Skip to content

248: ถอดรหัสบัฟเฟต

จุดเด่นของ วอเรน บัฟเฟต คือ คำสอนที่ฟังแล้วเข้าใจง่าย บางทีก็เป็นคำคมสั้นๆ คนเริ่มต้นลงทุนฟังแล้วไม่รู้สึกขยาด

แต่นั่นก็เป็นปัญหาด้วยเหมือนกัน เพราะ คำอธิบายที่สั้นมากทำให้ตีความได้มากมายหลายแบบ คำสอนของบัฟเฟตนั้นถือได้ว่า ถูกนำไปใช้อ้างถึงและตีความในสารพัดรูปแบบมากที่สุด

ผมเคยได้ยินคนตีความคำสอนของบัฟเฟตที่บอกว่า “อย่าขาดทุน” ว่าหมายความว่า ให้ cut loss ให้เร็ว ซึ่งเป็นตีความที่น่าตกใจอยู่เหมือนกันสำหรับผม  ไม่ได้บอกว่าผิดนะครับ ผมเองก็คงไม่กล้าออกมาฟันธงว่าจริงๆ แล้วหมายความว่าอย่างไร เพราะก็ยังไม่มีใครเคยไปถามบัฟเฟตว่า ตกลงคำว่าอย่าขาดทุนแปลว่าให้ cut loss เร็วจริงๆ หรือ ก็เลยไม่มีใครรู้ เพียงแต่อยากจะบอกว่า ทุกวันนี้คำสอนของบัฟเฟตถูกนำไปอธิบายให้เข้ากันได้กับแนวการลงทุนแทบทุกแนว จนเหมือนกับไม่ได้สอนอะไรเราเพิ่มเติม เพราะแนวไหนก็ใช้ได้

คำพูดอีกคำหนึ่งของบัฟเฟตที่ถูกนำมาอ้างถึงกันบ่อยคือ ” my favorite holding period is forever.” คำนี้คล้ายกับบอกว่า บัฟเฟตสอนบอกให้ซื้อหุ้นอะไรแล้วต้องถือไปตลอด (buy and hold)

แต่ที่จริงการนำคำสอนนี้มาใช้นั้นต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะที่จริงแล้ว ประโยคเต็มๆ ที่บัฟเฟตพูดวลีนี้ไว้ต้องเป็น

when we own portions of outstanding businesses with outstanding managements,   our favorite holding period is forever.

ซึ่งเขาได้เขียนไว้ใน Chairman’s Letter to Shareholders of Berkshire Hathaway 1998  แต่เมื่อถูกนำมา quote ในที่ต่างๆ ภายหลัง ครึ่งแรกของประโยคมักจะหายไปเลย ที่จริงแล้ว บัฟเฟตซื้อแล้วไม่ขาย เฉพาะธุรกิจที่ยอดเยี่ยมมากๆ  (ธุรกิจ A+) ซึ่งมีอยู่ไม่ถึง 10 ตัวในพอร์ตของ Berkshire เท่านั้น และเป็นสัดส่วนที่มีนัยสำคัญในพอร์ต แต่โดยปกติแล้ว Berkshire มีการเทรดหุ้นทั่วๆ ไปเป็นจำนวนมากอยู่แทบตลอดเวลา หุ้นทั่วไปไม่ได้เข้าเกณฑ์ธุรกิจที่ยอดเยี่ยมในความหมายนี้ จึงไม่ได้ถือยาวมากๆ อย่างนั้น

แต่บางคนนำคำสอนนี้ชองบัฟเฟตมาใช้กับหุ้นทุกๆ ระดับคุณภาพ หรือบางคนจงใจเลือกเอามาอ้างเฉพาะเวลาที่ซื้อหุ้นไปแล้วตกแรงๆ ทำให้ต้องหาเหตุผลมาบอกตัวเองว่า ทำไมจึงกอดหุ้นเน่าๆ เอาไว้ เป็นแค่การเลือกเหตุผลที่เหมาะเพื่อมาอธิบายการใช้อารมณ์เท่านั้น

คำสอนอีกคำของบัฟเฟตที่ถูกอ้างถึงบ่อยก็คือ เขาบอกว่าถ้าหากหุ้นที่ถืออยู่มีราคาตกลงมากๆ สิ่งที่เขาจะทำก็คือเอาเงินมาซื้อเพิ่มให้มากขึ้นอีก นักลงทุนมักอ้างคำพูดนี้ของบัฟเฟตเวลาอยากซื้อหุ้นเฉลี่ยขาลงเพื่อถัวราคา แต่จากการสังเกตดูพฤติกรรมที่บัฟเฟตทำจริงๆ เวลาหุ้นที่เขาถึงอยู่ตกลงมากๆ นั้น ผมกลับไม่เคยพบว่า บัฟเฟตซื้อหุ้นเหล่านั้นเพิ่มอีก สิ่งที่เขาเลือกที่จะทำเสมอในสถานการณ์แบบนั้นคือ การไม่ทำอะไรเลย กล่าวคือ ไม่ขาย และก็ไม่ซื้อเพิ่มด้วย ถ้าหากบัฟเฟตถือคติยิ่งตกยิ่งซื้อจริงๆ เขาอาจจะหมดตัวไปกับ US Airway หรือ AIG ไปแล้ว ดังนั้น ผมอยากตั้งข้อสังเกตว่า คำสอนที่ว่าถ้าหุ้นตกลงมามากๆ ให้เอาเงินมาซื้อเพิ่มนั้น บัฟเฟตอาจเป็นเรื่องของใจมากกว่า ไม่ได้หมายถึงให้ปฏิบัติเช่นนั้นจริงๆ

สิ่งหนึ่งที่บัฟเฟตแตกต่างจากเบนจามิน แกรม อาจารย์ของเขาเป็นอย่างมากก็คือ แกรมเน้นซื้อหุ้นราคาถูกเป็นหลัก ส่วนคุณค่าของธุรกิจนั้น แกรมมองว่าเป็นเรื่องที่ทำนายได้ยาก จึงไม่ได้ให้ความสำคัญนัก ต่างกับ บัฟเฟต ที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางธุรกิจก่อน ถ้าคุณค่าของธุรกิจไม่ดีพอ ก็คือตกไปตั้งแต่แรกเลย ไม่ต้องดูราคาหุ้น ถ้าคุณค่าของธุรกิจผ่าน จึงค่อย “รอ” ที่จะเข้าซื้อราคาที่เหมาะสมอีกที นั่นคือ บัฟเฟตสนใจแต่ธุรกิจที่มีคุณภาพเท่านั้น ส่วนจะซื้อหุ้นเหล่านั้นเมื่อไร ขึ้นอยู่กับราคา อันจะเห็นได้จากคำคมของบัฟเฟตอีกคำหนึ่งที่บอกว่า

It’s far better to buy a wonderful company at a fair price than a fair company at a wonderful price.

นั่นคือ คุณภาพต้องมาก่อนราคาเสมอ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่ต่างจากเบนแกรมมากๆ และผมสังเกตว่า VI บ้านเราจะแตกต่างจากวอเรน บัฟเฟตมากตรงจุดนี้ด้วย  VI บ้านเราจะให้ความสำคัญกับราคาหุ้น (พีอีต่ำต้องมากๆ) ค่อนข้างมาก  ส่วนความแข็งแกร่งทางธุรกิจกลับเป็นประเด็นรองๆ VI บางคนชอบธุรกิจที่พื้นฐานไม่ดีเสียด้้วยซ้ำ เพราะมองว่า ถูกมาก ทำให้มี upside เยอะ บัฟเฟตนั้นซื้อหุ้นโคคาโคล่าที่พีอีสูงถึง 16 เท่า เนื่องจากเขามองว่ามันเป็นธุรกิจที่ยอดเยี่ยมจริงๆ

ส่วนที่แตกต่างกันระหว่างบัฟเฟตกับเบนจามินแกรมก่อให้เกิดความสับสนค่อนข้างมากในแนวทางที่เรียกว่า Value Investing เพราะเราเข้าใจว่าบัฟเฟตเป็น VI เบนจามินแกรมก็เป็น VI เพราะฉะนั้นวิธีลงทุนก็ต้องเหมือนกันสิ บางคนก็เลยนำแนวทางของทั้งสองกูรูมาผสมกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายอยู่เหมือนกัน เพราะวิธีการบางอย่างของบัฟเฟตอาจไม่เหมาะกับวิธีการของแกรม และคำพูดบางคำของแกรมก็อาจไม่เหมาะกับวิธีการแบบบัฟเฟตก็ได้ แต่คำว่า VI เหมือนกันก็ก่อให้เกิดความสับสนอยู่ไม่น้อย

ที่จริงแล้ว บัฟเฟต ยึดถือคำสอนของแกรมในเรื่องของทัศนคติที่ VI มีต่อตลาดเท่านั้น ได้แก่ แนวคิดเรื่อง Mr.Market, ซื้อหุ้นเหมือนซื้อธุรกิจจริงๆ และ Margin of Safety แต่บัฟเฟตไม่ได้คัดเลือกหุ้นด้วยวิธีการกรองด้วยอัตราส่วนทางการเงิน อย่างเช่น พีอี พีบี แบบแกรม และถ้าเป็นธุรกิจที่ยอดเยี่ยมจริงๆ บัฟเฟตจะถือยาวมากๆ แต่แกรมจะขายหุ้นเมื่อได้กำไรจากหุ้นตัวนั้นเกินเท่าตัวหรือเมื่อถือมานานเกินสองปีแล้ว แต่เกณฑ์ไหนจะถึงก่อนเสมอ ทั้งสองคนจึงมีส่วนที่เหมือนกันอยู่เรื่องทัศนคติ แต่วิธีการลงทุนนั้นแตกต่างกันมากเลยทีเดียว

Screen shot 2011-10-18 at 1.08.06 PM

บางคนบอกว่าเป็นวีไอต้องถือหุ้นเต็มพอร์ตลอดเวลา แต่บัฟเฟตเองไม่ได้ทำแบบนั้นเลย Berkshire ไม่ได้ถือหุ้นเต็มพอร์ตตลอดเวลา แต่มีตราสารหนี้เป็นสัดส่วนที่มีนัยสำคัญในพอร์ตเสมอ ทำให้เขามีเงินสดไว้รอช้อปปิ้งหุ้นได้ตลอดเวลาทุกครั้งที่ตลาดหุ้นเกิดวิกฤตใหญ่ และเมื่อวิกฤตผ่านไปแล้ว เขาก็มักจะค่อยๆ ทยอยปรับสัดส่วนหุ้นลงให้กลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง

นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยที่พบด้วยว่า ความสำเร็จของบัฟเฟตนั้นมีส่วนสำคัญส่วนหนึ่งเลยที่เกิดจากการที่เขาทำธุรกิจประกันภัย ทำให้มีเม็ดเงินใหม่ๆ เข้ามาในบริษัทตลอดเวลา เขาจึงเป็นคนที่มีเงินสดมาซื้อหุ้นได้เสมอเมื่อใดที่ตลาดหุ้นพัง ซึ่งต่างกับนักลงทุนทั่วไปที่เมื่อลงทุนเต็มพอร์ตแล้ว หากเกิดวิกฤตขึ้นก็จะไม่เหลือเงินที่จะมาช้อนซื้อหุ้นในช่วงเวลาที่น่าซื้อที่สุดได้เลย

18 thoughts on “248: ถอดรหัสบัฟเฟต”

  1. ขอบคุณท่านแม่ทัพมากๆ บทความยอดเยี่ยมเหมือนเดิม

  2. ผมถือเงินสด 25% ของพอร์ท ว่าเยอะแล้ว เจอ Buffet ถือเยอะกว่าก็อุ่นใจ 🙂

  3. เพิ่งไปร้านหนังสือ เจอเล่มใหม่ Ben Graham was a Quant. ก็แปลกดีแต่ไม่ได้ซื้อมา
    อีกอย่าง VI บ้านเราโดนอิทธิพลของ ดร. ครอบงำอีกทีนึงด้วย

  4. จะฮามาก ถ้าหลายคนที่หลงกับบัฟเฟต รู้ว่า บัฟเฟตเล่นshort อนุพันธ์ด้วยซ้ำ…

  5. อย่างนี้ก็แสดงว่าผลตอบแทนเฉพาะพอร์ต หุ้น ของปู่ ก็ต้องได้มากกว่า 20% ทบต้น สิครับ

    แต่ผมเคยอ่านเจอแต่จำไม่ได้แล้วว่าอ่านจากไหน เห็นว่าปูบัฟเฟตก็เล่น มาจิ้น นะครับ

    แต่ดอกแค่ 2-3% เท่านั้น เพราะใช้มาจิ้นจาก เบี้ยประกัน จาก บริษัทประกัน ไจโก ของปู่เอง

    1. เล่นมาร์จิ้นด้วยรึเปล่าอันนี้ไม่แน่ใจ แต่การใช้บริษัทเบิร์กไชน์ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนเป็นพาหนะในการลงทุน ทำให้สามารถกู้เงินในตลาดได้ด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปกติ ซึ่งนำมาลงทุนสร้างผลตอบแทนในตลาดได้อีกต่อหนึ่งครับ

      1. อึม ประเดี๋ยวจะเข้าใจว่าผมเชียร์ให้กู้เงินมาลงทุน อยากเน้นว่า ในการวิจัยที่อ้างถึงในบทความเรื่องความสำเร็จของบัฟเฟตเกิดจากอะไรนั้น เขาสรุปว่าต้องใช้สองอย่างประกอบกัน คือ 1. leverage (กู้) และ 2. ซื้อแต่หุ้นเบต้าต่ำๆ ด้วย ซึ่งจะต่างจากนักลงทุนที่กู้เงินมาลงทุนส่วนใหญ่จะเน้นที่หุ้นเบต้าสูง แต่บัฟเฟตเน้นไปที่หุ้นเบต้าต่ำ ทำให้เวลาตลาดหุ้นเหวี่ยงแรงๆ แล้วโอกาสจะขาดทุนสูงๆ จนกลายเป็นขาดทุนเพราะโดน call นั้นมีน้อยมาก

  6. ไม่ทราบว่าถูกหรือเปล่านะครับ ผมเปรียบเปยนะครับเรื่องมาจิ้น คือปู่แก่จะใช้ เบี้ยประกัน จากคนซื้อประกันของแก่

    ที่จ่ายเบี่ยให้ปู่ เบี่ยนี้จะจ่ายให้ปู่แก่ก่อนและสามารถไปลงทุนได้เลย เป็นอย่างนี้ถ้าหุ้นตกหนักๆ แก่คงไม่ได้ call ครับ

    นอกจาก มีภัยพิบัติ หรือ ภัยธรรมชาติ แรงๆ แก่คงต้องขายหุ้นเพราะเอาไปจ่าย ประกัน ที่ลูกค้าทำประกันไว้

    ถ้าผิดขอโทษด้วยครับ

  7. เพราะอะไรพี่ถึงเลือกปีเตอร์ลินซ์เป็นแนวการลงทุนครับ แต่ไม่ใช้ buffet

  8. ผมว่าถ้าปีเตอร์ ลินซ์ไม่ติดข้อกำหนดของกลต.ว่ากองทุนถือหุ้นตัวนึงได้ไม่เกิน 5% ผลตอบแทนทบต้นของเค้าคงจะเยอะกว่านี้มากๆ เลยนะครับ

    1. เอ คุ้นๆที่เคยอ่าน One Up On Wall St. ลินซ์เค้าเทียบว่ากองทุนเค้าไม่ติดกฎบังคับเหมือนกองทุนทั่วไปไม่ใช่เหรอคับ ถึงทำผลงานได้เด่นกว่า คล้ายเป็นกองทุนส่วนตัว ซื้อหุ้นเล็กๆที่ mkt cap ต่ำๆได้และไม่จำกัดอีกด้วย หรือผมเข้าใจผิดไป

  9. อย่าขาดทุนน่าจะหมายถึง ให้เน้นป้องกันเงินต้น/ทุนไม่ให้ลดค่า มากกว่า …นักลงทุนส่วนมากจะมองที่ผลตอบแทนก่อน แต่จริงๆแล้วก่อนจะซื้อ ต้องมองโอกาสการขาดทุนก่อน และถ้าเราปกป้องทุนเป็นอย่างดีแล้ว ผลตอบแทนจะตามมาเอง / คงไม่ใช่ให้รีบ คัทลอสแน่ๆ เพราะถ้ารีบคัทลอส ถึงแต่ละครั้งจะขาดทุนน้อยก็จริง แต่รีบคัทบ่อยๆสะสม ทุนมันก็หายได้เหมือนกัน ^^

  10. ขอความเห็นเกี่ยวกับหนังสือ buffettology 1และ 2 ด้วยครับ

    1. อ่านไค้ครับ

      (บัฟเฟตเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาค่อนข้างโอเคกับหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับเขาเกือบทุกเล่ม แม้ว่าจะเขียนโดยไม่ได้ขออนุญาตเขาเลย คือ มีที่ผิดอยู่บ้างเป็นบางจุด แต่ส่วนใหญ่แล้วเขารับได้)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *