Skip to content

267: Growth Investing กับการเปลี่ยนม้า

เคยคิดกันเล่นๆ มั้ยครับว่า สำหรับคนที่ลงทุน 100% ตลอดเวลา เขาจะหา bargain ได้อย่างไร ในเมื่อเวลาที่ตลาดหุ้นตกหนักๆ หุ้นทั้งหมดในพอร์ตของเขาก็มักจะลงตามไปไปด้วย

โดยส่วนตัว ผมไม่ได้เป็นแนวลงทุนเต็มพอร์ตตลอดเวลา ยังเป็นคนที่ชอบมีเงินสดไว้บ้าง แต่ถ้าลองตั้งโจทย์ให้คิดว่า ถ้าเราลงทุนเต็มพอร์ตตลอดเวลา การเปลี่ยนตัวหุ้นแต่ละครั้งควรจะทำเพื่อหลักการหรือเหตุผลอะไรบ้าง

แน่นอนว่าการเปลี่ยนม้าศึก (เปลี่ยนตัวหุ้น) เพื่อฉวยโอกาสเมื่อตลาดหุ้นตกหนักๆ นั้น ไม่น่าจะเป็นทางของคนที่มีหุ้นเต็มพอร์ตตลอดเวลา เพราะเขาย่อมอยู่ในเกมที่เสียเปรียบคนอื่น เนื่องจากเขาไม่เคยมีเงินสดติดมือไว้เลย และหุ้นส่วนใหญ่ก็มักจะเคลื่อนไหวไปตามตลาดค่อนข้างมากในระยะสั้นเสียด้วย ถ้าหากเขาต้องการหากำไรด้วยวิธีนี้ก็นับว่าเลือกนโยบายการลงทุนที่ผิด

scurve

คนที่ถือหุ้นเต็มพอร์ตตลอดเวลาจึงไม่ควรเปลี่ยนม้าศึกด้วยเหตุผลเรื่องความผันผวนของตลาดหุ้น แต่น่าจะเป็นเหตุผลเกี่ยวกับตัวบริษัทเป็นหลัก ที่จริงแล้ว การลงทุนในแนวเติบโตนั้น อาจขายหุ้นของกิจการที่เติบโตจนถึงจุดอิ่มตัวแล้ว (เข้าสู่ส่วนบนสุดของ S curve) แล้วนำเงินไปลงทุนในหุ้นเติบโตตัวใหม่ที่มองว่าธุรกิจอยู่ในช่วงตีนเขาพอดี (S curve กำลังเริ่มผงกหัวขึ้น) ถ้าหากว่าเราเปลี่ยนม้าศึกด้วยหลักการและเหตุผลนี้ เราไม่ต้องสนใจเรื่องความผันผวนของตลาดหุ้นเลย เพราะในทุกๆ ช่วงเวลา ย่อมมีทั้งหุ้นที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของ S curve และหุ้นที่อยู่ในช่วงท้ายๆ ของ S curve ให้เราเลือกเปลี่ยนม้าได้เสมอ และยังนับว่าเป็นนโยบายการเปลี่ยนตัวหุ้นที่ดีด้วย เพราะย่อมใช้การได้ในทุกๆ ภาวะตลาด

13 thoughts on “267: Growth Investing กับการเปลี่ยนม้า”

  1. แล้วการเปลียนเพราะมองเรื่อง upside ของราคาหุ้นละครับ

    เช่นถ้ามองvaluationหุ้นA, B ว่าราคา10บาทในปีนี้

    แล้วเข้าซื้อที่ราคา6บาททั้งคู่ แล้วถ้าตลาดตกแรงๆ แต่หุ้นBราคาลงเหลือแค่5บาท
    หุ้นAเหลือ3บาท เลยสวิตซ์จากBครึ่งนึงมาA

    เพราะหุ้นAลงมากกว่า25% แต่เงินสดไม่มีเพื่อซื้อเพิ่ม

    พี่คิดไงกับวิธีนี้ครับ ขอบคุณล่วงหน้าครับ

  2. ผมว่ากับดักสำคัญของนักลงทุนเลยคือ สมมติว่าตลาดร่วงลงมา 15% แล้วมีหุ้นบางตัวร่วงไป 40% ธรรมชาติของเราจะบอกว่าหุ้นตัวนั้น undervalued แล้ว เพราะร่วงลงมาเยอะมาก

    แต่ valuation จริง ของหุ้นแต่ละตัวไม่ควรจะเกี่ยวข้องอะไรกับราคาปัจจุบัน หรือว่ามันตกลงมากี่เปอร์เซ็นต์จากราคาปัจจุบัน เพราะสมมติว่า ณ วันเดียวกัน หุ้น A อาจจะ overvalued อยู่แล้ว 200% ในขณะที่หุ้น B อาจจะ overvalued แค่ 10% ถ้าตลาดร่วงลง หุ้น A ร่วงลงมา 50% ก็ยังแค่ fairvalue เท่านั้น แต่ถ้าหุ้น B ร่วงลงไป 20% หุ้น B กลับ undervalued แล้ว ทั้งที่ลงมาน้อยกว่า หุ้น A มาก

    สรุปก็คือ valuation ต้องไม่เอาราคาหุ้นปัจจุบันเป็น base line

    ดังนั้นกลับมาที่คำถามข้างต้น ถ้าหากตอนแรกที่คิดว่า A,B มี fair value 10 บาททั้งคู่ แล้วแน่ใจว่า fair value นี้เราไม่ได้ถูกสะกดจิตด้วยตลาดหุ้นเสียตั้งแต่แรก การเอาเงินจาก B ไปซื้อ A เพิ่มก็น่าทำ

    เพียงแต่ส่วนใหญ่นักลงทุนจะคิดว่าหุ้นตัวหนึ่งถูกกว่าอีกตัวหนึ่งด้วยเหตุผลที่มันลงมาจากราคาเก่าคิดเป็น % ที่เยอะกว่า (ถูกสะกดจิตอยู่) เท่านั้นเอง ถ้าแน่ใจว่าไม่ได้อยู่ใน inception อันนี้ ก็แบ่งเงินจาก B ไปซื้อ A ได้ครับ

  3. แต่ก่อนพอร์ตยังเล็กมักจะถือหุ้น 100% ตลอดเวลา ก็เจอปัญหานี้เป็นประจำ พอพอร์ตโตขึ้นก็ถือหลายตัวขึ้น (~10 ตัว) ก็มีจังหวะขายตัวโน้น มาซื้อตัวนี้ จากแต่ก่อน หลายๆเดือนไม่ได้เทรดเลย ก็กลายมาเทรดถี่ขึ้น แทบทุกสัปดาห์ ทำให้ช่วงหลังๆมีเงินสดติดพอร์ตตลอด เพราะบางทีก็ขายแต่ยังไม่ซื้อ ไม่น่าเชื่อว่านิสัยการลงทุนจะเปลี่ยนได้ขนาดนี้ คงเพราะช่วงตลาดขึ้นตลอด และผันผวนได้ตรงจังหวะพอดี

  4. การเปลี่ยนม้าศึก ผมมีแนวคิดเกี่ยวกับ upside ด้วยครับ
    เช่น หุ้น A มี upside 50% หากเราเจอหุ้น B มี upside 60% หากต้องการจะ switch หุ้น
    จะคิดได้ว่า 60/50 = 20% ซึ่งน้อยกว่าหุ้น A ที่มี upside 50% ยังงี้มีความเสี่ยงในการ switch
    แต่ถ้าหุ้น B มี upside 80% จะคำนวณได้ 80/50 = 60% ยังงี้สามารถ switch ได้เพราะมี upside มากกว่าหุ้น A

  5. อยากเปลี่ยนม้า จากม้าสื่อสารที่กำไรเยอะๆ ไปควบขี่ม้าถ่านหิน แต่ก็กลัวถ่านหินไฟลุกไหม้ เผาหว่างขาซะเหลือเกิน 🙂

  6. ขอบคุณครับ เป็นแนวความคิดที่ดีที่ต้องมีการทบทวนหุ้นใน port ตามการเติบโตของธุรกิจที่เราลงทุน ไม่ใช่ถือไว้เฉย ๆ อย่างเดียว
    ไม่ใช่ปรับ port ตามภาวะตลาด ยอดเยี่ยมครับ

    ผมมีข้อคำถามว่า แล้วเราจะคาดการณ์ s-curve การเติบโตของหุ้นในธุรกิจที่้ราลงทุนจากข้อมูลอะไรครับ ว่าธุรกิจเราจะโตถึงจุดอิ่มตัวหรือยัง

    เช่นที่ผมดูอยู่ ผมจะดู capex อัตราการเพิ่มของกำลังการผลิต ธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาในอนาคต เป็นต้น ไม่ทราบว่ามีข้อมูลอะไรอีกหรือไม่ครับ

    คุณสุมาอี้พอจะยกตัวอย่างการใช้ข้อมูลเพื่อการตรวจสอบการเติบโตเป็นกรณีศึกษาได้หรือไม่ครับ

    ขอบคุณครับ

  7. คงต้องดูว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่คนทั่วไปคุ้นเคยหมดแล้ว หรือว่ายังเป็นสินค้าที่ยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่

    เช่น ถ้าบริษัทขายน้ำปลา อันนี้ฟันธงได้เลยว่า อิ่มตัว แล้ว เพราะน้ำปลาทุกคนกินกันทุกวันจนแทบจะไม่ได้คิดถึงมันเลยด้วยซ้ำ การที่คนจะกินน้ำปลาเพิ่มขึ้นอีกปีละหลายสิบเปอร์เซ็นต์ คงเป็นเรื่องยากมากๆ

    แต่ถ้าเป็นสมาร์ทโฟนก็คงยังไม่อิ่มตัว เพราะยังมีอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา และก็ยังมีคนที่กำลังเปลี่ยนจากฟีเจอร์โฟนมาใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นทุกวัน แบบนี้ก็น่าจะยังเติบโตได้ปีละหลายเปอร์เซ็นต์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *