Skip to content

250: ตอนที่ 7: เงินลงทุน

สมัยนี้ไม่ค่อยมีใครปล่อยเงินสดที่มีอยู่ไว้เฉยๆ มิให้ทำงาน บริษัทก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีเงินค้างอยู่ในบริษัทเกินความต้องการใช้ของกิจการประจำวัน สำหรับบริษัทใหญ่แล้ว การทิ้งเงินเหล่านั้นไว้ในบัญชีกระแสรายวันเฉยๆ อาจคิดเป็นดอกเบี้ยที่หายไปจำนวนมหาศาลต่อวันเลยทีเดียว ดังนั้น เมื่อใดที่บริษัทมีเงินสดส่วนเกินบางส่วนที่ยังไม่ถึงเวลาที่ต้องใช้ทันที บริษัทมักจะนำเงินเหล่านี้ไปซื้อหลักทรัพย์สภาพคล่องสูงที่ให้ดอกเบี้ยชั่วคราวก่อน เพื่อให้เงินสร้างผลตอบแทนให้มากที่สุด   เช่น ซื้อพันธบัตรหรือหุ้นกู้ของบริษัทชั้นดี หรือถ้ามีเงินที่ต้องหาที่พักไว้นานมากจริงๆ ก็อาจนำไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มาเก็บไว้แทน เพราะได้เงินปันผลสูงกว่าดอกเบี้ย และยังมีโอกาสได้ Capital Gain ด้วย รวมไปถึงการที่บางบริษัทเข้าซื้อหุ้นของบริษัทอื่น เพื่อจุดประสงค์ในเชิงกลยุทธ์อีกด้วย ในงบดุลของบริษัทจดทะเบียนจึงมักมีหลักทรัพย์เหล่านี้อยู่เต็มไปหมด โดยมักเรียกรวมกันว่า เงินลงทุน  

สิ่งที่นักลงทุนควรจะรู้เกี่ยวกับเงินลงทุนก็คือ เงินลงทุนเหล่านี้มีการบันทึกมูลค่าทางบัญชีอย่างไร และมูลค่าของตัวไหนกระทบกำไรสุทธิของบริษัทได้บ้าง

ตราสารหนี้

1. ตราสารหนี้ที่กะถือไว้จนครบอายุ (Hold-to-Maturity) :  ถ้าเป็นตราสารหนี้ที่บริษัทเข้าไปลงทุนโดยตรง เช่น ซื้อพันธบัตร หรือหุ้นกู้ มากเก็บไว้เพื่อกินดอกเบี้ย และเมื่อครบอายุก็ไถ่ถอนเงินต้นกลับมา เวลาบันทึกบัญชีก็จะบันทึกว่าตราสารหนี้เหล่านี้มีมูลค่าในงบดุลเท่ากับเงินที่จ่ายไปเพื่อซื้อมา (at cost) จากนั้นเมื่อใดที่ได้รับดอกเบี้ย ก็จะบันทึกดอกเบี้ยรับว่าเป็น รายได้อื่นๆ ในงบกำไรขาดทุน ซึ่งทำให้กำไรสุทธิของบริษัทในงวดนั้นสูงขึ้น แต่ที่แยกออกมาให้เห็นว่าเป็นรายได้อื่นๆ เพราะดอกเบี้ยรับเป็นดอกผลที่ไม่ได้เกิดจากตัวธุรกิจหลักของบริษัท เลยแยกออกมาให้เห็นชัดเจน และเมื่อใดที่ถึงกำหนดไถ่ถอนตราสารหนี้เหล่านี้ ถ้าหากขายได้ถูกหรือแพงกว่าต้นทุนที่ซื้อมา ก็จะบันทึกส่วนต่างไว้เป็น รายได้อื่นๆ (หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ) ในงบกำไรขาดทุน ซึ่งจะช่วยให้กำไรสุทธิของบริษัทเพิ่มขึ้นได้อีกเช่นกัน

2. ตราสารหนี้ที่ถือไว้เพื่อเทรด (Trading Securities) :  บางบริษัทอาจบริหารเงินสดด้วยการซื้อตราสารหนี้เหล่านี้มาจากตลาดรองแล้วแทนที่จะรอจนครบอายุไถ่ถอน ถ้าหากราคาในตลาดรองสูงขึ้นเป็นโอกาสให้ขายทำกำไรได้ บริษัทก็ขายออกไปเพื่อทำกำไรทันที แล้วไปซื้อตัวอื่นมาถือว่าแทนเพื่อทำอย่างเดียวกันอีก พูดง่ายๆ ก็คือ มีการเทรดตราสารหนี้เหล่านี้เพื่อกำไรระยะสั้นด้วย ถ้าบริษัททำเช่นนี้เป็นประจำก็อาจถือตราสารหนี้เหล่านี้แค่ไม่ถึงเดือนต่อตัว มาตรฐานบัญชีกำหนดให้บริษัทต้องบันทึกมูลค่าของตราสารหนี้เหล่านี้ตามราคาตลาดในวันที่ิปิดงบทุกครั้ง เพื่อสะท้อนความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความผันผวนของราคาของตราสารหนี้เหล่านี้ในตลาดรองด้วย ดังนั้นถ้าซื้อตราสารหนี้เหล่านี้มาแล้ว พอถึงวันปิดงบ ราคาตลาดของตราสารหนี้เหล่านี้ลดลง บริษัทก็ต้อง mark-to-market ด้วยการแจ้งมูลค่าของตลาดสารหนี้เหล่านี้ในงบดุลน้อยลงตามราคาปัจจุบันด้วย อีกทั้งส่วนต่่างที่เกิดขึ้นจะต้องบันทึกเป็นผลขาดทุนในงบกำไรขาดทุน เรียกว่า ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ส่งผลให้กำไรสุทธิในงวดนั้นลดลงด้วย ทั้งที่บริษัทอาจจะยังไม่ได้ขายตราสารหนี้นั้นจริงๆ ก็ตาม เรียกได้ว่าในกรณีนี้มูลค่าทางบัญชีจะสะท้อนปัจจุบันมากที่สุด เพื่อป้องกันบริษัทซุกผลขาดทุนจาก trading loss เอาไว้

3. ตราสารหนี้ที่ถือไว้เผื่อขาย (Available for Sales) : บางบริษัทอาจถือครองตราสารหนี้ไว้โดยมีกลยุทธ์ที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองข้อแรก กล่าวคือ ถ้าจังหวะดีมีกำไรก็อาจขายทำกำไรได้ทุกเมื่อ แต่ถ้าไม่มีก็ยินดีจะถือไว้จนครบอายุแล้วค่อยไถ่ถอนเพื่อให้ได้ราคาขายที่แน่นอน โดยมากแล้วบริษัทอาจถือตราสารหนี้เหล่านี้ไว้เกินหนึ่งปีแต่ไม่ครบอายุ แบบนี้ในทางบัญชีให้บันทึกมูลค่าในงบดุลตรงตามราคาตลาดในขณะที่ปิดงบเช่นเดียวกัน แต่ส่วนต่่างที่เกิดขึ้นไม่ว่ากำไรหรือขาดทุนจะยังไม่ถูกนำไปรวมไว้ในงบกำไรขาดทุน หรือพูดอีกอย่างก็คือจะยังไม่กระทบกำไรสุทธิในงวดนั้นๆ แต่ให้พักส่วนต่างไว้เป็นรายการหนึ่งในส่วนของเจ้าของในงบดุลแทน รอจนขายตราสารหนี้เหล่านั้นออกมาจริงๆ ค่อยสะท้อนในงบกำไรขาดทุน

ตราสารทุน

4. หุ้นทุนเพื่อการเทรด : กรณีที่บริษัทบริหารเงินสดด้วยการเข้าไปซื้อตราสารทุนหรือหุ้นสามัญของบริษัทอื่น แล้วไม่ได้เข้าไปถือหุ้นมาก (ไม่เกิน 20% ของหุ้นทั้งหมด) แบบนี้ทางบัญชีถือว่าบริษัทมีเจตนาเข้าซื้อเพื่อหวังผลตอบแทนในฐานะของผู้ถือหุ้นรายย่อยเป็นหลัก กรณีเช่นนี้ ตอนที่บริษัทเข้าซื้อหุ้นในบันทึกมูลค่าเท่ากับเงินที่จ่ายจริงก่อน (at cost) ถ้าได้รับเงินปันผลมาระหว่างทางก็บันทึกแบบเดียวกับดอกเบี้ยรับคือเป็นรายได้อื่นๆ ในงบกำไรขาดทุน เมื่อไรที่ขายออกไปก็ให้บันทึกกำไร(หรือขาดทุน) ออกมาเป็นรายได้หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ด้วย แบบเดียวกับตราสารหนี้เลย แต่ถ้ามีการปิดงบระหว่างที่ยังไม่ได้ขายออกไป ให้บันทึกบัญชีโดยดูว่า ลักษณะการถือหุ้นนี้คล้ายช้อ 1 หรือ 2 หรือ 3 ของตราสารหนี้ แล้วให้บันทึกมูลค่าทางบัญชีด้วยวิธีแบบเดียวกัน

5. หุ้นทุนโดยวิธีส่วนได้ส่วนเสีย (equity method) : ถ้าบริษัทเข้าถือหุ้นในบริษัทนั้น 20-50% ของหุ้นทั้งหมด แสดงว่าบริษัทเริ่มมีอิทธิพลต่อการบริหารของบริษัทนั้นแล้ว (เสียงโหวตเริ่มมีน้ำหนัก) แต่ยังไม่ถึงกับครอบงำได้ กรณีแบบนี้ มาตรฐานบัญชีให้บันทึกมูลค่าหุ้นนั้นในงบดุลที่ราคาทุนที่ซื้อมาเสมอ และทุกครั้งที่มีการปิดงบ ให้บันทึกมูลค่าในงบดุลให้มากขึ้นเท่ากับส่วนแบ่งของกำไรสะสมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นของบริษัทที่เข้าถือหุ้น เช่น ถ้าบริษัทที่ลงทุนกำไร 100 ล้านบาทระหว่างงวดนั้น ฐานทุนของบริษัทนี้จะเพิ่มขึ้น 100 ล้านบาทด้วย (กำไรสะสม) ถ้าบริษัทถือหุ้นไว้ 25% ก็เท่ากับ 25 ล้านบาท ก็ให้บันทึกว่าเงินลงทุนนั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 25 ล้านบาทจากต้นทุนเดิม เมื่อปิดบัญชี ในทางตรงกันข้าม ถ้าหุ้นทุนที่บริษัทถืออยู่มีการจ่ายเงินปันผลออกมาระหว่างนั้น ก็ให้นำเงินปันผลนั้นไปหักออกจากมูลค่าทางบัญชีในงบดุลแทน เพราะการจ่ายเงินปันผลทำให้กำไรสะสมลดลง แต่บริษัทก็ได้บันทึกเงินปันผลนั้นเป็นรายได้อื่นๆ ด้วย สังเกตว่ามูลค่าบัญชีในกรณีนี้ไม่ได้หวือหวาไปตามราคาตลาดจริง แต่ขึ้นลงตามผลกำไรทางบัญชีของบริษัทที่ไปลงทุนแทน

6. หุ้นทุนที่บริษัทเข้าไปถือหุ้นเกิน 50% : กรณีนี้ทางบัญชีถือว่าบริษัทมีอำนาจควบคุมบริษัทที่เข้าไปลงทุนแล้ว ดังนั้นถ้าหากบริษัทมีอำนาจเช่นนั้นจริงๆ ต้องรวมงบการเงินของบริษัทที่เข้าไปลงทุนเข้ามาในงบการเงินของบริษัทเลย แล้วหักกำไรสุทธิออกทีหลังเท่ากับส่วนของผู้ถือหุ้นรายอื่นอีกทีในบรรทัดสุดท้ายของงบกำไรขาดทุน

9 thoughts on “250: ตอนที่ 7: เงินลงทุน”

  1. รายการรายได้จากเงินลงทุน สำหรับบางธุรกิจเช่น ธนาคาร และ ประกันชีวิตน่าจะสำคัญมาก แต่ถ้าเป็นธุรกิจทั่วๆไปก็น่าจะเป็น minority อ่ะนะครับท่านแม่ทัพ ถ้าการลงทุนเข้าข้อ 6 การดูงบ consolidated ก็ตอบโจทย์ ส่วนข้อ 5 เด๋วผมจะเอาไปตามดูงบบริษัทประกันว่าทำยังไงนะครับ ^ ^

  2. เป็นความรู้ทางบัญชี ที่เข้าใจง่ายและนำไปใช้ได้ในการลงทุนมากครับ ขอบคุณครับ

  3. ขอสอบถามเป็นความรู้หน่อยนะครับ
    อย่างกรณี banpu ซื้อหุ้นคืนนี่ ถือเป็นเงินลงทุนในตราสารทุนใช่มั้ยครับ
    แสดงว่า ถ้าราคาหุ้นลง ก็ต้องบันทึกในงบการเงินรายไตรมาศด้วย ผมเข้าใจถูกมั้ยครับ
    แล้วเวลาคิด EPS รายไตรมาส ตัวหารจะลดลงหรือไม่ เพราะไม่ได้จดทะเบียนลดทุน เพียงแต่เป็นการซื้อหุ้นคืนเพื่อการลงทุน

    1. แสดงว่าต้องบันทึก ขาดทุน ในงบการเงิน รึเปล่าครับ หรือไม่บันทึกถ้ายังไม่ขาย

  4. รายการฝั่งสินทรัพย์ที่กระทบคือ เงินสด ที่ลดลงอย่างเดียวครับ (เอาเงินออกไปซื้อหุ้นกลับมา)

    ส่วนหุ้นคืนที่ซื้อเข้ามาจะแสดงเป็นรายการหนึ่งในส่วนของเจ้าของ เรียกว่า treasury stocks

    ซื้อหุ้นคืนแล้ว EPS จะเพิ่ม เพราะตัวหารลดลง รวมทั้งเงินปันผลก็เพิ่มขึ้นด้วยเหตุผลเดียวกันครับ

    แต่ถ้าครบกำหนด 3 ปี แล้ว บริษัทต้องขายหุ้นเหล่านั้นออกไปใหม่ให้หมด หรือถ้าไม่ขาย ก็ต้องทำการลดทุน เพื่อให้หุ้นเหล่านั้นหายไปโดยถาวรครับ

    1. แปลว่าถ้ายังไม่ครบ 3 ปี ราคาหุ้นที่ซื้อคืนก็จะยังไม่ mark to market จะบันทึกเท่าราคาตอนซื้อ (นั่นคือเท่าทุน) ใช่มั้ยครับ
      แล้วตัวเลข 3 ปี นี่คือระบุไว้ในโครงการซื้อหุ้นคืนเหรอครับ

  5. สงสัยครับ จากขัอ 6 ถ้า ลงทุนในบริษัทย่อย 51 เปอร์เซ็น.
    ต้องเอา งบดุลทั้งหมดมารวม แต่เอาเฉพาะ กำไร ที่แบ่งมา 51 เปอร์เซ็น อย่างงี้ roa roe ก็จะน้อยกว่าความเป้นจิงรึป่าวครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *