Skip to content

189: เราใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง

เคยสงสัยกันมั้ยครับว่าตลอดชีวิตคนเราใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง?

ข้อมูลจากนิตยสารฟอร์บส์ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้ว คนอเมริกันจะใช้จ่ายเงินไปกับที่อยู่อาศัยมากที่สุดคือราว 22% ค่าใช้จ่ายทั้งหมดตลอดชีวิต (ได้แก่ ค่าซื้อบ้าน ค่าเช่าบ้าน รวมทั้งภาษีที่เกี่ยวข้อง)

ส่วนค่าอาหารนั้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 14% ตามด้วยค่าขนส่ง ได้แก่ ค่าน้ำมันรถ ค่าซื้อรถยนต์ หรือค่าโดยสารต่างๆ รวมกันประมาณ 13%

ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการประกันชีวิต และเงินสมทบบำนาญต่างๆ นั้นมีมูลค่ารวมกันประมาณ 11%, ส่วนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพ ได้แก่ ค่าหมอ ค่ายา ค่าประกันสุขภาพ นั้นรวมกันประมาณ 6%

ค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส และค่าโทรศัพท์ รวมกันประมาณ 6%, ค่าเสื้อผ้าและเครื่องแต่งตัวทั้งหลาย 3.4% ดูเหมือนคนอเมริกันส่วนใหญ่จะไม่ค่อยสนใจซื้อของแบรนด์เนมเท่าไรนักนะครับ

ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเรื่องบันเทิงและสันทนาการต่างๆ เช่น ทีวี เครื่องเสียง ตั๋วหนัง ตั๋วคอนเสิร์ต รวมกันประมาณ 3%, ส่วนที่เหลือจากนี้เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมา

จะเห็นได้ว่า ตลอดชีวิตคนเราจ่ายเงินไปกับที่อยู่อาศัยมากที่สุด คือราวหนึ่งในห้า ตัวเลขนี้ใกล้เคียงกันมากกับตัวเลขที่สำรวจได้ ในประเทศจีนและอินเดีย (สำรวจโดย Credit Suisse) อาจกล่าวได้ว่า คนทั่วโลกใช้จ่ายไปกับค่าที่อยู่อาศัยมากที่สุดประมาณหนึ่งในห้าของค่าใช้จ่ายตลอดชีพ

ค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าคาดตามความคิดส่วนตัวของผมคือ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทาง ซึ่งสูงพอๆ กับค่าอาหารเลยทีเดียว ผมว่าถ้าหากรัฐฯ จัดหาระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพและราคาประหยัดให้กับพลเมืองได้ จะเป็นวิธีเพิ่มระดับความเป็นอยู่ของพลเมืองได้อย่างมีนัยสำคัญเลยทีเดียว ในขณะที่ เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายนั้นกลับเป็นรายจ่ายที่ไม่มากนักของคนเราโดยทั่วไป

ผมไม่มีตัวเลขเหล่านี้สำหรับคนไทยโดยเฉลี่ย แต่หากดูจากตัวเลขที่สำรวจทั้วโลกโดยธนาคารโลกจะพบว่า ยิ่งคนมีรายได้น้อยเท่าไรก็จะยิ่งใช้จ่ายเงินส่วนใหญ่ที่หามาได้ไปกับอาหารและที่อยู่อาศัยเป็นสัดส่วนที่มากเท่านั้น ชาวโลกที่มีรายได้ต่ำกว่า 1, 000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี (หรือที่ธนาคารโลกจัดว่าเป็นคนยากจน) จะหมดเงินไปกับค่าอาหารมากกว่า 50% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดเลยทีเดียว ไม่ใช่แค่ 14% อย่างคนอเมริกันโดยเฉลี่ย

ในช่วงเวลาที่ราคาอาหารพุ่งสูง คนที่เดือดร้อนมากที่สุดจึงได้แก่คนที่มีรายได้น้อย ซึ่งจะกระทบกระเทือนต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศต่่างๆ ทั่วทั้งโลกด้วย

ในทางตรงกันข้าม สัดส่วนค่าใช้จ่ายของคนเราจะเปลี่ยนไปเมื่อเรามีรายได้สูงขึ้น คนที่ยิ่งมีรายได้สูงเท่าไรก็จะยิ่งใช้จ่ายไปกับเรื่องสุขภาพ สันทนาการและค่าเดินทางในสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยมากขึ้นเท่านั้น (เรื่องนี้ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าสุขภาพเป็นของฟุ่มเฟือยมากกว่าของจำเป็น เพราะยิ่งคนมีเงินมากเท่าไรก็จะยิ่งจ่ายเงินเพื่อสุขภาพมากเท่านั้น หรือแปลว่าคนเราเลือกที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้)

ค่าเดินทางที่สูงขึ้นของคนรวยนั้นมาต้นเหตุมาจากค่าขนส่งทางอากาศเป็นสำคัญ เพราะยิ่งคนเรารวยเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะขึ้นเครื่องบินบ่อยเท่านั้น และการเดินทางด้วยเครื่องบินก็เป็นรูปแบบการขนส่งที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก และยังปลดปล่อยคาร์บอนในอัตราที่สูงมากด้วย

บทวิเคราะห์การลงทุนของโกลด์แมน แซคส์ ยังแนะนำด้วยว่า ถ้าคุณกำลังมองหาหุ้นอุปโภคบริโภคเพื่อการลงทุนในระยะยาว ลองมองหาหุ้นของบริษัทชั้นนำที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ การเดินทาง การติดต่อสื่อสาร การรักษาสุขภาพ และพวกนิวมีเดียต่างๆ เพราะชนชั้นกลางที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศกำลังพัฒนา จะทำให้เงินในกระเป๋าของคนส่วนใหญ่ในโลกนี้ เทมายังสินค้าและบริการในหมวดเหล่านี้ในสัดส่วนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ

  1. http://www2.goldmansachs.com/ideas/brics/nifty-50.html
  2. http://www.forbes.com/2006/07/19/spending-income-level_cx_lh_de_0719spending.html

 

2 thoughts on “189: เราใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง”

  1. พี่โจ้กครับ หุ้นเกี่ยวกับการเดินทาง พวกสายการบินได้ไหมครับ หรือถ้าเป็น BTS พอเข้าขายไหมครับ
    แล้ว ติดต่อสื่อสาร คือพวกหุ้นมือถือบ้านเราเหรอครับ
    สุขภาพอันนี้ตรงตัวคือ หุ้นโรงพยาบาลใช่ไหมครับ
    แล้วนิวมีเดีย หมายถึงหุ้นพวกไหนเหรอครับ

    ขอบคุณครับ

  2. พวกนี้คือเป็นพวกที่แนวโน้มความต้องการในอนาคตดี แต่ที่จะต้องดูประกอบด้วยคือ ตัวธุรกิจมีความสามารถในการทำกำไรดีมั้ย บางทีลุกค้าเยอะก็จริง แต่การแข่งขันรุนแรงก็อาจจะไม่ดีก็ได้

    สายการบิน การแข่งขันค่อนข้างสูง ก็ต้องเลือกตัวที่มีข้อได้เปรียบ ข้อแตกต่าง เยอะๆ
    bts คงมีความสามารถในการผูกขาดในระดับหนึ่ง ถ้าหากราคาหุ้นไม่แพง ก็น่าสนใจครับ

    นิวมีเดีย ก็พวกสื่อที่อาศัยอินเตอร์เน็ตทั้งหลายครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *