Skip to content

258: ตอนที่ 10: ratio analysis

เมื่ออ่านงบการเงินเป็นแล้ว สิ่งต่อไปที่นักลงทุนอาจจะลองทำดูก็คือ การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินต่างๆ (ratio analysis) โดย อาศัยตัวเลขในงบการเงิน เพื่อวิเคราะห์สถานะของบริษัท

ก่อนจะไปถึงตรงนั้นยังมีเทคนิคของการวิเคราะห์งบการเงินอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า Common Size Analysis ด้วย

Common Size Analysis เป็นเพียงวิธีที่ช่วยให้งบการเงินดูง่ายขึ้น โดยการทุกตัวเลขทุกตัวในงบการเงินเป็นเปอร์เซ็นต์ให้หมด เช่น ในงบดุล ให้เราเอา สินทรัพย์รวม ของบริษัทมาหารทุกบรรทัดในงบดุลให้หมด เพื่อให้ตัวเลขในทุกบรรทัดเป็นเศษส่วนเทียบกับสินทรัพย์รวม เช่น

จะเห็นได้ว่า หลังจากเราทำ Common Size ให้งบดุลแล้ว เราจะเห็นรายการที่สะดุดตาในงบดุลได้ง่ายขึ้น เพราะเราจะเห็นสินทรัพย์รายการว่ามากหรือน้อยแค่ไหนเทียบกับสินทรัพย์รวม ปกติแล้วเราถือว่าบรรทัดไหนมีค่าน้อยกว่า 0.05 หรือ 5% ของสินทรัพย์รวม แสดงว่าไม่มีนัยสำคัญ เราอาจไม่ต้องกังวลกับบรรทัดเหล่านั้นมากนัก

ในกรณีของ งบกำไรขาดทุน ให้เทียบทุกบรรทัดกับรายได้รวม ตัวอย่างเช่น

ในกรณีนี้ บรรทัดของ Gross Profit ก็คือ Gross Margin และ บรรทัด Net Income ก็คือ Profit Margin ของบริษัทนั่นเอง ดูง่ายขึ้นเยอะเลย

ทีนี้ กลับมาพูดถึง ratio analysis กันต่อ อัตราส่วนทางการเงินที่นิยมดูกันนั้นมีอยู่เยอะมาก เยอะจนบางทีทำให้เราจับประเด็นอะไรไม่ได้เลย เพื่อให้เรามองอัตราส่วนทางการเงินได้เก่งขึ้น อยากให้จำไว้เสมอว่า อัตราส่วนทางการเงินทั้งหลายนั้น จัดอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใน 4 กลุ่มต่อไปนี้เสมอ ตามประโยชน์ของมัน

1. Profitability Ratios เป็นอัตราส่วนที่มุ่งตรวจสอบความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ ตัวพื้นฐานที่สุดของกลุ่มนี้ก็น่าจะเป็น Net Profit Margin หรือ กำไรสุทธิหารด้วยรายได้ หรือได้กำไรคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย ตัวอื่นๆ ในกลุ่มนี้ก็เช่น Gross Margin เป็นต้น

2. Efficiency Ratios เป็นอัตราส่วนที่มุ่งตรวจสอบ “ประสิทธิภาพ” ในการดำเนินงาน กลุ่มนี้มุ่งวัดประสิทธิภาพของการใช้สินทรัพย์ของบริษัทเป็นหลัก เพราะบริษัทที่กำไรดี (มาร์จิ้นสูง) อาจจะใช้สินทรัพย์ไม่มีประสิทธิภาพอยู่ก็ได้ เช่น ร้านเพชร อาจได้กำไรสูงมากจากการขายต่อชิ้น แต่ขายได้น้อยชิ้นมากไม่คุ้มกับเงินที่จมอยู่ในสต็อกสินค้า ในขณะที่ ร้านขายเครื่องประดับถูกๆ ใส่ขำๆ มาร์จิ้นน้อยกว่า แต่สินค้าหมุนเร็ว ทำรอบได้มากกว่า ทำให้สุดท้ายแล้ว เงินทุนที่จมอยู่ในสต็อกสินค้าเท่ากัน ร้านขายเครื่องประดับราคาถูกอาจจะทำกำไรเป็นยอดเงินรวมได้มากกว่าก็ได้ ตัวอย่างของกลุ่มนี้ก็เช่น Asset Turnover Ratio เป็นต้น

3. Liquidity Ratios เป็นอัตราส่วนที่มุ่งตรวจสอบสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท อันนี้มุ่งตรวจสอบความสามารถในการจ่ายหนี้ของธุรกิจเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น Quick Ratio เป็นต้น

4. Solvency Ratios เป็นอัตราส่วนที่มุ่งตรวจสอบโครงสร้างเงินทุนของบริษัท อันนี้มุ่งตรวจสอบว่าบริษัทมีฐานทุนแข็งแรงมากแค่ไหน กู้เงินมาลงทุนมากเกินไปรึเปล่า ตัวสำคัญได้แก่ D/E ratio

เวลาดู ratio อะไรสักตัว ต้องนึกด้วยว่า ratio ตัวนั้น อยู่ในกลุ่มไหน เพราะจะได้รู้ว่า มันช่วยบอกอะไรเรา สำหรับนิยามของอัตราส่วนการเงินแต่ละตัว สามารถดูได้จาก

Financial Ratio Formulas

เวลาอยากรู้ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเทียบกับคู่แข่ง Profitability Ratio น่าจะเป็นตัวสะท้อนที่ดีที่สุด โดยต้องเปรียบเทียบกับบริษัทที่ทำธุรกิจแบบเดียวกันด้วย การเปรียบเทียบข้ามธุรกิจนั้นไม่ก่อให้เกิดความหมายใดๆ เพราะแต่ละธุรกิจย่อมมี “มาร์จิ้น” เฉลี่ยต่างกันและเปรียบเทียบกันไม่ได้ ในบรรดา Profitablity Ratio ที่น่าเปรียบเทียบมากที่สุดน่าจะเป็น EBIT Margin เพราะเป็นมาร์จิ้นเฉพาะ Operation ของธุรกิจเท่านั้น ยังไม่คิดรวมภาษีหรือดอกเบี้ย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีเรื่องของโครงสร้างเงินทุนมาบิดเบือน

แต่ถ้าอยากดูความคุ้มค่าในการลงทุนของธุรกิจนั้นๆ หรือเป็นธุรกิจที่น่าลงทุนแค่ไหน น่าจะดู ROA, ROE ว่าสูงกว่าพันธบัตรแค่ไหน และคุ้มค่ากับความเสี่ยงของธุรกิจหรือไม่

ส่วนถ้าจะดูฐานะทางการเงินของบริษัท น่าจะดู D/E ratio เป็นหลัก ปกติแล้ว D/E ไม่ควรเกิน 1 เท่า โดยนับเฉพาะหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ย และในเวลาเดียวกันควรจะดู Interest coverage Ratio ประกอบด้วย เพราะบริษัทอาจจะมีหนี้ไม่มากนัก แต่เนื่องจากสภาพคล่องต่ำ ก็อาจมีปัญหาชั่วคราวในเรื่องของการชำระดอกเบี้ยก็ได้

13 thoughts on “258: ตอนที่ 10: ratio analysis”

  1. เขียนจบแล้วครับ เอาเป็นว่า บทความเรื่องบัญชีเบื้องต้นมีแค่นี้ ต่อจากนี้ไปถ้าหากมีกรณีศึกษาจริงในตลาดที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับงบการเงินก็จะนำมาเขียนถึงในหมวดนี้เป็น case-by-case ไปนะครับ

  2. ผมขอตามอ่านทุก case-by-case เลยครับ

    ขอบคุณมากๆครับพี่โจ๊ก

  3. อยากทราบในมุมมองของพี่โจ๊กว่า ในความเป็นจริง ๆ แล้ว พี่โจ๊กให้ความสำคัญกับ ratio analysis มากน้อยขนาดไหนครับ ?
    หรือจริง ๆ แล้ว ถ้าเราจะดูแค่พอผ่าน ๆ (เอาแค่ให้เห็นว่ามีความผิดปกติหรือเปล่า) แล้วให้ความสำคัญกับเรื่องราวของบริษัท (เช่น มีแผนอะไรในอนาคต) แบบนี้จะโอเคไหมครับ ? (คือจริง ๆ แล้วผมสงสัยว่าถ้าเราให้ความสำคัญกับ ratio analysis มาก ๆ เราจะมีโอกาสค้นพบหุ้น undervalue มาก ๆ ได้มากน้อยขนาดไหนครับ ? )

  4. ขอบคุณคะคุณโจ๊ก รอติตตาม Case by case นะคะ เรื่องงบๆทั้งหลายนี้เข้าใจยากจริงๆอ่านหลายรอบก็ยังงงๆ ตอนนี้ก้มีความหวังจะเรียนรู้เข้าใจจาก case by case จากคุณนี้ละคะ ขอบคุณอีกครั้งคะ 🙂

  5. roa, roe ในเว็บบางทีไม่ตรง เพราะว่า บางอันก็เอาตัวเลชเต็มปีมาคำนวณ บางอันก็เอาตัวเลขสี่ไตรมาสล่าสุดมาคำนวณ

  6. เรื่อง roe มีประเด็นสงสัยหน่อยครับ เวลาจะดูว่า บ.ใหนให้ผลตอบแทนดีกว่า เราควร adjust roe โดยหารด้วย P/B ไหมครับ เพราะเราไม่สามารถ ซื้อหุ้นในราคาเดียวกับเจ้าของ

    1. ROE มีไว้ตอบคำถามในขั้นแรกว่า ธุรกิจนั้นดีหรือไม่ มันจะสร้างผลตอบแทนหรือไม่ แต่ยังใช้ตอบคำถามเรื่อง Valuation ไม่ได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *