Skip to content

256: ตอนที่ 9: งบกระแสเงินสด

งบกระแสเงินสด ที่จริงแล้วก็คล้ายกับงบกำไรขาดทุนของบริษัทนั้นแหละ แต่แทนที่จะใช้เกณฑ์คงค้าง (accrued basis) ตามหลักบัญชี กล่าวคือ มีการทยอยตัดจ่ายค่าใข้จ่ายให้ตรงกับรายได้ที่เข้ามาด้วย กลับแสดงทุกอย่างตามเงินสดที่เข้าและออกในงวดนั้นจริงๆ ทั้งหมด ทั้งที่ก็เพื่อให้มองเห็นบริษัทในแง่ของการใช้เงินสดจริงๆ เพื่อให้แน่ใจว่ากำไรทางบัญชีของบริษัทเป็นกำไรที่มีคุณภาพ

ที่จริงแล้ว งบกระแสเงินสดสามารถจัดทำได้สองวิธี วิธีแรกเรียกว่า วิธีทางตรง (direct method) กล่าวคือ โชว์ให้เห็นเป็นหมวดๆ ของการใข้เงินสดเลยว่า มีเงินเข้าและออกไปเท่าไร เช่น เงินสดรับจากลูกค้า X บาท เงินสดจ่ายให้ซัพพลายเออร์ Y บาท เงินลงทุน Z บาท เป็นต้น แต่วิธีนี้เป็นวิธีที่จัดทำยาก ไม่เป็นที่นิยม บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่จะเลือกแสดงงบกระแสเงินสดอีกวิธีหนึ่งมากกว่าเรียกว่า วิธีทางอ้อม (indirect method) กล่าวคือ แทนที่จะนับเงินสดเข้าและออกจากช่องทางต่างๆ แล้วโชว์ให้ดูแยกเป็นรายการ บริษัทจะเร่ิมต้นจาก กำไรสุทธิ ในงบกำไรขาดทุนก่อน แล้วทำการบวกกลับรายจ่ายที่ไม่ใช่เงินสด ให้ออกมาเป็นกระแสเงินสดอีกที ร้อยละ 90 ของงบกระแสเงินสดที่นักลงทุนเจอจะเป็นแบบทางอ้อม ดังนั้นจะขอกล่าวถึงแบบนี้เป็นหลัก

งบกระแสเงินสดทางอ้อม ประกอบด้วยส่วนสำคัญใหญ่ๆ 3 ส่วน ส่วนแรกสุดเรียกว่า กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ในส่วนนี้จะเริ่มต้นจากกำไรสุทธิในบรรทัดแรกสุด แล้วบวกกลับด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสดต่างๆ ในงวดนั้น เพื่อให้เหลือแต่รายการที่เป็นเงินสดจริงๆ เรียกว่า กระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์และหนี้สิน พูดง่ายๆ ก็คือ เอากำไรสุทธิมาบวกค่าเสื่อมกลับเข้าไปเพื่อให้เหลือแต่ค่าใข้จ่ายที่เป็นเงินสดจริงๆ นักลงทุนอาจมองค่าๆ นี้ว่าเป็น Cash Earnings (กำไรที่เป็นเงินสดจริงๆ) ของธุรกิจในงวดบัญชีนั้นก็ได้ ซึ่งคล้ายๆ กับ EBITDA อาจจะใช้ค่าๆ นี้เป็นตัวแทนของ EBITDA ก็ได้พอได้

เราคงอยากเห็น Cash Earnings ของบริษัทเป็นบวก เพราะแสดงว่าธุรกิจตามปกติของบริษัทสามารถผลิตเงินสดให้ผู้ถือหุ้นได้จริงๆ และการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของ Cash Earnings เมื่อเทียบกับงวดก่อนควรจะเป็นไปในทางที่ล้อกันกับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของกำไรสุทธิด้วย เพราะนั่นแสดงว่า กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจริงๆ ไม่ได้เกิดจากการตกแต่งวิธีตัดค่าเสื่อมให้ดูลดลง หรือซ่อนรายจ่ายบางส่วนไว้ในงบดุล

ถัดลงมาจะเป็นรายการแสดงการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของสินทรัพย์ในงวดนั้น ซึ่งถูกนำมาหักออกจาก กระแสเงินสดจากการดำเนินงานอีกที เพราะการที่บริษัทมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นระหว่างงวด แสดงว่าบริษัทต้องใช้เงินสดจ่ายออกไป เพื่อให้ได้สินทรัพย์เหล่านั้นมา เช่น การเพิ่มขึ้นของสต็อกสินค้า เป็นต้น บางทีก็เรียกว่า การเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital)  เมื่อหักรายการเหล่านี้ออกไปอีก จะกลายเป็นบรรทัดสุดท้ายของส่วนที่หนึ่งของงบกระแสเงินสด มีชื่อว่า เงินสดสุทธิที่ได้มาจากการดำเนินงาน ซึ่งเป็นอะไรที่สร้างความสับสนอยู่ไม่น้อย เพราะนักการเงินมองว่า Working Capital เป็นเรื่องของกิจกรรมการลงทุน (Cash Flow from Investing) แต่ในทางบัญชี นักบัญชีนำรายการเหล่านี้มารวมไว้ในเงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน (Cash Flow from Operations)

ส่วนที่สองของงบกระแสเงินสดคือ เงินสดเข้าและออกที่เกิดจากกิจกรรมการลงทุน ซึ่งได้แก่เงินสดที่บริษัทจ่ายออกไปเพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวร เช่น ที่ดิน อาคาร และเครื่องจักรต่างๆ หรือเป็นสินทรัพย์ที่บริษัทลงทุนระยะยาวเพื่อเพิ่มความสามารถของธุรกิจในอนาคต มีชื่อเล่นว่า Capital Expenditure หรือนิยมเรียกสั้นๆ ว่า CAPEX ส่วนนี้เป็นส่วนที่สร้างความสับสนอีกเช่นกัน เพราะ ที่จริงแล้ว CAPEX ควรจะนับเฉพาะการซื้อสินทรัพย์เพื่อการขยายกิจการจริงๆ แต่ในทางบัญชีจะนับรวมการซื้อพันธบัตรหรือหุ้นกู้ต่างๆ เพื่อบริหารสภาพคล่องไว้ในส่วนที่สองนี้ด้วย นักการเงินอย่างเราควรแยกรายการเหล่านี้ออกไปจาก CAPEX

ส่วนที่สามของงบกระแสเงินสดคือ เงินสดเข้าและออกจากกิจกรรมทางการเงิน ที่สำคัญก็คือ การกู้เงินแล้วได้เงินสดเข้ามา การขายหุ้นเพิ่มทุนแล้วได้เงินสดเข้ามา การจ่ายเงินปันผลตอบแทนผู้ถือหุ้น การชำระคืนเงินกู้ ฯลฯ พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นรายการทุกอย่างที่เกี่ยวกับผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ ไม่เกี่ยวกับการทำธุรกิจโดยตรง รวมกันเป็นกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน (Cash Flow from Financing)

ตามมาตรฐานบัญชีเก่านั้น ดอกเบี้ยรับจ่ายและเงินปันผลรับ ถือเป็นส่วนหนึ่งของ Cash Flow from Opertions ส่วนเงินปันผลจ่าย (จ่ายให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทเอง) เป็น Cash Flow from Financing แต่ตามมาตรฐานบัญชีใหม่นั้น รายการเหล่านี้สามารถเป็น Cash Flow from Investing ได้ด้วย

ถัดจากทั้งสามส่วนของงบกระแสเงินสดแล้ว ยังมีบรรทัดสุดท้ายอีกบรรทัดหนึ่งคือ เงินสดในงบดุลที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างงวด ตัวเลขนี้จะต้องเท่ากับกระแสเงินสดของทั้งสามส่วนรวมกันเสมอ และจะต้องเท่ากับผลต่างระหว่างเงินสดในงบดุลงวดล่าสุดกับงวดที่แล้วด้วย เป็นการเช็คความถูกต้องอีกทีว่าเงินไม่ได้หายไปไหน

อย่างที่เคยบอกไปแล้ว ประโยชน์ของงบกระแสเงินสดคือการ double check  อีกทีว่า สุขภาพของบริษัทดีจริงๆ หรือไม่ กำไรที่เกิดขึ้นเป็นกำไรที่มีคุณภาพแค่ไหน เพราะถ้างบดุลและงบกำไรขาดทุนดูดี แต่กระแสเงินสดของบริษัทแย่มาก ธุรกิจก็อาจจะไม่ดีจริงๆ ก็ได้ เราจึงต้องดูงบกระแสเงินสดประกอบด้วยเสมอว่าทุกอย่างสอดคล้องกันแค่ไหน และประโยชน์ที่สำคัญอีกอย่างของงบกระแสเงินสดคือ ปกติแล้วงบกำไรขาดทุนจะไม่ได้แสดงค่าเสื่อมทั้งหมดที่ตัดจ่ายในงวดนั้นไว้ในงบกำไรขาดทุน แต่จะรวมๆ ซ่อนๆ อยู่ในต้นทุนสินค้าและค่าใข้จ่ายในการบริหาร ดังนั้น ถ้าเราอยากรู้จริงๆว่า ค่าเสื่อมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในงวดเป็นเท่าไร ต้องมาดูที่งบกระแสเงินสดเท่านั้น ซึ่งจะแสดงไว้เป็นรายการบวกกลับที่อยู่ถัดจากกำไรสุทธิในส่วนแรกสุดของงบกระแสเงินสดนั่นเอง

11 thoughts on “256: ตอนที่ 9: งบกระแสเงินสด”

  1. พี่โจ๊กครับ ถ้าจากบทความหมายความว่า เวลาประเมินงบกระแสเงินสด
    1. Cash Flow from Operations ควรดูก่อน Working capital
    2. Cash Flow from Investing หรือ CAPEX ควรบวก Working Capital แล้วตัดการซื้อพันธบัตรหรือหุ้นกู้ออกใช่ไหมครับ

    ขอบคุณสำหรับคำตอบครับ

  2. ทุกวันนี้หุ้นดังๆ วิ่งๆกันฝุ่นตลบ มักมีเงินจากการดำเนินงานเป็นลบซะงั้น 55
    มีคำถามดังนี้ครับ

    อย่างในงบกระแสเงินสดในรายการย่อยๆที่อยู่ด้านบนของเงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน
    มีรายจ่ายที่ชื่อว่า รับดอกเบี้ย จ่ายดอกเบี้ย มีคำถามดังนี้ครับ

    1.รับดอกเบี้ย ผมเข้าใจว่าดอกเบี้ยมาจากการฝากเงินในธนาคาร หรือการให้บุคคลอื่นยืมเงิน
    แต่ดอกเบี้ยมาอยู่ในรายการเงินสดจากการดำเนินงานนี้หมายถึงว่าเป็นดอกเบี้ยที่ให้บุคคลอื่นยืมเงิน
    แต่ถ้าอยู่ในเงินสดจากการลงทุนอันนี้คือรับจากแบงค์หรือเปล่าครับ

    2.จ่ายดอกเบี้ย หมายถึงจ่ายให้เจ้าหนี้ที่ไม่ใช่ธนาคารใช่หรือเปล่าครับเพราะลงในเงินสดจากการดำเนินงาน
    ขอบคุณพี่มากๆครับ

  3. ดอกเบี้ยรับ คือ บริษัทฝากเงินสดไว้กับธนาคาร ก็เลยได้รับดอกเบี้ยจากธนาคาร หรือแม้แต่พักเงินสดไว้ในพันธบัตร แล้วได้รับดอกเบี้ย

    ส่วน ดอกเบี้ยจ่าย ก็คือ หนี้สินใดๆ ของบริษัท ถ้ามีภาระดอกเบี้ยด้วย ก็จะบันทึกเป็นดอกเบี้ยจ่าย

    ส่วนการ classify ว่าเป็น CFO หรือ CFI นั้น ขึ้นอยู่กับมาตรฐานบัญชีจะกำหนดให้จัดอยู่ในอะไร ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับสามัญสำนึกก็ได้

  4. สงสัยครับ ทำไมเราถึงใช้ CFO แทน EBITDA. ได้ครับ.
    ตามความคิดผม Interest ไม่น่าเกี่ยวกับการดำเนินงานปกติของเราน่ะครับ
    น่าจะอยู่ในส่วน CFI มากกว่า ดังนนั้นผมคิดว่า ควรใช้ EBITDA + I กลับเขัมไปครับ

    ขอบุณครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *