Skip to content

230: ตอนที่ 4: สินทรัพย์ถาวรและค่าเสื่อมราคา

สินทรัพย์ถาวร หรือเรียกว่า สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน ในงบดุล ที่พื้นฐานที่สุดของบริษัทคงหนีไม่พ้น ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ ที่ใช้ประกอบธุรกิจทั่วไป

ตามมาตรฐานบัญชีเก่าจะกำหนดให้บริษัทบันทึกมูลค่าของสินทรัพย์ถาวรเหล่านี้ ที่ราคาทุน ดังนั้นไม่ว่าจะซื้อมานานจนมูลค่าตลาดที่แท้จริงเพิ่มขึ้นขนาดไหนแล้วก็ตาม ก็ไม่ส่งผลอะไรกับมูลค่าทางบัญชี ทำให้ Book Value ของสินทรัพย์เหล่านี้ไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงเท่าไร ที่มักผิดเพืี้ยนไปมากที่สุดก็น่าจะได้แก่ ที่ดิน บางบริษัทซื้อที่ดินมาตั้งแต่เมื่อ 50 ปีที่แล้ว Book Value ก็ยังเท่าเดิมอยู่ ทั้งที่ราคาตลาดเปลี่ยนไปหลายเท่าตัวแล้ว

ด้วยเหตุนี้ มาตรฐานบัญชีใหม่จึงยอมให้บริษัทประเมินมูลค่าสินทรัพย์ถาวรใหม่ในงบดุลได้ เมื่อใดก็ตามที่เห็นว่า มูลค่าตลาดได้เปลี่ยนไปจากราคาทุนอย่างมีนัยสำคัญมากแล้ว ช่วยให้งบดุลแบบใหม่สะท้อนมูลค่าสินทรัพย์ได้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น

แต่กฎใหม่นี้จริงๆ แล้วก็เป็นดาบสองคมด้วยเหมือนกัน เพราะผู้ประเมินอิสระก็ว่าจ้างโดยบริษัทเอง ทำให้เกิด conflict of interest นักลงทุนจึงอาจกังขาถึงความโปร่งใสในการตีมูลค่าได้ ต่างกับการบันทึกที่ราคาต้นทุนซึ่งดิ้นไม่ได้ แม้ว่าอาจไม่ตรงกับความเป็นจริงก็ตาม ดังนั้นงบดุลแบบใหม่จึงสะท้อนมูลค่าตลาดมากขึ้น แต่ความน่าเชื่อถือกลับลดลง หลายๆ บริษัทเลือกที่จะไม่ประเมินราคาที่ดินใหม่ เพราะไม่อยากให้เกิดข้อกังขานี้

แต่งบดุลของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จะใช้การประเมินมูลค่าสินทรัพย์ใหม่เสมอ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ NAV ของบริษัทเพิ่มขึ้น แม้ว่าสินทรัพย์จะเก่าลงนั่นเอง ซึ่งบางทีก็ก่อให้เกิดคำถามว่า NAV ของกองทุนอสังหาเชื่อถือได้จริงแค่ไหน

ที่ดินเป็นสินทรัพย์ถาวรที่ไม่สึกหรอ ในทางบัญชี ที่ดินจึงไม่ต้องหักค่าเสื่อมราคา ต่างกับสินทรัพย์ถาวรอื่นๆ ที่ซื้อมาแล้วจะต้องทยอยหักค่าเสื่อมราคาออกทุกปีจนกว่าสินทรัพย์นั้นจะหมดสภาพด้วย เพื่อให้มูลค่าทางบัญชีค่อยๆ ลดลงตามสภาพ นอกจากนี้ค่าเสื่อมราคาที่หักออกจะกระทบกำไรของบริษัทในแต่ละปีด้วย เพราะเป็นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่ง ที่ทำให้กำไรลดลง แม้ว่าที่จริงแล้วในปีนั้นบริษัทไม่ได้จ่ายค่าเสื่อมออกไปเป็นเงินสดจริงๆ ก็ตาม

วิธีหักค่าเสื่อมราคานั้นมาตรฐานบัญชีก็ให้บริษัทเลือกได้หลายวิธี เช่น อาจจะหักค่าเสื่อมเท่ากันทุกปีไปเรื่อยๆ หรืออาจจะหักปีแรกๆ เยอะกว่าปีหลังๆ ซึ่งช่วยให้หักภาษีได้เยอะกว่า (หักเยอะๆ เอาภาษีคืนตั้งแต่ปีแรกๆ เหมือนได้ดอกเบี้ยมาด้วย) ก็เลยเป็นช่องทางให้บริษัทบริหารกำไรได้ในทางอ้อม เช่น ถ้าเดิมเคยหักปีแรกเยอะกว่าปีหลังเพื่อประหยัดภาษี แต่พอเห็นว่าช่วงนี้ผลประกอบการไม่ดี ก็เลยเปลี่ยนวิธีหักค่าเสื่อมใหม่ให้เป็นแบบเส้นตรงแทน ค่าใช้จ่าย ในระยะสั้นจะได้ดูน้อยลงหน่อย อย่างนี้เป็นต้น ด้วยเหตุนี้นักวิเคราะห์บางคนจึงถือว่าค่าเสื่อมราคาเป็นรายการที่เชื่อถือได้น้อย แทนที่จะดูกำไรสุทธิ ก็เลยเปลี่ยนไปดู EBITDA หรือ กำไรก่อนหักค่าเสื่อม เช่น ถ้ากำไรสุทธฺิเพิ่ม แต่ EBITDA ไม่ได้เพิ่มขึ้น บริษัทก็อาจจะไม่ได้ดีขึ้นจริงก็ได้ ถ้าดีจริง ทั้งกำไรสุทธิและ EBITDA น่าจะต้องเพิ่มขึ้นทั้งคู่ เป็นต้น

พวกธุรกิจโรงงานอาจมีสินทรัพย์ถาวรแค่ ที่ดิน อาคาร และเครื่องจักร แต่ธุรกิจบางอย่างจะมีสินทรัพย์ไม่มีตัวตน (intangible assets) ที่มาตรบัญชียอมให้ใส่ไว้ในงบดุลได้ด้วย ตัวอย่างเช่น สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า สิทธิแฟรนไชส์ ฯลฯ โดยหลักกว้างๆ แล้ว มาตรฐานบัญชีให้บันทึกมูลค่าของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเหล่านี้เท่ากับต้นทุนที่ใช้ไปจริงเพื่อให้ได้สิ่งเหล่านี้มา ตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัทคิดค้นเทคโนโลยีอันหนึ่งได้แล้วเอาไปจดสิทธิบัตร บริษัทก็สามารถเอาเงินเดือนพนักงานที่เป็นฝ่ายวิศวกรรมที่ช่วยกันคิดเทคโนโลยีนั้นมาตั้งไว้ในงบดุลเป็นสินทรัพย์ถาวรของบริษัทได้ แล้วพอบริษัทเริ่มหาประโยชน์จากสิทธิบัตรนั้นได้ก็ค่อยๆ ตัดค่าเสื่อมออกไปเรื่อยๆ แบบเดียวกับอาคารหรือเครื่องจักรเลย

มีข้อน่าสังเกตว่า ค่าใช้จ่ายที่บริษัทจะเอามาตั้งเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนได้นั้นจะต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่มีการจ่ายออกไปจริงๆ เท่านั้น (เพื่อป้องกันบริษัทตีมูลค่าขึ้นมาเองแบบเว่อๆ ) ดังนั้น ถ้าหากบริษัทซื้อลิขสิทธิ์เพลงมาจากที่อื่น ก็เอาค่าซื้อลิขสิทธิ์นั่นแหละมาตั้งเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนได้ แต่ถ้าบังเอิญผู้บริหารคนหนึ่งเป็นสุดยอดศิลปิน แต่งเพลงให้บริษัทเอาไปทำเพลงขายฟรีๆ แบบนี้ค่าใช้จ่ายที่ทำให้ได้ลิขสิทธิ์มาแทบไม่มี ก็ตั้งเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนไม่ได้ (หรือได้ก็น้อยมากๆ) ไม่ว่าเพลงนั้นจะดังเป็นพลุแตกขนาดไหนก็ตาม

ส่วนการตัดค่่าเสื่อมนั้น ให้บริษัทประเมินเองว่า สินทรัพย์ไม่มีตัวตนเหล่านี้จะใช้ประโยชน์ได้นานเท่าไร แล้วทยอยตัดเป็นค่าเสื่อมตลอดช่วงเวลานั้น เช่น ถ้าเป็นภาพยนตร์ ก็คงสั้นมาก แต่ถ้าเป็นยาก็อาจได้ตลอดอายุสิทธิบัตร หรือถ้าเป็นสิทธิแฟรนไชส์ก็ตลอดอายุสัญญา เป็นต้น

นอกเหนือจากนี้ยังมีสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอีกอย่างหนึ่งที่ประหลาดกว่าเพื่อนเรียกว่า Goodwill ซึ่งเกิดขึ้นเวลาที่บริษัทไปซื้อกิจการจากบริษัทอื่นมาในราคาที่แพงกว่า Book Value ของบริษัทนั้น ส่วนต่างหรือพรีเมี่ยมที่เกิดขึ้นจะถูกเรียกว่า Goodwill แล้วตั้งไว้เป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนในงบดุลหลังจากที่ควบรวมกิจการแล้ว

มาตรฐานบัญชี จัดการกับ Goodwill ต่างจากสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่นๆ เพราะจะไม่มีการหักค่าเสื่อม แต่ให้ค้างไว้แบบนั้นคล้ายๆ กับกรณีของที่ดิน แต่เมื่อไรก็ตามที่บริษัทค้นพบว่า Goodwill นั้น มีมูลค่าที่แท้จริงต่ำกว่าราคาที่จ่ายไปอย่างมีนัยสำคัญ ก็ให้ลดมูลค่าของ Goodwill ในงบดุลลงมาให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงทันที และหักเป็นค่าใช้จ่ายพิเศษในงวดบัญชีนั้นด้วย

พึ่งระวังบริษัทที่ไล่ซื้อกิจการด้วยราคาแพงๆ เพื่อรวมงบให้ได้กำไรมากขึ้น แล้วหลังจากนั้นก็ค่อยออกมาบอกว่าที่จ่ายไปนั้นจ่ายเกินราคา แล้วก็ลดมูลค่า Goodwill ลงมาแบบกะทันหัน ทำให้กำไรสุทธิของบริษัทลดลงอย่างปัจจุบันทันด่วนหักหลังนักลงทุน

11 thoughts on “230: ตอนที่ 4: สินทรัพย์ถาวรและค่าเสื่อมราคา”

  1. การที่บริษัทไปซื้อ(ควบรวม)กิจการอื่นเข้ามา จำเป็นต้องแสดงเป็นค่า Goodwill เสมอหรือไม่ครับ? มีทางที่จะไม่แสดงหรือไม่ครับ

    ในงบ BGH มีค่า Goodwill อยู่ 10,609 ล้านบาท คิดเป็น หนึ่งในสาม ของ PP&E (ที่ดินอาคารอุปกรณ์) ทั้งหมด สูงจริงๆด้วย…

    1. ถ้าซื้อแพงกว่า Book Value ( ส่วนของทุนในงบดุล) ก็ต้องลง Goodwill ในงบดุลครับ ซื้อถูกกว่า Book ก็ลง Goodwill ติดลบ

  2. ขอบคุณครับ ตามนั้นครับ

    ที่จริง goodwill เยอะ ก็ยังไม่ถือว่าแปลก เพราะคงเป็นการยากที่จะซื้อกิจการได้ที่ราคา book value ที่ผ่านมา bgh มักจะซื้อได้ที่แถว 3x BV ซึ่งถ้าเทียบกับบริษัทในตลาดทั่วไปก็เทรดสูงเท่าๆ กัน

  3. ได้ความรู้มากเลยครับ ขอบคุณมากๆครับพี่โจ๊ก^_^

  4. ช่วงนี้บริษัทต่างๆที่มีasset นำเอาเข้าขายสิทธิเข้ากองทุนอสังหาเป็นจำนวนมาก พี่โจ็ก มีความเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้คะ ในแง่ผู้ถือหุ้นของบริษัทและในแง่ของผู้ลงทุนกองทุนเหล่านี้ การประเมินมูลค่าของบริษัทเหล่านี้ จะถูกหลอกด้วยรายได้ที่เข้ามามากจากการขายสิทธิการเช่าเสมือนว่ามีรายได้มากขึ้น และรายได้เหล่านั้นเอาไปลงทุนในโครงการใหม่ๆ มากมาย เหมือนเป็นตัวพลักดันให้โตเร็วมาก โดยที่ความเสี่ยงไปตกกับผู้ถือกองทุนแทนหรือไม่ อย่างพวกที่สร้างเสร็จแค่ 30% ก็ขายเข้ากองทุนได้แล้ว แล้วการที่มีกองทุนขนาดใหญ่ออกมามากมาย จะดึงเงินออกไปจากระบบมากจนเกิดภาวะเงินฝืด หรือ ดึงเงินต่างชาติเข้ามามากขึ้นจนเกิดเงินเฟ้อแทน และต่างประเทสมีกรณีศึกษาแบบนี้บ้างไหมคะ

  5. ถ้าบริษัทมีโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ เยอะ การขายเข้ากองทุนถือเป็นเรื่องดีครับ แต่ถ้าเศรษฐกิจถดถอย หรือการที่มีเงินสดเข้าจากเยอะ ทำให้บริษัทลงทุนไปแบบสุ่มสี่สุ่มห้า อันนั้นถึงจะเป็นปัญหา แต่โดยรวมผมมีมุมมองเกี่ยวกับการขายของเข้ากองทุนในเชิงบวกสำหรับตัวบริษัทและผู้ถือหุ้นของบริษัทครับ

    ส่วนผู้ถือหุ้นหน่วยกองทุน ได้ yield สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากก็ดีใจกันใหญ่ แต่บางทีก็ลืมคิดไปว่า ความเสี่ยงของอสังหาริมทรัพย์นั้นสูงกว่าเงินฝากมาก yield ที่สูงกว่าอาจจะคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่สูงขึ้นหรือไม่ก็ได้

  6. ปกติดเวลาที่บริษัทออก warrant ESOP หรือสิทธิในการซื้อหุ้นต่างๆนา ที่อาจไปลดกำไรต่อหุ้นได้ในอนาคต จะถูกบันทึกไว้ตรงไหนบ้างไหมครับ

    1. บริษัทที่ดีจะบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายไว้ด้วยครับ แต่เข้าใจว่าหลักบัญชีจะไม่ได้บังคับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *