Skip to content

277: ประวัติย่อของกลุ่มทุนไทย

เรื่องหนึ่งที่นักลงทุนในตลาดหุ้นควรจะรู้ไว้บ้างคือ ในตลาดหุ้นไทยนั้นมีกลุ่มทุนกลุ่มไหนอยู่บ้าง และกลุ่มทุนเหล่านี้มี “นิสัย” หรือ “บุคลิก” หรือ “สไตล์” ที่แตกต่างกันไปอย่างไร เป็นการวิเคราะห์หุ้นในเชิงพฤติกรรมอย่างหนึ่ง

กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นไทยนั้นน่าจะยังเป็น กลุ่มทุนรัฐวิสาหกิจอยู่ ซึ่งก็คือรัฐบาลไทยนั้นเอง โดยรายชื่อผู้ถือหุ้นอย่างเป็นทางการก็คือ กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้จัดการงบประมาณแผ่นดิน อย่างหุ้นตัวใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็เป็นของกลุ่มทุนนี้ (ปตท.)

จุดเด่นของทุนรัฐวิสาหกิจ คือ ธุรกิจมักได้อำนาจผูกขาดรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งด้วย แลกกับการที่ต้องเป็นผู้สนองนโยบายของรัฐบาลในบางเรื่อง การที่เราได้มีส่วนเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยในรัฐวิสาหกิจ ก็เหมือนกับเราได้มีส่วนเป็นเจ้าของธุรกิจที่ผูกขาดไปด้วย แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดีเสมอไป เพราะในบางกรณี สิ่งที่รัฐวิสาหกิจนั้นจะต้องสนองนโยบายรัฐบาล หักกลบลบหนี้กันแล้ว อาจจะแย่ต่อผู้ถือหุ้นมากกว่าดีก็ได้

ถ้าสังเกตดูให้ดีจะเห็นว่า รัฐวิสาหกิจบางตัวที่ได้ประโยชน์จากการมีรัฐฯ เป็นเจ้าของก็จะได้ประโยชน์แบบชั่วนาตาปี ส่วนตัวไหนที่ต้องเสียประโยชน์ เช่น ต้องแบกภาระขาดทุนต่างๆ ก็จะต้องแบกอยู่อย่างนั้นชั่วนาตาปี เช่นกัน ฉะนั้น นักลงทุนที่สนใจหุ้นรัฐวิสาหกิจนั้น จะต้องเลือกดีๆ ว่า รัฐวิสาหกิจตัวนั้นเป็นพวกที่ได้มากกว่าเสีย หรือเสียมากกว่าได้ ไม่ใช่ว่าเป็นรัฐวิสาหกิจแล้วจะดีหมดทุกตัว และเป็นที่น่าสังเกตว่าตัวไหนได้ก็จะได้ตลอด ตัวไหนเสียก็จะเสียตลอด และสิ่งที่มากำหนดก็มักจะเป็นลักษณะของธุรกิจ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับในต่างประเทศก็จะเห็นว่าคล้ายๆ กันทุกประเภท เช่น ทุกประเทศ ไปรษณีย์กับการรถไฟของรัฐ มักขาดทุนดักดาน แต่การไฟฟ้ามักจะกำไรดี เป็นต้น จึงน่าจะลองตัดสินจากลักษณะธุรกิจเป็นหลัก

ข้อด้อยอีกอย่างหนึ่งของรัฐวิสาหกิจก็คือ มีความเป็นระบบราชการสูง ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานไม่สูงนัก ข้างในองค์กรอาจมีปัญหาการเมืองภายในซ่อนอยู่ ทำให้องค์กรไม่ไปไหนแบบชั่วนาตาปี  แต่บางทีก็อาจมีกำไรผูกขาดที่อุ้มเอาไว้ทำให้มองไม่เห็นความแย่อันนั้น รวมทั้งอาจมีการคอรัปชั่นซ่อนอยู่เยอะด้วย นักลงทุนต้องชั่งน้ำหนักดีๆ ว่า สิ่งที่รัฐวิสาหกิจนั้นได้ผูกขาด คุ้มค่าหรือไม่เมื่อเทียบกับการจัดการที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจตัวนั้น บางตัวอาจจะเกินคุ้ม บางตัวอาจจะไม่คุ้ม

