Epicurus คือ ปราชญ์ชาวกรีกโบราณ ผู้ก่อตั้งสำนัก “สุขนิยม” มุมมองเกี่ยวกับคำว่า “ความสุข” ของเขานั้นเป็นอะไรที่น่าสนใจมากทีเดียว
Epicurus เชื่อว่า จุดมุ่งหมายสูงสุดในชีวิตของคนเรานั้นไม่ใช่อะไรอย่างอื่นนอกจากการแสวงหา “ความสุข” อันได้แก่ การทำชีวิตให้มีความสุขมากที่สุดตลอดเวลาที่เราอยู่บนโลกใบนี้ ไม่ใช่เพื่อชีวิตในโลกหน้า หรือเพื่ออุดมคติอย่างอื่น เพราะ Epicurus เชื่อว่า นามธรรมทุกชนิดล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากความสุขและความทุกข์ทั้งสิ้น คนที่บอกว่าตัวเองเกิดมาเพื่อความดีหรือความยุติธรรม แต่วันๆ เอาแต่ปั้นหน้ายักษ์ใส่คนอื่น เพราะยังเป็นคนที่ไม่มีความสุขนั้น Epicurus ถือว่าเป็นคนที่ใช้ไม่ได้
อย่างไรก็ตาม แม้ Epicurus จะบอกว่า เป้าหมายชีวิตคือการแสวงหาความสุข แต่เขาก็บอกว่า ความสุขที่แสวงหาต้องเป็นความสุขชนิดที่ไม่นำมาซึ่งความทุกข์ในภายหลังเท่านั้น ตัวอย่างเช่น การดื่มสุราทำให้เรามีความสุขได้ในทันทีที่ดื่ม แต่ก็นำมาซึ่งปัญหาสุขภาพในภายหลัง ดังนั้นคนเราจึงไม่ควรแสวงหาความสุขจากการดื่มสุรา เป็นต้น พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ต้องฉลาดเลือกในการหาความสุขด้วย
สุขนิยมแบบ Epicurus มักถูกนำมาอธิบายแบบผิดๆ แก่คนทั่วไปว่า เป็นแนวคิดที่สอนให้ทุกคนมุ่งหาความสุขด้านกามารมณ์ คำว่า “Epicure” ในภาษาอังกฤษหมายถึง คนที่อุทิศตัวให้กับการแสวงหาแต่ความสุขในกาม และวิถีชีวิตที่หรูหรา แต่ที่จริงแล้ว Epicurus มองว่า สุขจากกามส่วนใหญ่ล้วนนำมาซึ่งความทุกข์ในภายหลัง (เช่น กินมากก็อ้วน เป็นต้น) ชีวิตที่มีความสุขมากกว่าจึงได้แก่ ชีวิตที่ต้องพึ่งพาความสุขจากกามน้อยที่สุดต่างหาก Epicurus ใช้ชีวิตส่วนตัวอย่างเรียบง่ายมากถึงขั้นสมถะ ซึ่งตรงข้ามกับความหมายของคำว่า Epicure โดยสิ้นเชิง
Epicurus เชื่อว่านอกเหนือจากการทำตัวให้ติดดินแล้ว คนเราควรมุ่งแสวงหาความสุขจาก 3 ด้านของชีวิตเป็นหลัก อันได้แก่ ความสุขจากการมีอิสระภาพ ความสุขจากการมีเพื่อนดี และความสุขจากการมีชีวิตอยู่อย่างคนที่มีความคิดความอ่าน Epicurus มองว่าความสุขทั้งสามอย่างนี้ เป็นความสุขด้านจิตใจ ซึ่งหาได้ง่ายกว่าวัตถุมาก แต่กลับสร้างความสุขให้เราได้มากกว่า และมักไม่ค่อยนำมาซึ่งความทุกข์ในภายหลังอย่างความสุขทางวัตถุ คนที่ต้องการชีวิตแบบหรูหราแล้ว ทำให้ต้องเครียดตลอดเวลา เพราะทำงานตัวเป็นเกลียวไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่มีเวลาให้ครอบครัว อย่างนี้ก็ไม่เรียกว่า กำลังหาความสุขตามแนวคิดสุขนิยมอยู่
Epicurus มองว่า ชีวิตในสังคมเมืองอย่างเอเธนส์นั้นยากที่จะมีความสุขตามแนวคิดของเขาได้ เพราะเป็นวิถีชีวิตที่ต้องคอยทำตามความคาดหวังของสังคมทำให้ขาดอิสระภาพ เขาจึงเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบเงียบๆ ในบ้านของเขาเองมากกว่า และเปิดบ้านและสวนของเขาให้แก่ชาวเอเธนส์ทุกคน ที่ต้องการหลีกหนีจากความวุ่นวายในเมืองให้เข้ามาพักผ่อน เพื่อให้มีโอกาสได้ใช้ชีวิตแบบกินน้อย ใช้น้อย ได้ผูกมิตร และเสวนาเรื่องปรัชญากับคนอื่น
Epicurus จัดเป็นนักปราชญ์จำพวกสสารนิยม จึงเชื่อว่า เมื่อคนเราตายไปแล้ว จิตก็ตายไปด้วย เราจึงไม่รู้สึกอะไรอีกหลังจากที่ตาย ด้วยเหตุนี้ คนเราจึงไม่จำเป็นต้องกลัวความตายแต่อย่างใด
ในช่วงที่ Epicurus มีชีวิตอยู่นั้น สำนักสุขนิยมของเขาได้รับความนิยมในวงที่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากมุมมองของเขาเกี่ยวกับเรื่องศาสนาที่ไม่ค่อยถูกใจคนส่วนใหญ่ บางคนมองว่าเขาเป็นพวกต่อต้านศาสนา แต่หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้วหลายร้อยปี แนวคิดของเขาได้ถูกนำมาอ้างถึงโดยนักปรัชญาตะวันตกชั้นนำเป็นจำนวนมากทำให้กลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และยังกลายเป็นแนวความคิดที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งต่อปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ด้วย
ที่จริงแล้ว Epicurus ไม่ได้ปฏิเสธพระเจ้า เขาเพียงแต่เห็นว่า ถ้าหากเทพเจ้าทั้งหลายมีจริง พวกเขาก็คงสนใจแต่เรื่องของพวกเขาเองเท่านั้น ไม่มีความจำเป็นที่พวกเขาจะต้องมาสนใจมนุษย์ด้วย มนุษย์จึงควรหันมาเน้นการพึ่งพาตนเองจะดีกว่า
Pingback: The Best ความ สุข ส่วนตัว New 2022 - Bangkokbikethailandchallenge.com