เคเบิลทีวี คือ ทีวีที่ส่งสัญญาณมาตามสายวิ่งเข้าถึงตัวบ้าน โดยเก็บค่าสมาชิกเป็นรายเดือน ปัจจุบันมีให้บริการอยู่ทั่วไปในกรุงเทพและตามจังหวัดใหญ่ๆ เช่น ชลบุรี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เป็นต้น ในต่างจังหวัดจะดำเนินการโดยบริษัทขนาดเล็กๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ต่าง
คนต่างก็ให้บริการเฉพาะในเขตของตัวเองที่เดินสายไปถึง ในอัตรา 100-350 บาทต่อเดือน ซึ่งมีผู้ประกอบการอยู่มากกว่า 300 บริษัททั่วประเทศ (นิยมเรียกว่า เคเบิลทีวีท้องถิ่น) และยังรวมตัวกันแบบหลวมๆ ด้วยในรูปแบบของ สมาคมเคเบิลทีวีท้องถิ่นแห่งประเทศไทย เชื่อว่าน่าจะมีครัวเรือนที่เป็นสมาชิกเคเบิลทีวีท้องถิ่นรวมกันอยู่ประมาณ 1 ล้านครัวเรือน
ส่วนในกทม.นั้น มีผู้ประกอบการเจ้าใหญ่คือ ทรูวิชั่นส์ (TRUE) มีสมาชิกรายเดือนแบบที่จ่ายเงินราว 7.5 แสนรายทั่วประเทศ
แต่เดิมตอนที่ยังไม่มี กสทช. ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนเรื่องกฎเกณฑ์ กลายเป็นช่องว่างที่ทำให้กรมประชาสัมพันธ์ให้ใบอนุญาตใครประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นก็ได้ ส่งผลให้เกิดการผุดขึ้นของเคเบิลท้องถิ่นขึ้นมามากมายทั่วประเทศแข่งขันกับทรูซึ่งได้ใบอนุญาตประกอบกิจการทั่วประเทศอยู่ก่อนแล้ว และต่อมาเมื่อมี กสทช. อำนาจก็ย้ายมายัง กสทช.แทน
ในช่วงที่เริ่มมีทีวีดาวเทียมเกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น เคเบิลทีวีท้องถิ่นได้รับผลกระทบหนัก เพราะลูกค้าจำนวนมากหันไปติดทีวีดาวเทียมแทน เนื่องจากไม่ต้องจ่ายค่ารายเดือน และรายการทีวีก็คุณภาพคล้ายๆ กัน ดูฟรีทีวีได้เหมือนกัน แม้ว่าเคเบิลทีวีท้องถิ่นจะยังมีข้อดีกว่าเรื่องความเสถียรของสัญญาณ เพราะไม่ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศก็ตาม แต่ก็คงไม่มีค่ามากพอ หากเทียบกับการที่ไม่ต้องจ่ายค่ารายเดือนอีกต่อไป
แต่เมื่อเร็วๆ นี้ เคเบิลทีวีท้องถิ่นก็เริ่มมีหวังขึ้นมาอีกครั้งเมื่อ นายวิชัย ทองแตง จับมือกับ ไทยรัฐฯ และสมาคมเคเบิลท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ในนามบริษัท CTH เข้าร่วมประมูลลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกส์ และแย่งชิงสิทธิมาจากทรูวิชั่นผู้ได้ลิขสิทธิรายเดิมได้สำเร็จ (ด้วยราคาที่แพงมหาศาล) ซึ่งน่าจะทำให้เคเบิลทีวีกลับมาเกิดใหม่อีกครั้ง เพราะพรีเมียร์ลีกส์อาจเป็นเหตุผลเดียวเท่านั้นที่ทำให้ครัวเรือนส่วนใหญ่ยอมจ่ายค่ารายเดือน ทั้งที่มีทีวีดาวเทียมที่ไม่มีค่ารายเดือนเป็นทางเลือกก็ตาม
CTH มีเคเบิลทีวีท้องถิ่นทั้งหมดเป็นพันธมิตร จึงส่งสัญญาณเข้าบ้านเรือนทั่วประเทศได้ทันที โดยแบ่งรายได้กับเคเบิลท้องถิ่น ส่วนในกทม.นั้น CTH จะเช่าใช้เคเบิลใยแก้วจากผู้ให้บริการอย่าง SYMC เพื่อแข่งขันกับทรู ดังนั้น CTH จึงมีความพร้อมที่จะกวาดลูกค้าทั่วประเทศได้ และจะทำให้ค่ารายเดือนไม่แพงเกินไปด้วย เพราะฐานลูกค้ากว้างมาก เพราะโจทย์ใหญ่ของ CTH คือ ทำอย่างไรถึงจะคุ้มกับค่าลิขสิทธิ์ที่ซื้อมาแบบแพงหูฉี่
ทรูวิชั่นส์เองคงได้รับผลกระทบไม่น้อย และจะต้องปรับธุรกิจใหม่เพื่ออยู่รอดให้ได้ เพราะเหตุผลหลักที่คนยอมจ่ายค่ารายเดือนก็คือฟุตบอล หากไม่มีพรีเมียร์ลีกส์น่าจะทำให้ฐานลูกค้าในอนาคตหายไปอย่างมีนัยสำคัญทีเดียว
มันมีปัญหาเล็กๆ อันหนึ่งครับ แต่ไม่รู้จะแรงแค่ไหนคือ CTH อยากรีแบรนด์เคเบิ้ลท้องถิ่นทั้งประเทศให้ใช้ CTH อะไรสักอย่างให้หมดเพื่อความเป็นเอกภาพ (คือจริงๆ เคเบิ้ลท้องถิ่นทุกรายก็ถือหุ้น CTH คนละนิดน่ะนะ) แต่ด้วยลักษณะเคเบิ้ลท้องถิ่นนี่แหละที่จะทำให้การยอมรีแบรนด์ไม่น่าง่าย
ผมคิดว่า การให้บริการของ CTH ในกรุงเทพยังเป็น “คำถามใหญ่” เพราะลูกค้าในกทม.มีจานดาวเทียมอยู่แล้ว ดูได้เกือบ 200 ช่อง ส่วนโครงข่ายของ SYMC ยังเป็นเพียง core transmission ซึ่งปัญหาที่ใหญ่ที่สุดสำหรับ DVB-C (Digital Video Broadcasting – Cable) คือ การสร้างสายสื่อสัญญาณไปสู่บ้านเรือน (last mile) ในอดีตเคยมี Utv เคยใช้วิธีเดิน Coaxial Cable เข้าทีละบ้าน ตอนหลังรวมร่างกับ IBC กลายเป็น UBC และเป็น True Vision ในที่สุด ซึ่งเลือกใช้จานดาวเทียม (DVB-Sattellite) เป็นหลัก
รอดูอยู่เหมือนกันว่าจะทำยังไง ถ้ากะเดิน FTTH (Fiber to The Home) แสดงว่ามีแผน Telecom Broadband ด้วย เตรียมแข่งกับ True hispeed net และ JAS 3BB