ถัดจากกลุ่มทุนรัฐวิสาหกิจ คือ กลุ่มทุนเอกชนไทย ซึ่งมีเจ้าใหญ่ๆ จริงๆ อยู่สัก 4-5 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนหลายบริษัท ดูคล้ายเป็น Conglomerate เนื่องจาก ประเทศไทยไม่ได้ใหญ่มากนักเมื่อเทียบกับทุนของกลุ่มทุนเหล่านี้ ทำให้กลุ่มทุนเหล่านี้ต้องมีการกระจายทุนออกไปในหลายๆ ธุรกิจ ถึงจะมีสินทรัพย์ในถือครองมากพอกับฐานะ อย่าให้ต้องสาธยายเลยว่า มีกลุ่มไหนบ้าง เพราะเกรงจะเป็นการพาดพิงมากเกินไป แต่สังเกตง่ายๆ เจ้าของกลุ่มทุนเหล่านี้มักติดอันดับเศรษฐีไทยโดยนิตยสารฟอร์บส์อยู่เสมอ

กลุ่มทุนเอกชนเหล่านี้จะมีบุคลิกที่ไม่เหมือนกัน ถ้าเราติดตามความเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มอย่างต่อเนื่อง เราจะมองเห็นนิสัยประจำตัวได้เลย ทำให้ทุกครั้งที่เราจะลงทุนในบริษัทที่มีกลุ่มทุนเหล่านี้เป็นเจ้าของ เราจะเดาทางได้ดีขึ้นว่าอนาคตของมันจะเป็นอย่างไร ซึ่งผมว่าเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์

กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่กลุ่มหนึ่งเคยได้ชื่อว่า เขี้ยวลากดิน กับนักลงทุนในตลาดหุ้นมาก่อน ขาเก่าๆ ได้ยินชื่อกลุ่มทุนนี้จะหลีกเลี่ยงทันที เพราะเคยมีประวัติที่ทำให้นักลงทุนรายย่อยเจ็บปวดมามาก แต่พอหลังๆ ก็ดูเหมือนกลุ่มทุนกลุ่มนี้จะเปลี่ยนวิธีคิดไปเยอะ คือ แทนที่จะคิดว่านักลงทุนรายย่อยเป็นฝ่ายตรงข้าม แต่กลับมามองใหม่ว่า ถ้าทำให้ราคาหุ้นในตลาดยืนสูง ทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้ถือหุ้นรายย่อยต่างก็ได้ประโยชน์ เป็น win-win ที่คิดแล้วทำให้รวยได้มากกว่าวิธีคิดแบบเดิมซะอีก ช่วงหลังๆ หุ้นของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่กลุ่มนี้จึงมี Valuation ที่สูงทุกตัว อันดับของเจ้าของกลุ่มทุนในรายชื่อเศรษฐีโลกก็กระโดดขึ้นแบบพรวดพราดมากกว่าสมัยที่ยังเขี้ยวลากดินอยู่ซะอีก แม้ราคาจะร่วงลงมาระดับหนึ่งแต่ก็ยังนับว่าสูงมากอยู่

กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่อีกกลุ่มหนึ่ง เคยอยู่นอกตลาดหุ้นไทยมาตลอด แต่มาช่วงหลังๆ บุกเข้ามาแบบสายฟ้าแลบ กวาดบริษัทในตลาดหุ้นมาไว้ในอาณาจักรมากมาย ที่สำคัญ ยังมียี่ห้อประจำตัวว่า เวลาซื้อบริษัทไหนจะเข้ามาซื้อหุ้นส่วนใหญ่ (เกิน 50%) เพื่อให้ตัวเองมีอำนาจควบคุมบริษัทเสมอ มีหุ้นที่ Float อยู่ในตลาดเท่าไร กวาดหมด ก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนหุ้นในตลาด พาให้ราคาหุ้นทะยานแบบลืมคำว่า Valuation เมื่อนักลงทุนรายย่อยสังเกตเห็นพฤติกรรมที่ซ้ำๆ แบบเดียวกันของกลุ่มทุนนี้บ่อยๆ ก็กล้าเข้ามาซื้อหุ้นทุกราคา เพราะรู้ว่ามีคนที่ยินดีรับซื้อแบบไม่อั้น กลายเป็น self-fulfilling actions พาราคาหุ้นในกลุ่มนี้เหาะได้ทุกตัว

ถ้ดจากกลุ่มทุนระดับแถวหน้าลงมา ก็มีกลุ่มทุนอีกหลายกลุ่มที่รู้จักวิธีการสร้าง Wealth โดยอาศัยตลาดทุนอีกหลายกลุ่มเหมือนกัน แต่ยังสะสมฐานทุนได้ไม่เยอะเท่า คือ ยังเป็นเจ้าของหุ้นในตลาดที่กระจุกอยู่ใน sector ใด sector หนึ่งเป็นหลักอยู่ แต่ก็สังเกตได้ว่า กลุ่มทุนเหล่านี้มีความกระเสือกกระสนสูงที่จะขยายอาณาจักรของตัวเอง ถือว่า เป็นกลุ่มทุนที่มี upside สูง เพราะยังมีขนาดไม่ใหญ๋เกินไป ยังเพิ่ม Wealth ผ่านตลาดหุ้นไทยได้อีกมาก แต่ต้องช่างเลือกด้วยเหมือนกัน เพราะกลุ่มที่ยิ่งขยายขนาดยิ่งเอาธุรกิจเน่าๆ เข้ามาใส่ตัวอย่างต่อเนื่องก็มีให้เห็นเยอะ ถ้าหลงฝากผีฝากไข้ผิดกลุ่ม แทนที่จะรวยขึ้นอาจจะจนลงก็ได้

ในตลาดหุ้นไทย ยังมีกลุ่มทุนเอกชนอีกจำพวกหนึ่งที่เรียกว่าสมัยก่อนเคยเป็นกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ของประเทศ แต่ในรอบ 20 ปี ที่ผ่านมาแทบไม่ได้ขยายขนาดขึ้นเลย ทำให้กลุ่มทุนหน้าใหม่ หรือกลุ่มทุนทีหน้าเก่าเหมือนกันแต่ปรับตัวเก่งด้วย แซงหน้าไปแบบหลายช่วงตัว จนทำให้กลุ่มทุนอนุรักษ์นิยมเหล่านี้ดูเล็กไปเลย โดยมากแล้วก็มาจาก “ทัศนคติ” ของเจ้าของกลุ่มทุนเอง ที่คิดแบบเก่าๆ เคยประสบความสำเร็จด้วยวิธีการแบบไหนเมื่อ 40 ปี ที่แล้ว ก็ยังเชื่อมั่นวิธีการเหล่านั้นอยู่ ในขณะที่โลกเปลี่ยนไปเยอะมากแล้ว ก็ไม่ได้ปรับตัว หรือบางทีก็เป็นเพราะการที่องค์กรอยู่มานาน การเมืองภายในองค์กรมีเยอะมาก ผู้หลักผู้ใหญ่เต็มบริษัทไปหมด ขยับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย กลุ่มทุนพวกนี้เกาะไปด้วยก็ไม่ไปไหน นักลงทุนจึงต้องระวังให้ดี อย่ายึดติดกับภาพลักษณ์ในอดีต แต่ต้องมองด้วยว่า กลุ่มทุน ที่เราสนใจ ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ได้เก่งแค่ไหน เลือกกลุ่มผิด คิดจนตัวตาย

กลุ่มทุนจำพวกสุดท้ายในตลาดหุ้นไทยคือพวกกลุ่มทุนต่างประเทศ ซึ่งเข้ามาช้อปปิ้งตลาดทุนไทยในช่วงที่เกิดวิกฤต และกลุ่มที่เข้ามาขยายธุรกิจตามกระแสทุนเสรี ดูเหมือนกลุ่มทุนกลุ่มนี้จะมีข้อได้เปรียบหลายอย่างทั้งในแง่เงินทุนและ know-how แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่เท่าไร เพราะบางทีบริษัทแม่ก็มองสาขาในประเทศไทยเป็นแค่ธุรกิจส่วนเล็กๆ ไม่ใช่ core ทำให้ไม่ focus เท่าที่ควร ที่ผ่านมา กลุ่มทุนเอกชนไทยกลุ่มหลักๆ ดูจะเก่งกว่าไปแล้ว

Tags:

7 thoughts on “277: ประวัติย่อของกลุ่มทุนไทย”

  1. บทความนี้ ฟินนาเล่(สุดยอด, เริ่ด) มากๆครับท่านแม่ทัพ แหม…อยากร่วมสนุกทายชื่อกลุ่มทุนจัง

    ขอเรียนเสริมตรงกลุ่มทุนรัฐวิสาหกิจ ในหุ้นธุรกิจผูกขาดไทย หากสิทธิผูกขาดหายไป “ส่วนใหญ่” แพ้เอกชนหลุดลุ่ย … ธุรกิจสื่อสารไทยเป็นตัวอย่างที่ดี …

  2. เหมือนซ้อเจ็ดเลยครับ.
    1 st เจ้าสัวซีพี, เสี่ยเจริญ, 2nd เซ็นทรัล, รพ กรุงเทพ, กลุ่มธนาคารใหญ่, 3th เครือสหพัฒน์…

  3. Nice blog here! Additionally your website so much
    up fast! What host are you the usage of? Can I get your affiliate hyperlink to your host?
    I desire my website loaded up as quickly as yours
    lol

  4. And you want to choose the right tool for the right job.
    Even gray loot has value when you sell it to vendors.

    The more that an individual gains levels with
    their character, they can then begin the journey of upgrading their class.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *