นั่งทำสรุปเรื่อง ทีวีดิจิตอล ทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี เลยนำมาฝากกัน ขอออกตัวก่อนว่า ทีวีเป็นเรื่องที่ผมไม่ค่อยถนัดนะครับ ผมทำสรุปในฐานะนักลงทุนที่นั่งทำการบ้านเองคนหนึ่งเท่านั้น หากเห็นต่างจากผมอย่างไร ก็แชร์กันได้ ขอเริ่มต้นจากทีวีดิจิตอลก่อน
ว่ากันว่า ทีวีดิจิตอลจะมาแทนที่ฟรีทีวีเลยทีเดียว เนื่องจากมันใช้ infrastructure เดียวกันแทบทุกอย่าง แต่ดิจิตอลภาพคมชัดกว่า และทำให้มีจำนวนช่องได้มากกว่าด้วย เลยทำให้ต้องมีการนำคลื่นเก่าที่ใช้ส่งฟรีทีวีมาใช้ส่งทีวีดิจิตอลแทน ช่องฟรีทีวีจึงต้องค่อยๆ หายไปโดยปริยาย
ในเมื่อมันใช้ infrastructure เดิมแทบทั้งหมด มันจึงเข้าถึงคนทั้งประเทศได้ง่ายพอๆ กับฟรีทีวีในเวลานี้เลยทีเดียว ในอนาคตมันจึงน่าจะกลายเป็นสื่อที่ใหญ่ที่สุด (ได้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุด) แทนที่ฟรีทีวีในเวลานี้ แต่ปรากฎการณ์นี่จะไม่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน แต่จะค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป จนกว่าทุกบ้านจะดูทีวีดิจิตอลได้ในที่สุด
แต่ก็มีบางคนวิเคราะห์แย้งว่า ของจริงอาจจะไม่เป็นอย่างที่คิดกันก็ได้ เพราะปัจจุบันเหลือครัวเรือนไทยใช้เสาก้างปลารับฟรีทีวีแค่เพียง 35% เท่านั้น ส่วนใหญ่ใช้จานของทีวีดาวเทียมรับฟรีทีวีกันหมดแล้ว ทีวีดิจิตอลในประเทศไทยจึงอาจไม่ได้มีฐานผู้ชมใหญ่กว่าทีวีดาวเทียมมากนัก เพราะในเมื่อมันใช้จานแบบเดียวกัน ครัวเรือนส่วนใหญ่ก็คงดูได้ทั้งสองอย่าง ทีวีดิจิตอลอาจไม่ยิ่งใหญ่ขนาดฟรีทีวีในเวลานี้ก็ได้ แค่ดีกว่าทีวีดาวเทียมนิดหน่อย เพราะทีวีดาวเทียมเองทุกวันนี้ก็ดูฟรีและโฆษณาได้แล้วเหมือนๆ กัน
เครื่องรับทีวีในปัจจุบันจะรับช่องดิจิตอลได้ต้องซื้อกล่องแปลงสัญญาณมาติดตั้งด้วย นี่คืออุปสรรคตัวสำคัญที่สุดของทีวีดิจิตอล ซึ่ง SAMART น่าจะเป็นหุ้นตัวหนึ่งที่ทำกล่องนี้ออกมาขาย (market size 22 ล้านกล่อง) แต่คงต้องขายไม่แพง ไม่งั้นชาวบ้านก็ซื้อทีวีรุ่นใหม่ที่รับสัญญาณดิจิตอลไปเลยมิดีกว่าหรือ แถมยังเป็นเทคโนโลยีง่ายๆ คู่แข่งน่าจะมีเยอะ ซึ่งในที่สุดแล้ว ทีวีรุ่นใหม่ๆ ก็คงรับสัญญาณดิจิตอลได้ด้วยตัวเองทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องมีกล่องอีกต่อไป แต่ต้องรออีกเป็นสิบปีกว่าที่ทุกครัวเรือนจะซื้อทีวีเครื่องใหม่ ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้จึงเป็นโอกาสของคนขายกล่อง แต่ กสทช.ก็มีแนวคิดเหมือนกันว่าอาจจะซื้อกล่องแจกชาวบ้านฟรีๆ ไปเลย เพื่อเร่งให้คนย้ายมาดูช่องดิจิตอลให้เร็วยิ่งขึ้น
ในแง่ของโครงข่ายส่งสัญญาณ ไม่น่าจะมีใครลงทุนใหม่กัน เพราะเป็นเงินลงทุนที่สูงมากๆ ดังนั้น ช่องดิจิตอลทุกช่องน่าจะมาเช่าโครงข่ายกับบรรดาช่องฟรีทีวีปัจจุบันที่มีโครงข่ายทั่วประเทศอยู่แล้ว เพียงแค่อัพเกรดให้ส่งสัญญาณดิจิตอลได้เท่านั้น ไม่ต้องลงทุนใหม่ทั้งหมด ดังนั้นเจ้าของช่องฟรีทีวีเดิมน่าจะเป็นผู้ที่เข้าประมูลสิทธิในการเป็นผู้ให้บริการโครงข่าย และบรรดาช่องดิจิตอลก็มาเช่าใช้โครงข่ายกระจายสัญญาณจากฟรีทีวีเหล่านี้อีกที
แต่ส่วนที่ฟรีทีวีจะแย่ก็คือ ส่วนธุรกิจช่องรายการ (Channel Management) ในปัจจุบัน เนื่องจากผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น เนื่องจากจำนวนช่องเยอะขึ้นมาก แถมยังส่งด้วยโครงข่ายเดียวกันอีก ทำให้เม็ดเงินโฆษณาที่เคยได้กันเต็มๆ อยู่แค่ 3-4 ช่อง ต้องถูกกระจายไปยังช่องดิจิตอลจำนวนมาก นั่นทำให้ฟรีทีวีทุกช่องต้องรีบกระโดดเข้ามาเล่นทีวีดิจิตอลด้วย แต่ก็คงแย่งเค้กกลับมาได้แค่บางส่วน เพราะตัวแบ่งที่มากขึ้น ด้วยเหตุนี้เราจะเห็น ช่องฟรีทีวีอย่าง BEC (ช่อง 3) เริ่มหาธุรกิจอื่น เช่น อสังหาฯ เข้ามาทดแทนธุรกิจหลักที่จะเล็กลงแล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกๆ ฟรีทีวีก็คงยังได้เปรียบอยู่เยอะ เพราะช่วงแรกช่องดิจิตอลคงยังไม่ค่อยพร้อม รายการก็ยังไม่มีคุณภาพมากพอ กว่าจะเพิ่มฐานคนดูให้เท่ากับฟรีทีวี ก็คงมีเวลาอีกหลายปี
การประมูลช่องทีวีดิจิตอลน่าจะเกิดขึ้นช่วงปลายปี 56 นี้ โดยมี ช่องข่าว 5 ช่อง ทั่วไป 10 ช่อง HD 4 ช่อง และช่องเด็ก 5 ช่อง ที่เหลืออีก 10 ช่องเป็นทีวีสาธารณะและชุมชน (ขายโฆษณาไม่ได้) กลุ่มทุนที่แสดงตัวว่าสนใจเข้าประมูลในเวลานี้ได้แก่ ฟรีทีวีช่องเดิมๆ (BEC, MCOT), INTUCH, เนชั่น (NBC), GRAMMY, RS, Spring news (SLC) โดยแต่ละรายจะชนะการประมูลได้ไม่เกิน 2-3 ช่องเท่านั้น ช่องที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดน่าจะได้แก่ ช่องข่าว และช่องทั่วไป ส่วน ช่องเด็กนั้น ขายโฆษณาได้น้อย และช่อง HD ก็มีต้นทุนในการส่งสัญญาณสูง
การเป็นเจ้าของสถานีต้องใช้เงินลงทุนสูง ทั้งค่าสัมปทาน (ยังไม่สรุปว่าเริ่มต้นที่เท่าไร) ค่าเช่าโครงข่าย และค่าผลิตรายการ ถ้าเป็นพวกฟรีทีวีเดิม ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะทุนหนาอยู่แล้ว อีกรายที่น่าจะทุนหนาคือ INTUCH พวกนี้น่าจะได้ช่องไปส่วนหนึ่ง โดย INTUCH นั้นมีนโยบายประมูลช่องมาเพื่อบริหารอย่างเดียว ไม่เน้นการผลิตรายการเอง เป็นการนำเวลาออกอากาศไปแบ่งขายเสียมากกว่า
ส่วนรายอื่นๆ นั้นก็เป็นข้อกังขาเหมือนกันว่าจะมีทุนเพียงพอหรือไม่ RS และ GRAMMY เองนั้นต่างก็บอกว่าสนใจ พวกนี้อาจมีข้อดีตรงที่เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์อยู่แล้ว การได้ช่องออกอากาศด้วยอาจช่วยส่งเสริมธุรกิจเดิมที่ทำอยู่ แต่ในแง่เงินทุนนั้นยังไม่เห็นแผนการเงินที่ชัดเจน ด้านเนชั่นมีแนวคิดจะจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อระดมทุนจากตลาดหุ้นเป็นหลักและบริษัทในเครือทั้งหมดเข้าถึอหุ้นรวมกันแค่ 20% เท่านั้น เพราะเงินทุนมีจำกัด ส่วน SLC ก็จำเป็นต้องหาผู้ร่วมทุนมิฉะนั้นคงมีเงินทุนไม่เพียงพอ ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไปว่าแผนการหาทุนของบริษัทเหล่านี้จะทำได้จริงแค่ไหน อย่าคิดว่าประมูลคลื่นได้แล้วจะกำไรเสมอไปหากคุณยังไม่ลืมช่อง iTV ที่เคยขาดทุนบักโกรกมาแล้ว
ด้าน WORK นั้นออกตัวชัดเจนเลยว่า ไม่พร้อมเข้าประมูล จะเน้นผลิตคอนเทนต์ป้อนช่องเหล่านี้ของคนอื่นดีกว่า ซึ่งก็อาจเป็นการตัดสินใจที่ฉลาดกว่าก็ได้ เพราะไม่ต้องเสี่ยงลงทุนเยอะ ในขณะที่ช่องทีวีที่เพิ่มขึ้นมากมายย่อมรุมกันจีบผู้ผลิตคอนเทนท์ที่เป็นที่ยอมรับอยู่แล้วอย่าง WORK เพื่อให้ผลิตรายการให้ WORK เน้นผลิตคอนเทนต์อย่างเดิมซึ่งเป็นงานที่ถนัดน่าจะดีกว่า
อีกบริษัทหนึ่งที่น่าจะได้ประโยชน์จากการเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอลคือ THCOM เพราะช่องทีวีดิจิตอลย่อมอยากได้ครัวเรือนที่มีจานดาวเทียมเป็นลูกค้า ทำให้ต้องเช่าช่องสัญญาณจากดาวเทียมด้วยเช่นกัน การที่มีช่องทีวีเพิ่มขึ้นก็น่าจะทำให้ THCOM ได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นมาโดยปริยาย ไม่ว่าใครจะชนะการประมูลก็ตาม
อันที่จริงโดยความเห็นส่วนตัว ผมกลับเชื่อว่า ที่สุดแล้วอินเตอร์เน็ตจะกลายเป็นช่องทางที่คนใช้ดูทีวีมากที่สุดในอนาคต เนื่องจากทุกคนต้องเข้าถึงอินเตอร์เน็ตด้วยเหตุผลอย่างอื่นกันอยู่แล้ว ถ้าจะดูทีวีผ่าน IP Network ด้วย ก็ไม่มีต้นทุนเพิ่มมากนัก แถมเจ้าของช่องยังมีต้นทุนในการส่งสัญญาณผ่าน IP Network ต่ำที่สุดอีกด้วย (ถูกกว่าดาวเทียมหรือเสาส่งมากๆ) ฉะนั้น IP Network จึงมีศักยภาพสูงมาก เพียงแต่ตอนนี้อาจจะยังไม่ถึงเวลา เพราะยังไม่ถึงยุคที่ทุกบ้านต้องมีบรอดแบรนด์ใช้ (หรืออาจเป็น 4G) และยังต้องมีการออกแบบ device สำหรับทีวีผ่านเน็ตได้ใช้งานง่ายกว่านี้ (แบบกดปุ่มเดียวดูได้เลยเหมือนเครื่องรับโทรทัศน์ในปัจจุบัน) เมื่อถึงเวลานั้น ทีวีดิจิตอลและทีวีดาวเทียมอาจสูญพันธ์ไปเลยก็ได้ แต่คิดว่าคงยังไม่ใช่เร็วๆหรอกครับ
ในญี่ปุ่นนี่เปลี่ยนเป็นทีวีดิจิตอลมาได้สักพักแล้วครับ แต่ที่นี่ส่วนใหญ่เครื่องโทรทัศน์รองรับระบบดิจิตอลอยู่แล้วจึงไม่ใช่ปัญหา
ประเด็นที่อยากแชร์คือเรื่องcontentครับ ปัจจุบันญี่ปุ่นมีช่องออกอากาศเยอะมากแถมแต่ละย่านก็ช่องไม่เหมือนกันด้วยครับ(Ex.โตเกียวกับโอซาก้าช่องต่างกัน) ดังนั้นแทบจะไม่มีloyaltyสำหรับทีวีที่นี่ แบบว่าจะให้เปิดช่อง3ทิ้งไว้ตั้งแต่กลับบ้านเหมือนที่คนไทยหลายคนทำนี่บอกเลยว่าไม่มี ทำให้แต่ละช่องต้องคอยเปลี่ยนคอนเทนต์ใหม่ๆให้ตื่นเต้นตลอดเวลาเพื่อดึง eyeball โดยทั่วไปละครหลังข่าวที่นี่จะมีจำนวนตอนน้อยกว่าที่ไทยครับ รายการวาไรตี้ก็เปลี่ยนบ่อย ผมจึงเชื่อว่าช่องที่มากเกินไปสุดท้ายจะไม่ดีกับใครเลย(รวมทั้งคนดูด้วย)
อีกเรื่องที่เล่าให้ฟังขำๆนะครับ ที่นี่เวลาคนไปซื้อทีวีมักจะซื้อrecorderด้วย เพราะเนื่องจากชีวิตประจำวันยุ่งมาก กลับมาดูรายการโปรดไม่ทัน+จำนวนช่องเยอะมาก หลายครั้งอยากดูพร้อมกัน2ช่อง ก็จะใช้วิธีดูช่องหนึ่งอัดช่องหนึ่งแล้วมาดูย้อนหลังเพราะการอัพรายการขึ้นyoutubeไม่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น(เข้าใจว่าเจอกฎหมายลิขสิทธิ์ด้วย) ซึ่งต่างจากไทยที่เราดูผ่านยูทูปได้ตลอด
ส่วนตัวผมคิดว่าช่องที่มากเกินไป สุดท้ายหลายบริษัทที่ไม่ระวังคิดแต่ค่าโฆษณาจะได้เท่านั้นเท่านี้ อาจจะต้องม้วนเสื่อได้ครับ
ผมเห็นด้วยกับคุณ SAETHAVUTH ครับ
ที่บ้านผมส่วนใหญ่ก็ดูรายการย้อนหลังผ่านตัว recorder ตลอด
ส่วนเรื่องทีวีดิจิตอลที่ญี่ปุ่นผมเข้าใจว่า เปลี่ยนทั้งหมดทั่วประเทศช่วงปลายปี 2011 ครับ
ผมเคยศึกษาเกี่ยวกับบริษํท Yamada Denki ที่ทำค้าปลีกอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าของที่ญี่ปุ่น ยอดขายหลักล้านล้านเยน งบปีล่าสุดกำไรสุทธิลดลงเกือบ 50% จากปี 2011 เนื่องจากปัจจัุยเกี่ยวกับ ดิจิตอลทีวี แล้วก็ Eco-Point ของรัฐบาลญี่ปุ่นน่ะครับ คือช่วง 2010 2011 ก่อนหน้านี้ คนซื้อทีวีใหม่เยอะ เนื่องจากการปรับระบบจากอนาล๊อกมาเป็นดิจิตอลนี่น่ะครับ
P’kabu, what city do you live krub?
ขอบคุณความรู้ดีๆจากพี่โจ๊กครับ และขอบคุณ คุณ SAETHAVUTH และพี่ KABU ด้วยครับที่ช่วยแชร์ความรู้^_^
ชอบไปเที่ยวญี่ปุ่นมากครับไปได้ไม่มีเบื่อ โอซาก้านี่อาหารหลากหลายมากกินจนเหนื่อย
รีสอร์ทออนเซ็นฮาโกเน่ก็ปะทับใจมาก
ญี่ปุ่นนี่เรื่องวิศวกรรมยานยนต์ต้องเรียกว่า the lost decade เหมือนกันเนื่องจากทางยุโรปไปไกลกว่าแล้ว ตอนปลายปีไปโตเกียวก็ดูไม่เฮฮาเหมือนเดิมครับไฟก็เปิดน้อยลงไม่รู้คิดเองหรือปล่าว
เรื่องนิวเคลียร์นี่คงกลับมาใช้เหมือนเดิม ไม่งั้นจะเอาพลังงานจากไหน
ทีวีดิจิตัล ที่พูดถึงกัน คือ การส่ง-รับ ภาพและเสียงแบบดิจิตัล ผ่านคลื่นความถี่โดยเสา (digital terrestrial) ซึ่งเสาก้างปลาในปัจจุบัน รับส่ง แบบ analog ซึ่งระบบการับส่งทีวีบ้านเราได้เลือกใช้ในระบบ DVB (Digital Video Broadcasting) ดังนั้น ในภาคการส่งและภาคการรับ จะมีอยู่ 3 แบบ ในปัจจุบันและอนาคต
1. DVB-T2 (Digital Video Broadcasting- Terrestrail) ดิจิตัล เสา ( ปัจจุบันเป็น analog ซึีงกำลังจะเปลี่ยนเป็น ดิจิตัล)
2. DVB-S (Digital Video Broadcasting- Satellite) ดิจิตัล ดาวเทียม ( ปัจจุบันเป็น digital แล้ว) คือ จานสารพัดสีปัจจุบันนี่แหละ
3. DVB- C (Digital Video Broadcasting-Cable) ดิจิตัล เคเบิ้ล ( ปัจจุบันส่วนมากเป็น analog )
ภาครับ ทีวี ระบบ ดิจิตัล ต้องมีกล่อง Set Top Box เพื่อแปลงสัญญาณ แล้วต่อเข้าทีวีอีกครั้งหนึ้ง ไม่ว่าจะเป็นการส่งแบบ terrestrial (เสา), satellite(ดาวเทียม), cable (เคเบิ้ล) การดูเป็นจุดต่อจุด
กสทช.ได้เลือกเทคโนโลยีแล้ว ว่าจะเป็น DVB-T2 สำหรับการประมูลช่องทีวีดิจิตอลที่กำลังจะมาถึงนี้ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีผู้ผลิตทีวีรายใด Build in ใส่กล่อง DVB-T2ไว้ในทีวี ดังนั้น ทีวียังรับดิจิตัลเสาไม่ได้ ต้องมีกล่องรับสัญญาน DVB-T2 ซึ่งสามารถต่อกับทีวีบ้านในปัจจุบันได้
เนื่องจาก ดิจิตัลเสา ที่จะใช้ เป็น ระบบ DVB-T2 จึงยังไม่แน่ชัดนักว่า นอกจาก ต้องมีกล่อง แล้ว เสาก้างปลาเดิมที่มีอยู่จะรับได้เลยหรือไม่ หรือต้องเปลี่ยนเสาก้างปลาใหม่ ซึ่งต้องรอผลการทดสอบจาก กสทช. อีกครั้ง ซึ่งถ้าต้องเปลี่ยนเสาก้างปลาใหม่ด้วย ระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่านจะนานขึ้น
เนื่องจากช่องทีวีบ้านเราถูกอั้นมานาน ช่องทีวีจำนวนมากจึงได้มุ่งไปหาระบบ DVB-S ทีวีดิจิตัลผ่านดาวเทียมเป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากผู้ขอรับใบอนุญาต “ช่องทีวี” จากกสทช. มีมากเกิน 300 รายด้วยกัน !!! ผู้ได้ประโยชน์ในวันนี้ และเกมนี้แน่ๆ น่าจะเป็น ผู้ที่ provide Infrastructure ช่อง transponder ดาวเทียม เช่น THCOM และ ระบบสื่อสัญญาณ (Transmission)ที่จะต้องเช่าส่งข้อมูลจากห้องส่ง studio ไปยังจุดออกอากาศ เช่น SYMC เป็นต้น ถ้าพวกช่องทีวีเป็นนักขุดทอง THCOM/SYMC คือพวกขายจอบและกางเกงยีนส์
(คห.ส่วนตัว)ส่วนทีวีดิจิตัลแบบ Terrestrial ทีจะประมูลนั้น ต้องวัดใจการสนับสนุนช่วงเปลี่ยนผ่านของกสทช. ตามข่าว…ถ้าดันเต็มที่ด้วยการแจกคูปอง Set Top Box และผลักดันจริงจัง การเปลี่ยนผ่านน่าจะทำได้เร็ว ช่องที่เป็นช่องมหาชนน่าจะยึด EYEBALL ได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คือปล่อยข่าวเต็มที่ 1 ช่อง ปล่อย Variety เต็มที่ อีก 1 ช่อง การขายโฆษณาพ่วงจะช่วยได้มากๆ รายใหญ่ยังคงได้ Economy of Scale ที่ดีอยู่ ทั้งแง่การผลิต และขาย Ads งานนี้เจ้าของ mass content น่าจะได้เปรียบมาก
อยากทราบว่า มีประเทศใหน มั้ยครับ ที่ ใช้ ip internet แบบเต็มรูปแบบ บ้างมั้ยครับ ฟังดูน่าตื่นเต้นมากเลย
ตอนนี้เข้าใจว่ายังไม่มีครับ
แต่ Apple/Google/Microsoft ก็กำลังพยายามสร้างตลาดนี้ขึ้นมา (AppleTV, Google TV, MSN TV) คิดว่าช่วงนี้ทำออกมาคงยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะบ้านที่ติด broadband ยังไม่มากพอ และมาตรฐานอุตสาหกรรมก็ยังไม่มี
ล่าสุด GRAMMY หาเงินมาทำทีวีดิจิตอลด้วยการขายหุ้น MATI ออกมา โดยยอมขายที่ราคาทุน
ดีล GRAMMY hostile takeover MATI โดยมีธ.ช่วยสนับสนุนทางการเงินให้โด่งดังมากเพื่อหลายปีที่แล้ว ตอนนั้นมีการวาดฝันกันมากมาย แต่สุดท้ายแล้ว จบลงด้วยการขายทิ้งที่ราคาทุนในอีกหลายปีต่อมา
ยังมี POST อีกตัวที่ GRAMMY ซื้อไป แต่ถ้าหากขายออกมาตอนนี้คงขาดทุน เพราะราคาตลาดปัจจุบันต่ำกว่าตอนที่เข้าซื้อเสียด้วยซ้ำ
เป็นบทเรียนอีกอันหนึ่งของ M&A นะครับ สุดท้ายแล้วก็มีหลายดีลที่เป็นเพียงแค่การวาดฝันอนาคตไว้สวยหรู แต่สุดท้ายแล้วทำไม่ได้เลย หุ้นที่ซื้อมาแพงๆ ไม่สามารทำให้แพงยิ่งขึ้นได้
ตอน Itvเจ้งนี่เนื่องจากอะไรครับ
ไอทีวี ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง เหตุเพราะตอนที่ประมูลนั้น ชนะมาด้วยราคาที่สูงเกินไป ไม่มีทางทำกำไรได้
และมาถึงจุดจบเอาตอนนี้รู้สึกว่าศาลจะตัดสินว่าการประมูลไม่ชอบด้วยกฎหมายอะไรสักอย่าง เลยถูกยึดใบอนุญาต คืนคลื่นให้รัฐเอามาทำช่องสาธารณะแทน
Nmg ที่คุณโจ้กว่าเป็น sunset ผมว่าเขาปรับตัวเร็วนะครับ เอาสื่อ เข้ามาในnewmedia ดูได้ทุกทาง นอกจากข้อเสียที่คุณโจ้กว่านี่มี เรื่องอื่นอีกไหมครับ ช่วยแนะนำด้วยครับ ขอบคุณ
ผมให้คะแนน NMG ในแง่การรู้จักใช้ตลาดทุนให้เป็นประโยชน์ ทำให้สามารถกู้ฐานะทางการเงินของบริษัทขึ้นมาได้ครับ แต่ในส่วนของตัวธุรกิจนั้น มองว่า NMG ยังไม่ได้มุ่งหากำไรเพื่อผู้ถือหุ้นมากพอ