Skip to content

264: Fair Value ของตลาด (สูตรส่วนตัว)

จะมีวิธีง่ายๆ ยังไงที่จะมองว่าตลาดควรมีราคาเหมาะสมที่เท่าไร?

สำหรับ Fair Value ของตลาดทั้งตลาดนั้น ผมคิดว่า PE ratio เป็นตัวชี้วัดที่ใช้ได้ดีกว่าในกรณีของการวัดมูลค่าหุ้นรายตัวมาก เพราะ ตลาดประกอบด้วยหุ้นจำนวนมาก ถ้าหุ้นบางตัวมีรายการพิเศษทำให้กำไรดูเยอะไปบ้าง น้อยไปบ้างเมื่อนำมารวมกันเพื่อหาค่าเฉลี่ยของตลาด ผลของรายการพิเศษจะไม่มากนัก เพราะหุ้นส่วนใหญ่ในตลาดไม่ได้มีรายการพิเศษ แถมรายการพิเศษของหุ้นหลายๆ ตัวจะ offset กันไปส่วนหนึ่งด้วย เพราะบางตัวอาจมีกำไรพิเศษมากไป บางตัวมีน้อยไป ทำให้ PE ของทั้งตลาดดูเป็น PE ที่เป็นตัวแทนของกำไรปกติได้ดีกว่าในกรณีของหุ้นรายตัว

คำถามถัดไปก็คือว่า แล้ว PE ที่เหมาะสมของตลาด ณ เวลาหนึ่งๆ ควรมีค่าเท่าไร โดยความเห็นส่วนตัวของผม มันไม่ควรเป็นค่าคงที่ตลอดกาล เช่น บางตำราบอกว่าควรเท่ากับ 15x บ้าง บางตำรา 10x บ้าง แต่ควรจะมีการหักผลของอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่แตกต่างกันในแต่ละยุคสมัยออกเสียก่อน เพราะในยุคที่ดอกเบี้ยต่ำกว่าปกตินั้น เราควรจะยอมให้หุ้นมี PE เหมาะสมที่สูงกว่าในช่วงที่ดอกเบี้ยสูงได้ (ถ้าดอกเบี้ยสูง เอาเงินไปฝากธนาคารสบายใจกว่า หุ้นจึงควรจะถูกลง)

อีกปัจจัยหนึ่งที่ควรนำมาปรับค่า PE ตลาดด้วยก็คือ Market Risk Premium หรือ ผลตอบแทนส่วนเพิ่มที่นักลงทุนควรได้รับจากตลาดหุ้นเพราะความที่ตลาดหุ้นเสี่ยงกว่าพันธบัตร ปัจจัยนี้เป็นป้จจัยที่ปวดหัวมาก เพราะ Market Risk Premium แต่ละยุคสมัยเหวี่ยงรุนแรงมาก และเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับ sentiment ของนักลงทุนซึ่งเป็นเรื่องของอารมณ์ อย่างไรก็ตาม ถ้าดูจากทุกยุคทุกสมัยจะเห็นว่า Market Risk Premium จะแกว่งอยู่ระหว่าง 0% ถึง 10% ดังนั้น 5% น่าจะเป็นค่าเฉลี่ยที่นำมาใช้ได้ ซึ่งถ้ามองว่า ตลาดหุ้นควรให้ผลตอบแทนมากกว่าตราสารหนี้ประมาณ 5% (Capital Gain + Dividend) ถึงจะคุ้มค่ากับความเสี่ยง ก็เป็นตัวเลขที่เหมาะสม (อาจจะเยอะไปนิดหน่อย แต่ถือว่าค่อนข้างโอเค)

สมมติว่าตอนนี้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีของไทยอยู่ที่ 3.3% นำมาบวก Market Risk Premium ของเราที่ 5% เสมอ จะได้ 8.3% ลองกลับเศษเป็นส่วนจะได้ 100/8.3 หรือ 12 นี่แหละที่ควรจะเป็น PE ตลาดที่เหมาะสม

แต่เดี๋ยวก่อน บางทีตลาดอาจจะคาดการณ์กำไรไว้ล่วงหน้าด้วยก็ได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เรามักมองไปล่วงหน้า 1 ปี เพราะเป็นระยะที่พอมองเห็น outlook ได้ชัดเจน ลองไปหาตามเว็บดูว่า consensus ของนักวิเคราะห์มองว่า ปีหน้า กำไรของบจ.ทั้งตลาดจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันสักกี่ % (สมาคมนักวิเคราะห์มีเผยแพร่อยู่เป็นระยะๆ) สมมติว่า สมาคมคาดหวังปีหนี้ บจ.ทั้งตลาดจะมีกำไรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20% ก็นำมาคูณ PE ที่เหมาะสมของเราเพื่อให้เป็น forward PE จะได้ 12×1.2 = 14.4 เท่า (เทียบกับดัชนีเท่ากับ 1267 จุด)

ถ้ายึดตามมาตรฐานอันนี้ของผม ถือว่า SET ตอนนี้เป็น “พรีเมี่ยม” เพราะ P/E ตอนนี้อยู่ที่ 18.xx เท่า และถ้ากำไรบจ.ปีนี้เพิ่มไม่ได้ 20% จริงก็คงยิ่งแพงไปใหญ่

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า คำว่า แพง หรือ ถูก นั้นไม่ได้บอกทิศทางในอนาคต เพราะแพงแล้วก็อาจแพงอีกก็ได้ หรือบ่อยครั้งตลาดหุ้นก็แพงติดต่อกัน 4-5 ปี โดยไม่เกิด correction เลยก็เกิดขึ้นเป็นประจำ หรือถูกแล้วก็ชอบมีถูกกว่า ดังนั้น P/E ตลาดอาจช่วยให้เราสรุปได้ว่า หุ้นแพงหรือถูกเกินไป แต่อย่าไปสรุปเพิ่มเอาเองว่า ตลาดหุ้นจะต้องปรับฐาน เพราะว่าแพง Valuation นั้นไม่สามารถใช้ทำนายพฤติกรรมของตลาดได้ครับ

21 thoughts on “264: Fair Value ของตลาด (สูตรส่วนตัว)”

  1. ฉายให้เ้็ห็นภาพได้ชัดเจนมากครับ ท่านแม่ทัพ ^^

  2. ตรง “แต่เดี๋ยวก่อน” อันนี้ผมฮ่าเลยครับ คิดถึงโฆษณาขายทางทีวีเจ้าหนึ่งขึ้นมานะครับ ^ ^ เห็นภาพโดยรวมและเพิ่มความเข้าใจได้มากเลยครับ จุดพอใจของการซื้อสินค้าแต่ล่ะคนไม่เท่ากันจริง ๆ

  3. forward PE จะได้ 12×1.2 = 14.4 เท่า (เทียบกับดัชนีเท่ากับ 1267 จุด)

    ที่มาของตัวเลข 1267 มีวิธีคิดอย่างไรครับ

  4. รบกวนถามพี่โจ๊ก หน่อยคะ ทำไม 1/Re=PE คะ แล้วกรณี่ที่เฟดปรับลดqe แล้วตลาดหุ้นที่โตมากเกินไปอย่างไทยจะตกลงมากใช่ไหมคะ แล้วกองทุนแบบ templeton bond จะมีผลกระทบทางไหนคะ เพราะ ถือ us bond ราคาเพิ่มขึ้นไหมคะ เรียนมาแต่ไม่เข้าใจเลยคะ
    รบกวนถามพี่โจ็กอีกเรื่องคะ ตอนเรียนที่ทำอย่างไรจึงเข้าใจได้ลึกซึ้งมากขนาดนี้คะ ขอบคุณมากคะ

  5. บทความหน้าขอเป็น Fair value ของหุ้นนะครับ / เพื่อเลือกลงทุนในหุ้น watch list DG ของเรา โดยพิจารณาความถูก-แพงด้วย …. ขอบคุณครับ ^^

  6. Templeton Global Bond ไม่มี US Bond นี่ครับ มีแต่ Bond ของ Emerging Market กะ ยุโรป เกือบทั้งหมด

  7. P/E = 1/(E/P) และ E/P ก็หมายถึง Earnings Yield เช่น เราซื้อหุ้นไป X บาท แล้วบริษัทนั้นกำไรปีละ Y บาท ก็คือ เป็นการลงทุนที่มี Yield เท่ากับ Y/X

    เรื่องบอนด์จำง่ายว่า When Interest Rates go UP, Bond prices go DOWN.

    ถ้าเฟดถอน qe ดอกเบี้ยในตลาดก็ต้องเป็นขาขึ้น เพราะเงินหายไปในตลาด ทำให้เงินตึงกว่าเดิม ดอกเบี้ยซึ่งเป็นต้นทุนของเงินก็ต้องแพงขึ้น เมื่อดอกเบี้ยขึ้น ราคาบอนด์ก็ต้องถูกลง

    แต่การ exit qe คงไม่รุนแรง เพราะเฟดย่อมต้องทำอย่างละม่อมที่สุด คงไม่มีธนาคารกลางไหนต้องการให้ตลาดปั่นป่วนด้วยฝีมือของตัวเอง คิดว่าตลาดบอนด์ทั่วโลกคงต้องกระทบบ้าง แต่คงไม่ถึงกับกระชากอย่างรุนแรง

  8. ขอบคุณครับพี่โจ๊ก มาปลุกต่อม”คิด” อีกแล้ว 🙂

    ในวันที่ตลาดดีๆ มีความมั่นใจในเศรษฐกิจ(เอเชีย) ว่าจะไปได้สวย ทุนสำรองแข็งปั๊ก สิบปีนี้โตแน่ๆ ไม่มีขาดทุน สงสัยแกจะลด market risk premium เหลือ 2% เลยได้ P/E 18.9 เท่า อิ อิ

    นอกจากนี้บางทีแกก็เล่นล่วงหน้าไปหลายปี เพราะถ้า growth ไปเรื่อย P/E ก็จะถูกเอง หรือใช้ PEG ไปเลย แต่อย่างว่าเราคงไม่คิดว่ามันจะกำไรโต 18.8% ไปได้ทุกๆปี (PEG = 1) มันจะกลายเป็น superstock กันไปทั้งตลาด

    สุดท้าย เราอาจต้องหักเงินเฟ้อออก เพราะเชื่อว่าสินทรัพย์ที่เราถือจะ hedging กับ เงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง ผลตอบแทนแท้จริงของพันธบัตรหลังหักเงินเฟ้ออาจเหลือแค่ 0% เราก็เลย effort ได้ที่ P/E 20 เท่า (ทั้งนี้ขึ้นกับบริษัทถือสินทรัพย์อะไรอยู่ และ P/B กี่เท่า) อันนี้สุดโต่่งไปหน่อย แบบว่า ถือพันธบัตรก็ไม่ได้อะไร ถือเป็นสินทรัพย์ดีกว่า

    สุดท้ายของสุดท้าย อาจต้องเอา divident yield ของตลาดรวมปีนี้ รวมกลับไปด้วยสำหรับ forward P/E ปีหน้าหรือเปล่าครับ

    ลองคิดตามพี่โจ๊กเล่นๆ ดู แต่เราคงไม่ต้อง accurate ขนาดนั้น 🙂

  9. มันเป็นแบบนั้นแหละครับ คนเราจะหาเหตุผลมา justify พีอีของตลาดที่เราเห็นอยู่เสมอ ทำให้ไม่ว่าตลาดจะมีพีอีเท่าไร ก็จะมีคนออกมาบอกว่า พีอีที่เหมาะสมคือพีอีปัจจุบันแล้วบวกไปอีก 10-20% ไปเรื่อยๆ สุดท้ายเกิด market correction เราจะค่อยตื่นได้ ว่าเราแค่ถูกสะกดจิตโดยตลาดไปเรื่อยๆ เท่านั้น

    ดังนั้น วิธีหามูลค่าตลาดของเราควรเป็นวิธีที่มี methodology ที่แน่นอน ไม่ขึ้นกับภาวะตลาดปัจจุบัน คิดแล้วได้แค่ไหนก็ต้องแค่นั้น จะต่างจากพีอีปัจจุบันแค่ไหนก็ต้องไม่แคร์สื่อ ไม่งั้นก็ไม่รู้ว่าจะหามูลค่าที่เหมาะสมไปทำไม ถ้าเราต้องคิดออกมาให้ใกล้เคียงกับพีอียุคปัจจุบันด้วย

  10. fair value ที่ได้ทำไว้ที่ 1267 จุด ลองมา revise ใหม่ด้วยข้อมูลล่าสุดอีกที

    ตอนนี้ yield พันธบัตรกลายเป็น 3.98% ส่วน กำไรบจ.ที่คาดกันว่าจะบวก 22% ได้นั้น ผมว่าตอนนี้น่าจะยากแล้ว เพราะว่าสัญญาณเศรษฐกิจอ่อนลงชัดเจน เอาเป็นว่ามองโลกแง่ดีสุดๆ ให้ 10% เลยละกัน

    ใส่สมการเข้าไปจะออกมาเป็น 1078 จุด

    จะลงมาถึงหรือไม่ ไม่มีใครบอกได้ ถ้าลงมาไม่ถึง ก็ไม่มีโอกาสของนักลงทุนเลยครับ การลงทุนก็แบบนี้แหละ ต้องรอๆๆๆ

  11. การรอคือส่วนที่ยากที่สุดในการลงทุนหุ้นครับ

  12. อยากให้คุณนรินทร์ช่วยอธิบาย หรือขยายความ “สัญญาณเศรษฐกิจอ่อนลงชัดเจน” หน่อยอะคะ
    ว่าดูหรือสังเกตจากตรงไหนคะ

  13. ตัวเลขส่งออกแย่ลง เดือนเมย +2.9% เท่านั้น ปกติต้องบวก 15% ขึ้นครับ

    ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไทย เดือนเมย ก็ต้ำสุดในรอบ 16 เดือนครับ

    การบริโภคเอกชน ไตรมาส 1 ของสภาพัฒน์ ก็ออกมา 3.9% จากที่คาดการณ์ว่าจะ +6.9%

    คือ แย่ลงทุกภาคส่วนครับ

  14. ลองใช้สูตรนี้ในเวลานี้ดู

    Bond Yield วิ่งไป 4.2% แล้ว ถ้าบวก Risk Premium 5% จะได้ 9.2% นำมากลับเศษเป็นส่วนจะได้ P/E 10.86 เท่า

    ไตรมาส 2 กำไรบจ.ติดลบ 15% แต่ไตรมาสหนึ่งเป็นบวก และไตรมาส 3,4 ผมไม่ได้คิดว่าจะเลวร้ายลงมากนัก สมมติว่าติดลบเท่าๆ กับไตรมาส 2 ก็แล้วกัน จะได้ค่าเฉลี่ยทั้งปี ติดลบ 10 ต้นๆ ก็อาจจะต้องลด P/E ไปอีก 10% ให้เป็น forward P/E ดังนั้น P/E fair value ของ SET ตอนนี้จะหล่นเหลือแค่ 9.8 เท่า แค่นั้น ซึ่งเท่ากับ SET Index แค่ 889-988 จุดเท่านั้น

    อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่ได้มองร้ายขนาดนั้นนะครับ fair value เป็นเท่าไร ไม่ได้แปลว่าตลาดจะต้องลงไปเท่านั้น ต่อให้มีการลด QE ลง ผมก็ยังคิดว่าตลาดหุ้นในช่วงต่อไปก็น่าจะยังให้ ราคาเป็น premium กันอยู่ดี (หวังว่าจะเป็นแบบนั้นครับ)

    เพียงแค่อยากจะบอกทุกคนว่า ทั้งดอกเบี้ยขึ้น แถมกำไรบจ.ยังลด พร้อมๆ กันด้วย เราจะมองภาพตลาดหุ้นดีอย่างเดิมอีกไม่ได้แล้ว พยายามอย่ายึดติดกับภาพเก่า อย่างน้อยก็ในระยะสั้นนี้นะครับ

  15. สงสัยว่าทำไม กำไรบจ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20% แต่ forward PE ถึงคูณ1.2คะ (12*1.2=14.4) ช่วยอธิบายหน่อยค่ะ ขอบคูณค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *