Skip to content

216: ตอนที่ ๓ : สินค้าคงคลัง

ถัดจากลูกหนี้การค้าในงบดุลลงมาก็มักจะได้แก่ สินค้าคงคลัง (inventory) หรือที่นิยมเรียกว่า สต็อกสินค้า นั่นเอง

บริษัทที่ผลิตสินค้าด้วยตัวเอง เช่น พวกโรงงานอุตสาหกรรม สินค้าคงคลังจะ  มีทั้งที่เป็นวัตถุดิบ (Raw Material) ที่ซื้อมาไว้รอผลิต สินค้าระหว่างกระบวนการผลิต (Work-in-process) ก็เป็นส่วนหนึ่งของสินค้าคงคลัง และสินค้าสำเร็จที่กักตุนไว้รอการขาย (Finished goods) ยำรวมกันเป็นตัวเลขตัวเดียวในงบดุล มีข้อสังเกตด้วยว่า วัตถุดิบอาจหมายรวมถึงค่าแรงของพนักงาน ฝ่ายผลิตที่หมดไปกับการผลิตสินค้าตัวนั้นๆ ด้วย ไม่ใช่ต้นทุนวัตถุดิบที่เป็นสิ่งของอย่างเดียว แต่ถ้าเป็นธุรกิจที่ซื้อมาขายไป สินค้าคงคลังก็คิดจากราคาที่ซื้อสินค้านั้นมาจากซัพพลายเออร์เลย

ถ้าลูกหนี้การค้าเป็นรายการในงบดุลที่สัมพันธ์กับรายได้ในงบกำไรขาดทุน (ขายของได้ก็จะเกิดลูกหนี้การค้าขึ้นทุกครั้ง) สินค้าคงคลังก็คือรายการในงบดุลที่สัมพันธ์กับต้นทุนขายในงบกำไรขาดทุนด้วยเหมือนกัน เพราะเวลาที่บริษัทมีรายได้เกิดขึ้น เพราะขายของได้ ต้องมีการคำนวณว่าสินค้านั้นมีมูลค่าเท่ากับเท่าไรในสินค้าคงคลัง เพื่อที่จะได้ตัดยอดนั้นออกจากสินค้าคงคลัง กลายเป็นต้นทุนสินค้าขาย​(Cost of Good Sold) ที่แสดงในงบกำไรขาดทุนในงวดนั้นนั่นเอง สินค้าคงคลังจึงเป็นรายการในงบดุลที่เชื่อมโยงกับงบกำไรขาดทุนผ่านทางต้นทุนสินค้าขาย

การคิดว่าสินค้าคงคลังมูลค่าเท่าใดควรจะถูกหักออกเพื่อไปเป็นต้นทุนสินค้าขายในงบกำไรขาดทุนที่ทำให้เกิดรายได้นั้นๆ นี้มีวิธีการคิดที่ค่อนข้างซับซ้อนและมีทางเลือกหลายทาง ตรงนี้เองที่เป็นจุดที่ทำให้บางบริษัทอาจ tricky ได้ เพราะถ้าอยากให้ไตรมาสไหนกำไรเยอะๆ ก็แกล้งตัดสินค้าคงคลังเป็นต้นทุนสินค้าให้ต่ำๆ ค่าใช้จ่ายในไตรมาสนั้นจะได้น้อย ทำให้กำไรเยอะ แล้วค่อยไปหาวิธีหักส่วนที่เหลือออกจากสินค้าคงคลังในอนาคต เพื่อสร้างความประทับใจให้กับนักลงทุนในระยะสั้นก่อน ดังนั้นรายได้ที่เกิดขึ้นควรสัมพันธ์กับการเพิ่มหรือลดของสินค้าคงคลังด้วย เพราะแสดงว่าบริษัทไม่ได้ตัดสินค้าคงคลังออกเป็นต้นทุนน้อยหรือมากเกินไปเพื่อแต่งกำไร

หลักบัญชีสมัยก่อนจะมีทางเลือกให้บริษัทคำนวณต้นทุนสินค้าเยอะมาก มาตรฐานบัญชีใหม่จึงลดทางเลือกเหล่านั้นลง เพื่อให้มีช่องให้เล่นกลได้น้อยลง เมื่อก่อนเราจะได้ยินคำว่า ตัดสต๊อกแบบ FIFO กับ LIFO แต่สมัยนี้จะเหลือแต่ FIFO อย่างเดียว ต้นทุนสินค้าขายของมาตรฐานบัญชีใหม่จึงเชื่อถือได้มากกว่าสมัยก่อน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะวางใจได้ทั้งหมดนะครับ

นอกจากนี้ มาตรฐานบัญชีใหม่ยังกำหนดให้บริษัทบันทึกกำไรหรือขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินค้าคงคลังทุกครั้งที่เห็นว่ามูลค่าตลาดเปลี่ยนไปจากต้นทุนอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่มาตรฐานบัญชีเก่าอยากให้บันทึกที่ต้นทุนไว้ก่อน เว้นเสียแต่กรณีที่ราคาตลาดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

หุ้นที่มีความเสี่ยงที่สต์อกสินค้าจะด้อยค่าอย่างถาวร หรือเกิด Dead Stock ได้ง่าย ได้แก่ หุ้นที่ขายสินค้า ICT หุ้นเครื่องประดับ รวมไปถึงหุ้นพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วย

บริษัทที่เราควรจะตรวจดูสินค้าคงคลังมากเป็นพิเศษคือธุรกิจที่ราคาสินค้าผันผวนรุนแรงในระยะสั้น เช่น ปิโตรเคมี หรือสินค้าไอที บริษัทเหล่านี้หากบริหารสินค้าคงคลังไม่เก่ง ทำให้มีสินค้าคงคลังเก่าๆ ติดค้างอยู่ในงบดุลนานๆ จะเป็นความเสี่ยง เพราะราคาขายของสินค้าคงคลังเก่าๆ เหล่านั้นอาจเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ทำให้ต้องขายขาดทุนในภายหลังเพื่อระบายสินค้า ดังนั้นหากสินค้าคงคลังของบริษัทเหล่านี้ปูดขึ้นมากผิดปกติต้องระวังเป็นพิเศษ อีกทั้งมาตรฐานบัญชียังกำหนดให้มีการตีมูลค่าสินค้าคงคลังให้ตรงกับราคาปัจจุบันในท้องตลาดอยู่เสมอ สำหรับสินค้าที่มีราคาผันผวน ถ้าหากสินค้าคงคลังมีราคาตลาดลดลงมาก ก็จะต้องแสดงผลขาดทุนออกมาเลย แม้ว่าจะยังไม่ได้ขายสินค้านั้นจริงก็ตาม ดังจะเห็นได้บ่อยมากคือกรณีของโรงกลั้นน้ำมัน ที่มักเกิดกำไรหรือขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของสต็อกน้ำมัน ซึ่งบางทีก็เยอะเกินจนบดบังภาพที่แท้จริงไปเลย ปกติแล้วกำไรหรือขาดทุนจากสต็อกน้ำมันมันเกิดขึ้นรุนแรงในไตรมาสที่ราคาสินค้าเหล่านี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงมักเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นต่อเนื่องในไตรมาสถัดไป เราจึงไม่ควรตื่นเต้นกับรายการแบบนี้มากจนเกินไปนัก

หุ้นที่มักกำไรหรือขาดทุนจากสต๊อกชั่วคราวเยอะๆ ได้แก่ หุ้นโรงกลั่น หุ้นเหล็ก หุ้นปิโตรเคมี

8 thoughts on “216: ตอนที่ ๓ : สินค้าคงคลัง”

  1. อยากขอความเห็นพี่โจ๊กเรื่อง หาก Inventory ของบริษัทเครื่องประดับประเภท เพชร ทองคำ และ เงิน แท้ จะถึงว่ามีความเสี่ยงที่สต๊อกสินค้าจะด้อยค่าอย่างถาวรด้วยรึเปล่าครับ – ในบางแง่ถ้าเรามองสต๊อกวัตถุดิบเช่น ทองคำของบริษัท ในลักษณะเสมือนเงินลงทุนของบริษัท(เหมือนที่คนทั่วไปลงทุนในทอง) อย่างนี้จะทำให้มองภาพอะไรผิดรึเปล่าครับ – ขอบคุณครับ

  2. ถ้าเป็นลักษณะรับจ้างผลิตก็อาจจะไม่เสี่ยงเท่าไร เพราะว่าได้ออเดอร์แล้วค่อยขึ้นรูป ฉะนั้นทำออกมาแล้วจะขายได้ค่อนข้างแน่นอน

    ทองคำถ้าเก็บไว้ในสภาพที่เป็นวัตถุดิบมาตรฐาน สามารถขายต่อในสภาพนั้นได้เลย แบบนี้คงไม่เสี่ยงครับ แต่ถ้าเก็บไว้เป็นรูปร่างเฉพาะ ถ้าเกินความต้องการก็คงระบายออกไปเป็นวัตถุดิบได้ยาก

    ทำให้นึกขึ้นมาได้เลยว่า ธุรกิจอีกแบบที่สินค้าคงคลังอาจจะมี dead stock ได้มากคือ สินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า ฯลฯ

  3. ได้ความรู้ดีๆอีกแล้ว ขอบคุณมากครับพี่โจ๊ก^_^

  4. ขอบคุณครับ

    ผมเคยได้ยินมาว่า ถ้าจะดูหุ้นวัฏจักรว่าถึงช่วงที่จะกลับมาหรือยัง ให้ดูที่สินค้าคงคลัง ถ้าลดลงอย่างมีนัยยะ บ. ก็น่าจะกลับมาได้ อย่างนี้ผมเข้าใจถูกต้องหรือป่าวครับ

    1. น่าจะจริงนะครับ ประมาณว่า demand โตกว่า supply แต่คงต้องดูหลายๆ บริษัทด้วยเป็นการยืนยัน

  5. ขอบคุณมากๆเลยครับพี่โจ๊ก ตามหาเนื้อหาบัญชีที่อ่านแล้วเข้าใจ ได้ใจความ นำไปประยุกต์ใช้ได้แบบนี้มานานแล้ว หาหนังสือกี่เล่มๆก็อ่่นไม่จบซะทีเพราะจับประเด็นไม่ได้ ขอบคุณมากๆครับ

  6. เพิ่งเข้าใจกำไรขาดทุนสต๊อกก็จากบทความนี้ครับ ขอบพระคุณครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *