Skip to content

287: ตลาดหุ้นก็เหมือนวงการเพลง

ในประเทศหนึ่งๆ อาจมีกลุ่มคนที่ก่อตั้งวงดนตรีขึ้นมามากมาย พวกเขาอาจเป็นกลุ่มวัยรุ่นไฟแรง กลุ่มคนเพื่อชีวิต หรือเป็นแค่หญิงชาวนาเสียงดีคนหนึ่งที่รักการร้องเพลงลูกทุ่งเป็นชีวิตจิตใจ หรือไม่ก็เป็นนักดนตรีอาชีพตามผับตามบาร์ ฯลฯ ดนตรีเป็นสิ่งที่อยู่ในหัวใจของคนจำนวนมาก ประเทศหนึ่งจึงอาจมีวงดนตรีก่อตั้งขึ้นมาเป็นร้อยเป็นพันวง

ในวงดนตรีนับพันวงนั้น ก็อาจมีจำนวนหนึ่ง เช่น สัก 50 วง ที่เพลงเข้าขั้นดีมาก แต่ปัญหาก็คือ อยู่ดีๆ คนส่วนใหญ่จะไปรู้ได้อย่างไรว่า วงไหนบ้างเป็นวงที่ดี เพราะมีวงดนตรีเป็นพัน

นั่นทำให้เกิด ค่ายเพลง ขึ้นโดยธรรมชาติ หน้าที่ของค่ายเพลงคือ เฟ้นหาวงดนตรีที่ดีจากวงดนตรีนับพันวงแทนผู้ฟัง จากนั้นก็ลงทุนเพื่อทำการตลาด เช่น ทุ่มโฆษณา หรือซื้อเวลาออกอากาศเพื่อโปรโมต ฯลฯ เพื่อให้ดนตรีของวงนั้นได้มีโอกาสไปถึงหูคนฟังจำนวนมากที่สุด แล้วหลังจากนั้น ถ้าเพลงมันดีจริงๆ มันก็จะดังเป็นพลุแตกเอง ค่ายเพลงก็ได้ผลตอบแทนจากการเป็นผู้นำดนตรีดีๆ มาเผยแพร่

ดังนั้นวงดนตรีหนึ่งจะดังหรือไม่ จึงเป็นส่วนผสมกันทั้งเรื่องคุณภาพของงานเพลงเองกับการโปรโมตด้วย

ถ้าดนตรีดีมากๆ แต่ไม่มีการโปรโมตใดๆ เลย ก็ไม่มีทางดังได้ เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีวงนี้อยู่ในโลกด้วย พวกเขาอาจได้รับความนิยมบ้างในผู้ฟังกลุ่มเล็กๆ ที่เป็นคอเพลงที่ซอกแซกจริงๆ เท่านั้น ซึ่งก็อาจมีแค่ไม่ถึง 5% ของประชากรทั้งหมด ต่อให้คอเพลงชื่นชมวงแค่ไหน แต่ความสำเร็จก็ถูกจำกัดไว้ที่เพดาน 5% หรืออย่างมากก็อาจขยายเป็น 10% โดยอาศัยปากต่อปากบ้าง แต่ความดังก็มีขีดจำกัดอยู่แค่นั้น

ตรงกันข้าม ถ้าวงดนตรีหนึ่งมีคุณภาพของเพลงในระดับที่พอใช้ขึ้นไป คือถือว่าสอบผ่าน (แต่ไม่ต้องถึงขั้นยอดเยี่ยมก็ได้) แต่มีการนำมาโปรโมตอย่างเป็นระบบโดยค่ายเพลง ทำให้เกิดการรับรู้มากถึง 80% ของคนฟังเพลงทั้งประเทศ วงดนตรีนี้ก็อาจดังได้มากกว่าวงที่ดนตรีดีมากๆ แต่ไม่มีการโปรโมตใดๆ เลย เนื่องจากมีการรับรู้ในระดับที่มากกว่ากันหลายเท่าตัว แค่คน 80% ของประเทศชอบเพลงแค่ ครึ่งเดียว ก็เท่ากับ 40% ของตลาด คิดแล้วก็ยังดังกว่าวงที่ดีมากๆ ที่ไม่มีการโปรโมตเลย ทำให้มีแต่คอเพลงที่รู้จักเพียง 5% ของประชากร ถึง 8 เท่าตัว แม้ว่าทั้ง 5% นั้นจะชอบมากหมดทุกคนเลยก็ตาม

ตลาดหุ้นก็มีอะไรคล้ายๆ กับวงการเพลงในจุดนี้ (และวงการอื่นๆ ด้วย) หุ้นในตลาดมีตั้ง 500 ตัว เป็นเรื่องยากที่นักลงทุนทุกคนรู้จักหรือตามติดข่าวสารเกี่ยวกับหุ้นครบทั้ง 500 ตัว หุ้นบางตัวอาจมีพื้นฐานดี แต่อยู่เฉยๆ ราคาก็คงไม่ขึ้น เพราะมีนักลงทุนแค่ไม่ถึง 1% ในตลาดที่เป็นพวกที่ซอกแซกจริงๆ เท่านั้นที่รู้

แต่ถ้ามีองคาพยบในตลาดหุ้นที่ช่วยกันกระพือออกไปว่า มีหุ้นพื้นฐานดีตัวนี้อยู่ อย่างเป็นระบบ มีการสรุปเป็นบทวิเคราะห์ที่ให้อ่านง่าย ช่วยจับประเด็นที่ฟังเข้าใจง่ายๆ มาเป็นข้อๆ เลย แล้วสื่อสารออกไปอย่างมีวาทศิลป์ การที่ข้อมูลได้เข้าถึงนักลงทุนทั่วทั้งตลาด ย่อมนำมาซึ่งกำลังซื้อหุ้นตัวนั้นที่มากขึ้น และในกระบวนการที่กระจายข่าวออกไปนั้น คนที่กระจายข่าวก็ย่อมต้องได้รับผลตอบแทนในรูปของราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นไปหลังโปรโมต แบบเดียวกับค่ายเพลง

หุ้น IPO เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงความเป็นจริงข้อนี้ได้เป็นอย่างดี เคยคิดหรือไม่ว่า ทำไมหุ้น IPO จึงมักร้อนแรงมากเสมอ โวลุ่มในวันเข้าเทรดนั้นจะสูงมากๆ แม้เป็นหุ้นตัวเล็กๆ ก็สามารถติด Top Volume Trade ได้ แต่หลังจากนั้นสัก 6 เดือนหรือหนึ่งปี ถ้าบริษัทนั้นไม่ได้มีชื่อเสียงจริงๆ โวลุ่มก็จะหดลงอย่างมาก

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ หุ้น IPO เป็นหุ้นได้ที่จะได้พื้นที่ข่าวเยอะมากๆ ในช่วงที่ใกล้วันที่จะเข้าเทรด และแค่การเป็นข่าวนี่แหละก็สามารถทำให้หุ้นขึ้นได้อย่างมากแล้ว อาจมากกว่าพื้นฐานของหุ้นเสียด้วยซ้ำ เป็นเหตุผลเดียวกันกับวงดนตรีพอใช้ที่มีการโปรโมต ย่อมประสบความสำเร็จได้มากกว่าวงดนตรีดีๆ แต่ไม่มีการโปรโมตใดๆ

เมื่อก่อนเวลาพูดถึงการ “เชียร์” หุ้น เรามักจะคิดถึงการเอาหุ้นที่พื้นฐานไม่ดีมาเชียร์ๆๆ ให้กลายเป็นทอง แต่ที่จริง ตลาดหุ้นทุกวันนี้ไม่ได้โง่มากขนาดนั้น วิธีที่ดีกว่าคือ การเอาหุ้นที่พื้นฐานดีด้วย มาโปรโมต เพราะเวลาโปรโมตจะยิ่งสื่อสารให้คล้อยตามได้ง่ายกว่าหุ้นไม่ดี เนื่องจากพื้นฐานมันก็โอเคทำให้ไม่มีรูรั่วในคำโฆษณา ฉะนั้นจะบอกว่าหุ้นที่ถูกเชียร์เป็นหุ้นไม่ดีเสมอก็คงไม่ใช่ เพียงแต่การเชียร์ทำให้หุ้นที่พื้นฐานโอเคอยู่แล้ว ประสบความสำเร็จได้มากขึ้นอีก

ตัวอย่างเช่น หุ้นพื้นฐานดีธรรมดาตัวหนึ่งอาจยังมีราคาต่ำกว่าพื้นฐานอยู่ 30% แต่ถ้านำมาโปรโมตอย่างเป็นระบบ ก็อาจทำให้ราคาขึ้นไปมากกว่าพื้นฐานเป็น 300% เลยได้เลย ตรงนี้แหละที่เป็นจุดที่น่ากลัว เพราะหุ้นที่ถูกเชียร์หนักๆ บางตัวนั้นไม่ใช่หุ้นพื้นฐานไม่ดี นักลงทุนจึงไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรที่ต้องเป็นห่วง ถ้าโปรโมตดีจริงๆ ราคาหุ้นจะทะยานเกินพื้นฐานไปมากแค่ไหนก็ได้

มนุษย์เราก็บังเอิญมีอะไรแปลกๆ อยู่ในตัวเสียด้่วย อะไรที่อยู่ในสื่อเยอะๆ ก็มักทำให้เรารู้สึกว่าดีไปเอง หรือถ้ามันดีพอใช้ แต่การอยู่ในสื่อก็อาจทำรู้สึกว่ามันดีมากๆ ไปเลย อย่างเช่น Harry Potter ของ J K Rowling นั้น กว่าจะได้ตีพิมพ์ เธอต้องไปหาสำนักพิมพ์มากกว่า 20 แห่ง แต่ก็ถูกปฏิเสธ เพราะสำนักพิมพ์เหล่านั้นต่างมองไม่เห็นคุณค่าในผลงานของเธอ (ทั้งที่เป็นคนในวงการหนังสือหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญแท้ๆ กลับตาไม่ถึง)

จนกระทั้งมีสำนักพิมพ์หนึ่งที่ตาถึงมองว่านิยายเรื่องนี้มีเนื้อหาที่สามารถจะดังได้เลยยอมรับผลงานของเธอไปตีพิมพ์ แล้วมันก็เป็นหนังสือที่โด่งดังไปทั่วโลกในเวลาต่อมา

หลังจากที่หนังสือเล่มนี้โด่งดังไปทั่วโลกแล้ว คนอีกนับร้อยล้านคนก็ยอมรับนิยายเรื่องนี้ว่าเป็นนิยายที่ดีเยี่ยมไปด้วย ในบรรดาคนจำนวนนี้ อาจมีส่วนหนึ่งที่มองว่ามันดีจริงๆ เพราะตัวเนื้อหา ไม่เกี่ยวกับว่ามันดัง แต่ก็ต้องยอมรับว่า มีคนอีกส่วนหนึ่งที่เป็นสัดส่วนที่มากกว่าหลายเท่าตัวที่เห็นว่ามันดี ก็เพราะว่ามันดังด้วย เพราะถ้าหากลองให้คนกลุ่มนี้ลองอ่านนิยายเล่มนี้ ตั้งแต่ตอนที่มันยังไม่ดัง หรือให้อ่านโดยไม่รู้มาก่อนว่ามันเป็นนิยายดัง พวกเขาอาจมองมันอย่างเหยียดๆ และไม่คิดว่าเป็นนิยายที่ดีเลยก็ได้ ที่กล้าพูดอย่างนั้นเพราะว่าขนาดสำนักพิมพ์กว่า 20 แห่ง ซึ่งเป็นคนในแวดวงวรรณกรรมแท้ๆ ก็ยังปฏิเสธหนังสือเล่มนี้ตอนที่มันยังไม่ดังเลย ประสาอะไรกับคนธรรมดาทั่วไปที่จะมองไม่ออกว่ามันเป็นนิยายที่ดี

นิยายเล่มหนึ่งจะประสบความสำเร็จก็เพราะคุณภาพส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ความสำเร็จนั้นขยายขนาดขึ้นอีกหลายเท่านั้นมาจากการที่นิยายเล่มนั้นเป็นนิยายที่ดังด้วย (Success breeds Success) ความดังช่วยเปลี่ยน perception ของ mass ได้อย่างมหัศจรรย์ เมื่อเร็วๆ นี้ JK Rowling ก็เพิ่งจะออกมาเปิดเผยว่า เธอคือผู้เขียนนิยายเรื่อง Cuckoo’s Calling โดยใช้ชื่อปลอมว่า Robert Golbrath ปรากฏว่า ทันทีที่ข่าวนี้เผยแพร่ออกไป ยอดขายออนไลน์ของนิยายเรื่องนี้ก็กระโดดขึ้น 41, 000%

วงการหุ้นก็มีอะไรคล้ายๆ กันนั่นแหละครับ

Tags:

10 thoughts on “287: ตลาดหุ้นก็เหมือนวงการเพลง”

  1. ก่อนที่จะมีกรณีของ Cuckoo’s Calling ทราบว่า JK Rowling เขียนหนังสือออกมาเล่มหนึ่งโดยใช้ชื่อจริง แต่โดนนักวิจารย์ข่อนขอดตามยอดขายที่ย่ำแย่ว่าเธอเขียนนิยายให้ผู้ใหญ่อ่านไม่ได้ความหรอก เธอจึงออก Cuckoo’s Calling โดยเริ่มด้วยการใช้นามปากกา ปรากกฏว่ายอดขายดีใช้ได้ แล้วเธอค่อยออกมาเปิดเผยในภายหลังตามที่ว่า

  2. ท่านแม่ทัพมองว่า SINGER กับ JMT เป็นหุ้นที่ดีอยู่ในระดับประมาณ B ถึง B+
    แต่ตลาดให้ราคาระดับ A เลยหรือไม่ครับ (มองจากค่า P/E)

    เพราะผมเห็น ผบห ออกมาให้ข่าวอยู่เป็นระยะ ออก OppDay อยู่สม่ำเสมอ
    อะไรพี่พูดไว้ส่วนใหญ่ก็ทำได้ตามนั้น ทำให้ นลท มีความมั่นใจมากขึ้น
    เลยให้ค่า premium สูงเป็นพิเศษ

    1. ก็คงประมาณนั้นครับ

      การสื่อสารกับตลาดก็เป็นสิ่งที่ดี ถ้าเทียบระหว่าง ไม่บอกอะไรนักลงทุนเลย กับ โม้แตก ก็ยังถือว่า โม้แตก ก็ยังดีกว่า เพียงแต่ นักลงทุนก็ต้องมีความคิดเป็นของตัวเองด้วย ไม่ใช่บริษัทพูดอะไรมา ก็เชื่อทั้งหมด

  3. เป็นวัฒนธรรมแห่ตามกระแสบ้างก็ขาดการวิเคราะไตร่ตรองข้อมูล ขี้เกียจใช้สมองว่างั้น มนุษย์ส่วนมากก็มีจิตเหมือนๆกัน กรณี JK Rowling อ่านแล้วปลงเลย แต่ก็เป็นการยืนยันว่าคำพูดของคนดังๆหรือสื่อต่างๆนี้มันมีอิทธิพลมากๆในโลกที่ไร้พรมแดนใบนี้ สามารถเปลื่ยนจากดำเป็นขาวได้ในเลี่ยววินาที และแน่นอนที่ทุกอย่างต้องมีเหตุและผลผพธ์เสมอแต่ใครละคือผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุด

  4. เหมือนอาหารละมั้งถ้ารู้ความเป็นมาของมันอันแสนเลิศรู้ก่อนรับประทาน ผู้ทานจะซาบซึ้งในรสชาติได้ดียิ่งขึ้น มีอยู่ครั้งนึงผมไปทานอะไรไม่รู้นานจนจำไม่ได้ แต่พอรู้ทีหลังว่าขั้นตอนมันเป็นยังไงเลยมาโมโหว่าทำไมไม่มีใครบอกตั้งแต่ก่อนกินฟ่ะ55จะได้อร่อยกว่านี้

  5. แวะมาอ่านอีกรอบ แล้วรู้สึกเข้าถึงบทความได้กว่าตอนอ่านแรกๆ อย่างได้ยินบางเพลงที่เพิ่งมาดังช่วงนี้ กลายเป็นเพลงเก่าที่ออกมาสักพักแล้วคนไม่ได้รู้จักกัน แต่วงการอื่นๆมันก็คล้ายกันหรือเปล่า ไม่ใช่เฉพาะวงการเพลง ถ้าเรากำลังพูดถึงพลังโปรโมตหรือโฆษณาชวนเชื่อ เช่นวงการนักแสดง ดาราที่มีข่าวดังกว่าคนที่ฝีมือการแสดงดี แต่ไม่มีข่าว วงการลับแล หมอดู วงการพระ นักการเมือง ฯลฯ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *