GSP คือ การให้ส่วนลดหรือยกเว้นภาษีนำเข้าที่ประเทศที่พัฒนาแล้วให้กับสินค้าของประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาเหล่านั้น โดยคำนึงถึงรายได้ต่อหัว ส่วนแบ่งตลาด และดัชนีทักษะความสามารถของประเทศนั้นๆ ในการ พิจารณาช่วยเหลือ ปัจจุบันมีประเทศที่พัฒนาแล้วที่ให้ GSP แก่ประเทศอื่นๆ รวม 28 ประเทศ ที่สำคัญคือ สหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น
นักลงทุนไทยควรสนใจข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ GSP ไว้บ้าง เพราะบริษัทที่นักลงทุนลงทุนอยู่ อาจทำธุรกิจที่ไทยกำลังพึ่งพาสิทธิประโยชน์ GSP อยู่ ทำให้ดูเหมือนบริษัทมีธุรกิจที่แข็งแกร่ง แต่วันดีคืนดีหากไทยถูกตัดสิทธิประโยชน์สินค้าในหมวดนั้นไป ถ้าสินค้าของบริษัทแข่งขันไม่ได้จริง ก็อาจกระทบกับรายได้ของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ
สหรัฐอเมริกา ให้ GSP แก่ไทยในสินค้า 12 รายการ ที่สำคัญได้แก่ ถุงมือยาง อะไหล่แอร์ ข้าวโพดหวาน น้ำเชื่อม เป็นต้น และเพิ่งจะตัดสิทธิสินค้าจำพวก ยางเรเดียน และสินค้าเครื่องประดับเงินไปเมื่อกลางปี 2555
สหภาพยุโรป ให้ GSP สินค้าไทย อยู่หลายรายการ แต่จะถูกตัดสิทธิในปี 2557 นี้หลายรายการคือ ทูน่ากระป๋อง กุ้งแช่แข็ง ขนมที่ทำจากน้ำตาล ธัญพืช และเครื่องประดับอัญมณี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยมากพอสมควร
อย่าเพิ่งตกใจเกินไป ถ้าหากบริษัทที่เราลงทุนอยู่ส่งออกสินค้าที่ไทยจะถูกตัด GSP แต่ควรตรวจสอบให้ดีก่อนว่า บริษัทนั้นส่งออกสินค้าชนิดนั้นไปยังสหภาพยุโรปมากแค่ไหน เพราะที่จริงแล้ว บริษัทอาจส่งออกสินค้านั้นไปยังภูมิภาคอื่น และแทบไม่ได้ส่งไปอียูเลยก็ได้ ตัวอย่างเช่น TUF ส่งออกไปยุโรปแค่ 4-6% ของรายได้รวมเท่านั้น รายได้ที่มาจากยุโรปในปัจจุบันส่วนใหญ่มาจากยอดขายของ MW Brands ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ในยุโรปแล้ว จึงไม่มีผลกระทบจาก GSP เราจึงควรตรวจสอบข้อมูลเฉพาะของบริษัทให้ดีก่อน
อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้ว สินค้าไทยจะต้องถูกตัดสิทธิ GSP ทั้งหมด เมื่อถึงจุดที่คนไทยมีรายได้ต่อหัวสูงขึ้นจนไม่ถูกจัดอยู่ในรายชื่อของประเทศที่ควรได้รับการช่วยเหลืออีกต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศในเอเชียอย่างเช่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ ได้ถูกตัดสิทธิ GSP ทั้งหมดไปแล้ว