Skip to content

199: Generational Wealth Gap

เวลาพูดถึงความไม่เท่าเทียมกันของสังคม เรามักพูดถึงความแตกต่างระหว่างชนชั้น แต่สถาบันวิจัย PEW รายงานไว้เมื่อปี 2011 ว่า ความมั่งคั่งของคนอเมริกันที่อยู่ในวัยกว่า 65 ปี ในเวลานี้ ได้ทิ้งห่างคนอเมริกันในวัย 24-35 ปี เป็นช่วงกว้างที่สุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ มีความไม่เท่าเทียมกันระหว่างวัยที่มีนัยสำคัญมากด้วย

คนอเมริกันวัย 65 ขึ้นไปมีความมั่งคั่งโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 42% เมื่อเทียบกับสถิติเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ในขณะที่คนอเมริกันที่เป็นหัวหน้าครอบครัวในวัย 35 ลงไปกลับมีความมั่งคั่งน้อยลง 68% เมื่อเทียบกับ 25 ปีก่อน ด้วยเหตุนี้คนอายุ 65 จึงรวยกว่าคนอายุ 35 ถึง 47 เท่าโดยเฉลี่ย แทนที่จะรวยกว่าเพียงแค่ 10 เท่าอย่างเมื่อ 25 ปีก่อน

อาจกล่าวได้ว่า พวก Babyboomer ในสหรัฐฯ เกิดมาในจังหวะที่เอื้อต่อการสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองเป็นอย่างมาก

เริ่มตั้งแต่การที่ Babyboomer เริ่มผ่อนบ้านในยุคที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้แพง เมื่อผ่อนเสร็จในอีก 20 ปีต่อมาก็ได้เป็นเจ้าของบ้านที่มีราคาตลาดเพิ่มขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัว ในขณะที่ Gen Y เร่ิมผ่อนบ้านในช่วงฟองสบู่พอดี พอฟองสบู่ Subprime แตก ความมั่งคั่งของพวกเขาก็กลับถอยลงแทนที่จะพอกพูนขึ้นจากการซื้อบ้าน

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็เป็นภาพที่คล้ายๆ กันครับ

ในแง่ของสวัสดิการสังคม สวัสดิการสังคมใดให้แล้วลดยาก ยุคไหนพรรคการเมืองสร้างคะแนนเสียงด้วยการเพิ่มสวัสดิการสังคมมากจนเกินไป รัฐบาลยุคต่อมาก็ต้องแบกต่อไปให้ได้ ไม่มีใครกล้าปล่อยให้ล้มในยุคของตัวเอง สุดท้ายก็ไปเกิดวิกฤตใหญ่ตูมเดียวในอีกหลายสิบปีต่อมา คนที่ได้รับผลประโยชน์ไปก่อนเพราะเข้าสู่วัยเกษียณพอดีก็เป็นคนกลุ่มที่โชคดีไป ในขณะที่คนที่จ่อรอเกษียณอยู่พอดีและคนรุ่นหลังจากนั้นก็เสียเปรียบเพราะถูกรัฐฯ ตัดสิทธิประโยชน์เพื่อแก้ไขฐานะการคลัง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของคนต่างรุ่นแบบมีนัยสำคัญได้

พูดง่ายๆ ก็คือ สวัสดิการสังคมที่ไม่ยั่งยืน จะทำให้เกิดการโอนย้ายความมั่งคั่งจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งและส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคนรุ่นในอนาคตที่ต้องแบกรับภาระหนี้แทนคนรุ่นก่อนที่ได้รับสวัสดิการไปแล้ว

เรื่องนี้ Gen Y ในสหรัฐฯ ก็เกิดมาใน Timing ที่ไม่ค่อยจะโชคดีเท่าไรอีกเช่นกัน เพราะตอนนี้สหรัฐฯ กำลังแบกหนี้สาธารณะอ่วม

หันมาดูเรื่องความสามารถในการหารายได้ Gen Y ก็เสียเปรียบ Babyboomer เพราะในเวลานี้ อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ก็อยู่ในระดับสูงสุด งานหายาก เงินเดือนก็ขึ้นช้า ต่างกับพวก Babyboomer ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานหลังจากวิกฤตปี 1929 ผ่านพ้นไปนานหลายปีจนเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ช่วงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องแล้ว ทำให้เป็นขาขึ้นที่ยาวนานตลอดช่วงอายุของพวกเขา

ทั้งหมดนี้ทำให้เวลานี้ครัวเรือนอเมริกันที่มีผู้นำครอบครัวอยู่ในวัย 24-35 ปี มีเงินออมเฉลี่ยเพียงแค่ $3, 662 ต่อครัวเรือนหรือประมาณแสนกว่าบาทเท่านั้น และฐานะการเงินของ Gen Y ก็แย่ลงมากถึงขนาดที่มีสถิติพบว่า คนอเมริกันวัยเร่ิ่มต้นทำงานในยุคปัจจุบันยังคงอยู่บ้านเดียวกับพ่อแม่มากถึง 30% สูงกว่าสมัยที่ Babyboomer อยู่ในวัยเริ่มต้นงานที่อยู่ที่ 11% อย่างมาก เนื่องจากยังดูแลตัวเองด้านการเงินกันไม่ไหว

ไม่รู้ว่าบ้านเรามีใครเก็บสถิติทำนองนี้ไว้บ้างหรือเปล่า แต่ถ้าให้ผมประเมินก็คิดว่าน่าจะเป็นไปในทำนองเดียวกันกับของสหรัฐฯ แต่ระดับความแตกต่างอาจจะมากน้อยต่างกัน ในกรณีของบ้านเรานั้น คนที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีน้อยกว่าในสหรัฐฯ มาก ดังนั้นการที่ฟองสบู่ตลาดหุ้นแตกจึงส่งผลกระทบกับคนเฉพาะกลุ่มมากกว่าที่จะมีผลโดยตรงต่อครัวเรือนทั้งประเทศ อีกทั้งสวัสดิการสังคมของบ้านเราก็เพิ่งจะมาเริ่มต้นอย่างจริงๆ จังๆ ในยุคสิบกว่าปีหลังเท่านั้นเอง มันจึงยังไม่น่าส่งผลให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบของคนระหว่างรุ่นในช่วงที่ผ่านมามากนัก ที่จริงแล้วปัจจัยเหล่านี้น่าจะเอื้อประโยชน์ต่อการสร้างความมั่งคั่งของ Gen Y ในประเทศไทย ที่จะเห็นผลเมื่อพวกเขาเข้าสู่วัยเกษียณในอีก 25 ปีข้างหน้าถ้าหากพวกเขามองเห็นโอกาสตั้งแต่วันนี้ด้วยซ้ำ แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับ Babyboomer ของสหรัฐฯ เมื่อ 25 ปีที่แล้ว

แต่เรื่องที่ผมเห็นว่า Gen Y บ้านเรามีโอกาสด้อยกว่าคนรุ่นก่อนหน้าน่าจะเป็นเรื่องของโอกาสในการหารายได้ เพราะยุคที่ Babyboomer ในบ้านเราเริ่มเข้าสู่วัยทำงานเป็นยุคที่ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นสะสมทุน(เอกชน)พอดี ทำให้มีโอกาสสำหรับธุรกิจขนาดเล็กมากมาย จนทำให้ Babyboomer ทุกวันนี้เป็นเจ้าของ SME กันจำนวนไม่น้อย ในขณะที่ยุคนี้เป็นยุคที่องค์กรขนาดใหญ่ดูจะได้เปรียบธุรกิจขนาดเล็กแทบทุกประตู ทำให้โอกาสที่ใครจะเริ่มต้นสร้างธุรกิจจากศูนย์ได้สำเร็จมีน้อยลงมาก ทุกคนเลือกที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานกลายเป็นมนุษย์เงินเดือนกันหมด (คล้ายกับโครงสร้างของประเทศญี่ปุ่น) แต่พอมาดูในองค์กรขนาดใหญ่ก็ดูเหมือนโอกาสจะเป็นของพวก Gen X อีก เพราะพวก Gen X เริ่มเข้าสู่วัยทำงานในยุคที่องค์กรขนาดใหญ่เริ่มผงาดพอดี ทำให้ Gen X มี โอกาสก้าวหน้าเป็นผู้บริหารได้เร็วกว่า Gen Y ซึ่งการแข่งขันในองค์กรจะค่อนข้างสูงแล้ว

สังคมที่่คนทำงานกินเงินเดือนเป็นหลักนั้น การเลื่อนชั้นทางสังคมจะค่อนข้างยาก การส่งผ่าน Wealth จากรุ่นสู่รุ่นน่าจะมาโดยทางมรดกเสียเยอะ แอบคิดขำๆ ว่า Gen Y บ้านเราอาจจะกลับมาได้เปรียบแบบหนักๆ อีกทีก็ตอนได้รับมรดกจาก Babyboomer นี่แหละ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *