถึงเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์หรือกระแสรายวันของบริษัทด้วย
รายการถัดจากเงินสดมักได้แก่ ลูกหนี้การค้า (Account Receivables หรือ A/R) ซึ่งหมายถึง รายได้ที่เกิดขึ้นเพราะลูกค้าซื้อของแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเป็นเงินสด เพราะต้องให้เครดิตลูกค้า เช่น 30 วัน 60 วัน ลูกหนี้การค้้าถือว่าเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องสูงรองจากเงินสดเลย เพราะเพียงแค่รอให้ลูกค้าชำระเงินเมื่อครบกำหนด ลูกหนี้การค้าก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นเงินสดในงบดุลทันที
เวลาวิเคราะห์ลูกหนี้การค้าของบริษัท สิ่งที่เราเป็นห่วงที่สุดคือ สุดท้ายแล้วมันจะเปลี่ยนเป็นเงินสดได้จริงหรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับบางธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกธุรกิจค้าส่ง ซื้อมาขายไป ต้องดูเป็นพิเศษ เพราะธุรกิจพวกนี้เวลาอยากทำยอดขายให้ได้เยอะๆ ก็ใช้วิธีปล่อยเครดิตลูกค้าให้ยาวขึ้น เพื่อดูดดึงให้ลูกค้าที่ต้องการขายของแบบจับเสือมือเปล่า มาสั่งของเยอะๆ เพราะเห็นว่าสั่งของแล้วยังไม่ต้องจ่ายเงิน ถ้าขายสินค้านั้นต่อไปได้ก่อนที่จะถึงวันเก็บเงินก็เหมือนกับไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ดังนั้นเวลาปล่อยเครดิตยาวขึ้น มักจะขายดีขึ้น รายได้บริษัทในระยะสั้นพุ่ง แต่สุดท้ายแล้วอาจเก็บเงินไม่ได้จริง เพราะลูกค้าขอยืดวันจ่ายเงินออกไปอีกเนื่องจากยังขายต่อไม่ได้เหมือนที่คิดไว้ เป็นต้น
วิธีตรวจดูคุณภาพของลูกหนี้การค้าอย่างหนึ่งคือการดู ตารางการวิเคราะห์อายุของลูกหนี้การค้า (นิยมเรียกสั้นๆ ว่า Aging) ซึ่งมักแสดงไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ตารางนี้จะแยกให้เราดูว่า ลูกหนี้การค้าก้อนไหนเพิ่งเข้ามา ก้อนไหนอยู่ในงบดุลมาหลายเดือนแล้ว ก้อนหลังๆ นี่ถ้าเยอะมากก็ต้องวิตกกังวลกันหน่อยว่าทำไมขายของได้นานแล้วยังเก็บเงินไม่ได้สักที บริษัทที่ดีจะต้องตีลูกหนี้การค้าเก่าๆ ที่ยังเก็บเงินไม่ได้ เช่น 6 เดือนขึ้นไป (แล้วแต่ประเภทธุรกิจ) ให้เป็น หนี้สงสัยจะสูญล่วงหน้าไปเลย (กระทบกำไรในงวดที่ตั้งสำรองทันที) ถ้าหากในอนาคตเกิดฟลุ๊กขึ้นมาเก็บเงินได้ ก็ค่อยหักออกจากยอดหนี้เสียที่ตั้งเผื่อเอาไว้
ตัวอย่าง : บางส่วนจาก Aging ลูกหนี้การค้าของ SYNEX ไตรมาส 3 ปี 55
ยังไม่ครบกำหนดชำระ
1, 935, 449
1, 370, 131
1, 923, 898
1, 367, 607
เกินกำหนดชำระ :
น้อยกว่า 3 เดือน
990, 833
763, 795
989, 923
761, 156
3 – 6 เดือน
45, 810
22, 473
45, 810
22, 454
6 – 12 เดือน
154, 028
925
154, 028
925
มากกว่า 12 เดือน
170, 002
170, 121
170, 002
170, 121
3, 296, 122
2, 327, 445
3, 283, 661
2, 322, 263
หัก ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ
(178, 651)
(174, 273)
(178, 651)
(174, 273)
3, 117, 471
2, 153, 172
3, 105, 010
2, 147, 990
สุทธิ
3, 118, 236
2, 154, 614
3, 109, 238
2, 149, 294
ขนาดของลูกหนี้การค้าในงบดุลควรจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากงวดที่แล้วในสัดส่วนเดียวกันกับยอดขายที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงด้วย ถ้าหากยอดขายเพิ่มขึ้นมา 10% จากงวดก่อน แต่ลูกหนี้การค้ากลับเพิ่มขึ้นมากถึง 20% ก็น่าสงสัยว่า บริษัทเร่งยอดขายด้วยการปล่อยเครดิตหละหลวมรึเปล่า และโดยทั่วไปแล้ว ธุรกิจเงินสด อย่างเช่น ค้าปลีก ก็ไม่ควรมีลูกหนี้การค้ามากนัก ถ้ามีเยอะๆ ก็แปลก ต่างกับธุรกิจที่ขายของกับองค์กรธุรกิจเป็นหลัก ที่มักต้องให้เครดิตลูกค้า เพราะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ทำให้มีลูกหนี้การค้าคงค้างในงบดุลมาก ยิ่งพวกที่ขายของให้ราชการยิ่งมีลูกหนี้การค้ามากที่สุด
ก่อนจะจบเรื่องลูกหนี้การค้า ขอเน้นย้ำเรื่องการตั้งสำรองหนี้เสียอีกสักครั้งนะครับ เพราะเป็นคอนเซีปท์ทางบัญชีที่สำคัญมาก โดยหลักบัญชีีที่ดี บริษัทจะต้องตั้งสำรองหนี้เสียล่วงหน้าเสมอ โดยประมาณเอาจากการทำธุรกิจในอดีต เช่น ถ้าในอดีตเห็นว่ามีลูกหนี้การค้าราวๆ 2% ที่จะเก็บเงินไม่ได้เสมอ เวลาขายของได้ทุก 100 บาท ก็ให้ตัดเป็นหนี้สูญ 2 บาทในงวดเดียวกันไปก่อนทันทีเลย ถ้าภายหลังเกิดเก็บได้มากกว่านั้นก็ค่อยมาหักกลบออกไป การทำแบบนี้ช่วยให้รายได้ที่บันทึกว่าเป็นรายได้ในแต่ละไตรมาสเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงได้มากขึ้น ไม่ต้องพะวงว่าภายหลังจะเก็บเงินไม่ได้ครบแล้วต้องมาปรับลดรายได้ของไตรมาสเก่าๆ ให้เสียความรู้สึกผู้ถือหุ้นอีก ตัดทิ้งให้ก่อนเลย ถือเป็นการทำบัญชีแบบอนุรักษ์นิยม
ยกเว้นว่าหนี้เสียมันจะเยอะเกินกว่าที่เคยเป็นมาจริงๆ แบบว่าซวยจริงๆ อันนี้ก็ช่วยไม่ได้ครับ
คุณทราบหรือไม่?: CCET ไตรมาส 3/55 มี ลูกหนี้การค้ากว่า 3 หมื่นล้านบาท เทียบกับสินทรัพย์รวมหกหมื่นล้านบาท แสดงว่าธุรกิจของ CCET เป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนสูงมาก ถ้าเติบโตขึ้นก็ต้องการสภาพคล่องมากขึ้นมาให้เครดิตลูกค้า
ได้มุมมองดีๆเช่นเคย ขอบคุณครับ
ผมชอบ “คุณทราบหรือไม่?” ทิ้งท้ายเป็นพิเศษ เราน่าจะมีการแชร์ จุดน่าสนใจในงบการเงินแบบนี้ใน blog ท่านแม่ทัพเยอะๆนะ
จัดไปครับ
แหม่ ccet กำลังจะได้งานของ HP และ set top box ของ กสทช.
เจอบรรทัดสุดท้ายเข้าไป ผมเบรคตัวโก่งเลยครับ
ได้ความรู้อีกแล้วครับ ขอบคุณมากครับพี่โจ๊ก^_^
ชอบซีรีส์บัญชีมากครับ กระชับ ได้ใจความ
เหมือนได้มาทบทวนความรู้อีกครั้ง
ขอบคุณครับ
ขอบคุณครับ แล้วอัตราส่วนทางการเงินต่างๆที่เกี่ยวกับลูกหนี้การค้า ควรจะดูควบคู่กันไปมั้ยครับ เช่นระยะเวลาในการเก็บหนี้ เป็นต้น
a/r turnover ratio ก็ควรจะดูด้วย เอาตอนหลังๆ จะพูดถึง ratio analysis อีกที เพราะต้องทั้งสามงบเลย
ลูกนี้การค้า เทียบกับทรัพย์สินรวม ควรมีอัตราส่วนที่เหมาะสมประมาณเท่าไหร่ครับ (ในแต่ละประเภทธุรกิจ)
ค้าปลีกควรมีน้อยมาก น้อยจนไม่มีนัย
ค้าส่งปกติจะเยอะอยู่แล้ว เพราะมีเงินทุนเท่าไร ค้าส่งจะเอามาปล่อยเครดิตลูกค้า เป็นความเสี่ยง แต่เป็นธรรมชาติของธุรกิจครับ
ธุรกิจทั่วไปถ้าเทียบกับสินทรัพย์รวมคงไม่ค่อยสื่อความหมายเท่าไร