การลงทุนแบบ DG ควรมี Watch List อันประกอบด้วยหุ้นในตลาดสัก 10-12 ตัว ที่คุณคิดว่าเป็นธุรกิจที่น่าลงทุนอยู่เสมอ แต่เราจะไม่ซื้อหุ้นเหล่านั้นเลย จนกว่า
ราคาหุ้นจะอยู่ในระดับที่น่าลงทุนด้วย คำถามก็คือว่า จะพิจารณาราคาหุ้นที่เหมาะสมนั้นได้อย่างไร
ดูเหมือนปีเตอร์ลินซ์ จะไม่ได้บอกว่าให้ใช้ตัวชี้วัดตัวไหนเป็นพิเศษในการวัดมูลค่าหุ้น เขาเพียงแต่พูดถึงตัวชี้วัดหลายๆ ตัว และพูดถึงข้อดีและข้อเสียให้ฟังทีละอย่าง อาจกล่าวได้ว่า ลินซ์ ให้มองว่า หุ้นแพงหรือไม่จากหลายๆ มุมประกอบกัน
เนื่องจากหุ้นที่เราเลือกมาเข้า Watch List เป็นแนวหุ้นเติบโต ดังนั้นโอกาสที่หุ้นลักษณะนี้จะมีราคาถูกมากๆ คงมีไม่บ่อยนัก เพราะตลาดหุ้นมักให้ราคาการเติบโตไว้ค่อนข้างสูง และในเมื่อเราได้ปกป้องตัวเองด้วยการเน้นลงทุนแต่ธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งในระดับหนึ่งอยู่แล้ว เราจึงไม่จำเป็นต้องรอซื้อหุ้นเหล่านี้ในราคาที่ถูกมากๆ เพราะอาจจะไม่มีวันได้ซื้อเลยก็ได้ แทนที่เราจะคิดว่าต้องซื้อหุ้นที่ราคาถูกมากๆ เราอาจซื้อหุ้นเติบโตที่ราคาระดับปานกลาง (Fair Value) ก็ได้ แม้เราจะไม่ได้กำไรจากส่วนลด แต่เรายังสามารถทำกำไรได้จากการที่หุ้นเติบโตเหล่านั้นยังมีการเติบโตของตัวธุรกิจนั้นต่อไปเรื่อยๆ ในระยะยาว เพราะเราเป็นผู้ยินดีที่จะเติบโตไปกับธุรกิจที่เราลงทุน (พวกที่รอคอยได้) ส่วนการยอมซื้อหุ้นเติบโตเหล่านี้ในราคาที่แพงไปเลย เพื่อให้ได้ซื้อเสมอนั้น ยังเป็นสิ่งที่ห้ามกระทำอยู่เช่นเดิม
โดยส่วนตัวผมได้สร้างเกณฑ์วัดมูลค่าหุ้นเติบโตแบบง่ายๆ ขึ้นมา โดยเป็นการผสมผสานระหว่าง PE, PS, PEG เข้าด้วยกัน
คือ ให้เอารายได้”ปัจจุบัน”ของบริษัท มาคูณด้วย Net Profit Margin “ในภาวะปกติ”ของบริษัทนั้น จะได้เป็นตัวเลขตัวหนึ่ง จากนั้นนำมาคูณด้วย อัตราการเติบโตของรายได้ในระยะยาวที่เราคิดว่าน่าจะพอเป็นไปได้สำหรับบริษัทนั้น ตัวเลขที่ออกมา คือ Market Cap ที่เหมาะสมของบริษัทนั้น
ตัวอย่างเช่น บริษัท A มีรายได้ปีปัจจุบันที่ 1o, 000 ล้านบาท ทำธุรกิจค้าปลีก และเรามีสมมติฐานของเราว่า รายได้ของบริษัทนี้น่าจะโตได้ปีละ 15% อย่างต่อเนื่องในระยะยาว มีมาร์จิ้นในภาวะปกติที่ 5% แต่ปีนี้ธุรกิจประสบปัญหาชั่วคราว ทำให้มาร์จิ้นเหลือแค่ 3% และราคาหุ้นก็ร่วงตามไปด้วย เราอยากรู้ว่า ควรจะซื้อหุ้นตัวนี้ที่ราคาเท่าไรดี ก็ให้เอา 1o, 000 ล้าน คูณด้วย 5% (ไม่ใช่ 3%) ได้ 500 ล้าน แล้วคูณด้วย อัตราการเติบโตในระยะยาวที่เป็นไปได้ คือ 15 จะได้ 15×500 หรือ 7, 500 ล้านบาท
ถ้าหากราคาหุ้นปัจจุบันหล่นลงมาจนทำให้ Market Cap ตกลงมาจนไม่เกิน 7, 500 ล้านบาท ก็คือเข้าซื้อหุ้นตัวนี้ได้แล้ว แต่ถ้ายังสูงกว่า ก็ยังแพงเกินไป ให้รอไปก่อน ง่ายๆ แค่นี้แหละ
อนึ่ง วิธีวัดมูลค่าหุ้นแบบนี้จะเหมาะกับธุรกิจที่มีพื้นฐานมั่นคงในระดับหนึ่ง กล่าวคือ ต้องเป็นหุ้นที่เราเชื่อมาก่อนแล้วว่า ถ้าหากประสบปัญหาชั่วคราวทำให้กำไรลดลง สุดท้ายแล้วเมื่อทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ มาร์จิ้นจะต้องกลับมาสู่ภาวะปกติได้ใหม่ นั่นคือ เป็นหุ้นที่ยังมีอนาคตอยู่ ซึ่งหุ้นที่เข้ามาใน Watch List ของ DG ได้ก็ต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว
ที่สำคัญคือ อัตราการเติบโตที่เป็นไปได้ต้องเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยในระยะยาว 3-5 ปี ข้างหน้า มิใช่ปีหน้าปีเดียว ดังนั้น ถ้าปีหน้าจะโต 40% อัตราการเติบโตในระยะยาวที่เป็นไปได้ก็มักจะต้องต่ำกว่านั้น เช่น อาจจะเหลือแค่ 20% เท่านั้น เพราะเป็นเรื่องยากมากที่ธุรกิจจะโต 40% ติดต่อกันได้ 3-5 ปีต่อกันทุกปี โดยส่วนใหญ่ บริษัทในตลาดหุ้นที่เติบโตได้ 10-20% ในระยะยาวนั้น จัดว่ายอดเยี่ยมแล้ว ดังนั้นต้องระวังอย่าให้ตัวเลขนี้ของคุณ aggressive จนเกินไป
ในเรื่องของมาร์จิ้นในภาวะปกตินั้น อาจใช้วิธีง่ายๆ คือ เอามาร์จิ้นเฉลี่ยในอดีตหลายๆ ปีของบริษัทนั้นมาเป็นตัววัดก็ได้ เพราะตราบใดที่บริษัทยังไม่ได้เปลี่ยนสายธุรกิจไปอย่างมีนัยสำคัญ หรืออุตสาหกรรมนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างมีนัยสำคัญ ค่าเฉลี่ยของมาร์จิ้นในอดีตหลายๆ ปีน่าจะเป็นตัวแทนของ stable margin ที่ดีพอสมควร ที่สำคัญมันง่ายดีด้วย อย่างไรก็ตาม อย่าลืมด้วยว่า ในกรณีที่บริษัทนั้นกำลังเปลี่ยนสายธุรกิจพอดี หรืออุตสาหกรรมกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เราจะใช้มาร์จิ้นเฉลี่ยในอดีตไม่ได้ กรณีนี้อาจจะหามาร์จิ้นของบริษัทที่ทำธุรกิจแบบเดียวกับธุรกิจใหม่ของบริษัทมาเทียบปรับอีกทีหนึ่งด้วย
มีความเป็นไปได้สูงว่า ในบางปี หุ้นทั้ง WatchList อาจไม่ผ่านเกณฑ์นี้เลย เพราะตลาดหุ้นกำลังอยู่ในช่วงที่แพงมาก หรือในทางตรงกันข้าม บางปีก็อาจซื้อได้แทบทุกตัว ก็อย่าได้รู้สึกแปลกๆ เพราะการวัดมูลค่าหุ้นแบบนี้เป็นการวัดมูลค่าหุ้นในระยะยาวเป็นหลัก เราจะไม่ยอมถูกสะกดจิตด้วยภาวะตลาดในขณะนั้น แต่ใช้เกณฑ์เดิมตลอดทุกภาวะตลาด ฉะนั้นข้อเสียอย่างหนึ่งของ DG คือ บางปีอาจไม่มีหุ้นให้ซื้อได้เลย และอาจเป็นอย่างนั้นติดต่อกันหลายปีก็ได้ด้วย ซึ่งจะต่างกับ 7thLTG ซึ่งซื้อได้ทุกๆ สภาวะตลาด ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่กำหนดให้ DG หลีกเลี่ยงการล้างพอร์ตให้น้อยที่สุด หุ้นในพอร์ตจะแพงไปบ้างก็ถือต่อไป (จะกลัวอะไรเพราะหุ้นอาจจะแพงแต่ต้นทุนที่เราซื้อมาไม่ได้แพง) เราจะได้มีหุ้นอยู่แล้วตลอดเวลา ไม่ต้องเดือดร้อนเวลาไม่มีหุ้นให้ซื้อ
จะสังเกตได้ว่า วิธีนี้เป็นวิธีที่คำนึงถึง P/E, P/S และ PEG ไปพร้อมกันโดยอัตโนมัติ แต่เราจะไม่ถูก P/E หรอก ในกรณีที่บริษัทกำลังอยู่ในช่วงที่มาร์จิ้นไม่ปกติ และในเวลาเดียวกันก็มีการปรับราคาให้ตามการเติบโตของกำไรด้วย ซึ่งผมมองว่าเป็นวิธีที่รอบด้านพอสมควร และในเวลาเดียวกัน ก็ปฏิบัติได้ง่ายด้วย ส่วนที่จะเห็นว่าเป็นจุดบกพร่องของวิธีนี้คือเรื่อง Leverage หรือเรื่อง Book Value ที่ไม่ได้นำมาพิจารณาประกอบ ดังนั้น ในบางกรณีที่ Valuation ผ่าน แต่บริษัทมีหนี้สูงผิดปกติ หรือมีบางรายการในงบดุลที่ทำให้น่าสงสัยมากจริงๆ ก็อาจจะเป็นเหตุให้หุ้นตัวนั้นยังสอบไม่ผ่านก็ได้ แต่ถือเป็นกรณีพิเศษ รายกรณีไป
ขอบคุณครับ
ขอบคุณครับ ท่านแม่ทัพ
รบกวนอธิบายเพิ่มเติมด้วยครับ ว่าทำไมถึงใช้ตัวเลข15คูณกำไรที่ได้เลยครับ หมายถึงมูลค่าที่ควรเป็นของกิจการนี้มีค่าเท่ากับ15เท่าของกำไร(ที่ควรจะเป็นในปัจจุบัน)
เข้าใจว่าเป็นการผสมผสานกับหลักการของ Kenneth Fisher เพื่อตัดเรื่อง Growth Glitch แต่ยังงงเรื่องการเอาอัตราการเติบโตมาคูณตรงๆเลยครับ เกี่ยวกับPEGใช่มั๊ยครับ
ขออนุญาติแชร์วิธีคิดนะครับ…
เวลาคิด PEG เอา G หารตรงๆ (เช่น 15 ไม่ใช่ 0.15) เพราะฉะนั้นวิธีนี้ก็เอา G คูณตรงๆเลย
(PEG<1 คือ Market Cap < E*G)
ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นที่ปีเตอร์ ลินซ์พูดไว้นี่แหละว่า หุ้นที่เติบโตปีละ 10% ควรมีพีอีประมาณ 10 เท่า หุ้นที่โตปีละ 20% ควรจะมีพีอีประมาณ 20 เท่า
ซึ่งผมว่ามันเป็นค่าประมาณที่เหมาะมากเลย
ถ้าโตปีละ 10% พีอี 10 เท่านี่เหมาะเลย
ถ้าโตได้ปีละ 20% ติดต่อกัน 3-5 ปี อาจให้พีอี 25 ก็ยังได้ แต่เอาแค่ 20 ก็พอ เพราะโตเยอะ ถ้าไม่เป็นตามคาดก็จะแย่เลย ก็ลดลงเหลือสัก 20 เป็นการอนุรักษ์นิยมไปในตัว
ส่วนถ้าโตแค่ 5% อันนี้พีอีคงไม่ใช่ 5 เท่า แต่ 7 เท่าน่าจะพอได้ แต่เราก็คงลงทุนในหุ้นที่เติบโตในช่วง 10-20% เป็นหลัก ก็เลยคิดว่า สูตรนี้เหมาะสมกับ DG อยู่แล้ว คิดไม่ยากด้วย
ชอบตรง “เราจะไม่ยอมถูกสะกดจิตด้วยภาวะตลาดขณะนั้น” ประโยคนี้คือบทสรุปของเรื่องจิตวิทยาการลงทุนเลย
ขอบคุณสำหรับคำตอบครับ
ง่าย กระชับ และปฎิบัติได้ จะมีบทความเรื่อง valuation ออกมาอีกมั๊ยครับ รออ่านการเลือกหุ้นที่เข้าเกณฑ์ 20 ตัวต่อ
ขอบคุณครับ
วัดมูลค่าหุ้นเอาง่ายๆ แบบนี้แหละครับ เรามีหุ้นต้อง 5-7 ตัว ไม่ต้องเป๊ะมาก ที่จริงตอนนี้ใครอยากจะลองก็สามารถนำไปลองวัดมูลค่าหุ้นได้เลย
ยอดขาย Sale (S) ,กำไรสุทธิ (E) ,การเติบโตในอนาคต (G) คำนวนออกมาเป็นมูลค่าเหมาะสม = P
เยี่ยมยอดครับ ง่ายๆแต่ชัดเจน ^^
ที่น่าสนใจคือ หุ้นตัวเดียวกันแต่ละคนอาจประเมินมูลค่าเหมาะสมออกมาไม่เหมือนกันก็ได้ใช่มั้ยครับพี่? … ยอดขาย กับอัตรากำไรสุทธิ อาจใช้ตัวเลขเดียวกัน แต่การเติบโตระยะยาว 3- 5 ปี แต่ละคนอาจมอง % การเติบโต ไม่เท่ากัน?
เช่นนั้นอาจใช้อีกวิธีหนึ่งแทน คือ แทนที่จะหามูลค่าที่เหมาะสม ให้คำนวณ market-implied growth โดยเอา market cap ปัจจุบันมาเทียบว่า ถ้าใช้วิธีวัตมูลค่าหุ้นแบบของเรา จะเท่ากับ g เท่าไร แล้วก็ดูว่า g ขนาดนั้น เราคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ (เฉลี่ย 3 ปีข้างหน้า) ถ้าคิดว่าเป็นไปได้ก็ซื้อหุ้นตัวนั้นได้ แบบนี้ก็ได้ครับ
0.13(Market Share)^2(1+Industry growth rate)/ Market share of Largest competitor
สูตรนี้ของ Kenneth Fisher สามารถบอกถึง NPM.ที่เหมาะสมของ บมจ.นั้นๆ จะเห็นได้ว่ามีตัวแปรเรื่องความห่างกันของ%Market Share ของบ.ในอุตสาหกรรมมาประกอบด้วยด้วย
คุณโจ๊ก มีมุมมองยังไงมั่งครับกับเรื่องนี้
@koh ใช้พิจารณาประกอบได้ครับ
วิธี implied market ที่พี่โจ๊กบอก work มากครับ แสดงให้เห็นเลยว่า ปัจจุบันคนคาดหวังการเติบโต กับหุ้นที่โต มากขนาดไหน / ตย. Jubile ยอดขาย 1230 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 14% มูลค่าตามราคาตลาด 5112 ล้านบาท , ดังนั้น Growth = 5112 / (1230*0.14) = 29.72%
…… เกือบๆ 30% พรีเมียมมากๆครับ ณ ปัจจุบัน
ก็คือคิดว่า ถ้าให้ราคาปัจจุบัน(market cap)เป็นจุดที่มี PEG1 —> G>P/E หรือ G>P/(Sales*Margin)
วิธีวัดมูลค่าแบบคร่าวๆนี้เป็นวิธีที่ผมใช้อยู่ครับพี่สุมาอี้
เท่าที่ใช้มา ทำให้ซื้อหุ้น p/eปกติ เกิน 20 เท่าไม่ได้เลย
บางทีก็รู้สึกเสียโอกาสอยู่เหมือนกัน เพราะบางตัวแพงตลอด
แต่แพงแล้วก็ยังแพงกว่าได้อีก จนบางทีก็อยากเอาออกจาก watchlist ไปเลย
เพราะรอมาหลายปี ไม่มีโอกาสซื้อสักที
แม้ว่าจะไม่มีหุ้นให้ซื้อใน DG แต่ก็ยังมีพอร์ต 7thltg ให้ลงทุนไปเรื่อยๆ ป้องกันการคันมือ ขอบคุณครับคุณโจ๊ก
เป็นไปได้ครับ สุดท้ายแล้วพอจะซื้อจริงๆ อาจไม่เจอหุ้นที่ซื้อได้เลยสักตัวเดียว ทำให้ต้องรอไปก่อน เพราะว่าตอนที่ออกแบบวิธีการลงทุนนี่ ไม่ได้สนใจเลยว่า ตอนนี้ตลาดเป็นยังไง ออกแบบวิธีออกมาแล้วจะมีหุ้นให้ได้ซื้อได้หรือเปล่า แต่มองจากความเหมาะสมในเชิงการลงทุนจริงๆ
พี่โจ๊กครับ,
บทความต่อไปขอเรื่อง เราจะขายหุ้นเมื่อไหร่
รบกวนพี่โจ๊ก define คำว่า Overvalue ในแบบของ Peter Lynch ด้วยครับ
ซึ่งผมอ่านใน One Up on Wall Street บทที่ 17, แต่ยังไม่ get ครับ
ถ้าให้ผมตีความปีเตอร์ ลินซ์ ผมมองว่า เขาไม่ชอบให้เรามองว่า หุ้นแพง ยกเว้นในกรณีที่สุดขีดจริงๆ ให้พยายามมีทัศนคติในด้านบวกกับหุ้นไว้เสมอ ถือให้นานที่สุด เพราะคนเรามีแนวโน้มที่จะขายหุ้นเร็วเกินไปมากกว่าที่จะช้าเกินไป จึงต้องคอยบอกตัวเองให้ถือไว้ก่อน และอย่าฟังเสียงนกเสียงกามากเกินไป ตลาดหุ้นเต็มไปด้วยข่าวที่บอกว่าตลาดจะกำลังจะพัง ถ้าหมดข่าวนี้ก็จะมีข่าวใหม่
เวลาที่จะขายหุ้นจริงๆ ในพยายามนึกเหตุผลว่าทำไมเราถึงซื้อตั้งแต่แรก แล้วเหตุปัจจัยนั้นมันยังอยู่เหมือนเดิมหรือเปล่า
ถ้าเป็น growth stock ให้พยายามอยู่กับมันให้นานๆ เพื่อจะได้อยู่ตอนที่มันกลายเป็นหุ้นหลายเด้ง คือ คาดหวังว่าเราจะต้องได้กำไรจากมันเท่าตัว (ถ้าหากคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ก็ไม่ต้องซื้อตั้งแต่แรก)
กรณีที่จะขายจริงๆ ตามหนังสือของลินซ์คือ ถ้าพีอีสูงมากขึ้น 30 เท่า แล้วกำไรคาดการณ์ในอีก 2 ปีข้างหน้า ในกรณีที่ดีที่สุด เติบโตแค่ช่วง 15-20 ต่อปีเท่านั้น
พี่โจ๊กครับ
แต่เราจะไม่ถูก P/E หรอก —> หลอก
ขอบคุณมากๆครับท่านแม่ทัพ^_^
อยากถามพี่โจ้กหน่อยครับว่า ธุรกิจบางอย่างเช่น โรงพยาบาล แม้จะมีgrowthที่ไม่น่าจะมากเท่าไร (หากไม่นับการควบรวมกิจการ) แต่ระยะยาวแล้วก็น่าจะโตได้เป็น10%ไปอีกหลายปีมากๆ อย่างนี้สำหรับ DG เราก็จะยังใช้เกณฑ์นี้อยู่ใช่ไหมครับ
ถ้า 10% ก็เข้าเกณฑ์ของ DG อยู่แล้ว
แลัวถ้าหตลาดกำลังเป้นขาลง แล้วหุ้นในลิสเราก็ราคาตกมาเข้าเกณท์ เราจะปิดตาไม่ดูตลาดแล้วซื้อตามเกณท์เลย หรือว่ารอดูสถานะการณ์ก่อนครับ
รอติดตามหุ้นที่คุณสุมาอี้เลือกไว้ให้อยู่ใน WatchList ครับ
ถ้าลงมาถึงเกณฑ์แล้วจริงๆ จะซื้อเลยก็ได้ครับ
แต่ปกติผมก็ไม่ชอบรับของตอนที่มีดตกๆๆ แรงๆๆ นะ ผมชอบรอให้ยืนได้สักหน่อยก่อนแล้วเข้าไปเก็บเหมือนกัน อันนี้ไม่ได้ใช้ตำราอะไร เป็นแค่การดูตาม้าตาเรือ 555
พี่โจ๊ะมีเทคนิคในการคำนวณหา margin of safety ของหุ้นแค่ละประเภท (หุ้นเติบโต, หุ้นเกรด b ทั้งหลาย, หุ้นวัฏจักร, etc) อย่างไรบ้างครับ ? ปกติสูตรต่าง ๆ จะเน้นหนักไปที่ราคาที่เหมาะสมในอนาคต แต่สำหรับการมอง downside หรือในกรณีที่อาจจะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นนั้นพอจะมีวิธีไหนบ้างครับ ?
หุ้นเติบโต พื้นฐานระดับ B+ ขึ้นไป ผมไม่มี margin of safety ครับ ถ้าเป็น fair value ก็ซื้อได้แล้ว
หุ้นที่จะต่อราคาคงเป็นพวกหุ้นวัฏจักร เพราะกำไรผันผวนรุนแรงมาก ต้องซื้อให้ต่ำไว้ก่อน แต่ต่ำมากขนาดไหนนั้น ไม่มีสูตรครับ ชอบซื้อหุ้นพวกนี้ตอนที่มันทำนิวโลว์เกิน 1 ปี ขึ้นไป
รายได้ปัจจุบัน… ในที่นี้หมายถึง รายได้ที่เกิดขึ้นไปแล้ว หรือว่า รายได้ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ครับ
เช่นตอนนี้ กลางปี เราควรเอา รายได้ปี 55 มาดู… หรือรายได้ที่คาดปี 56 มาเป็นตัวตั้งครับ…
อีกคำถามก็คือ คำว่า Market Cap พี่โจ๊ก มองเรื่องของการ dilute จากการแปลง warrant หรือ ESOP ต่างๆ แบบ full diluted หรือไม่ครับ
ผมมักจะมองแบบนี้ คือ safe สุดๆ เลยไม่ค่อยจะมีหุ้นที่ซื้อได้เท่าไหร่เลยครับ
รายได้ล่าสุดที่หาได้ครับ ถ้าเป็นของปีที่แล้วก็ใช้ของปีที่แล้ว ถ้าจะทำให้เป็น 4 ไตรมาสล่าสุดก็ได้ หรือจะเป็น forcast ของปีหน้าก็ได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน เราก็ไปหักออกจาก growth ที่เราคาดหมายอีกที เช่น ถ้าใช้รายได้ปีหน้า เวลาคิดถึง growth 3-5 ปีก็ไม่ควรจะนับของปีหน้าเป็น growth ด้วย
เรื่อง dilution หากมีนัยสำคัญก็ต้องเอามาคิดด้วยครับ
ถ้า 1 บริษัท มีธุรกิจหลายแบบที่มี margin ต่างกัน… เช่น JMART ที่ขายมือถือ margin บาง ส่วน JMT margin เกือบ 30% หรือ CPALL กรณีรวมกับ MAKRO แล้วเป็นต้น
เราก็ควรจะคิดแยกเป็นแต่ละรายการ แล้วมารวมกันทีหลังใช่ไหมครับ
แต่ว่าในงบส่วนใหญ่ รายการที่แยกกัน บอกอย่างมากก็แค่ Gross Profit ส่วนพวก SG&A , Interest , Tax ก็รวบเอาไว้ในตัวเดียว…
เราจะมีวิธีประมาณตรงนี้อย่างไรดีครับ
แบบนี้ก็ต้องใช้ มาร์จิ้นรวมเฉลี่ยหลายปีย้อนหลัง นั่นแหละครับ เหมาะสมที่สุด แต่ถ้าเป็นกรณีที่บริษัทกำลังเปลี่ยนโครงสร้างรายได้พอดี (เพิ่มบางธุรกิจขนานใหญ๋) อันนี้คงยากครับ เพราะต้องหาบริษัทที่ทำแต่ละธุรกิจนั้นๆ อย่างเดียว มาเป็นตัวเปรียบเทียบ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เราจะหาข้อมูลแบบนั้นไม่ได้ทั้งหมด ถ้าหากธุรกิจซับซ้อนเกินไป การเปลี่ยนไปลงทุนตัวอื่นที่เข้าใจง่ายๆ จะเป็นวิธีที่ดีกว่า
ตอนแรกห่วงว่า พอถึงตอนเริ่มซื้อ จะไม่มีหุ้นให้ซื้อเลย แต่สงสัย ถึงตอนนั้นจริงๆ อาจจะมีแล้วล่ะคับ
เตรียมเงินรอเลยครับผม
คุณโจ๊กครับ ตอนนี้เตรียมเงินสดไว้ส่วนหนึ่ง ยังคิดอยู่ว่าจะรอซื้อแบบ DG หรือเริ่มเข้าปฏิบัติการกองทุนอีแร้งบน 7thltg ดีครับ เงินสดมีจำกัดแล้วครับ
พี่ช่วยแนะนำวิธีการประเมิน growth ของธุรกิจ ด้วยครับ
ต้องหาข้อมูลจากไหน และ ประเมินอย่างไร
อ่านข่าวและข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทนั้นให้มากที่สุด ก็จะประเมินในเชิงคุณภาพได้ว่า บริษัทน่าจะสามารถเติบโตได้ปีละสักเท่าไร แต่ไม่มีสูตรสำเร็จครับ
คุณโจ๊กครับ ผมสงสัยตรงคำว่า รายได้ ‘ปัจจุบัน’ กับมูลค่า market cap ‘ปัจจุบัน’
ตรงสูตรที่ลองยกตัวอย่างนั้น คุณโจ๊กหมายถึง เอารายได้ ณ ปัจจุบันวันนี้ เช่น ‘รายได้บริษัท A ตั้งแต่ต้นปี 2556 มาจนถึง วันที่ 14 มิย 56’
มาคูณกับ สมมติฐาน Net profit margin ของเราในสภาวะที่เราคิดว่าน่าปกติ แล้วคูณด้วยอัตราการเติบโตที่เรามองไว้ ได้ค่ามาเท่าไหร่ เอาไปเปรียบเทียบ แล้วไปดูมูลค่า ‘มาร์เก็ตแคปของ วันที่ 14 มิย 56’ นี้หรอครับ?
เพราะเท่าที่ผมเข้าใจ คือ ถ้าสมมติปกติบริษัท A รายได้อยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้าน มาสามปีติดกัน แต่พอมาดูตอน กลางปี เดือน มิย รายได้ ณ ตอนนั้น ต้องไม่ถึง 20,000 ล้านอยู่แล้ว สมมติว่า อาจจะเป็น 9,000 ล้าน (ตัว net profit margin ณ เดือน มิย ก็น่าจะยังไม่ใช่ ของ ทั้งปี เช่นกัน)
แล้วให้เอา 9,000 ล้าน นี้ไปคำนวณเลยรึเปล่าครับ?
หรือคุณโจ๊กหมายถึง เข้าไปดูว่า ณ สิ้นปี 2555 สรุปตัวเลขรายได้ ของบริษัทนี้ ทั้งปีเท่าไหร่, วิเคราะห์ net profit margin ของปี 2553, 2554, 2555 เท่าไหร่ แล้ว มาร์เกตแคป ณ สิ้นปี 2555 นั้นเท่าไหร่ แล้วค่อยเอามาเปรียบเทียบกับ มาร์เกตแคป ปัจจุบัน ณ เดือน มิ.ย. ถึงจะคำนวณได้ถูกต้องกว่าครับ?
ถ้ายกตัวอย่างสักบริษัท จากข้อมูลง่ายๆ ใน settrade.com ให้เห็นเป็นภาพวิธีการคำนวณ ด้วยจะเป็นพระคุณเลยครับ ขอบคุณครับ
ง่ายที่สุดคือเอารายได้ของปีที่แล้วเต็มปี ดูได้จาก settrade เช่น cpall http://www.settrade.com/C04_03_stock_companyhighlight_p1.jsp?txtSymbol=CPALL&selectPage=3
ดูที่แถว 2012 รายได้เต็มปีคือ 197815 ล้านบาท ใช้ตัวเลขนี้คับ
ทีนี้ถ้าเรารู้แล้วว่ารายได้ปี 2013 น่าจะโตกว่าปี 2012 อย่างมาก เช่น ไตรมาสแรกออกมาโตเยอะมากเทียบกับปีก่อน แบบนี้เราก็ต้องคิดไว้ในใจด้วย
หรือถ้ามิฉะนั้น ก็ให้เอาตัวเลขรายได้ 4 ไตรมาสล่าสุดมาบวกกัน แต่อันนั้นจะใช้เวลาค้นหานาน นักลงทุนอาจจะขี้เกียจทำก็ได้
ส่วน market cap นั้น ให้ใช้ market cap ปัจจุบัน (ณ วันที่ ปัจจุบันเลย) เช่น วันนี้วันที่ 14 market cap ของ cpall ก็อยู่ที่ประมาณ 363,815 ล้านบาท ดูจากหน้านี้ real-time ได้เลยครับ
http://www.settrade.com/C04_03_stock_companyhighlight_p1.jsp?txtSymbol=CPALL&selectPage=3
ถ้าอย่างโจทย์ cpall สมมติมองว่า net profit margin ปกติ น่าจะเป็น 5% และอัตราเติบโตรายได้ระยะยาวเท่า กับ 15% (สมมติ) และใช้วิธีง่ายสุดโดยดูตัวเลขรายได้ปี 2012
ก็จะได้เป็น 197,815 x 5% x 15 =148,361 ล้านบาท
ซึ่งเทียบกับมาร์เก็ตแคปวันนี้ที่ 363,815 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าผลที่คำนวณออกมามาก ดังนั้น น่าจะรอไปก่อนดีกว่า …ประมาณนี้รึเปล่าครับ
ก็เท่ากับต้องโตได้ปีละ 36% ติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปี ถึงจะคุ้มที่จะซื้อ
ส่วนจะโตได้ขนาดนั้นหรือไม่ อันนี้ก็แล้วแต่การคาดการณ์ของแต่ละบุคคล
โอว ได้วิธีคิดเลยครับ
หมายความว่า ต่อจากนี้ต้องติดตามว่า 3 ปี มีโอกาสโต 36% หรือไม่ และระยะยาวควรโต 15% และ net margin ต้องอยู่ที่ 5%
ปัที่ 1 2013 รายได้เท่ากับ 197815 *1.36 เท่ากับ 269028 ล้านบาท
ปีที่ 2 2014 รายได้เท่ากับ 269028 *1.36 เท่ากับ 365878 ล้านบาท
ปีที่ 3 2015 รายได้เท่ากับ 365878*1.36 เท่ากับ 497594 ล้านบาท
เป้าหมาย 3 ปี ต้องโตอีก จาก 197815 ล่านบาท ขึ้นไปเป็น 497594 ล่านบาทหรือเท่ากับ 151.54%
ซึ่งจะทำให้ valuation ปีที่ 3 อยู่ที่ประมาณ 497594 * 5% * 15 เท่า หรือเท่ากับ 373195 ล้านบาทใน 3 ปี
ขอบคุณท่านแม่ทัพสำหรับแนวทางวิธีคิดครับ
ไม่ทราบผมเข้าใจถูกต้องหรือไม่ครับ
@TOPTEAM ถูกครับ
@ZARUMAN ช่วงนี้หุ้นดีๆ ราคาแพงมากจริงๆ แทบทุกตัวเลยครับ มองเป็นการลงทุนได้ยาก ส่วน DG คิดว่าอาจจะต้องเริ่มต้นจากการซื้อหุ้น B หรือ B+ ราคาพอประมาณไปก่อน แล้ววันหน้าโอกาสมาถึงค่อยขยับเพิ่มหุ้น A เข้าพอร์ต
จาก Watchlist ของผม ลองคำนวณดูแล้วไม่มีตัวไหนเข้าข่ายซื้อได้เลยครับราคาตอนนี้
นอกจากจะประมาณว่าโตกันปีละ 30%-40% ฮาๆๆ
ตลกตรงที่เพื่อนๆ ผม ไม่มีใครคิดว่าตลาดแพงเลย ทุกคนคิดว่าตอนนี้ตลาดหุ้นเมืองไทยยังถูกอยู่ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วตอนนี้ตลาดหุ้นแพงกว่าตอนปี 97 ช่วงพีคก่อนฟองสบู่แตกด้วยซ้ำ – -“
พี่โจ๊กครับ หุ้น B, B+ นี่หมายถึงหุ้นตัวที่อาจจะไม่ใช่เบอร์ 1-2 ใน sector นั้นๆ แต่บริษัทมีความแข็งแกร่งในระดับหนึ่ง ผมเข้าใจถูกใช่ไหมครับ
ประมาณนั้นครับ กล่าวคือ เป็นบริษัทแม้จะไม่ถึงกับเป็นเลิศ แต่อยู่ดีๆ พื้นฐานไม่น่าตกต่ำแบบรุนแรงได้ง่ายๆ เป็นอย่างน้อย
รบกวนถามว่าบริษัทอสังหาล่ะครับ จะคำณวณอย่างไรดีครับ
ประเด็นของยอดขายที่ยังไม่บันทึกเป็นรายได้เนื่องจากยังไม่ได้โอนบ้าน
อสังหาก็ดูการเติบโตของยอดพรีเซลเป็นตัวแทนของยอดรับรู้รายได้ก็ได้ เพราะในอนาคตยอดพรีเซลก็จะเปลี่ยนมาเป็นยอดรับรู้รายได้ (ไม่ใช่ 1:1 จึงต้องดูจากการเติบโตมิใช่ยอดล้วนๆ)
Pingback: เลือกหุ้นชุดแรกเข้าพอร์ต DG | Dekisugi.net
ชอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ครับ
รบกวนถามนิดนึงครับทำไม Sales x NPM x LT growth = Optimal Market Cap. ครับ
ตามไม่ทันจริงๆ
ขอโทษ และขอบคุณล่วงหน้าครับ
Sales x NPM ก็คือ E หรือกำไรใช่มั้ยครับ
แล้วก็มาจากแนวคิดว่า P/E เหมาะสม คือ เท่ากับ Expected Growth พอดี เช่น ถ้าคิดว่าโตปีละ 10% อีกห้าปี P/E เหมาะสมก็คือ 10
สมมุตินะครับสมมุติว่า หุ้นAมีรายได้ที่35000และมีnpmที่7%และsell Growthที่17% มูลค่าที่ได้ก็คือ 41650 ใช่ไหมครับ ถ้าปัจจุบัน market cap ยังสูงกว่านี้ก็ยังไม่ต้องซื้อไใช่ไหมครับ? sell 35000*7%*17=41650
ใช่ครับ แต่ npm ต้องเป็น npm ที่ stable ของธุรกิจแล้ว ถ้าไม่รู้เป็นเท่าไรดี ควรใช้ npm ในอดีตหลายปีมาเฉลี่ย
ไอหยาๆๆๆๆ……..ยังงี้ก็ต้องร้องเพลงรอไปก่อนซิครับ. แต่ไม่อยากให้มันถูกเลยเพราะมีอยู่แล้วครับเจ้านาย……..
คุณโจ้กครับsfตอนนี้แพงไหมครับ
Average Past Margin ตามตารางโปรแกรมของพี่โจ๊ก มันย้อนหลังกี่ปีครับ
4 ปี
จากสูตรประเมินมูลค่าหุ้นแบบDGถ้าเราใช้ EBIT MARGINหรือEBITDA MARGINแทน NET PROFIT MARGINได้ไหมครับ เพราะไม่มีเรื่องดอกเบี้ยจ่ายและภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งจะเห็นถึงความสามารถจริงๆของบริษัท ขอบคุณครับ
มันจะมีปัญหาตรงที่ มูลค่าที่คำนวณได้จะสูงเกินไป เพราะเท่ากับว่าบริษัทไม่ต้องจ่ายภาษี แต่จริงๆแล้วต้องจ่าย
ขอบพระคุณครับ