ในบรรดากูรูหุ้นทั้งหมด คนที่ผมนำคำแนะนำมาใช้ในเชิงปฏิบัติมากที่สุดน่าจะเป็น ปีเตอร์ ลินซ์ เพราะเป็นคำแนะนำที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรม ไม่ขึ้นกับการตีความมากนัก ทำให้ปฏิบัติได้ง่าย ที่สำคัญ ผมพบว่า มันค่อนข้างจะตรงกับบุคลิกของผมด้วย ทำให้ผมมองเห็นความเป็นเหตุเป็นผลของมันได้ง่ายกว่าวิธีของกูรูคนอื่น
หนังสือสองเล่มของปีเตอร์ ลินซ์ ได้แก่ One Up on Wall Street และ Beat the Street นั้น เป็นหนังสือที่ผมนำมาอ่านซ้ำอยู่เรื่อยๆ เพราะทุกครั้งที่นำอ่านใหม่ ก็จะพบข้อคิดใหม่ๆ ที่เราอ่านไม่เจอในครั้งก่อนๆ เพราะเรายังไม่เคยเจอประสบการณ์คล้ายๆ อย่างนั้นมา ทำให้เรายังไม่เข้าใจมันจริงๆ หนังสือสองเล่มนี้จึงเป็นหนังสือที่ผมแนะนำให้นักลงทุนควรนำกลับมาอ่านซ้ำๆ เป็นระยะๆ เมื่อประสบการณ์ด้านการลงทุนของเรามากขึ้นครับ
ลักษณะเฉพาะของคำแนะนำของปีเตอร์ ลินซ์อีกอย่างหนึ่งก็คือ เคล็ดลับการลงทุนหลายๆ อันของเขาเป็นวิธีที่ง่ายอย่างเหลือเชื่อ คือฟังดูง่ายเกินไปจนไม่น่าจะเป็นเคล็ดลับได้ ด้วยเหตุนี้ เวลาเราอ่านหนังสือของลินซ์ บางทีเราจะอ่านข้ามเคล็ดลับไปเลยโดยไม่รู้ตัว เพราะไม่คิคว่ามันสำคัญ แต่จริงๆ แล้ว กาลเวลาได้พิสูจน์ให้ผมเห็นว่า คำแนะนำของปีเตอร์ ลินซ์นั้นเกิดจากการที่เขาได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะมากจริงๆ จนมองเห็นตลาดหุ้นต่างจากคนทั่วไปที่เพิ่งเข้ามาในตลาด ไม่ใช่คำแนะนำที่เป็นเพียงแค่การสาธยายธรรมดาๆ แต่เป็นเคล็ดลับที่มีค่ามาก
ในบทความนี้ ผมขอประมวลแนวคิดสำคัญๆ ของลินซ์ที่อาจฟังดูง่ายเกินไปจนเราอ่านผ่าน มาย้ำให้ได้ครุ่นคิดถีงความหมายของมันให้มากขึ้นนะครับ
คำแนะนำข้อแรกสุดของลินซ์ และถือว่าเป็นคำสอนข้อที่สำคัญที่สุดของลินซ์ด้วยคือ ให้เลิกซื้อหุ้นตามผู้เชี่ยวชาญ ถ้าใครไม่ทำตามคำแนะนำข้อนี้ ถือว่ายังไม่ใช่ศิษย์ของลินซ์เลยทีเดียว
คำแนะนำนี้เป็นสิ่งที่ลินซ์เน้นย้ำหลายครั้งมาก แต่ในเวลาเดียวกันก็อาจเป็นคำแนะนำที่มีคนอ่านแล้วเชื่อตามน้อยที่สุดด้วย เพราะโดยสามัญสำนึกของคนทั่วไปนั้น เรื่องอะไรก็ตามที่เราไม่ค่อยรู้เรื่อง เรามักพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญซึ่งเก่งกว่า แต่ลินซ์บอกว่า ตลาดหุ้นนั้นไม่เหมือนเรื่องอื่นๆ ในชีวิต เพราะต่อให้เป็นผู้เชีี่ยวชาญตลาดหุ้นก็ไม่ได้แปลว่าจะเลือกหุ้นได้เก่งกว่าคนทั่วไปมากนัก คือ ผู้เชี่ยวชาญอาจเลือกหุ้นถูกต้องได้มากกว่าเราแต่ว่าไม่มากนัก
ในทางกลับกัน การซื้อหุ้นตามผู้เชี่ยวชาญมีข้อเสียหลายอย่าง หนึ่งคือ ผู้เชี่ยวชาญอาจจะคิดผิด ซึ่งเป็นเรื่องปกติอย่างยิ่ง และสอง เขาอาจจะเปลี่ยนใจขายหุ้นไปตอนไหนก็ได้ แต่เราจะไม่มีวันรู้จนกว่าเขาจะขายไปหมดแล้ว (แถมตอนที่ซื้อ ต้นทุนที่เขาซื้อก็ต่ำกว่าเราด้วย ที่ราคาเดียวกัน เราอาจขาดทุน แต่เขายังมีกำไรอยู่)
ลินซ์มองว่า หนทางที่ดีกว่าคือ พยายามเลือกหุ้นด้วยตัวเอง เพราะแม้ว่าเราอาจจะคิดถูกหรือผิด (ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็อาจจะคิดถูกหรือคิดผิดเช่นเดียวกัน) แต่เราจะรู้ว่าหุ้นที่เราซื้อ น่าซื้อ เพราะอะไร เวลาที่ราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงไป เราจะตัดสินใจได้ว่า ควรจะถือต่อ หรือขายดี แต่ถ้าเราลอกหุ้นคนอื่นมา เราจะมืดแปดด้านทุกครั้ง ทุกครั้งที่ราคาหุ้นผันผวน เพราะเราไม่รู้ว่าหุ้นตัวนั้นน่าซื้อเพราะอะไรตั้งแต่แรก
ในทัศนะของลินซ์นั้น การเลือกหุ้นให้ถูกตัวเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนดี แต่ไม่จำเป็นต้องเลือกหุ้นถูกแทบทุกครั้งถึงจะประสบความสำเร็จ ตัวเขาเองนั้นก็เลือกหุ้นผิดบ่อยเหมือนกัน ถ้าหากนับให้ครบทุกๆ กรณีที่เลือก เขากล่าวว่า ขอให้คุณเลือกหุ้นถูก 6 ใน 10 ครั้ง ก็มากพอที่จะประสบความสำเร็จได้แล้ว ซึ่งเป็นระดับที่คนทั่วไปที่ไม่ได้โง่มากนักสามารถทำได้ทุกคน ที่เหลือเป็นเรื่องของบุคลิกและจิตใจมากกว่า
โดยประสบการณ์ส่วนตัว ผมก็เห็นตรงกันว่า คนที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนมักเป็นคนที่สามารถเลือกหุ้นที่จะซื้อได้ด้วยตนเอง แม้ว่าจะถูกบ้างผิดบ้างก็ตาม คนที่เล่นหุ้นด้วยหูนั้น ผมเห็นเจ๊งมาเยอะมาก ๆ
แต่ก็อย่างว่าแหละครับ มันเป็นคำแนะนำที่ขัดกับสามัญสำนึกของเรา เพราะเราเปรียบเทียบตลาดหุ้นกับเรื่องอื่นๆ ในชีวิต แต่บอกได้เลยว่า ถ้าใครเชื่อคำแนะนำนี้ของลินซ์ คุณจะหลุดออกจากทัศนคติแบบหวังรวยแบบลมๆ แล้งๆ และมีโอกาสเป็นหนึ่งในคนที่ประสบความสำเร็จแน่ครับ
คำสอนถัดมาของลินซ์ที่สำคัญเป็นเรื่องของการปรับทัศนคติที่มีต่อตลาดหุ้นให้ตรงกับความเป็นจริง คือ คนส่วนใหญ่มักมองตลาดหุ้นในแง่ร้าย ทำให้หมดตัวบ้างล่ะ เป็นการพนันบ้างล่ะ แต่ที่จริงแล้ว ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนเป็นบวกมากกว่าลบโดยเฉลี่ย ดังนั้นนักลงทุนรายย่อยทุกคนควรพยายามฝืนสามัญสำนึกอันนี้ของตัวเองให้ได้ ลินซ์บอกว่า คนที่ได้ผลตอบแทนดีในตลาดหุ้นมักได้แก่ คนที่มีมุมมองต่อตลาดหุ้นในแง่บวก กล่าวคือ เชื่อว่าตลาดหุ้นจะให้กำไรแก่เขามากกว่าขาดทุน ตัวของลินซ์เองก็เป็นคนที่มักเห็นว่าหุ้นส่วนใหญ่ในตลาดน่าลงทุนอยู่แทบตลอดเวลา เราต้องพยายามหันมามองตลาดหุ้นในแง่บวกให้ได้
คำแนะนำถัดมาของลินซ์ที่น่าสนใจคือ ลินซ์บอกว่าคนที่จะเล่นหุ้นเก่งต้องมีบุคลิกที่เหมาะกับตลาดหุ้นด้วย เรื่องของไอคิวนั้นไม่สำคัญมากเท่ากับบุคลิก ลินซ์บอกว่าขอแค่คุณไม่โง่ขนาดอยู่ใน 10% ล่างสุดของประชากรก็พอแล้ว ในทางตรงกันข้าม คนที่ฉลาดในระดับ 3% แรกของประชากรนั้นกลับไม่ใช่คนที่จะเล่นหุ้นได้ดี คนที่เหมาะกับตลาดหุ้นคือพวกที่อยู่ตรงกลางนี่แหละ
หนึ่งในบุคลิกที่ลินซ์มองว่าจำเป็นต่อการเล่นหุ้น คือ ความสามารถในการตัดสินใจท่ามกลางข้อมูลที่ยังไม่ครบถ้วน เนื่องจาก ในตลาดหุ้นนั้น ถ้าคุณรอให้ทุกอย่างชัดเจนหมดแล้ว (จนไม่มีความเสี่ยงใดๆ เหลืออยู่ แล้วค่อยเข้าลงทุน) ก็มักจะช้าไปแล้ว คุณจึงต้องเป็นคนที่กล้าเชื่อว่าหุ้นตัวนั้นตัวนี้ดี ตั้งแต่ตอนที่ภาพนั้นของมันยังไม่ชัดเจน คนที่รอจนทุกอย่างดูดีหมดแล้วค่อยกล้าลงทุนจะขาดทุนเพราะซื้อเกินราคาเสมอ
บุคลิกอันต่อไปที่จำเป็นคือ คุณต้องกล้าเชื่อว่าตัวเองไม่ได้มี sense เพราะคนที่คิดว่าตัวเองมี sense มากกว่าคนทั่วไปในตลาดจะชอบเดิมพันกับ sense ของตัวเองว่าหุ้นจะขึ้นหรือลงอยู่เสมอ แทนที่จะพึ่งพาข้อมูลและการใช้เหตุและผล และเมื่อราคาหุ้นเป็นตรงข้ามกับ sense ก็จะไม่เข็ด และจะเดิมพันอีกในครั้งหน้า และก็จะผิดอีกซ้้ำแล้วซ้ำเล่าด้วย มีคนมากมายที่เป็นแบบนี้แบบชั่วนาตาปี เพราะไม่ยอมรับความจริง ลินซ์สอนว่า อย่าพยายามทำกำไรจากตลาดหุ้นโดยอาศัยการทำนายทิศทางของตลาด เพราะว่าคุณจะผิดเสมอ
ลินซ์บอกว่า มนุษย์คงมีอะไรบางอย่างในตัวที่ทำให้เก็งตลาดผิดทางเสมอ คนที่ปล่อยให้อะไรบางอย่างนี้มาคอยกำหนดการซื้อขายหุ้นของตัวเองจะล้มเหลวในตลาดหุ้น กล่าวคือ ทุกครั้งที่ตลาดเพิ่ง crash ความกลัวของพวกเขาจะพุ่งขึ้นถึงระดับสูงสุด และคิดว่าตลาดจะต้อง crash อีก ทั้งที่มันเพิ่ง crash ไปหยกๆ ทำให้พลาดโอกาสที่จะซื้อหุ้นในช่วงเวลาที่ดีที่สุด พอหุ้นขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะสถานการณ์ดีขึ้นเป็นลำดับ คราวนี้พวกเขาจะเปลี่ยนมากล้าเข้าเอาตอนที่ตลาดหุ้นแพงเพราะทุกอย่างดูดีที่สุด แล้วพวกเขาจะดีใจเพราะคิดว่าตัวเองคิดถูก เพราะเห็นราคาหุ้นที่ขึ้นต่อไป (ไม่ใช่เพราะปััจจัยพื้นฐานหรือต้นทุน) ทั้งที่ตอนที่หุ้นแพงแล้วแต่ว่าขึ้นต่อ ควรเป็นเวลาที่เราหันมาสำรวจปัจจัยพื้นฐานให้ดีๆ แต่กลับเป็นเวลาที่คนเหล่านี้จะเลิกสนใจปัจจัยพื้นฐานไปเลย แล้วบอกว่า หุ้นขึ้นไม่เกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐาน จะกระทั้งเมื่อฟองสบู่แตกอีกครั้ง พวกเขาก็จะออกไม่ทัน เพราะเลิกมองพื้นฐานไปนานแล้ว ตลาดหุ้นที่ crash ลงมาจะทำให้เขารู้สึกหดหู่ และยอมขายขาดทุนมหาศาลออกมา แล้ววัฏจักรเข่นนี้จะเริ่มต้นใหม่อีก ครั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้พวกเขาคือพวกขาดทุนในตลาดหุ้น ตลอดกาล
จงอย่าเป็นคนจำพวกนี้เป็นอันขาด
บุคลิกถัดมาที่ลินซ์บอกว่าอันตรายคือ พวกที่ชอบเรียกตัวเองว่า “long-term investor” แต่พอหุ้นที่ซื้อไปแล้วขึ้นมาได้แค่นิดหน่อย ก็ทนไม่ไหวแปลงร่างเป็นนักลงทุนระยะสั้น รีบขายทำกำไรออกมาทันที หรือในทางตรงกันข้ามพอเจอกับภาวะตลาดหุ้นที่ผันผวนหนัก รีบขายหนีออกมา ทั้งที่ตั้งใจจะลงทุนระยะยาว ลินซ์บอกว่า ตลาดหุ้นนั้นเต็มไปด้วยความผันผวนตลอดเวลา แต่ไม่ได้แปลว่ามันไม่ดี หากชินกับความผันผวนไม่ได้ ก็เป็นนักลงทุนระยะยาวตัวจริงไม่ได้
บุคลิกที่อันตรายแบบสุดท้ายคือ พวกที่บอกว่าตัวเองเป็น contrarian และเชื่อว่าตัวเองจะทำขึ้นขายลงซื้อไปกับความซิกแซกของดัชนีได้ง่าย เพราะคนอื่นคิดตามไม่ได้ ลินซ์บอกว่า ปัจจุบัน contrarian กลายเป็นแนวคิดทั่วไปที่ใครๆ ในตลาดก็คิดได้หมดแล้ว มันจึงไม่ง่ายที่จะทำแบบนั้นแล้วสำเร็จ คนที่เป็น contrarian จริงๆ นั้นไม่ได้ซื้อหุ้นเพราะว่าหุ้นลง แต่เป็นพวกที่อดทนรอคอยให้หุ้นที่มีประเด็นร้ายๆ หายฝุ่นตลบเสียก่อน จนทุกคนในตลาดเลิกสนใจกับหุ้นตัวนั้นไปแล้วโดยสิ้นเชิง จึงค่อยเข้าไปเก็บได้ในราคาที่ถูกจริงๆ เพราะว่าคนอื่นๆ เบื่อหุ้นตัวนั้นกันหมดแล้ว
แค่ไม่เป็นคนแบบที่ลินซ์ว่ามาก็ช่วยเพิ่มผลตอบแทนได้เยอะมากแล้ว ไว้มาต่อกันตอนหน้าว่าวิธีเลือกหุ้น ซื้อและขายหุ้น ตามแนวลินซ์ทำอย่างไรบ้าง
ขอบคุณครับ
ผมเห็นด้วยครับกับการอ่านหนังสือของลินซ์หลายๆรอบ เพราะประสบกับตัวเองครับว่า อ่านหนึ่งรอบก็ได้ความรู้ ความเข้าใจเพื่มขึ้นอีกหนึ่งอย่าง
และการอ่านหนังสือของลินซ์สามารถเป็นแรงบันดาลใจ เป็นกำลังใจให้กับเราทั่วๆไป ว่า เราก็สามารถเป็นนักลงทุนที่ลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนที่ดีพอควรได้ครับ
ครับ
ขอบคุณมากครับ 😀
ยอดเยี่ยมครับ
article นี้ท่านแม่ทัพสร้างนิยามแซวแนวทางการลงทุนแบบใหม่… “ลงทุนด้วยหู” hahah ขำขำ
ขอบคุณคร้าบบบ
อยากให้ท่านแม่ทัพช่วยอธิบายวลีที่ว่า
เด็ดดอกไม้ รอน้ำวัชพืช หน่อยนะครับ
ขอบคุณครับ
หนังสือการลงทุนเล่มแรกที่ผมอ่านก็คือ one up on wall street นี่แหละครับ ไม่น่าเชื่อว่าผู้จัดการกองทุนจะเขียนหนังสือได้สนุกขนาดนี้ (โดยเฉพาะหนังสือเกี่ยวกับการลงทุน)
วันนี้ครบ 1 ปีที่ได้ติดตาม blog ของพี่โจ๊กค่ะ จำได้ว่าปีที่แล้วอาศัยช่วงที่คนอื่นไปเที่ยวสงกรานต์ไล่อ่าน 7th จนหมด ขอบคุณพี่โจ๊กสำหรับแนวคิดและบทความดีๆ Peter Lynce กับพี่โจ๊ก ก็เป็นแนวคิดสำคัญในการลงทุนค่ะ ขอเป็นกำลังใจและจะติดตามผลงานอย่างสม่ำเสมอค่ะ
ขอบคุณมากครับ คุณโจ๊กอ่านเล่มภาษาอังกฤษหรือเล่มแปลครับ?
ขอบคุณมากครับ ติดตามอ่านตลอดเลยครับได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ เสมอ
พึ่งอ่าน One Up On Wall Street ตอนหยุดสงกรานต์ รู้สึกชอบแนวความคิดเค้ามากเลย
ชอบครับเขียนอีกๆ
คือผมสงสัยว่าการที่ผมซื้อ หุ้น ตาม 7thlg
นี่ถือเป็นการซื้อหุ้นตามผู้เชี่ยวชาญ ตามข้อที่ 1 ของ ลินซ์หรือป่าวครับ
พอดีเพิ่งเข้าตลาดหุ้นได้ไม่นานเลยคิดว่ายังไม่เหมาะที่จะเลือกหุ้นเองได้
แล้วหุ้นใน 7thlg ก็ดูแล้วเป็นตัวที่คิดว่าค่อนข้างสบายใจในการลงทุนระดับนึง
หรือว่าการลงทุนแบบ 7thlg นี่ยกเว้นได้ครับเพราะเป็นการซื้อเฉลี่ย
คำว่า เลือกหุ้นตามผู้เชี่ยวชาญ หมายถึง ซื้อหุ้น XYZ เพราะว่าผู้เชี่ยวชาญบอกว่า XYZ น่าซื้อ โดยที่จริงๆ แล้วตัวเองก็ไม่รู้ว่าน่าซื้อเพราะอะไร รู้แต่ว่าผู้เชี่ยวชาญคนนี้ดูดี ดูน่าเชื่อถือ ดูทรงภูมิ ฯลฯ
หรือบางทีก็รู้ว่า XYZ น่าซื้อเพราะอะไร แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ได้ซื้อเพราะเหตุผลนั้น ๆมากไปกว่า เป็นเพราะหุ้นตัวนั้นผู้เชี่ยวชาญคนนั้นๆ ชอบ
แต่คำๆ นี้จะไม่ได้หมายรวมถึง การเอาวิธีการลงทุน หรือข้อคิด หรือหลักการ ของผู้เชี่ยวชาญมาใช้แล้วไปเลือกหุ้นลงทุนเอาเอง
ถ้าเอาวิธี 7thLTG ไปใช้ ก็ไม่ใช่การซื้อหุ้นตามผู้เชี่ยวชาญในความหมายของลินซ์ แต่ถ้าใช้วิธี 7thLTG แล้วใช้หุ้นชุดเดียวกันด้วย อันนี้ที่จริงแล้วก็เข้าข่ายครับ
ปกติคนลอกหุ้นตามผู้เชีี่ยวชาญจะชอบลอกเป็นตัวๆ ถ้าลอกหุ้น 7thLTG แค่ตัวใดตัวหนึ่งแค่ตัวเดียว แล้วเอาไปลงทุนแบบ active เอาเอง อันนี้คือใช่เต็มๆ เลยครับ เพราะไม่ลอกวิธีการ แต่ลอกที่ตัวหุ้น ผิดหลักของลินซ์ตรงๆ
ขอบคุณครับ เข้าใจมากขึ้นเยอะเลยครับ
ขอบคุณครับท่านแม่ทัพ รออ่านทุกๆตอนเลยครับ^_^
โดนหลายข้ออยู่เหมือนกัน ขอบคุณมากครับพี่
ผมอ่าน one up 3 รอบ beat the street 2 รอบและ learn to earn 1 รอบ ต้องบอกว่าเหมือนที่คุณสุมาอี้กล่าวไว้ครับ คือเมื่อประสบการณ์การลงทุนสูงขึ้น เราจะเข้าใจสิ่งที่ Lynch กล่าวได้ดีขึ้นเพราะ Lynch เป็น practitioner นั่นเอง ทุกอย่างที่เขียนคือประสบการณ์จริง
Lynch เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่เชื่อเรื่อง EMT ขนาดกล่าวไว้ว่ารู้สึกไม่ค่อยได้อะไรกับการมาเรียน Wharton นอกจากได้เจอภรรยา หรือ imply ได้ว่า นลทฺมือสมัครเล่นที่ไม่ได้จบ MBA ที่ขยัน มีความมุ่งมั่นก็สามารถประสบความสำเร็จได้
ขอบคุณสำหรับบทความครับ ^^
อยากอ่านบทความที่ Peter Lynch เขียนใน Worth magazine ครับ
พี่พอจะทราบไหมครับหาอ่านได้จากที่ไหนครับ มีใครรวบรวมไว้บ้างหรือเปล่า
อันนี้ไม่มีข้อมูลเลย
Found this good summarized on his quote > http://pages.stern.nyu.edu/~adamodar/New_Home_Page/articles/Lynchgrowthstocks.htm
ยังชอบประโยคที่ Lynch ในหนังสือ One up ว่า “avoid a hot stock in a hot industry” 🙂
ยังชอบที่ Lynch แซวว่า ยอมรับว่า ดัชนีตลาดมีความสัมมพันธ์กับวัฎจักรเศรษกิจ แต่นักเศรษศาสตร์ระดับโลกก็ยังไม่สามารถรวยจากความสัมพันธ์นี้ แต่ยังนั่งทำนายเศรษกิจมาหลายสิบปี กินเงินเดือนต่อไป 🙂
อ่านจบแล้วต้องไปชั้นหนังสือ หยิบมาอ่านใหม่อีกรอบ
Guru ท่านนี้เป็นเบอร์หนึ่งในใจผมเลยครับ
มาอ่านดูอีกที หลายๆข้อเขียน เขียนมาเกือบ 20ปีแล้ว
แต่ยังใช้ได้ดีอยู่เสมอ
ขอบคุณพี่โจ๊กที่เขียนบทความดีๆอีกครั้งนะครับ ^^