ก่อนอื่นขอเริ่มต้นด้วยขั้นตอนการลงทุนแบบ DG โดยภาพรวมให้ชัดขึ้นก่อน
ในภาวะปกติ หน้าที่ของนักลงทุนแบบ DG คือ คอยมองหาหุ้นเติบโตที่มีลักษณะพึ่งประสงค์ในตลาดเพื่อนำมาใส่ Watch List ของเราไปเรื่อยๆ นั่นคือ หาหุ้นของธุรกิจที่ เชื่อว่า มีอนาคตที่ดี คือน่าจะเติบโตได้อย่างน้อยปีละ 10% อย่างสม่ำเสมอ และเป็นธุรกิจที่มีควา มแข็งแรงอยู่ในระดับหนึ่ง (เช่น เกรด B ขึ้นไป) ในขั้นตอนการสร้าง Watch List นี้ เรายังไม่ต้องสนใจเรื่องราคาหุ้นในเวลานั้นเลยว่าจะถูกหรือแพง ให้ดูที่คุณภาพของธุรกิจเป็นสำคัญ
ปีเตอร์ ลินซ์ กล่าวว่า นักลงทุนควรติดตามหุ้นประมาณ 12 ตัว เพื่อที่จะได้ลงทุนในหุ้นสัก 5 ตัว นั่นคือ โดยมุมมองของผมคิดว่า ตลาดหุ้นไทยน่าจะมีหุ้นมากพอให้ทำเช่นนั้นได้สบาย เพราะว่ามีหุ้นให้เลือกตั้ง 500 ตัวแล้ว และเกณฑ์ของเราก็ไม่ได้เป็นเกณฑ์ที่โหดเลย ที่จริงแล้วหุ้นดีๆ ธรรมดาๆ หลายตัว ในตลาดหุ้นบ้านเรานี่แหละน่าจะเข้าเกณฑ์นี้ได้แล้ว แต่ต้อง selective สักหน่อย ไม่ต้องถึงกับไปขุดหาหุ้นเด็ดๆ ที่คนอื่นไม่รู้เลย
WatchList นั้นไม่จำเป็นต้องนิ่ง อาจมีหุ้นบางตัวเข้ามาใหม่ และบางตัวออกหลุดออกไปได้ตลอดเวลา เพราะธุรกิจย่อมมีการเปลี่ยนแปลงได้ แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้คงไม่บ่อยนัก เพราะพื้นฐานของธุรกิจไม่น่าจะเปลี่ยนบ่อย ถ้าเข้าๆ ออกๆ กันทุกไตรมาส คงน่าสงสัยแล้วล่ะว่า เราตัดสินธุรกิจจากสิ่งที่เป็นพื้นฐานระยะยาวของธุรกิจจริงๆ หรือแค่จากเหตุการณ์ระยะสั้นๆ เท่านั้น
และหุ้นที่ได้เข้ามาอยู่ใน WatchList แล้วนั้นก็ ไม่ได้แปลว่า สุดท้ายแล้วเราจะต้องซื้อเสมอไป ถ้าหากราคาของมันไม่เคยถูกพอ มาดูทีไรก็แพง มันก็อาจจะเข้ามา แล้วก็ออกไป โดยที่ยังไม่เคยได้ซื้อเลยก็ได้ กระบวนสร้าง WatchList กับกระบวนการซื้อขายหุ้นเข้าพอร์ตนั้น ต้องเป็นอิสระจากกัน
ในขณะที่เราสร้าง Watch List ของเราไปเรื่อยๆ การพิจารณาเข้าซื้อหุ้นที่อยู่ใน Watch List เข้าพอร์ตสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่เกี่ยวข้องกัน กระบวนการนี้จะดูราคาหุ้นเป็นสำคัญ ไม่ต้องคิดเรื่องพื้นฐานแล้ว เพราะว่าเราได้กรองพื้นฐานก่อนเข้ามาใน Watch List แล้ว
การดูว่าราคาหุ้นเก็บเข้าพอร์ตได้หรือไม่จะดูจาก “อัตราการเติบโตเฉลี่ยในระยะยาวที่เป็นไปได้ของธุรกิจนั้นๆ ในอนาคต” เป็นสำคัญ ส่วนจะมีวิธีวัดยังไงบ้างนั้น ไว้เขียนถึงในตอนต่อไปอีกที
ช่วงเวลาที่น่าจะลุกขึ้นมาเลือกซื้อหุ้นใน Watch List สักที ก็คือ เมื่อไรที่เรามีเงินก้อนที่ต้องการจะลงทุนเพิ่มนั่นแหละ
ถ้าพิจารณาแล้ว หากพบว่าไม่มีหุ้นตัวไหนใน WatchList ที่มีราคาหุ้นที่ลงทุนได้เลยในขณะนั้น ก็อย่ารู้สึกว่า จะต้องซื้อให้ได้ ให้เก็บเงินนั้นไว้ก่อน วิธีลงทุนแบบ DG นั้น เราจะไม่ยอมซื้อหุ้นแพงด้วยเหตุผลว่าเรามีเงินเหลือเยอะเกินไปเป็นอันขาด
อีกเวลาหนึ่งที่อาจจะกลับมาพิจารณาซื้อใหม่ คือ ทุกครั้งที่ตลาด crash คือ SET ร่วงลง 10% จากจุดสูงสุดล่าสุด จุดนี้ผมได้แรงบันดาลใจมาจากที่ปีเตอร์ ลินซ์บอกไว้ว่า ถ้านักลงทุนซื้อหุ้นทุกครั้งที่ดัชนีร่วงเกิน 10% ไปเรื่อยๆ โอกาสที่ผลตอบแทนในระยะยาวของนักลงทุนจะไม่ดีนั้นแทบจะไม่มีเลย ผมก็เลยอยากเอาข้อแนะนำนี้มาใช้เป็นเกณฑ์หนึ่งซะเลย แต่ก็เหมือนเดิมคือ ถ้าดูแล้วไม่มีตัวไหนราคาซื้อได้ ก็ไม่ซื้อ
เป้าหมายของเราคือมีหุ้นในพอร์ตสัก 5-7 ตัว (ที่จริง ลินซ์ แนะนำว่า 5 ตัว แต่ผมขอเปลี่ยนเป็น 5-7 ละกัน) ถ้าเราเอา WatchList มาดูราคาแล้วพบว่า มีหุ้นที่ลงทุนได้เกิน 5 ตัว ก็ให้เราลงทุนเต็มพอร์ตไปได้เลย แต่ถ้าในขณะนั้น WatchList มีหุ้นที่ซื้อได้ แค่ 1-2 ตัวเท่านั้น ก็ให้ซื้อ 1-2 ตัว ด้วยเงินแค่ 30-40% ของพอร์ต เก็บเงินส่วนที่เหลือไว้ก่อน เพื่อมิให้พอร์ตของเรา concentrate เกินไป
นั้นคือการลงทุนแบบ DG คิดถึงทั้ง Valuation และ การกระจายความเสี่ยงไปด้วย ในช่วงที่ตลาดหุ้นแพงมากก็จะไม่มีหุ้นใน WatchList ที่สอบผ่านเรื่อง Valuation เอง ทำให้เราไม่ได้ซื้อหุ้นตอนที่ตลาดหุ้นแพงหรือว่าซื้อน้อยลงไปโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าตลาดกำลังถูก เราจะก็มีหุ้นให้ลงได้เต็มพอร์ตเองโดยอัตโนมัติเช่นกัน ไม่ต้องพะวงเรื่องภาวะตลาดหุ้น
เมื่อหุ้นตัวหนึ่งเข้ามาในพอร์ตของเราได้แล้ว นโยบายหลักคือ ถือให้นานที่สุดเอาไว้ก่อน ไม่ขายหรือซื้อเพิ่มด้วยเหตุผลว่า ราคาหุ้นเพิ่มหรือลดลงไป X% แต่จะพิจารณาขายหุ้นเมื่อคิดว่าธุรกิจนั้นน่าจะหลุดออกจาก WatchList ของเราไปแบบถาวร คือ ไม่ใช่แค่ช่วงสั้น แต่ในระยะยาว
อนุญาตให้ซื้อถัวได้แค่หนึ่งครั้ง แต่ต้องขาดทุนอย่างน้อย 25% ก่อน ถ้าขาดทุน 25% ยังกล้าซื้ออยู่หรือไม่ ถ้าหากยังคิดว่าดีอยู่ ให้ซื้อเพิ่มได้แค่ไม่เกินจำนวนเงินก้อนแรกที่ซื้อไปเท่านั้น หากซื้อแล้วหุ้นยังลงต่อ ต้องหยุดซื้อ แต่ถ้าหุ้นลงมาถึง 25% แล้วคิดว่าไม่น่าซื้อ ก็ไม่ต้องทำอะไร นักลงทุนมักกล้าเมื่อหุ้นลงใหม่ๆ แต่เมื่อหุ้นลงต่อไปอีกเยอะมักจะกลายเป็นกลัว กฎข้อนี้จึงมีไว้เพื่อทดสอบว่า นักลงทุนไม่ได้ซื้อถัวเพราะอารมณ์แบบนี้
