หนี้สินในงบดุลของบริษัทก็แบ่งออกเป็น หนี้สินหมุนเวียน (กำหนดครบชำระไม่เกินหนึ่งปีข้างหน้า) และ หนี้สินไม่หมุนเวียน (เกินหนึ่งปี) เพื่อให้นักลงทุนเห็นชัดเจนว่า
ภายในเวลาไม่เกินหนึ่งปีข้างหน้า บริษัทมีภาระต้องใช้เงินต้นมากแค่ไหน มาตรฐานบัญชีเลยให้ บริษัทแยกหนี้สินไม่หมุนเวียนในส่วนที่ต้องชำระภายในไม่เกินหนึ่งปีข้างหน้าออกมาต่างหากและถือเป็นหนี้สินหมุนเวียนด้วย เพราะหนี้ระยะยาวอาจต้องแบ่งชำระเงินต้นเป็นงวดๆ ถ้าซุกทั้งก้อนไว้ในหนี้สินไม่หมุนเวียนก็อาจมี surprise ได้ เราอาจดูว่าหนี้สินหมุนเวียนทั้งหมดที่บริษัทมีอยู่มีมากหรือน้อยกว่า เงินสดบวกลูกหนี้การค้า เพราะถ้าหนี้ระยะสั้นมีมากเกินไปเมื่อเทีียบกับสินทรัพย์สภาพคล่องสูงที่บริษัทมีอยู่ บริษัทก็สามารถเกิดปัญหาสภาพคล่องได้ง่าย
อีกแง่หนึ่งที่นักลงทุนอาจจะมองเองคือ ในบรรดาหนี้ทั้งหมดที่โชว์อยู่นั้น เป็น หนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยเท่าไร เทียบกับ หนี้ที่ไม่มีภาระดอกเบี้ย ในบางกรณีเราอาจมองว่าหนี้ไม่มีภาระดอกเบี้ย เช่น เจ้าหนี้การค้า ค่าใช้จ่ายคงค้าง รายได้ที่ยังไม่รับรู้ เป็นต้น เป็นหนี้ที่บริษัทไม่มีต้นทุนทางการเงิน ฉะนั้นการมีหนี้เหล่านี้มากๆ อาจแสดงว่าบริษัทมีอำนาจต่อรองกับลูกค้า ซัพพลายเออร์ และพนักงานสูง ซึ่งอาจเป็นเรื่องดีก็ได้
ปกติแล้วการบันทึกมูลค่าหนี้สินในงบดุลจะยึดตามดอกเบี้ยในวันที่กู้เงินเป็นหลัก แต่หลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดเปลี่ยนแปลงไป มูลค่ายุติธรรมที่แท้จริงของหนี้สินจะเปลี่ยนไปด้วย เช่น ตอนกู้ อัตราดอกเบี้ยสูง แต่พอกู้ไปแล้ว อัตราดอกเบี้ยในตลาดสูงขึ้น แบบนี้จริงๆ แล้วหนี้มีมูลค่ายุติธรรมลดลงแล้ว แต่มูลค่าทางบัญชีของหนี้นั้นในงบดุล ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้ มูลค่าหนี้ที่เราเห็นในงบดุลจึงอาจไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงเท่าไรนัก ถ้าเป็นหนี้ระยะสั้น เราอาจยอมรับได้ แต่ถ้าเป็นหนี้ระยะยาว อาจแตกต่างกันได้มาก เพราะมูลค่ายุติธรรมของหนี้ระยะยาวจะอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดค่อนข้างมาก การดูงบการเงินในภาวะที่ดอกเบี้ยผันผวนสูง จึงควรคำนึงถึงจุดนี้ไว้ด้วย
อีกประการหนึ่งที่ควรตรวจสอบคือ บริษัทอาจมี ภาระผูกพัน (obligation) ในอนาคตบางอย่างที่ระบุจำนวนแน่นอนยังไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขบางอย่างในอนาคต ทำให้ไม่ได้มีการบันทึกลงในงบดุลว่าเป็นหนี้ แต่ที่จริงแล้วมันเป็นหนี้รูปแบบหนึ่ง ตัวอย่างเช่น คดีความที่มีการเรียกร้องค่าเสียหาย หนี้ลักษณะนี้หากพอจะประมาณล่วงหน้าได้ บริษัทจะรวมไว้ในงบดุล แต่ถ้าทำไม่ได้ก็จะเปิดเผยไว้ในหมายเหตุประกอบงบแทน เราจึงควรตรวจดูในหมายเหตุประกอบเงินการเงินด้วยว่า มี obligation ทำนองนี้อยู่ได้รึเปล่า เพราะเป็นหนี้และเป็นความเสี่ยงอีกชนิดหนึ่ง
ตัวอย่าง : หมายเหตุประกอบงบการเงิน Q3FY12 ของบมจ.บ้านปู
17.1 ภาระผูกพัน (ต่อ)
คดีฟ้องร้อง
ในระหว่างปี พ.ศ. 2550 บุคคลและกลุ่มบริษัท (“โจทก์”) ซึ่งเคยเป็นผู้พัฒนาโครงการเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้า
ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (“โครงการหงสา”) ได้ยื่นฟ้องบริษัทฯ บริษัท บ้านปูอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นใน Hongsa Power Company Limited โดย Hongsa Power Company Limited เป็นผู้ได้รับสัมปทานเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าจากรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (“รัฐบาลลาว”)) และผู้บริหารของกลุ่มบริษัท 3 คน เป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง โดยกล่าวหาว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์โดย…
หนี้สินอีกชนิดหนึ่งที่ไม่อยู่ในงบดุลคือ สินทรัพย์ถาวรบางอย่างที่บริษัท Lease มาใช้ในธุรกิจ แล้วใส่ในงบดุลว่าเป็น การเช่า (Operating Lease) คือบันทึกว่าเป็นค่าเช่า ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายอย่างเดียว จริงๆ แล้วค่าเช่าที่บริษัทต้องจ่ายในอนาคตถือว่าเป็นหนี้สินอย่างหนึ่ง เนื่องจากบริษัทเลือกที่จะไม่เช่าต่อไม่ได้เพราะจะผิดสัญญาเช่า ถ้าบริษัทมีสินทรัพย์ทำนองนี้นอกงบดุลอยู่ เช่น เช่าเครื่องบิน เช่ารถสิบล้อ ต้องถือว่าเป็นหนี้สินอย่างหนึ่งด้วย ส่วนใหญ่บริษัทจะแจ้งค่าเช่ารวมในอนาคตที่ยังต้องจ่ายไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน
ตัวอย่าง : หมายเหตุประกอบงบ Q3FY12 ของการบินไทย
2.26.2 สัญญาและภาระผูกพันเช่าเครื่องบิน
บริษัทฯ มีภาระผูกพันที่ต้องจ่ายค่าเช่าเครื่องบินตามสัญญาเช่าดำเนินงาน (Operating Leases) จำนวน 42 ลำ เป็นจำนวนเงิน 4, 901.15 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 151, 770.92 ล้านบาท
ทำไมหนี้ระยะยาวที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น จึงมีมูลค่ายุติธรรมที่แท้จริงของหนี้สินน้อยลงคะ
การที่บริษัทใช้ operating lease ดีกว่า finanicial lease อย่างไรคะ
เพราะเจ้าหนี้เอาเงินก้อนนั้นไปปล่อยกู้ในตลาดจะได้ดอกเบี้ยมากกว่า แต่เงินก้อนนั้นมาถูกขังอยู่ในนี้ มูลค่ายุติธรรมของมันจึงลดลง
operating lease ทำให้ดูเหมือนเป็นแค่ค่าเช่าธรรมดา จึงเป็นค่าใช้จ่าย แต่ถ้า financial lease จะเหมือนเป็นหนี้ด้วย ทำให้หนี้ทางบัญชีดูเยอะกว่าครับ
ขอบพระคุณครับ