อนึ่ง หุ้นเข้าพอร์ตตัวใหม่อาจเป็นหุ้นตัวเดิมอีกก็ได้ ถ้าหากลองสมมติว่าตัวเองไม่มีหุ้นตัวนั้นมาก่อนแล้วยังคิดว่าน่าซื้อ อย่างไรก็ตาม ต้องรักษาสัดส่วนไม่ให้หุ้นตัวใดตัวหนึ่งใหญ่เกิน 40% ของทั้งพอร์ต ถ้าใหญ่เกิน อนุญาตให้ขายลดสัดส่วนลง เพื่อกระจายความเสี่ยงได้
ส่วนถ้าจะขายหุ้นด้วยเหตุผลเรื่องราคาหุ้นขึ้นมากเกินไปแล้วนั้น ผมขอสงวนไว้ว่า ทำได้ แต่ต้องเป็นกรณีที่หุ้นแพงอย่างสุดขีดเท่านั้น ไม่ใช่แค่แพงธรรมดา ใช้เหตุผลนี้ให้น้อยครั้งที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ใช้เลยยิ่งดี
เป้าหมายระยะยาวคือเลี้ยงพอร์ตให้โตขึ้นไปเรื่อยๆ โดยรักษาสัดส่วนของหุ้นในพอร์ตให้ได้ใกล้เคียง 5-7 ตัวไปด้วย เปลี่ยนม้าตัวตัวใหม่ตามจังหวะและโอกาส และตามเกณฑ์ที่กล่าวมา อย่าไปคิดว่ากำไรเยอะๆ เมื่อไรจะล้างพอร์ต แต่ให้คิดว่าจะสะสมเงินไว้ในตลาดหุ้นให้มากที่สุด เพราะตลาดหุ้นเป็นที่เก็บเงินที่ให้ผลตอบแทนเยอะที่สุดในระยะยาว การขายทิ้งเป็นเงินสดก็ไม่ให้ผลตอบแทน
การล้างพอร์ตต้องเป็นกรณีที่ เห็นว่าตลาดหุ้นแพงแบบสุดขีด เช่น พีอีเกิน 30 เท่า เท่านั้น ไม่ขายเพราะเก็งว่ากำลังจะมีวิกฤต หรือขายเพราะเกิดวิกฤตแล้วพอร์ตลงมาเยอะจึงต้องคัดลอส ฯลฯ
หลักการและเหตุผลของการบริหารพอร์ตแบบนี้คือต้องการอยู่กับหุ้นที่ดีให้ได้นานที่สุด และไม่ถมเงินลงไปในหุ้นที่ไม่ดีนั่นเอง (Dont’ Sell the Flower, Water the Weeds)
บทความต่อไปจะมาขยายความถึง เกณฑ์การเลือกหุ้นเข้า Watch List และต่อด้วย วิธีการประเมินราคาหุ้นแบบ DG นะครับ
อยากอ่านบทความทำนองนี้มากเลยครับ
รอบทต่อไปอย่างใจจดจ่อ
กระจ่างดีครับ
เยี่ยมเลยครับ
เป็นบทความที่ดีมาก
หากมีเวลา จะกลับมาอ่านทบทวนเรื่อย ๆ
ขอบคุณครับ ท่านแม่ทัพ เป็นแนวการลงทุนที่น่าสนใจมาก ๆ
เยี่ยมครับ สำหรับข้อความที่ว่า “ให้ซื้อหุ้นตัวเดิมได้เปรียบเสมือนเราไม่เคยซื้อมาก่อน” ตรงนี้ หมายถึงหุ้นนั้นยังไม่ได้ถูกขายออกไปก่อนหน้า แต่เป็นการซื้อเพิ่ม และรักษาสัดส่วนไม่ให้เกิน 40% ของพอร์ต อะไรแบบนี้มั๊ยครับ หรือว่าเป็นหุ้นเดิมที่เคยอยู่ในพอร์ต แต่ปัจจุบันไม่มีแล้วเพราะขายไปแล้ว อย่างนี้มั๊ยครับ
สมมติว่ามี XYZ อยู่พอร์ตแล้ว แต่การหาหุ้นเข้าพอร์ตครั้งต่อไป พิจารณาแล้วเห็นว่า XYZ ก็เป็นหุ้นใน WatchList ที่มีราคาที่ซื้อได้อีก ก็อาจจะซื้อ XYZ อีกก็ได้ ถ้าสัดส่วนของ XYZ ในพอร์ตยังไม่สูงเกินไปนัก (ไม่เกิน 40% ของพอร์ต)
แต่จริงๆ ถ้ามีตัวอื่นที่ซื้อได้เหมือนกัน ก็น่าจะพิจารณาตัวอื่นก่อน เพื่อการกระจายครับ
ขอบคุณครับ ท่านแม่ทัพ
น่าสนใจ ให้ความรู้มากครับ
น่าสนใจมากครับ รอตอนต่อไปครับ
อ๋อเข้าใจแล้วครับ ขอบคุณมากครับ รออ่าน valuation ต่อครับ
เยี่ยมมากครับ ถ้าลงทุนตามแนวนี้ตลอดยังไงก็ได้กำไรในระยะยาว แต่ปัญหาคือเรื่องจิตใจซะมากกว่า
สุดยอดมากครับ คอลัมน์นี้คุณค่าสุดสุดครับ
ขอบคุณมากครับ มีประโยชน์มากๆแน่นอน
รบกวนสอบถามเล็กน้อย เผื่อจะได้เตรียม watch list ไว้พลางๆ
หุ้นที่อยู่ใน watch list ควรจะกระจายไปในหลายๆอุตสาหกรรมหรือเปล่าครับ
เหมือนใน 7LTG จะเลือกหุ้นให้อยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม
แต่ถ้าเป็น active investment แบบนี้ หุ้นที่จะซื้อควรเป็นธุรกิจที่เรามีความเข้าใจหรือเปล่า
ซึ่งสำหรับบางคน การหาหุ้นใน watck list 10-12 ตัว และอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม อาจจะยาก
คิดว่าท่านแม่ทัพ คงเตรียมเกณฑ์คัดเลือกเอาไว้แล้วในตอน 2
แต่อยากถามคร่าวๆ เผื่อจะได้เตรียม watch list ไว้พลางๆครับ
เป็นบทความที่ดีมากอีกแล้ว ^^
– ขออนุญาติ เรียนสอบถามครับ พอรต์หลักของพี่โจ๊กก็ใช้วิธีนี้ด้วยรึป่าวครับ? / ขอบคุณมากครับ ^^
ยอดเยี่ยมมากครับท่านแม่ทัพ ขอบคุณมากๆครับ
พอร์ตส่วนตัวก็ทำคล้ายๆ แบบนี้ครับ แต่ยังไม่เคร่งครัดเท่า
กำลังคิดว่า ถ้าหาก DG ทดลองแล้วได้ผลดี ก็จะเอาหลักการทั้งหมดมาใช้กับพอร์ตส่วนตัวไปเลย เพราะได้พยายามออกแบบ DG ให้มันดีที่สุดแล้ว แค่รอทดสอบผลตอบแทนเท่านั้นเอง
สวัสดีครับพี่โจ๊ก รบกวนขอคำแนะนำตรงประโยคตรงนี้เพิ่มหน่อย
“ถ้าหากลองสมมติว่าตัวเองไม่มีหุ้นตัวนั้นมาก่อนแล้วยังคิดว่าน่าซื้อ อย่างไรก็ตาม ต้องรักษาสัดส่วนไม่ให้หุ้นตัวใดตัวหนึ่งใหญ่เกิน 40% ของทั้งพอร์ต ถ้าใหญ่เกิน อนุญาตให้ขายลดสัดส่วนลง เพื่อกระจายความเสี่ยงได้”
– การควบคุมไม่ให้เกิน 40% ของทั้งพอร์ต เราควรคิดที่ราคาทุน หรือ ราคาตลาดครับ
– กรณีหุ้นตัวใดตัวหนี่งในพอร์ตของเรา ราคาตลาดมีราคาสูงขึ้นหรือราคาตลาดลดลง จนทำให้สัดส่วนในพอร์ตของเราเกิดความไม่สมดุล จนทำให้หุ้นบางตัวนั้นมีขนาดมากกว่า 40% สมมติ 50% เราควรลดสัดส่วนลง เพื่อนำเงินที่ได้ไปเฉลี่ยตัวอื่นๆ ที่มีศักยภาพแทน หรือเราควรอยู่เฉยๆ ครับ ในจุดนี้ผมตีไม่ค่อยแตก เพราะว่าบางครั้งการที่เราไม่ switch ตัวเลยอาจทำให้ผลตอบแทนเราดีกว่า แต่ก็เพิ่มความเสี่ยงให้กับพอร์ตของเราไปพร้อมๆ กัน (ไม่แน่ใจว่า ภาวะตลาดขาขึ้นกับขาลง มีการบริหารหรือแนวคิดที่แตกต่างกันอย่างไรบ้างครับ)
ที่จริงก็น่าจะเป็นราคาทุนครับ
แต่ผมว่าราคาตลาดก็ดีเหมือนกัน เพราะถ้าหุ้นตัวใหญ่มันขึ้นไปเยอะมากๆ เพราะราคาตลาด จะขายออกมาบ้างก็ดีเหมือนกัน เราไม่ได้ขายทิ้งหมด เราแค่ลดลงบางส่วน น่าจะโอเคครับ
สรุปคือ ได้ทั้งสองแบบ
ขอบคุณครับ พี่โจ๊ก 🙂